ฌาคส์ เดอ โมเลย์ : แกรนด์มาสเตอร์คนสุดท้ายของอัศวินเทมพลาร์ กับตำนานวันศุกร์ที่ 13 และคำสาปอันพิศวง

ฌาคส์ เดอ โมเลย์ : แกรนด์มาสเตอร์คนสุดท้ายของอัศวินเทมพลาร์ กับตำนานวันศุกร์ที่ 13 และคำสาปอันพิศวง
นับเป็นเวลากว่า 700 ปีที่องค์กรอัศวินศักดิ์สิทธิ์อันโด่งดังของคริสตจักรในยุคกลาง ได้ล่มสลายลงพร้อม ๆ กับชีวิตของ ฌาคส์ เดอ โมเลย์ ผู้นำองค์กรคนสุดท้ายพร้อมกับทิ้งปริศนาเร้นลับมากมายเอาไว้
ยุคกลาง (Middle Ages / Medieval Period) เป็นหนึ่งในยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่กินระยะเวลานานมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ด้วยระยะเวลาประมาณกว่า 1,000 ปี (ประมาณ ค.ศ. 500-1500 ขึ้นอยู่กับวิธีการนับจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด) ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์และวิทยาการต่าง ๆ ยังไม่ค่อยก้าวหน้ามากนัก อีกทั้งยังเป็นยุคที่โลกตะวันตกถูกครอบงำโดยศาสนจักร จึงได้ทำให้ในยุคนี้เป็นหนึ่งในยุคที่มีตำนานเรื่องเล่าลี้ลับต่าง ๆ มากมาย
หนึ่งในตำนานที่ยังคงเป็นที่เล่าขานให้นักประวัติศาสตร์ต่าง ๆ พากันไขปริศนามาจนถึงปัจจุบัน ก็คงไม่พ้นเรื่องราวของเหล่านักรบศักด์สิทธิ์ ‘อัศวินเทมพลาร์’ (Templar Order) หนึ่งในองค์กรอัศวินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น
อัศวินเทมพลาร์ มีจุดเริ่มต้นโดย อัศวิน 9 คน ที่มีเป้าหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่ชาวคริสต์ที่ต้องการเดินทางไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ (บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิสราเอลในปัจจุบัน) จากภัยอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล้น หรือภัยจากคนนอกศาสนา จนในที่สุดองค์กรอัศวินที่มีที่ตั้งส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสนี้ก็ได้ขยายตัวกลายเป็นองค์กรระดับสากลซึ่งไม่ได้มุ่งจัดตั้งกองกำลังเพื่อสู้รบเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการพัฒนาระบบธนาคาร การแลกเปลี่ยนเงินตรา ไว้ให้การกู้ยืมแก่ชาวคริสต์และราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นรากฐานของระบบการเงินในปัจจุบัน
องค์กรนี้เติบโตและมีอิทธิพลในยุโรปขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งล่มสลายลงในยุคของ ฌาคส์ เดอ โมเลย์ ผู้เป็นแกรนด์มาสเตอร์หรือผู้นำองค์กรคนสุดท้าย ซึ่งการล่มสลายดังกล่าวได้เป็นหนึ่งในตำนาน ศุกร์ 13 หรือวันศุกร์อันแสนโชคร้ายของชาวตะวันตก
เส้นทางการเป็นอัศวิน
ฌาคส์ เดอ โมเลย์ เกิดในปี ค.ศ. 1244 ที่เมืองโมเลย์ มีพื้นเพเป็นชาวเบอร์กันเดียน ซึ่งในตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ภายใต้พระเจ้าออตโตที่ 3 (บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสในปัจจุบัน) เดอ โมเลย์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอัศวินเทมพลาร์ในปี 1265 ขณะที่อายุ 21 ปี และได้เข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ร่วมกับเหล่าอัศวินเทมพลาร์และองค์กรอัศวินศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ทว่าในยุทธการสุดท้ายของสงครามครั้งนี้ เหล่านักรบแห่งคริสตจักร ได้พ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิมัมลุค โดยได้สูญเสียฐานที่มั่นสุดท้ายคือเมืองเอเคอร์ในปี 1291 ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำลายความหวังของชาวคริสต์ในการที่จะฟื้นฟูดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ทางตะวันออกให้กลับมาอีกครั้ง
