จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’

จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’
ย้อนกลับไปในวัยเด็กของ ‘จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี’ เคยคิดว่าตัวเองเป็นเด็กชายที่โชคร้าย แต่สุดท้าย ความโชคร้ายเหล่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องดี เมื่อประสบการณ์ทั้งหมดหล่อหลอมให้ ‘จ๋าย’ ได้ชื่อต่อท้ายใหม่ที่หลายคนคุ้นหูว่า ‘จ๋าย TaitosmitH (ไททศมิตร)’ ได้เป็นนักร้องในวงเพื่อชีวิต ที่ตั้งใจว่าจะทำเพลง ‘เพื่อชีวิตผู้อื่น’ ชีวิตของจ๋ายผ่านเรื่องราวหลากหลาย กว่าจะมาบรรจบที่ดนตรี จ๋ายเคยเรียนโรงเรียนสายสามัญ จ๋ายเคยเรียนช่าง จ๋ายเคยมีฝันอยากเป็นผู้กำกับ และเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ฝันนั้นก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไป เมื่อเขาได้สัมผัสกับเสน่ห์ของการแสดง - สัปเหร่อใน ‘คำพิพากษา’ (สร้างจากนวนิยายเรื่อง ‘คำพิพากษา’ ของ ชาติ กอบจิตติ นวนิยายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2525) คือบทบาทในละครเวทีเรื่องแรกที่จ๋ายเล่น ฝึกฝนประสบการณ์จากเวทีและห้องเรียน ปี 2562 ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในละครเวที ‘ชายกลาง เดอะมิวสิคัล’ อีกด้วย เรื่องราวหลากรสที่เคล้าด้วยแง่คิดของจ๋าย ทั้งความหมายของการแสดงต่อชีวิต ความหมายของถ้อยคำ ‘เพื่อชีวิตผู้อื่น’ ร่วมขบคิดถึงความหมายของความเป็นมนุษย์ไปพร้อมกัน   The People: อยากให้เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตสักหน่อย ประสบการณ์แบบไหนที่ทำให้คุณเป็นคุณ จ๋าย: ผมมีจุดเปลี่ยนในชีวิตใหญ่ ๆ หลายครั้งมาก ถ้าจะย้อนกลับไปตั้งแต่แรกมันก็ เกิดที่ใต้ แต่โตที่อีสาน โตมากับยาย เป็นเด็กที่ปกติทั่วไปที่โตมากับยายแล้วก็มีแค่ญาติที่เป็นผู้หญิงเลี้ยงมา ก็จะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นไอ้ตุ๊ด ไอ้แต๋ว เราก็เป็นเด็กอ่อนแอคนหนึ่ง โดนแกล้ง มันก็ transform เรา จากเด็กอ่อนแอแล้วเราไม่อยากโดนรังแก เราก็ต้องต่อสู้ด้วยวิธีที่เราคิดได้ ก็เริ่มมีการใช้กำลัง พอเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้กำลัง ยายเสีย ก็ย้ายไปอยู่ภาคใต้กับแม่พอดี พอย้ายไปอยู่ภาคใต้ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเกเร การใช้ความรุนแรง  แล้วก็พอใช้ความรุนแรงจนมันสุดปลายทางแล้ว เรายังดีที่เราไม่ได้เป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก ก็อย่างที่บอก จุดเริ่มต้นเราโดนรังแกมาก่อน พอมันเกเรไปจนสุดทาง เหมือนเราจำตัวเองได้ เรารู้สึกว่านี่มันไม่ใช่เรานี่หว่า แล้วเรามาถึงตรงนี้ได้ยังไงวะ แล้วก็เริ่มรู้สึกเกลียดตัวเอง เกลียดชีวิตตัวเอง เกลียดสิ่งที่ตัวเองเป็น เกลียดบทบาทที่ตัวเองแสดงหรือรับอยู่ มันอยากจะล้างไพ่ ก็เลยขอมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงเทพฯ ถ้าพูดถึงชีวิตดี ๆ ก็คงจะเนี่ย ตั้งแต่มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงเทพฯ เราก็เริ่มสร้างมันปีสองปีสามปี นี่ก็น่าจะสิบกว่าปีแล้ว ถ้าถามว่าอะไรหล่อหลอมให้เป็นผมมาจนถึงทุกวันนี้ ผมก็ว่าเนี่ย ทั้งชีวิตของผมนี่แหละ ทั้งการถูกรังแก การใช้ความรุนแรง บทเรียนทั้งความผิดพลาด ทั้งความสำเร็จต่าง ๆ แต่ว่าโชคดีเจอกัลยาณมิตรที่ดีทุกช่วงชีวิต แล้วก็เจอผู้ใหญ่ที่ดีครับ   The People: ในตอนแรกที่ถูกล้อ ถูกรังแก คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่เด็กคนอื่นทำแบบนั้นกับคุณ จ๋าย: ผมว่าเขาคงไม่ได้มองว่าเขารังแกผมหรอก เขาคงคิดว่าเขาหยอกเล่น เขาสนุกมั้ง ถามว่าอะไรที่ทำให้เขาทำแบบนั้นเหรอ จะบอกว่าเป็นเพราะตัวเขา มันก็มุมเดียวเกินไป เพราะเขาก็ยังเด็กมาก ตอนนั้นก็ ป.1 ป.2 ผมไม่เชื่อว่าเด็กมันจะมาคิดเลวร้ายอะไรได้ขนาดนั้น ผมโทษสังคมเป็นหลักนะ ผมรู้สึกว่าการให้ความเข้าใจเด็กหรือว่าการปลูกฝัง การสอนเด็กมันเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าจะบอกว่าอะไรทำให้เขาทำแบบนั้น ผมว่าก็น่าจะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเรามานี่แหละ เพราะว่าประเด็นเรื่องการ bully หรือการให้ความสำคัญการ bully มันก็เพิ่งมาเกิดยุคหลัง ๆ เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ผมก็ยังไม่เคยได้ยินคำว่า bully เลย ก็น่าจะไม่มีความเข้าใจกันว่าการทำแบบนี้เป็นการ  bully นะ เป็นการด้อยค่าคนอื่นนะ เด็ก ๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่เรารู้สึกไปแล้ว   The People: แล้วหลังจากมาอยู่กรุงเทพฯ ชีวิตจ๋ายเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง จ๋าย: โอ้โฮ ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ นี่หนักเลย เพราะว่าผมเรียนช่างมา ผมเรียน ปวช. มาสองปี ซิ่วสองปี แล้วออกไปทำงานปีหนึ่ง ก็คือตอนกลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่นี่เริ่มช้าไปหน่อย ตอนแรกจะมาเรียนสายอาชีพต่อ แต่พ่อแม่บอกว่า คือรอบนี้เราต้องไปขอเขาเรียนแล้ว เขาบอกว่าถ้าอยากให้เขาส่งต้องเรียนสายสามัญ ผมก็เอาวะ เราก็เหมือนพนันกับแม่ไว้ว่าถ้าเขารับก็จะเรียนนะ วันที่ไปสมัครก็เลยระเบิดหูไป แล้วก็ใส่ชุดนอกไป สักแล้วด้วยนะ แล้วก็เดินเข้าโรงเรียนไป ไปคุยกับเจ้าของโรงเรียน เขาก็ถาม กินเหล้าไหม กินครับ สูบบุหรี่ไหม สูบครับ ก็ตอบเพื่อที่จะให้เขาไม่รับเราเข้าโรงเรียน เราก็ หึ กูได้เรียนสายอาชีพแน่นอน แต่เขาก็บอกเออ…ไอ้เด็กคนนี้มันตรงดี รับ ตลกมาก  สรุปก็ได้มาเรียนสายสามัญ แล้วก็มันต้องใช้การปรับตัวที่สูงมาก เพราะว่าวัยผมความจริงมันอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว เพื่อน ๆ ผมอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว แต่ผมต้องมาเรียน ม.4 เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันใช้เวลา 3 ปี กว่าเราจะได้วุฒิไปสมัครมหาวิทยาลัย ความจริงมันมีวิธีเอาวุฒิมากมายที่จะเอาเข้ามหาวิทยาลัย แต่ว่าเรารู้สึกว่า อย่างที่บอก ผมอยากล้างหน้าไพ่ ผมอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นผมต้องอยู่ให้ได้ ก็ค่อย ๆ ปรับตัว แต่โชคดีตรงที่ว่าโรงเรียนที่ผมอยู่สังคมดี ดังนั้นต่อให้เด็กเกเรมันก็เกเรได้แค่ในกรอบ อย่างที่บอกครับ เจอกัลยาณมิตรที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี ชีวิตผมเปลี่ยนเพราะโรงเรียนนี้เลย ได้ครูใหญ่ช่วย ได้ครูหลาย ๆ คนช่วย จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ The People: ทราบว่าช่วงนั้นฝันของจ๋ายคือการเป็นผู้กำกับ จ๋าย: เอาจริง ๆ ผมดูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ ม.4 อย่างที่บอกวัยผมมันไปนู่นแล้วอะ ผมนับวันรอเลย ตอนแรกเลือกอยู่สองที่ครับ คือ จุฬาฯ กับ ม.กรุงเทพ เพราะว่าตอนแรกอยากเรียน film จะเรียน film นี่มีหลายที่มาก แต่ทีนี้ดันไปเปิดทีวีเจอพี่บอย-ถกลเกียรติ แกพูดเกี่ยวกับละครเวที แล้วเราก็อยากเป็นผู้กำกับ เฮ้ย! ผู้กำกับละครเวทีมันต้องยากกว่าหนังสิวะ เพราะว่ามันคัตไม่ได้ คิดตอนนั้นอะนะ มันตัดต่อไม่ได้ แล้วมันจะกำกับยังไงวะ แล้วเราก็คิดว่าอยากเก่งอะ ดังนั้นเรียนละครเวทีแล้วกัน จะเป็นผู้กำกับ พอจะเรียนละครเวที ตอนนั้นมันก็มี choice แค่ว่าอักษร จุฬาฯ หรือศิลปะการแสดง ม.กรุงเทพ เราก็เลยเอาไงดีวะ ก็ไปยื่นจุฬาฯ ก่อน ยื่นทุนจุฬาฯ ครูใหญ่ก็เซ็นให้นะ ไปยื่นเสร็จปุ๊บผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ เขาดูแค่ประวัติแล้วบอก คุณเรียนทิวไผ่งามแล้วคุณจะมาขอทุนทำไม ในใจก็อยากตอบนะ ก็กูสอบไม่ได้เลยขอทุน ก็เลยไม่ผ่านครับ ก็สรุปว่าต้องไปเรียน ม.กรุงเทพ ก็อย่างที่บอกว่าใจมันมาตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าอยากเป็นผู้กำกับ ม.4 ก็คิดว่าชีวิตผมเปลี่ยนละ แต่ชีวิตผมเปลี่ยนหนักพอมาเรียน ม.กรุงเทพ เพราะว่าเราเพิ่งเข้าใจคำว่าศิลปะ เราเพิ่งเข้าใจคำว่าละคร จำได้ว่าเข้าไปเรียนครั้งแรกที่ ม.กรุงเทพ เขาจะแบ่งฝ่าย แบ่งฝ่ายให้ทำเบื้องหลัง ผมก็ไปอยู่ฝ่ายฉาก ทำฉากละครเวที เราก็ไปอยู่ฝ่ายนั้น แล้วก็จำได้ว่าตอนนั้นนั่งเชื่อมเหล็กอยู่ แล้วก็เขาเรียกหัวหน้าภาค เหมือนครูใหญ่ เขาเดินผ่านช็อปพอดี แล้วเขาก็เห็นเรานั่งเชื่อมเหล็ก เขาก็ถามคนนี้ใคร เราก็บอกผมเด็กปีหนึ่งครับ แล้วผมดันมีหนวดตั้งแต่ปีหนึ่งไง คาแรกเตอร์มันจัดมาก เขาก็เลยให้ไปเล่นละคร หลังจากนั้นก็เล่นยาวเลย เล่นยาวมาเรื่อย ๆ ตอนเล่นละครเวทีเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักศิลปะในศาสตร์ของการแสดง อาจจะเป็นเพราะความโชคดีของตัวเองที่ความรู้สึกไวด้วย ไวต่อความรู้สึกละเอียดอ่อนอยู่แล้ว ชอบร้องไห้ ชอบรู้สึกนู่นนี่นั่น แต่ตอนเกเรอาจจะปิดกั้นมันไว้ แต่เอาจริง ๆ เป็นคนละเอียดอ่อนมาก พอได้ไปเล่นละคร ผมเรียกว่าฟลุก ครั้งแรกอะ เพราะว่ามันยังไม่อยู่มือ เรายังไม่สามารถทำได้อย่างจับวาง ครั้งแรกมันฟลุก ผมก้าวขึ้นเวทีไป แล้วมันเหมือนแบบถอดร่างไปเลย ในเชิงความรู้สึกมันเหมือนถอดร่างไปเป็นตัวละครอีกตัวละครหนึ่ง แล้วจำได้ว่ามันพูดบทที่เกี่ยวกับประเทศนี่แหละ ผมเล่นเรื่องไอ้ฟัก แต่ชื่อวรรณกรรมมันชื่อเรื่อง คำพิพากษา ผมเล่นเป็นสัปเหร่อ แล้วมันฉากจบหลังจากที่ไอ้ฟักมันโดนปาหิน โดนไล่สมทรง โดนกล่าวหาว่าเอาเมียพ่อ รักคนบ้า โดนประณามหาว่าผิด ตัวผมที่ผมเล่น ผมเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง แล้วผมก็จะหันมาพูดกับคนดูว่า เดี๋ยวก็เคารพธงชาติ เดี๋ยวก็กล่าวคำปฏิญาณตนละ  ตอนที่พูดเด็กปีหนึ่งที่ยังไม่มีทัศนะเกี่ยวกับการเมืองใด ๆ เลยนะ น้ำตาแม่งไหล แบบไหลไม่หยุด แล้วก็ลืมบทเพราะว่าตกใจกับสิ่งที่ตัวเองเจอว่า เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้นวะ แล้วก็ไปถามครูว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอก นี่แหละ acting นี่แหละศาสตร์ของการแสดง เพราะมันไม่ใช่ความรู้สึกเรา มันไม่ใช่ทัศนคติของเรา มันจะร้องไห้ข้างบนได้ยังไงวะ เราแบบโหแม่งเท่ว่ะ แล้วรู้สึกได้ปลดปล่อย พอปลดปล่อยแล้วบนเวทีเราจะเป็นอะไรก็ได้ เราจะเป็นคนเลวก็ได้ จะปาหินใส่ใครก็ได้ จะไปแทงใครก็ได้ หรือว่าเราจะดีขนาดไหนก็ได้ หรือเราจะอ่อนแอ โดนทำร้าย โดนโลกนี้ทำร้ายแค่ไหนก็ได้ แต่ในโลกของความเป็นจริง เราทำไม่ได้ มันเลยเกิดเป็นแนวคิดตั้งต้นจากการเป็นนักแสดงก่อน แล้วความฝันของผู้กำกับก็เริ่มเลือนรางไป  เพราะว่าผมเชื่ออย่างนี้ จิตรกร ผู้กำกับ นักแสดง นักเต้นบัลเลต์ หรือแม้แต่นักดนตรี ศิลปินแต่ละอย่างเขาจะมี vision ที่มองโลกใบนี้ที่ต่างกัน สมมติว่าสถาปนิกพอเห็นตึกเขาเห็นโครงสร้าง เห็นการจัดวางนู่นนี่นั่น ผู้กำกับก็จะเห็นบล็อกกิ้ง นักแสดงก็จะเห็นความรู้สึก พอผมถูกสร้างเป็นนักแสดง มันกำกับไม่ได้แล้ว รู้ตัวอีกทีมันกำกับไม่ได้แล้ว ก็เลยเป็นนักแสดงยาวมาตลอด ก็ส่งผลต่องานไหม