ภายหลังสงคราม
ภายหลังการสิ้นสุดสงครามและการสูญเสียฐานที่มั่นสุดท้ายที่เอเคอร์ เดอ โมเลย์ และอัศวินเทมพลาร์บางส่วนได้เดินทางไปทั่ว ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี เพื่อที่จะรวบรวมกองกำลังเพื่อยึดคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่สูญเสียไปอีกครั้ง ทว่าไม่ได้รับการตอบรับมากนัก และความหวังที่จะเป็นผู้นำในการฟื้นฟูรัฐครูเสดของเหล่าอัศวินเทมพลาร์จะกลายเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ
เดอ โมเลย์ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแกรนด์มาสเตอร์ (หัวหน้าสำนักทั้งหมดของอัศวินเทมพลาร์) ในปี 1292 ได้พยายามรวบรวมกองกำลังที่เกาะไซปรัส เพื่อจะเปิดสงครามอีกครั้งกับจักรวรรดิมัมลุค พร้อมทั้งมีการจัดตั้งเป็นพันธมิตรทางสงครามร่วมกันระหว่างนักรบชาวคริสต์กับจักรวรรดิมองโกลเพื่อเอาชนะพวกมัมลุค อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาต้องประสบกับความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิมุสลิมดังกล่าวอีกครั้ง
การล่มสลาย
ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 14 องค์กรอัศวินเทมพลาร์ได้ขยายตัวเข้าไปมีบทบาททั่วทวีปยุโรป โดยนอกจากจะเป็นองค์กรอัศวินที่ขึ้นตรงต่อคริสตจักรและทำการรบเพื่อศาสนาแล้ว เทมพลาร์ยังเป็นเสมือนองค์กรธนาคารนานาชาติ ที่ให้การกู้ยืมเงินแก่ชาวคริสต์และผู้ปกครองแว่นแคว้นอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรป และยังมีการเปิดรับฝากสินทรัพย์ต่าง ๆ คือชาวคริสต์ผู้เดินทางไปแสวงบุญ โดยสามารถถอนเงินกับสำนักย่อยต่าง ๆ ของเทมพลาร์ที่ตั้งอยู่ที่ต่าง ๆ ได้ ปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้เทมพลาร์เป็นองค์กรที่มีความร่ำรวยและมีอิทธิพลอย่างมหาศาล
พระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส (Philip IV) เป็นหนึ่งในลูกหนี้คนสำคัญขององค์กรอัศวินเทมพลาร์ โดยพระเจ้าฟิลิปได้ทำการกู้เงินเป็นจำนวนมหาศาลกับองค์กรเทมพลาร์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสงครามกับอังกฤษ ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 13 ด้วยเม็ดเงินมหาศาลนี้เอง ทำให้พระเจ้าฟิลิปต้องการที่จะเบี้ยวหนี้ที่ติดไว้ จึงออกอุบาย โดยการใส่ร้ายอัศวินเทมพลาร์ว่าเป็นพวกนอกรีต มีการร่วมประเวณีระหว่างเพศเดียวกัน เป็นพวกบูชาซาตานและคบค้ากับพวกมุสลิม ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการทรยศศาสนจักร ซึ่งมีโทษอย่างรุนแรงในสมัยนั้น ประกอบกับพระสันตะปาปา โบนิเฟซที่ 8 ที่สนับสนุนอัศวินเทมพลาร์ได้สิ้นพระชนม์ลง ภายหลังการปะทะกับกองกำลังของ วิลเลียม เดอ โนกาเรต์ เสนาบดีของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ทำให้ได้โอกาสที่พระเจ้าฟิลิปจะทรงแต่งตั้งพระสันตะปาปาคนใหม่ที่เชื่อฟังพระองค์ เพื่อที่จะใช้ตำแหน่งพระสันตะปาปาในการตัดสินความผิดของเหล่าอัศวินเทมพลาร์