นั่นแหละครับ แทบทุกอย่างเลย วิธีการทำงาน วิธีการคิด จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ The People: แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณเริ่มตั้งวงดนตรี จ๋าย: นานมากครับกว่าจะเกิดวงดนตรี ผมจบได้ประมาณสัก 3 ปีละมั้ง ค่อย ๆ ทำ จบมาปุ๊บ ผมออกมาทำบริษัทตกแต่งภายในกับเพื่อนก่อน เพราะว่าเราเป็น head ฉากมา แล้วก็ทำกับเพื่อนฉากน่ะแหละ หุ้นกันทำตกแต่งภายใน หลังจากบริษัทรับเหมา ก็ไปเปิดร้านเหล้า เป็นร้านเหล้าแบบนอกกระแส อินดี้อะไรอย่างนี้ ก็เปิดได้สักประมาณ 6 เดือนก็ปิดไปด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง พอเปิดร้านเหล้าก็ไปทำร้านอาหาร ทำร้านพิซซ่าก็เลิกทำ ผมจะเป็นอย่างนี้ เหมือนถ้าสมมติผมทำไปแล้วผมรู้แล้วว่ากำลังจะสำเร็จ แล้วผมจะกลับมาถามตัวเองว่า นี่ใช่ชีวิตในฝันไหม ถ้าไม่ใช่ ผมถอยเลย ทำร้านพิซซ่าปุ๊บ ลูกค้าเยอะ พอลูกค้าเยอะ ผมก็มานั่งคิด อยากเป็นเจ้าของร้านพิซซ่าไหม อยู่กับพิซซ่าได้ไหม ไม่ได้ เลิก แล้วก็มาทำเสื้อผ้ามือสอง เสื้อผ้ามือสองนี่ทำอยู่นานเลยครับ ปีกว่า ๆ โดนโกงไปหมดตัว หมดตูดเลย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมาทำวงไททศมิตร  เพราะว่าตอนนั้นคือผมหมดตัวละ หมดทุกอย่าง บ้านที่เช่าเคยดูแลน้อง ๆ ในมหาวิทยาลัยผมก็ดูแล เช่าตึก 5 ชั้นให้รุ่นน้องอยู่ ติดแอร์ให้ อยู่ด้วยกัน ส่งมันเรียนบ้าง จ่ายค่าหน่วยกิตช่วยมันบ้าง หางานดี ๆ ให้มันทำบ้าง เพราะเหมือนเราชินกับการเป็นรุ่นพี่ แล้วเรา happy กับการได้ช่วยมัน แล้วเรารู้สึกไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็ทำมาตลอด แต่ตอนที่โดนโกง ก็โดนรุ่นน้องนี่แหละโกง น่าจะโดนเป็นหลักล้านเลยครับ คือของก็ไม่เหลือ เงินก็ไม่เหลือ ค่าเช่าตึกก็ไม่มี จำได้ว่าตอนนั้นมันเป็นอะไรที่เศร้ามาก เราไม่รู้ว่าน้องเราจะไปอยู่ที่ไหน เราเองยังไม่รู้เลยว่าจะไปอยู่ที่ไหน นั่งกอดกันในบ้านแล้วก็นั่งร้องไห้กัน ไม่เหลืออะไรแล้ว มันก็เลยต้องแยกย้าย ผมก็ไม่มีทางเลือก  จังหวะนั้นมันมีรุ่นพี่เป็นพี่ตั๊ก รู้จักกับพี่เป๋ง-ชานนท์ เขากำลังจะทำ Big Mountain พอดี เขาก็เลยมาชวนผมไปทำด้วยกันไหม เขากำลังหาช่างที่ทำตามความคิดเขาได้ แล้วเราทำละครมาไง พี่เป๋งเขาเป็นสายอาร์ตได (Art Director) เขาจะฟุ้ง แล้วช่างปกติเขาไม่สามารถทำให้พี่เป๋งได้ เราสบาย เราทำละครมาอยู่แล้ว ก็ไปทำ Big Mountain สองสามปีที่แล้ว พอไปทำมันก็เลยได้มีโอกาส ทำงานวันหนึ่ง พอวันงานก็ได้เที่ยว เพราะเราเป็นฝ่าย set ไง พอวันงานเราก็เที่ยว ก็ตั้งใจจะไปเดินดูเวทีต่าง ๆ เราชอบเรื่องแมคคานิค (mechanic) เราชอบเรื่องโครงสร้าง ยังมีหัวเรื่องการออกแบบ การตกแต่งอยู่ เพราะตัวเองเป็นคนไม่ดูคอนเสิร์ต ฟังเพลงน้อยมาก ฟังแค่เพลงละคร เพลงลูกทุ่งบ้าง เพลงหมอลำบ้าง แต่โตมากับเพลงหมอลำลูกทุ่ง ก็ฟังแต่เพลงละครเวทีอย่างเดียว บรอดเวย์อะไรอย่างนี้ ไม่ดูคอนเสิร์ต ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ได้ดูคอนเสิร์ตจริง ๆ ไปหยุดที่เวที black stage โชว์ของพี่ป๊อด moderndog แล้วเราก็มอง เท้าความไปตอนที่เรียนปี 1 มันมีเหตุการณ์ที่เหมือนครั้งนี้คือผมเข้าไปเรียนปี 1 แล้วเข้าไปปฐมนิเทศ แล้วมันก็ต้องเข้าไปดูละครที่รุ่นพี่เล่น แล้วความรู้สึกผมตอนนั้นรุ่นพี่เก่งมาก 4-5 คน กับครูในภาคเล่นด้วยกัน แล้วผมเป็นเด็กที่นั่งดูอยู่ ผมก็มีความรู้สึกว่า พูดกับตัวเองนะ กูจะเก่งแบบนี้ กูจะเก่งให้ได้แบบนี้ แล้วกูจะไม่เก่งแบบคนเดียวด้วย จะเก่งให้ได้เท่า 5-6 คนรวมกัน กูจะทำให้ได้ แล้วกูทำได้ด้วย กูว่ากูทำได้ด้วย แล้วมันเกิดขึ้นอีกครั้งในเวทีนั้นน่ะ ทั้งที่มันไม่เคยเกิดขึ้นอีก 6 ปี ผมยืนอยู่หน้าเวทีแล้วผมก็ กูทำได้ แล้วก็ยืนอยู่นั่นน่ะ เขาเล่นโชว์ประมาณชั่วโมง เพลงสองเพลงสามกูทำได้ กูเห็นหมดเลย มือกีตาร์ มือกลอง กูเห็นหมดทุกอย่างเลย กูทำได้ เดินกลับมาที่หัวหน้างาน Big Mountain บอกเขาว่า พี่ ปีหน้าผมไม่ทำแล้วนะ ผมจะเป็นศิลปิน พี่เป๋ง-ชานนท์ยังขำผมอยู่เลย อ๋อเหรอๆ ๆ แล้วแบบปีต่อมาเขาก็มาชวนผม พี่ ผมไม่ทำแล้ว ผมเริ่มแล้ว เริ่มทำเพลงแล้ว แล้วมันก็ประสบความสำเร็จเร็วเกินคาด   The People: เล่าถึงการรวมตัวสมาชิกสักหน่อย ไททศมิตรมาเจอกันได้อย่างไร แล้วทำไมถึงเป็นวงดนตรี ‘เพื่อชีวิต’ ก็เท้าความไปตอนที่ผมเปิดร้านเหล้า นักดนตรีของไททศมิตรเนี่ย คือนักดนตรีร้านเหล้าผม คือตอนนั้นมันเป็นร้านเหล้าอินดี้แถว ม.กรุงเทพ พอมันติดมหาวิทยาลัย แน่นอนว่ามันมีความ commercial จ๋า แล้วร้านเขาก็ต้องเน้นยอดขายอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นโอกาส จะมีร้านผมร้านเดียวที่แบบว่า ขอเพลงตื๊ดหน่อย ไม่เปิด ขอเพลงนี่หน่อย ไม่เปิด ร้านผม ผมจะเปิดเพลงเอง คุณมากินแล้วก็มาฟังเพลงที่ผมเปิด ผมจะเปิดเพลงเอง ขอไม่ให้ แล้วก็จะบอกนักดนตรีทุกคนว่า อยากเล่นเพลงอะไรเล่น อยากเล่นเพลงตัวเองเล่น อยากเล่นเพลงอะไรเล่น อ้าว! แล้วถ้าลูกค้าขอล่ะ ไม่อยากเล่นก็ไม่ต้องเล่น เพราะเราเชื่อว่า ถ้าคุณไม่อยากเล่น คุณจะเล่นมันออกมาดีได้ยังไงวะ เปิดยูทูบฟังยังเพราะกว่า เราคิดอย่างนั้นตอนเป็นเจ้าของร้านเหล้า เราก็บอกน้อง ๆ ว่าแบบ ถ้าไม่อยากเล่นไม่ต้องเล่น น้อง ๆ ในวงเขาเป็นวงแยกกันนะ พี่เจษ มือเบสก็เป็นนักร้อง น้องมีนกับพี่เจมือคีย์บอร์ด ก็นักร้องเล่นวงเดียวกัน น้องตุ๊กไม่ได้อยู่ในร้าน โฟร์โมสก็เป็นนักร้องเดี่ยวเล่นกับ saxophone เราก็จะบอกน้องแบบนี้หมดว่าไม่ต้องเล่น  มีเหตุการณ์หนึ่งฮามาก น้องเจ มือคีย์บอร์ดเขาไปร้องร้านผม เขาก็ร้องไป ผมไม่อยู่ร้าน เขาก็โทรฯ มาหาผม พี่ คนแม่งไม่ฟังเลยว่ะ คนโคตรเสียงดังเลย ผมลงละนะ เออมึงลงเลย ไม่ต้องเล่น รับเงิน กลับ เล่นได้แค่สองเพลงแล้วกลับบ้านเลย เนี่ยก็จะเป็นร้านแบบนี้ มันก็ได้จากการเจอกันตั้งแต่ตอนนั้นละครับ แล้วพอเราจะทำวงดนตรี มันก็เหมือนเราคัดมาแล้ว เหมือนเราคัดนักดนตรีมาแล้ว choice แรกที่เข้ามาในหัวก็คือพวกเขา ทีแรกผมยังไม่มีความเข้าใจขนาดนี้นะ คือเอาจริงถ้าวงนี้มีผมคนเดียวจะเป็นแบบคาราบาวเลย แล้วพอมันมีน้อง ๆ เข้ามา เราเชื่อว่าการทำวงดนตรีมันคือการเปิด space แล้วก็ความเป็นเขาในแต่ละคนเข้ามาผสมผสานจนเจอส่วนผสมที่ลงตัว เป็นวงดนตรี เป็นสมการของวงนั้นจริง ๆ แล้วทีนี้มันก็ยาก เพราะว่า ณ ตอนนั้นเรายังไม่มีความเข้าใจของคำว่าเพื่อชีวิต ก็ศึกษาครับ research เลยว่ามันคืออะไร ฟังเพลงเอามาเทียบนู่นนี่นั่น หาบทความจนสุดท้ายแล้ว ผมค้นพบว่าเพื่อชีวิตไม่ใช่แนวดนตรี ไม่มีแนวดนตรีเพื่อชีวิต  จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ ถ้ามีแนวดนตรีเพื่อชีวิตแสดงว่า พี่แอ๊ด พี่ปู พี่ไข่ สามคนนี้ต้องมีคนผิด เพราะเขาเล่นไม่เหมือนกัน เขาผสมผสานกับตัวตนของเขา ผมก็เลยค้นพบว่าเพื่อชีวิตไม่ใช่แนวดนตรี เพื่อชีวิตเป็นวิถี เราก็ค้นกลับไปอีกว่า เฮ้ย! ดนตรีเพื่อชีวิตมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่วะ เอาจริง ๆ ไม่เจอ แต่รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จตอนคาราวาน คาราบาวแหละ ก็คือในปีที่เขาหนีเข้าป่ากัน แล้วเราก็วิเคราะห์กันว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงวะดนตรีเพื่อชีวิต อ๋อ! มันมาจากเพลงที่เขาร้องในป่านี่แหละ ร้องเพื่อต่อสู้กับนู่นนี่นั่น แล้วก็เป็นเพลงง่าย ๆ เป็นเพลงมาร์ชง่าย ๆ เหมือนวงสามัญชนร้อง แล้วก็เริ่มจากแค่กีตาร์โปร่ง ขลุ่ย ก็คือจากเครื่องดนตรีที่มี ดังนั้นเพื่อชีวิตเลยไม่มีแนวดนตรี เพื่อชีวิตเป็นวิถี เป็นวิธีคิด มันก็เลยเกิดจากการสร้างงานขึ้นมา เพราะผมเชื่อว่าถ้า hip hop ดังในช่วงนั้น นั่นก็อาจจะถูกเรียกว่าเพื่อชีวิต หรือเพื่อชีวิตก็อาจจะกลายร่างไม่ใช่แบบสามช่าหรือลูกทุ่งขนาดนี้ ดนตรีตอนนั้นมันมีอิทธิพล มันเลยทำให้รูปร่างของเพื่อชีวิตกลายเป็นแบบนี้ พอเราเข้าใจว่าเพื่อชีวิตไม่ใช่ดนตรี อ่าว ชิลดิ กูชิลเลย ดังนั้นน้อง ๆ จะใส่อะไรก็ได้ วันแรกก็ใส่เลยในห้องซ้อม ใส่มาเละเทะไปหมด เพราะว่ามันไม่เคยตั้งวงด้วยกัน แล้วทุกคนเป็นหัวหน้าวง เป็น front man ของแต่ละวงมาก่อน ทุกคนก็สาดทุกอย่างที่ตัวเองมีลงไป แต่โชคดี ความโชคดีคือผมเรียนละครมา เราเข้าใจในเรื่องของความรู้สึก หรือเขาเรียกว่ากระบวนการละลายพฤติกรรม ทีนี้เราก็เริ่มไปคิดแบบฝึกหัดมา ที่เหมือนแบบฝึกหัด acting ที่แบบครูเขาชอบให้ทำในห้อง เราก็เริ่มด้วยแบบฝึกหัดดนตรีว่า อะ วันนี้เรามาทำอันนี้ กลองขึ้นมาก่อน กลองหลับตา รู้สึกถึงเพลงนี้ ตี เบสฟังกลอง อย่าเพิ่งเล่นนะ ฟัง รู้สึกก่อน รู้สึกค่อยเล่น แบบนี้เลยครับ ไม่มีทฤษฎีเลย คีย์บอร์ดฟังสองอย่าง เล่นยังไงได้บ้าง เล่นเป็น ground นะเจ สองคนนี้คือโลก เจคือจักรวาล เจครอบพวกนี้ไว้ อะ เจเล่น แล้วทีนี้กีตาร์มีนเข้ามา โมสมึงกับกูช่วยคุมรอบข้าง อะไรอย่างนี้ มันก็เลยเกิดดนตรีของไททศมิตรขึ้นในวันนั้น เพราะการใช้แบบฝึกหัด acting    The People: อยากเข้าใจคำว่า ‘เพื่อชีวิตผู้อื่น’ มากกว่านี้ เพราะอันที่จริงในยุคนี้การใช้ชีวิตมันก็ไม่ได้ง่าย การที่สนใจชีวิตคนอื่นก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายไปด้วยหรือเปล่า จ๋าย: ใช่ คือผมเข้าใจมาตลอดเลยว่าเพื่อชีวิตคือเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต คือผมก็คิดแบบนั้นมานะ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตอะไรอย่างนี้ แล้วพ่อผมโทรฯ มาหาผมแล้วเขาก็ถามว่าทำอะไร ทำดนตรี ดนตรีอะไร เพื่อชีวิต เขาบอกเพื่อชีวิตใคร เอ้าเพื่อชีวิตจ๋ายดิ ชีวิตของจ๋ายไง ไม่ใช่ เขาบอกเพื่อชีวิต ต้องเพื่อชีวิตผู้อื่น ถ้าเพื่อชีวิตตัวเองนั่นไม่ใช่เพื่อชีวิต  ดอกแรกแบบพ่อกูเท่มากเลยว่ะ แต่พอมานั่งคิดมันถูกต้องครับ มันถูกต้อง พอเป็นเพื่อชีวิตผู้อื่น เราก็น่าจะเห็นว่ามัน impact ขนาดไหน ในยุคหนึ่งที่เพื่อชีวิตมันถูกดำเนินเพื่อชีวิตผู้อื่น ไททศมิตรเริ่มต้นด้วยแบบนั้น จุดเริ่มมันเลยไปเร็วมาก ผมเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ผมทำเพื่อชีวิตตัวเองเมื่อไหร่ เพื่อชีวิตผมคนเดียวเมื่อไหร่ ผมก็เชื่อว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จแบบในทุกวันนี้ แล้วทุกคนก็จะไม่สนับสนุนผม ดังนั้นเพื่อชีวิตไม่มีทางอื่นเลย นอกจากเพื่อชีวิตผู้อื่น เราก็เลยคิดว่าเราจะยึดแก่นนี้แหละในการดำเนิน attitude ในการทำเพลง ความจริงเพลงมันก็มีความเป็นเพื่อชีวิตทุก ๆ แบบนะครับ ถ้าเราคิดใน process เดียวกันว่าผมทำเพลงให้คนฟัง ผมไม่ได้ทำเพลงให้ผมฟัง ผมทำเพลงให้ทุกคนฟัง  เอาจริง ๆ มันดูจั๊กจี้นะ ผมกระดากปากมากเลย มันคือเพื่อชีวิตผู้อื่น มันดูโอ๊ยเท่จังเลย อุดมคติ เราก็กระดากปากทุกครั้งที่พูดแหละ แต่เราก็ยึดแก่นนี้จริง ๆ ถามว่ามันทำได้ยังไง มันก็ยากครับ คือผมโชคดีมากกว่า ผมโชคดี ผมโตมากับยาย พ่อแม่ผมไม่ได้เลี้ยง แม่ผมก็มีครอบครัวใหม่ พ่อผมก็มีครอบครัวใหม่ เมื่อก่อนผมคิดมาเสมอว่านั่นโชคร้าย