จนกระทั่งในคืนวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 1307 กองทหารของราชสำนักของฝรั่งเศส ได้เข้าไปจับกุมอัศวินเทมพลาร์ที่วิหารปารีส ด้วยความไม่ทันตั้งตัวและไม่คาดคิด เหล่าอัศวินเทมพลาร์จึงไม่สามารถหลบหนีได้ทัน และวันศุกร์ที่ 13 ซึ่งเป็นวันแห่งการจับกุมอัศวินเทมพลาร์นี้เอง ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในความเชื่อในเรื่องวันแห่งความโชคร้ายสืบต่อจากตำนานโบราณของคริสตจักร
ตำนานแห่งอัศวินเทมพลาร์
ในขณะเดียวกัน ฌาคส์ เดอ โมเลย์ ได้ถูกคุมขังเพื่อทำการไต่สวนเป็นเวลาถึง 7 ปี มีการบันทึกถึงการทรมานเหล่าอัศวินเทมพลาร์ให้ยอมรับสารภาพต่อข้อกล่าวหา จนในที่สุด เดอ โมเลย์ และเหล่าอัศวินเทมพลาร์ระดับนำได้ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยให้เผาทั้งเป็น ในวันที่ 18 มีนาคม 1314 และอัศวินเทมพลาร์ก็ได้ถูกตามกวาดล้างจนหมดสิ้นเช่นกัน ทรัพย์สมบัติของอัศวินเทมพลาร์ถูกยึดไปเป็นของราชสำนักฝรั่งเศส
มีการบันทึกว่า ก่อนที่ เดอ โมเลย์ จะสิ้นใจนั้น เขาได้กล่าวว่า หากองค์กรเทมพลาร์นั้นบริสุทธิ์ ขอให้พระเจ้าได้ลงโทษพระเจ้าฟิลิปที่ 4 และราชวงศ์กาเปเตียง รวมไปถึงพระสันตะปาปาคลีมองต์ที่ 5 ให้ชีวิตมีอันเป็นไปและล่มสลาย เป็นเรื่องที่น่าพิศวงที่ว่า ภายในปีนั้นเอง ทั้งพระเจ้าฟิลิปที่ 4 และพระสันตะปาปาคลีมองต์ที่ 5 ต่างก็เสียชีวิตในปีนั้น รวมไปถึงรัชทายาทต่อจากพระเจ้าฟิลิปที่ต่างก็มีอายุสั้น และราชวงศ์กาเปเตียงก็ล่มสลายในเวลาอีกไม่นานต่อมา
อย่างไรก็ดี แม้องค์กรอัศวินเทมพลาร์จะล่มสลายไป แต่ก็มีอัศวินที่หนีรอดจากการกวาดล้างไปได้ บ้างก็ไปเข้าร่วมกับองค์กรอัศวินอื่น ๆ เช่น อัศวินฮอสพิทอลเลอร์ อัศวินทิวทอนิก ในขณะที่สำนักเทมพลาร์ในโปรตุเกสนั้นเพียงแต่เปลี่ยนชื่อไปเป็นองค์กรอัศวินแห่งคริสต์ โดยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโปรตุเกส และยังคงดำรงต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวของเหล่าอัศวินเทมพลาร์ได้กลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่และน่าพิศวงที่สุดเรื่องหนึ่ง บ้างก็ว่ายังคงมีทรัพย์สมบัติของอัศวินเทมพลาร์ซ่อนไว้อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในยุโรป ไปไกลจนถึง บ้างก็ว่าองค์กรดังกล่าวยังคงมีอยู่อย่างลับ ๆ และดำเนินการใต้ดินเพื่อเป้าประสงค์บ้างอย่างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่ายังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ…
ข้อมูลอ้างอิง
Micheal Prestwich, 2014. Medieval People: From Charlemagne to Piero della Francesca (London: Thomas & Hudson Ltd.)
Simon Jenkins, 2018. A Short History of Europe: From Pericles to Putin (London: Penguin books)
เรื่อง: วรินทร์ สิงหเสมานนท์ (The People Junior)
ภาพ:
Hulton Archive / Intermittent
Stefano Bianchetti / Contributeur