ผมขาด แต่อยู่ดี ๆ วันหนึ่ง ไม่รู้ว่าสวรรค์ประทานหรืออะไร พ่อแม่ผมก็กลับมาให้ความรัก กลับมาเป็นครอบครัวกันเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ผมได้มากกว่านั้นก็คือ ผมไม่ถูกการไปเจ้าข้าวเจ้าของจากพ่อแม่ ผมไม่ต้องดูแลท่าน เพราะท่านมีครอบครัวใหม่ ผมไม่ต้องดูแลท่านขนาดนั้น แต่กับเด็กคนอื่นที่เติบโตมาในระบบครอบครัวปกติ มันจะมี norm บางอย่างที่ครอบเขาอยู่ว่า เขาจะต้องดูแลพ่อแม่นะ พ่อแม่สั่งอย่างนี้เขาต้องทำนะ เขาต้องตามนะ ไม่อย่างนั้นจะอกตัญญูจะอะไรก็แล้วแต่  ผมเกิดมาโดยไม่มี norm เหล่านั้นครอบ หนึ่งก็เลยไม่มีภาระ สองคือพ่อแม่ผมน่ารักมาก ๆ เขาอาจจะรักด้วย ช่วงแรกเขาอาจจะรู้สึกผิดด้วยที่ทิ้งเราให้เราโตคนเดียว เขาก็เลยกลับมาดูแล แล้วพ่อผมก็ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ มันเลยทำให้พ่อแม่ก็ไม่ต้องเลี้ยง เงินก็ไม่ต้องหาขนาดนั้น คือกลับไปทำงานที่บ้านก็ได้อะไรอย่างนี้ แล้วเรายิ่งเรียนละครมาอีก มันเลยทำให้เราให้ความสำคัญกับแก่นหลักมากเลยว่า ทำอะไร ทำไม เพื่ออะไร พอถามตัวเอง พ่อแม่ก็ไม่ต้องเลี้ยง เงินก็ไม่ต้องหา เอ้า! แล้วกูเกิดมาทำไมวะเนี่ย  จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ คือมันเป็นปัญหาโลกแตกนะ แล้วเป็นทุกข์ ตอนที่หาคำตอบคือเป็นทุกข์มาก กูตายได้เลยนะเนี่ย ทำไมวะ ไม่ได้เทียบกับใครนะ หมายถึงของตัวเองนะ ทำไมกูไม่มีอะไรสักอย่างที่ขาด จะได้รู้ว่าตัวเองทำอะไร เพราะตอนนั้นโง่มาก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่สุดท้ายมันคือความโชคดี สุดท้ายแล้วผมก็ถามตัวเองว่าผมอยากทำอะไรกันแน่ มันคิดไม่ออก แต่ความสุขเดียว ณ ตอนนั้นที่ผมมีความสุข คือการได้อยู่กับรุ่นน้องในบ้านหลังนั้น ในตึก 5 ชั้นที่โดนโกงไป แล้วก็หยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตเขา มองดูเขาประสบความสำเร็จ แล้วก็มีชีวิตกันแบบพี่น้อง เพราะเราไม่มีครอบครัวไง เราก็น่าจะเติมเต็มสิ่งนี้เพื่อแลกกับความอบอุ่นที่เราจะได้คืนมา เรารู้สึกว่านั่นคือความสุขเดียวที่เราจำได้ สุขที่สุด  แล้วก็เลยเริ่มจากความสุขของเรานี่แหละ เริ่มจากการให้ ทีนี้พอมันเริ่มมากขึ้น ๆ หมายถึงว่า มันเกิดความคิดว่า หรือเราทำได้มากกว่านี้วะ น้องในบ้านมีแค่เกือบ 10 คน ถ้ามันเป็น 20 คนล่ะ ถ้ามันเป็น 100 คนล่ะ ถ้ามันเป็น 1,000 คนล่ะ ถ้าเราสามารถทำได้ถึงทั้งประเทศล่ะ ถ้าเราทำได้ล่ะ เราจะทำไหม แล้วตอนไปยืนดูพี่ป๊อด  มันดันเชื่อไปแล้วว่าเราทำได้ ก็เลยตัดสินใจทำ มันไม่ได้โลกสวยหรอกครับ ถ้าพูดกันตรง ๆ คือผมทำเพื่อตัวเอง เพราะว่ามันเป็นความสุขของผม ผมคิดอย่างอื่นไม่ออก คือถ้าผมมีความสุขอย่างอื่นให้ผมทำ ผมก็คงไปเลือกสิ่งนั้นมากกว่า ถ้าแบบพ่อแม่ผมลำบากอะไรอย่างนี้ แน่นอนผมเลือกพ่อแม่แน่นอน ตอบแบบไม่โกหก ไม่เสแสร้งเลย แต่ว่าชีวิตมันดันถูกดีไซน์มาแบบนี้ มันเลยทำให้ผมแบบฟรี แล้วก็ทำได้ แต่ผมก็ต้อง balance เพราะว่าผมโชคดี ไม่ใช่ว่าเพื่อน ๆ สมาชิกวงผมจะโชคดีด้วย ผมก็ต้อง balance ดังนั้นถ้าเพื่อชีวิตผู้อื่นจริง ๆ ก็ต้องเพื่อผู้อื่นทั้งหมด รวมถึงทีมงาน วงก็ต้อง balance ให้ดีครับ   The People: สำหรับคุณ อะไรคือความสุขที่สุด และอะไรคือความทุกข์สูงสุดของการเป็นมนุษย์ จ๋าย: ถ้าความสุขที่สุด ณ ตอนนี้คือการมองดูเมล็ดพันธุ์ที่เราหว่านไว้มันงอก ณ ตอนนี้เรายังหว่านไม่เยอะ เพราะเรายังไม่ได้โตมากพอที่จะเป็นเจ้าของสวน แต่เราหว่านไว้บ้างแล้วแหละ แล้วทุกครั้งที่ดูมันงอก มันเติบโต แล้วมันแบบคือไม่ต้องเดินไปบอกใครเลยว่า ต้นนี้กูปลูก อันนี้กูทำเอง อันนี้กูเป็นคนใส่ปุ๋ย เป็นคนรดน้ำให้มันเอง ไม่ต้อง แค่ดูไกล ๆ แล้วแบบดีจังเลย นี่น่าจะเป็นความสุขที่สุดแล้ว  ส่วนความทุกข์สูงสุดของการเป็นมนุษย์ ผมว่าความทุกข์องมนุษย์ คือมนุษย์มันถูกสาป มันมีคำหนึ่งของ ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ ผมชอบมากเลย เขาบอกว่า มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ แล้วมันทำให้ทุกครั้งที่เราถูกกักขังหรือว่าถูกยึดเหนี่ยวโดยที่ไม่ต้องมีกรงขังก็ได้ ถ้าผมไปตีกรอบใครก็แล้วแต่ เขาจะรู้สึกอึดอัด หรือถูกโซ่ที่มองไม่เห็นกำลังล็อกอยู่ นั่นคือความทุกข์    The People: ทั้ง ๆ เป็นมนุษย์มันทุกข์ แต่รอยสักบนแขนคุณก็เขียนว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ จ๋าย: ก็เราเลือกเกิดไม่ได้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราก็ต้องยอมรับ ผมยอมรับนะในความเป็นมนุษย์ ในความบกพร่อง ในความสมบูรณ์แบบ ในทุกอย่างที่ตัวเองเกิดมา ผมภูมิใจและผม represent เสมอด้วย เพราะว่าผมภูมิใจมากในความผิดพลาดของผม ในความโง่ของผม ในความสำเร็จ ในความอ่อนแอของผม แล้วก็ไอ้ตรงนี้สักตอนที่จำได้ว่าปีที่มันมีม็อบหนัก ๆ แล้วเราได้ยินคำว่า คนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง คนแก่ คนนู้นคนนี้ คนนั้น ณ ตอนนั้นจำได้ว่า ได้ยิน text คำว่าคนเยอะมาก แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นคนเลยอะ คนมันมีเยอะหลายแบบมาก เราอยากเป็นมนุษย์ คุณเป็นคนยังไงผมไม่รู้หรอก แต่คุณกับผมเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผมไม่อยากกลายร่างมาเป็นคน ผมก็เลยสักเตือนใจตัวเองว่าเป็นมนุษย์นะจ๋าย อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวนะ มันไม่มีมนุษย์เห็นแก่ตัว มีแต่คนเห็นแก่ตัว อย่าเป็นคนเลวนะ อย่าเป็นคนดีนะ เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นมนุษย์นะจ๋าย มันโง่ได้ กว่ามันจะมีไฟใช้มันก็โง่มาก่อน มันฝึกได้ มันผิดพลาดได้ ไม่ต้องทำฟอร์มว่าตัวเองเป็นคนเจ๋งมากมายหรอก ด้วยลายสักลายนี้และแนวคิดแนวนี้มันทำให้ผมแบบเจ็บน้อยอะ เพราะผมโง่ได้ ใครด่าผมก็ครับ ขอโทษครับ ผมโง่ได้ ผมพลาดได้ จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ The People: พูดถึงภาพยนตร์ ‘4KINGS’ สักหน่อย คุณและคาแรกเตอร์ที่เล่นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จ๋าย: ตัวที่ผมเล่น ผมรับบทเป็นบิลลี่ อินทร ความเหมือนและความต่าง ความเหมือนเนี่ย อย่างแรกผมเรียนช่างมา แล้วในมุมหนึ่งของผมมีความเหมือนบิลลี่มาก ถ้าย้อนไปตอนช่างผมเหมือนบิลลี่เลย ทั้งเรื่องความเกเร อาจจะพูดมากกว่าบิลลี่นิดหนึ่ง อธิบายหน่อย แต่หน้างานจะเหมือนบิลลี่เลย ความจริงเราก็เอาบางส่วนจากตอนที่เรายังเด็กมา develop เป็นตัวละครบิลลี่อีกทีหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็มาจากพี่พุฒิ อีกส่วนก็มาจากพี่บิลลี่ตัวจริงเอามาผสมกัน ขาดความอบอุ่น เรียกร้องจากครอบครัวแล้วไม่ได้รับ อันนี้เหมือนกัน ก็เลยเติมเต็มมันด้วยสิ่งอื่น เพื่อน ความรักของเพื่อน แล้วเมื่อเขาเรียกร้องจากเพื่อนแล้วเขาได้รับ เขาเลยรู้สึกว่าเนี่ยสำคัญ ทั้งบิลลี่และผม และต่อให้ตายแทนสิ่งนี้ก็ทำได้ เพราะนี่คือสำคัญที่สุดแล้วในชีวิต ไม่มีสิ่งอื่นสำคัญกว่านี้แล้ว ตัวบิลลี่มันคืออย่างนี้ เขาก็เลยรักเพื่อนมาก   The People: เล่าถึงฉากที่ชอบที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องนี้สักหน่อย จ๋าย: อีก scene ที่ผมยังไม่ได้พูดคือ scene บ้านเมตตาครับ surprise ทั้งในแง่ของนักแสดงและในแง่ของตัวละครด้วย คือในแง่ของตัวละครเนี่ย คือพอถ่ายหนังเขาจะถ่ายเป็น scene ถูกไหมครับ แล้วทีนี้ความประทับใจมันอยู่ตรง scene ทำโทษนี่แหละ เราไม่คิดว่าเราจะเจอความรู้สึกนั้น มันเป็นโมเมนต์ที่ผมกับณัฏฐ์ต้องมองตากัน คือเรา act กันมาหลาย scene แล้วแหละ แต่เราไม่เคย act แบบนี้ แล้วมันสะใจอะ มันสะใจตรงที่ว่ามันเหมือนได้เล่นละครเวทีอีกครั้งหนึ่ง เพราะมันใส่กันแค่นี้ ความรู้สึก ทั้งเจ็บปวดทั้งอะไร ไม่มีบทพูดอะไรทั้งสิ้น แล้วความเจ็บปวด คือมันต้องเล่นหลายอย่างมากนะ เพราะบางทีเราอาจจะแบบคิดว่าโดนตีเราก็แค่เล่นที่เจ็บใช่ไหม แต่มันไม่ใช่ ณ วันที่ตัวละครมันถูกตี ไม้ที่ลงมาที่หลังมันเต็มไปด้วยความเจ็บปวดของชีวิตที่พาตัวเองมาถึงจุดนี้ ใจหนึ่งก็โทษตัวเองว่ามึงแม่งโง่จริง ๆ เลย อีกใจก็โทษโลก โทษสังคม ด้วยความที่ตัวเองเป็นเด็ก โทษสังคม โทษครอบครัวว่าทำไมตัวเองถึงต้องมาอยู่จุดนี้ ความกลัวอีก หลายอย่างที่ผสมปนเปกัน แล้วมันก็เลยเกิดความประทับใจ ณัฏฐ์ก็เล่นดี ความประทับใจระหว่างนักแสดงด้วย scene ด้วย ตัวละครก็คือน่าจะถ่าย scene นี้ก่อนไปถ่าย scene อื่น relationship มันน่าจะแบบแน่นมาก เราก็เลยมีเสียดายนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ scene นี้ก็เลยเป็นอีก scene ที่ประทับใจมาก   The People: อารมณ์แบบนั้น การโกรธตัวเอง โทษโลก โทษสังคม แบบนั้นเกิดขึ้นจริงกับชีวิตเด็กช่าง หรือแม้แต่ตัวคุณเองไหม จ๋าย: มีๆ ๆ มันเป็นประชดอะ ประชดล้วน ๆ เลย คือวิเคราะห์ตัวเองนะ แต่ตอนนั้นไม่รู้หรอก มันประชดสังคม มันประชดโลกใบนี้ มันประชดครอบครัว แต่ตอนนั้นคือผมก็คิดว่า แหม! น่าจะเล่นดนตรีเป็นตั้งแต่ตอนนั้น หรือน่าจะเก่งอะไรสักอย่าง ตบแปะก็ได้ อะไรก็ได้ แต่วัยนั้นผมไม่เก่งอะไรเลย ผมเก่งใช้กำลังอย่างเดียวเลย แล้วก็เก่งเรื่องการพูด แต่ดันไม่ใช่เรื่องการพูดไปในทางที่ถูก ไปพูดบิลต์คน ไปพูดรวมคนให้ไปตีกับชาวบ้านชาวช่องเขา แล้วมันไม่มีอย่างอื่นที่เก่ง แต่เราอยากเจ๋งอะ เราอยากประสบความสำเร็จ เราไม่รู้จะประสบความสำเร็จทางด้านไหนได้ แล้วพอมันได้แค่นี้ แล้วมันโดน feedback กลับมาที่ไม่ดี มันก็ยิ่งประชดกลับไปด้วยความเป็นเด็กด้วย แล้วยิ่งประชดกลับไปด้วยว่า แล้วทำไมอะ เป็นอย่างนี้พอใจแล้ว เพราะว่ามนุษย์เราไม่ชอบให้ใครมาด่าในสิ่งที่เราทำว่าไม่ดีหรือโง่หรอกนะ เราก็ยิ่งยืนยัน ยิ่งเขาเด็กด้วย ผมเด็กด้วย ยังมองตัวเองเยอะ ๆ ไม่ได้ เขาเรียกว่ากระบวนการป้องกันตัวอัตโนมัติ คุณด่ามาผมก็ยิ่งทำ สำหรับผมคือผมพิสูจน์ไงว่าสิ่งที่ผมทำมันคือตัวตนผมจริง ๆ    The People: การศึกษาหรือโรงเรียนมันหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเป็นแบบนั้นด้วยไหม จ๋าย: โห สุด ๆ ผมไม่รู้ว่าโรงเรียนอื่นเป็นไง แต่โรงเรียนที่ผมเรียนมาในช่วงประถม ยกเว้นทิวไผ่งาม นี่ห่วยแตกทางเรื่องการศึกษาไหมไม่รู้ แต่เรื่องระบบการสร้างเด็กพังทลายมาก ๆ เลย ผมไม่ได้รู้สึกถูกสร้างใด ๆ ผมรู้สึกถูก judge ผมรู้สึกถูกดูถูก ผมรู้สึกถูกกดขี่จากระบบไม่พอ ยังจากครูบาอาจารย์ ยังจากเพื่อน ๆ มีระบบชนชั้นเต็มไปหมด อย่างที่บอกคือผมมาจากทั้งเด็กที่เกเร และเด็กที่โดนรังแกด้วย มันเห็นทั้งสองมุม แล้วยกตัวอย่างเรื่องภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นปมในชีวิตมาก ๆ เลย ทุกวันนี้พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีเพื่อนฝรั่งก็พยายามคุยกับเขาเยอะ ๆ ให้เขาแปลให้บ้างอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษ  ตอนเด็ก ๆ ก็ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษนะ ผมเป็นเด็กจำไมค์อะ ผมเป็นไอ้หนุ่มจำไมค์ แล้วระบบการศึกษาไทยมันเกลียดเจ้าหนูจำไมค์ ทุกครั้งที่ผมถาม ผมจะโดนครูตีตราว่าแบบเด็กมีปัญหา ถามเยอะ แล้วพอเขาเพ่งเล็งมาที่เรา เพื่อนก็เกลียดเรา แล้วในวันที่โดนรังแกนะ เพื่อนก็เกลียดเราว่า อยากพักแล้วอะ กูไม่อยากเรียนหนังสือ แต่มึงถามบ่อย กูไม่ได้พักอะ แล้วก็กลายเป็นตัวประหลาด พอย้ายโรงเรียนใหม่ เราก็อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะเราก็อยากเรียนภาษาอังกฤษ ผมจำได้ว่าครูชี้ให้อ่านในกระดาน study ผมอ่าน สตูดี้ แล้วครูก็จิ้มใหม่ อ่านอะไรนะ สตูดี้ อ่านอะไรนะ คนก็ขำกันอยู่อย่างนั้นอะ 20 รอบ แล้วผมก็ไม่ไปเรียนอีกเลยภาษาอังกฤษ แล้วมันกลายเป็นว่าฝังใจเรา หลังจากนั้นผมมีปัญหากับครูภาษาอังกฤษทุกคน เพราะว่าเราปิดกั้นแล้วไง พอครูภาษาอังกฤษมา เอาตีนวางบนโต๊ะเลย ไม่เรียนไม่เอา ผมว่านี่มันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาก ไม่อย่างนั้นป่านนี้ผมน่าจะพูดได้ 78 ภาษาแล้ว จ๋าย ไททศมิตร: เรื่องราวชีวิตของชายที่เตือนตัวเองเสมอว่า ‘จงเป็นมนุษย์’ The People: คิดอย่างไรกับที่ยุคหนึ่งจะมีคนพูดกันว่า เพราะเรียนไม่เก่งถึงมาเรียนอาชีวะ หรือเพราะสอบสายสามัญไม่ติดถึงมาเรียนอาชีวะ จ๋าย: ถ้าบอกว่าเด็กอาชีวะเรียนไม่เก่งเนี่ย คุณคิดผิดแล้วครับ เด็กเก่งมากมายเรียนอาชีวะ แต่ข่าวหรือสื่อไม่ได้ตีแผ่แค่นั้นเอง เด็กเรียนเก่งมากมายที่เรียนอาชีวะครับ ต้องเข้าใจระบบการศึกษาก่อนว่ามันมีสายสามัญกับสายอาชีพ ถูกไหมครับ สำหรับบางวิชาชีพแล้ว การที่เราไปเรียนสายตรง มันถูกจุดมากกว่า แล้วมันสามารถเก่งมากกว่า ลองไปจิ้มดูก็ได้ครับ ถ้ายุคใหม่มีสถาปนิกหรือวิศวกรที่เรียนมหาวิทยาลัย แต่ว่าก่อนหน้านั้นเขาไม่มี พอมหาวิทยาลัยไม่มี เขาก็ต้องเรียนสายอาชีพ ถูกไหมครับ ถึงจะไปทำเป็นผู้รับเหมา เป็นนู่นเป็นนี่เป็นนั่นได้ในสายตรง การที่คิดว่าอาชีวะคือเด็กที่เรียนไม่ดี เรียนไม่เก่ง แล้วก็ไปเรียนอาชีวะกัน แล้วเด็กเรียนเก่งไปเรียนสายสามัญเนี่ย มันไม่ใช่เลยครับ เพราะว่ามันอาจจะติดภาพลักษณ์จากการตีกันมั้ง จากการใช้ความรุนแรง มันเกิดขึ้นได้ เทียบให้ง่าย ๆ ว่าสายสามัญกับสายอาชีวะเนี่ย เขาอายุเท่ากันครับ แต่ว่าสายสามัญระบบในรั้วโรงเรียนมันมีกรอบมากกว่า อาชีวะเนี่ยเขาจะมีความเป็นวิทยาลัยมากกว่า ดังนั้นเหมือนเขาปล่อยให้เด็ก survive ชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็ก แต่ว่าวุฒิภาวะของเด็กไทย เขาก็ไม่ได้มีมากขนาดนั้น ณ ยุคนั้นด้วย มันคือเรื่องวุฒิภาวะครับ มันไม่ใช่เรื่องอาชีวะหรือไม่อาชีวะ   The People: อยากให้การตีตราเด็กอาชีวะแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมันหมดไปไหม จ๋าย: ถ้าใจก็อยากให้มันหมดไป แต่ถ้าพูดแบบแฟร์ ๆ กับสังคมหรือเขามองภาพเหตุการณ์ (การตีกัน) มันก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เขามองภาพว่า นั่นไงหมดไปอะไรของมึง เอาอีกแล้ว ผมว่าทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งสังคมเองก็ดี ทั้งเด็ก ๆ เองก็ดี ทั้งรัฐเองก็ดี อาจจะต้องเข้ามาดูจริงจังในเรื่องนี้ว่า มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มีนักวิชาการหลายคนหรือคนเขาถนัดเรื่องพวกนี้หลายคนลองมาทำวิจัยซิ ลองมาดูว่ามันเป็นเพราะอะไร มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ว่าทั้งที่ผมเรียนทั้งสายอาชีวะและสายสามัญมา มันเป็นเรื่องวุฒิภาวะที่หล่อหลอมเด็ก ถ้าเด็กโตมาในสภาพสังคมแวดล้อม หรือว่ามีพื้นฐานจากโรงเรียนเดิมดี เพราะอาชีวะมันคือ ม.4-ม.6 ถ้า ม.1-ม.3 เขาปูมาดี เขาเรียนรู้เรื่องความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม การให้เกียรติผู้อื่น เรื่องกฎหมาย นู่นนี่นั่น มาอย่างดีแล้ว ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป   The People: อยากชวนคุยเรื่องศาสนาบ้าง สำหรับจ๋าย ‘ศีล’ และ ‘ธรรม’ คืออะไร จ๋าย: ศีลเอาจริง ๆ แล้วแปลตามตัวมันแปลว่าปกติครับ บางทีเราเข้าใจศีลในเชิงไหน เราเข้าใจว่ามันคือกฎระเบียบ แต่จริง ๆ ศาสนาพุทธไม่มีกฎครับ ข้อบัญญัติเป็นแค่แนวทางปฏิบัติที่จะพาคุณไปสู่สิ่งนั้น ๆ แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งว่าอย่าทำ ไม่มีครับ มีแค่แนวทางปฏิบัติ ศีลก็เหมือนกัน ศีลไม่ใช่กฎ ศีลแปลว่าปกติ แสดงว่ามันคือหลักหรือแนวทางที่จะพาชีวิตไปสู่ความปกติ เราลองมาคิดตาม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ผิดลูกผิดเมีย ไม่โกหก ไม่กินเหล้า ไม่ลักทรัพย์ 5 อย่าง แต่ละอย่างถ้าทำชีวิตปกติไหม ไม่ปกติ มันผิดปกติ ถ้าไปผิดลูกผิดเมียเขา หรือผิดลูกผิดเมียตัวเอง มนุษย์มันอยู่ไม่สุขแล้ว ตัดศาสนาออกไป เอาแค่มนุษย์ เออมันก็อยู่ไม่สุขนี่หว่า มันก็ไม่ปกติ ลักทรัพย์ ถามว่าลักทรัพย์มาให้ไม่คิดเรื่องตอนไปขโมยมาเลยได้ไหม ไม่ต้องคิดว่าเจ้าของรู้สึกยังไง ไม่ต้องคิดถึงของที่อยู่ตรงหน้าก็ไม่ได้ คือเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ไอ้พวกหลักเหล่านี้มันเป็นแค่แนวทาง ถ้าเราละได้จะทำให้ชีวิตเราปกติเท่านั้นเอง อันนี้คือคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นพระก็จะมีมากขึ้น มันก็จะมีแนวทางปฏิบัติมากขึ้น เพราะว่าเป้าหมายเรามันต่างกันไง คนปกติก็แค่ดำเนินชีวิตไป ถือศีล 5 ก็พอ  เด็กรุ่นใหม่จะแบบว่า ผมไม่นับถือศาสนาพุทธหรอก เพราะผมกินเหล้ามันผิดศีล เอาจริง ๆ แล้ว กินเหล้าไม่ผิดศีลนะ อาจจะงง บางคนกินเหล้าแล้วเมา บางคนกินเหล้าแล้วไม่เมา ต้องไม่เมาจริง ๆ นะ เอาแค่มีสติ เมาไม่เมาเราวัดกันที่สติ ถ้าเมื่อไรเหล้าไม่กินคุณ หรือคุณไม่ขาดสติ คุณไม่ผิด เพราะว่าอย่างที่บอกไง หลักธรรมมันแค่บอกว่า หลักที่นำไปสู่ความปกติ ถ้าคุณปกติได้ ถ้าชีวิตคุณไม่พังเพราะการกินเหล้า แล้วคุณตัดสินใจอะไรความผิดพลาด มันก็ปกติ ดังนั้นกินไปเลยครับ ถ้าไม่ทำให้ชีวิตปกติ ถ้าแบบว่าคุณเป็นคน control ได้ เพราะอย่างผม ผมกินเหล้าไม่ได้ ผมกินไม่กี่ขวดผมก็ไปแล้ว ดังนั้นผมก็ละดีกว่า บางคนเขากินได้ลิมิตถึง 3 ลัง วันนี้เขาอาจจะกินแค่ 3 ขวด เขาก็ปกติ แค่นั้นเอง ส่วนธรรม ผมไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันแปลว่าอะไร เอาจริง ๆ แล้วผมนิยามตัวเองว่าพุทธปัจเจก เพราะว่าจะเลือกในประเด็นหรือหลักธรรมที่ตัวเองสนใจเท่านั้น แล้วก็ค้นคว้าจากภายในด้วย เหมือนเราอยากรู้เรื่องศีลมาก ๆ เราก็ค้นคว้า อยากรู้เรื่องธรรมมากเราก็ค้นคว้า แล้วเราก็จำกัดความมันว่า ธรรม สำหรับผมคือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือความจริง ความจริงที่ไม่มีเปลี่ยนผัน ศีลธรรมสำหรับผมมันคือความจริง โดยปกติเขาจะเข้าใจว่าความดีงามนู่นนี่นั่น ผมรู้สึกว่าความดีงามความดีหรือเลวมันถูกตัดสินหลังจากนั้น แต่พุทธจริง ๆ มันคือแก่น ดังนั้นแก่นกลางไม่มีขาว ไม่มีดำ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว มันคือความปกติ มันคือแก่นกลางของความเป็นมนุษย์ ธรรมะสำหรับผมคือความจริง   The People: อยากให้นิยามคำว่าพุทธปัจเจกเพิ่ม จ๋าย: ผมจำกัดความเองพุทธปัจเจก เพราะว่าผมรู้สึกว่าไม่อยากรับแรงกดดันของความเป็นพุทธไทยหรือว่าพุทธอินเดีย หรือพุทธอะไร คือผมก็ศึกษาศาสนาพุทธแล้วผมก็ชอบ แล้วรักศาสนาพุทธเหมือนกัน แต่ผมปฏิบัติอีกแบบแล้วชีวิตผมดี ผมผิดไหม แต่ถ้าผมไปปฏิบัติแบบที่คุณบอกมา ชีวิตผมพังเลยอะ ผมเป็นบ้า ผมไม่มีความสุข ครอบครัวผมไม่มีความสุข แล้วพุทธนั้นดีไหม เราก็เลยแบบไม่อยากไปลบหลู่ความเชื่อแบบเก่าด้วย หรือแบบใหม่ แบบอะไรด้วย เราก็เลยเรียกตัวเองว่า พุทธปัจเจก ศึกษาเอง ใช้เอง รู้สึกเอง   The People: เคยได้ยินว่าความจริงแล้วศาสนาพุทธก็มีความปัจเจกอยู่แล้ว แบบที่สามารถเลือกเชื่อหรือเลือกปฏิบัติให้เหมาะกับตัวเองได้ จ๋าย: ใช่ ความจริงแล้วพุทธมันเป็นปัจเจกครับ เขาพูดเรื่องแก่นกลาง แก่นกลางอาจจะอันเดียวกัน แต่วิธีการไปถึงมันก็ต้องต่างกันอยู่แล้วเพราะคนเราไม่เหมือนกัน    The People: ย้อนกลับมาที่ ‘4KINGS’ คิดว่าคนดูจะได้อะไรจากการรับชมเรื่องนี้ หรืออยากให้เขาได้อะไรกลับไป จ๋าย: นอกเหนือจากปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคยุคหนึ่ง นอกเหนือจากความสัมพันธ์ของเพื่อนที่เราก็คงเคยเห็นกันคุ้นชินอยู่แล้ว ผมอยากให้มองหนังเรื่องนี้ หรือตัวละครเหล่านี้ในมุมมองที่เป็นมนุษย์ที่สุด เพราะว่าเราก็พยายามถ่ายทอดในมุมมองความเป็นมนุษย์ที่สุด มันไม่ได้เท่ครับ หมายถึงว่าเขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเท่นะตอนนั้น ณ ช่วงเวลานั้นบางคนอาจจะคิดว่าเท่ เท่น่ะมันหลังจากนั้นแล้ว ที่เขาเกิดเหตุการณ์มาแล้ว เขาก็คิดอย่างเท่ ๆ แต่ ณ ตอนนั้นมันไม่ได้เท่ มันคือความเป็นเด็กที่พยายามเอาตัวรอดในสังคมนี้ ไม่ใช่จากการตีกันนะ จากการถูกลบตัวตนให้หายไป จากการไม่สำคัญต่อสังคม หรือต่อครอบครัว หรือต่อระบบใด ๆ เขาพยายามต่อสู้ในแบบของเขา ในแบบโง่ ๆ ในแบบเด็ก ๆ ของเขาอะไรอย่างนี้ เขาแค่ต้องการให้ใครสักคน หรือสังคม หรือโอกาสไหน ๆ หันมาหาเขาบ้าง เขาจะได้ไม่ต้องใช้ความรุนแรงสักที อดทนกับเขาบ้าง ผมอยากให้มองเขาด้วยสายตาของความเป็นมนุษย์จริง ๆ แล้วผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะให้คุณเห็นมนุษย์ในอีกแบบหนึ่งจริง ๆ ว่าเขาก็แค่เด็ก    The People: อยากให้ผู้คนจดจำ ‘จ๋าย’ ในรูปแบบไหน จ๋าย: ผมอยากเป็นคนดีในแบบที่ผมจำกัดความนะ สำหรับผม ของดีคือของที่มีประโยชน์ พี่โอม Cocktail เคยบอก ของดีคือของที่มีประโยชน์ พอมันมีประโยชน์มันก็เลยจำเป็น พอมันจำเป็นมันก็เลยดี คือผมอยากเป็นคนที่มีประโยชน์กับคนอื่นในแง่มุมไหนก็ได้ ก็พยายามที่จะทำตัวให้มีประโยชน์ที่สุด สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ถ้าสมมติวันหนึ่ง สิ่งที่ผมคิดว่ามันมีประโยชน์ มันอาจจะไม่ sync กับคนรุ่นใหม่แล้ว มันอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว วันนั้นก็คงจะต้องเปลี่ยนบทบาทไปทำอย่างอื่นที่มันมีประโยชน์มากกว่า ถ้าถามว่าอยากเป็นอะไร ในชีวิตนี้ก็คงอยากเป็นคนที่มีประโยชน์มากที่สุดก่อนที่ตัวเองจะตายไป   The People: ฝากผลงาน ก็ฝากภาพยนตร์เรื่อง 4 KINGS ด้วยนะครับ เพราะว่าทีมงานแล้วก็นักแสดง โดยเฉพาะผู้กำกับเนี่ยใช้เวลาถึง 8 ปี เกือบ 10 ปี ที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มันสำเร็จและออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้นะครับ แล้วก็นักแสดงก็ตั้งใจมากทุกคนเลย ผมว่าคุณจะไม่เคยเห็นเคมีของนักแสดงที่เข้ากันขนาดนี้มาก่อนในรอบ 10 ปี เคมีเข้ากันมาก เพราะทุกวันนี้ยังเป็นเพื่อนกันอยู่เลย เพื่อนสนิทเลยแหละ แล้วผมว่าเรื่องนี้มันน่าจะให้อะไรคุณ ก็ช่วย ๆ กันครับ สนับสนุนหนังไทย แล้วก็สนับสนุนวงไทยด้วยครับ ก็ฝากไททศมิตรครับ ปีหน้าต้นปีเลยก็อัลบั้มสอง   สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม