จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

“เราทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม” เจ - จักรวุธ ใจดี ผู้อำนวยการฝ่าย Central Planning & Analysis ของร้านนายอินทร์ เอ่ยถึงแนวคิดริเริ่มของการเปิดร้านหนังสือนายอินทร์ สาขาแรกขึ้นที่ท่าพระจันทร์ โดยชายคนหนึ่งที่หอบหิ้วความฝันมาเต็มกระบุง แม้จะได้รับเสียงกังขาจากคนรอบกาย แต่ชายคนนี้ก็ยังคงมุ่งมั่นสานต่อความฝันจนสำเร็จ

ชายคนนั้นคือ ‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ หนุ่มใต้จากนราธิวาส ผู้เดินทางจากบ้านเกิดมาลงหลักปักฐานที่กรุงเทพมหานคร หลังจากจบการศึกษาชั้น ม.8 จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเขาราบเรียบ แต่ไฟในใจที่ต้องการปฏิวัติวงการหนังสือกลับลุกโชน อาจเป็นเพราะคลุกคลีอยู่กับโลกตัวอักษรมาเป็นเวลานาน ทำให้หัวใจของเขาพร่ำเรียกหาแต่การมีร้านหนังสือเป็นของตัวเองอยู่ร่ำไป

และแล้วในวันที่ 20 มิถุนายน 2537 ชูเกียรติก็สามารถดับไฟในใจลง หลังจากเปิดร้านนายอินทร์ สาขาแรกที่ท่าพระจันทร์ขึ้น ความสงบเริ่มเข้ามาแทนที่ แต่เป็นความสงบที่ค่อย ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เขาต้องการมอบพื้นที่ของร้านให้เป็นโลกที่ทุกคนสามารถเข้ามาอ่านหนังสือได้โดยไม่มีใครถูกกีดกันออกจากร้าน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนสามารถอ่านหนังสือทุกเล่มได้อย่างเท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิ์แกะพลาสติกที่ห่อหนังสือได้อย่างอิสระ หรือหากไม่กล้าแกะ ก็ขอแค่บอกพนักงานประจำร้าน พวกเขาก็พร้อมวิ่งปรี่เข้ามา ‘แกะ’ บริการ และไม่ต้องกังวลว่าจะโดนตำหนิหากอ่านแล้วไม่ซื้อติดมือกลับบ้าน

นี่คือ ‘คอนเซ็ปต์’ ที่ชูเกียรติวางไว้เป็นรากฐานสำคัญ เพื่อให้สังคมแห่งการอ่านในประเทศไทยแข็งแกร่ง แม้เขาจะเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในปี 2545 ด้วยวัย 60 ปีก็ตาม

ทว่าวันที่ 31 มีนาคม 2565 คือวันสุดท้ายที่ ‘ร้านนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์’ เปิดให้บริการ The People ชวนมาย้อนความทรงจำถึงวันวานของร้านนายอินทร์ สาขาแรกของประเทศไทย ตั้งแต่วันแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 จนถึงวันสุดท้ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

ก่อนที่กลิ่นกระดาษและน้ำหมึกจะจางหายไปจากความทรงจำ...

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

เรื่องราวของชายในความทรงจำ

นับตั้งแต่เราก้าวเท้าเข้ามาที่ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือ พนักงานทุกคนที่นับรวม ๆ แล้วมีประมาณ 4 คน ดูตื่นเต้นกับการมีลูกค้ามาใช้บริการในช่วงเวลานี้อยู่พอสมควร อาจเป็นเพราะช่วงเวลาสายของวันไม่ค่อยจะมีลูกค้าเดินมาเลือกหนังสือเท่าไร หรืออาจเป็นเพราะเราเลือกไปเยือนสถานที่ที่จะกลายเป็นความทรงจำในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร แต่ความรู้สึกทั้งหมดที่เรากำลังสัมผัสอยู่นี้ คงจะเป็น ‘ความอบอุ่นใจ’ ผสมปนเปไปกับ ‘ความใจหาย’

ยังมีเวลาอีก 1 ชั่วโมงก่อนที่เราจะพูดคุยกับ ‘เจ - จักรวุธ ใจดี’ ชายผู้ที่จะมาถ่ายทอดความทรงจำของร้านนายอินทร์ สาขาแรกของประเทศไทย ตั้งแต่แนวคิด ไปจนถึงเหตุผลที่ตัดสินใจปิดตำนานร้านหนังสืออายุเกือบ 30 ปีที่อยู่คู่ชาวท่าพระจันทร์

เราเดินสำรวจร้านฆ่าเวลา จากชั้นแรกที่ดูปกติเหมือนร้านหนังสือทั่วไป ไม่เหมือนร้านที่กำลังจะปิดตัวลง แต่พอเดินขึ้นไปชั้น 2 เราก็เห็นลังกระดาษที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือวางอยู่เต็มไปหมด เป็นสัญญาณว่านายอินทร์กำลังเตรียมตัวออกเดินทางแล้วจริง ๆ ส่วนชั้น 3 กลายเป็นเพียงพื้นที่ตั้งชั้นหนังสือเปล่า ๆ พร้อมทั้งลังกระดาษอีกหลายสิบกองที่พับวางไว้อยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

หลังจากสำรวจจนพอใจ และเลือกหาหนังสือติดไม้ติดมืออีก 2 - 3 เล่ม ก็ถึงเวลาสัมภาษณ์จักรวุธพอดี เขาเดินเข้ามาในร้านด้วยรอยยิ้มใจดี พร้อมพูดคุยหยอกเย้ากับพนักงานทุกคนอย่างสนิทสนม

จักรวุธเข้ามาทำงานกับบริษัท อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ ในปี พ.ศ. 2546 หลังจากร้านนายอินทร์สาขาแรกเปิดตัวแล้ว 10 ปี แม้เวลาจะผ่านไปนานนับทศวรรษที่ร้านหนังสือแห่งนี้ทำหน้าที่มอบพื้นที่เล็ก ๆ ให้แก่ชุมชนท่าพระจันทร์ แต่จักรวุธได้เห็นแล้วว่า ‘ความมุ่งมั่น’ ในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการอ่านของร้านนายอินทร์ยังคงแจ่มชัดเหมือนวันแรกที่ชูเกียรติตั้งมั่นไว้

“ผมเข้ามาตอนปี พ.ศ. 2546 คุณชูเกียรติเสียชีวิตตอนปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าผมไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับท่านก่อนจะจากไป แต่ก็ได้รับรู้เรื่องราวของท่านมาโดยตลอด ได้ฟังจากทั้งคนรุ่นก่อนหน้าและได้อ่านเรื่องราวที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือก่อนจะเสียชีวิตก็คือเรื่อง ‘มะเร็งขึ้นสมอง’

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

“เรื่องหนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยมากก็คือ คุณชูเกียรติจะเน้นคุณภาพของงานที่จะออกไปสู่มือลูกค้ามาก คนที่ทำงานรุ่นเก่า ๆ ก็จะเล่าผ่านกันมาว่ามีครั้งหนึ่งทีมงานบ้านและสวนเหมือนจะทำงานกันหย่อนยานไปหน่อย เช้าวันต่อมาตรงประตูทางเข้าบริษัทเลยติดป้ายประกาศใหญ่โต เขียนด้วยลายมือคุณชูเกียรติว่า ‘เราต้องทำงาน เพราะมีงานต้องทำ’ มันเป็นความผิดพลาดจุดเล็ก ๆ ที่เจอในหน้านิตยสาร แต่คุณชูเกียรติสั่งโละทั้งล็อต แล้วผลิตใหม่ทั้งหมด แม้ว่าจุดที่ผิดนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

“สำหรับคุณชูเกียรติท่านมองว่าเราอยู่ในวงการที่ให้ความรู้เรื่องของตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นความผิดพลาดแบบนี้คือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมได้ยินมาตลอดนับตั้งแต่เข้ามาทำงานกับอมรินทร์”

จักรวุธเล่าถึงความทรงจำที่มีต่อชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ชายที่เขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน แต่ทุกคำพูดที่เขาเอ่ยออกมาล้วนเต็มไปด้วยความชื่นชม

“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ก็คือ ‘การอ่าน’ คุณชูเกียรติอยากให้คนอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ ท่านเลยตัดสินใจมาเปิดร้านนายอินทร์ที่ท่าพระจันทร์ เพราะตรงนี้มีการสัญจรของผู้คนมากมาย ท่าพระจันทร์สมัยก่อนโน้นคึกคักมากนะ ทั้งนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว เดินกันขวักไขว่ เป็นย่านที่มีชีวิตชีวามากที่สุดย่านหนึ่งเลยก็ว่าได้”

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ร้านนายอินทร์เป็นสถานที่ที่ชาวท่าพระจันทร์หลงรักมาตลอด 30 ปีคงหนีไม่พ้นความใส่ใจของพนักงาน และพื้นที่ที่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับการมาเยือนของทุกคนอยู่เสมอ แม้ว่าช่วงแรกของการเปิดร้านหนังสือในชุมชนแห่งนี้จะเต็มไปด้วยความขรุขระก็ตาม

“เมื่อก่อนร้านหนังสือมีแต่เจ้าใหญ่ ๆ เป็นเจ้าตลาดอยู่ พอนายอินทร์มาเปิด ก็ได้รับคำถามค่อนข้างเยอะว่าจะไปรอดเหรอ? แต่เพราะเรามีข้อแตกต่าง เรามีพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ เรามีการจัดเสวนาเพื่อรวมตัวคนรักการอ่านมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และที่สำคัญเรามีพนักงานที่มีใจรักหนังสือ หากลูกค้าอยากอ่านเล่มไหน เราก็พร้อมแกะพลาสติกที่ห่อปกไว้ให้ลูกค้าอ่าน เราไม่ว่าเลยถ้าอ่านแล้วไม่ซื้อกลับบ้าน เรายินดีบริการด้วยซ้ำ

“นี่คือสิ่งที่นายอินทร์พยายามรักษาไว้ตลอด” จักรวุธย้ำ

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ การปิดตัวของร้านหนังสือก็เช่นกัน

“ถ้าเราเห็นน้ำมันไหลในลำธาร เราก็ต้องรู้จักไหลตามกระแสน้ำ อย่าเป็นน้ำที่นิ่ง น้ำที่นิ่งคือน้ำที่อยู่ตามซอกหิน ซอกหลืบ ซึ่งตรงนั้นเป็นที่ทับถมของใบไม้ของซากอะไรต่าง ๆ ถ้าเราเป็นน้ำที่นิ่ง น้ำตรงนั้นมันก็มีโอกาสที่จะเน่า เพราะฉะนั้นเมื่อสายน้ำมันไหล ก็ควรไหลไปตามสายน้ำ

“กระแสการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะในยุคนี้ ยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านมากมาย เมื่อปัจจัยอะไรมันเปลี่ยน การที่เราฝืนอยู่ต่อแล้วมันฝืนไม่ได้เราก็อย่าไปฝืนมันดีกว่า”

เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยหรือเปล่าที่นายอินทร์ ท่าพระจันทร์ต้องปิดตัวลง - เราถาม

“โควิด-19 ก็ส่วนหนึ่งนะ แต่เหตุผลหลัก ๆ เลยก็คือเรื่องการสัญจรที่ไม่สะดวกให้ทุกคนมาใช้บริการเท่าที่ควร พอช่วงโควิด-19 ล็อกดาวน์ คนเขา work from home กัน ตรงท่าเรือก็เงียบลงไปอีก เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนก็หายไปราว 80 - 90% เราก็เลยตัดสินใจให้พนักงานไปดูแลลูกค้าในจุดอื่นดีกว่า ในเมื่อมันทวนกระแสน้ำไม่ได้ก็ต้องไป”

จักรวุธเล่าถึงเหตุผลของการตัดสินใจปิด ‘ตำนาน’ ร้านหนังสือที่อยู่เคียงคู่ชุมชนท่าพระจันทร์ลง ด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่เข้าใจโลก

แล้วไม่ใจหายเหรอ? - เราถามย้ำ

“ใจหายไหม มันก็ใจหาย แต่โลกมันก็เปลี่ยนตลอด เหมือนกับหลาย ๆ อย่าง รุ่นหนึ่งอาจจะมีความทรงจำกับศาลาเฉลิมไทย คนอีกกลุ่มก็มีความทรงจำกับโรงหนังสกาลา หรือโคคาสุกี้สยาม

“พอถึงจุดหนึ่ง ปัจจัยมันเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับตัวไปตามกระแส”

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจลบเลือนไปจากย่านนี้ได้คือ ‘ความทรงจำดี ๆ’ ที่ร้านนายอินทร์มอบให้แก่ชาวท่าพระจันทร์ ซึ่งจักรวุธได้เล่าว่ามีครั้งหนึ่ง พนักงานประจำร้านได้ช่วยชีวิตลูกค้าไว้ได้อย่างหวุดหวิด ผ่านการแนะนำหนังสือเพียง 1 เล่ม

“ตอนปี พ.ศ. 2538 เป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจจำนวนมากเสียหาย วันนั้นมีลูกค้าคนหนึ่งนั่งเรือข้ามฟากมา เขาก็เดินสะโหลสะเหลแบบไร้จุดหมายมาที่ร้านเรา พอน้องพนักงานเห็นก็เข้าไปแนะนำหนังสือให้ หลังจากนั้นประมาณเดือนสองเดือนให้หลัง ลูกค้าคนเดิมเขากลับมา เขาบอกเราว่าวันนั้นที่แวะมาที่ร้าน กำลังมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เงินที่กำอยู่ในมือก็เตรียมไว้เพื่อซื้อยาฆ่าตัวตาย

“หลังจากเปิดอ่านหนังสือที่ได้รับการแนะนำมาก็ทำให้เขาฉุกคิดอะไรบางอย่าง ทำให้เขามีสติอีกครั้ง พอมีสติแล้วก็ทำให้ปัญหาทุกอย่างมันถูกมอง ถูกวิเคราะห์ ถูกแก้ไข กลายเป็นว่าความคิดของเขาเปลี่ยนไป เขาก็บอกกับน้องพนักงานว่าหนังสือเล่มนั้นทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อ ไม่ใช่เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อคนที่เป็นห่วง และคนที่รักเขา

“มันทำให้เราเห็นว่าหนังสือช่วยเปลี่ยนชีวิตคนได้จริง ๆ”

แม้ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์จะปิดตัวลง แต่จักรวุธเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้จะยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เป็นอดีต เป็นความทรงจำดี ๆ ของนักอ่าน และยังมีอีกกว่า 130 สาขาที่เป็นปัจจุบัน หากคิดถึงนายอินทร์ก็สามารถแวะเวียนไปหาได้เสมอ พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า “เรายังคงยึดมั่นการทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคมต่อไป และจะมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ออกมาให้ดีที่สุด”

จักรวุธ ใจดี: ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ตำนานที่อยู่เคียงข้างชุมชนนานกว่า 20 ปี ในวันที่ต้องโบกมือลา

หนังสือสามเล่มแทนความทรงจำ

1. เดอะซีเคร็ต (The Secret)

นักเขียน: รอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne)

นักแปล: จิระนันท์ พิตรปรีชา

สำนักพิมพ์: อมรินทร์

The Secret เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศของ Rhonda Byrne ว่าด้วยเรื่องของทฤษฎีแรงดึงดูด ว่าสิ่งเดียวกันจะดึงดูดสิ่งที่เหมือน ๆ กันเข้าหาตัว เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดเรื่องดี ๆ เราทำอะไรดี ๆ มันก็จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เหล่านั้นเข้ามาหาตัว ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดไปในเรื่องอะไรแย่ ๆ แน่นอนเลยว่าเรามีโอกาสที่จะดึงดูดเรื่องไม่ดี เรื่องแย่ ๆ เหล่านั้นเข้ามาหา

ซึ่งทฤษฎีแรงดึงดูดตรงนี้ เขามีการพิสูจน์มาแล้วจากคนทั้งโลก แล้วก็ตั้งมาเป็นกฎสามข้อให้เอามาใช้เพื่อดูว่าพลังแห่งการดึงดูดสามารถเปลี่ยนชีวิตได้จริงหรือไม่ ว่าด้วยเรื่องของ ‘การขอ เชื่อ รับ’

ข้อแรกคือ ‘การขอ’ ขอพลังของธรรมชาติ ขอพลังของจักรวาล ที่มีอยู่ในโลกนี้โดยที่เราคิดถึงสิ่งดี ๆ มองถึงสิ่งดี ๆ ไว้ ก็ขอให้สิ่งดี ๆ นั่นวิ่งเข้ามาอย่างที่เราตั้งใจไว้

ข้อที่สองคือเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ เชื่อว่าสิ่งที่เราขอ สิ่งที่เราต้องการมันจะทำได้ มันจะเป็นจริง

ข้อที่สามคือ ‘การรับ’ เมื่อเราตั้งเป้าหมายไว้แล้ว จะช้าจะเร็วมันก็ขึ้นอยู่แต่ละปัจจัยของบุคคล แต่จงเชื่อ เชื่อว่าพลังนี้มันจะมา แล้วก็รอรับผลของมัน เมื่อเราทำไปแล้วสักวันหนึ่ง ผลของมันจะกลับมา

2. หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ (The Storied Life of A. J. Fikry)

นักเขียน: แกเบรียล เซวิน (Gabrielle Zevin)

นักแปล: อภิญญา ธโนปจัย

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์

อันนี้แนะนำสำหรับแฟนนายอินทร์สายวรรณกรรม เป็นเรื่องราวของเจ้าของร้านหนังสือบนเกาะเกาะหนึ่ง ซึ่งภรรยาเสียชีวิตไป ตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิตก็ทำตัวแบบไร้จุดหมาย ทำหน้าที่แค่เพียงดูแลร้านหนังสือเก่า ๆ ไปวัน ๆ ปล่อยให้ร้านหนังสือทรุดโทรม ไม่สนใจจะทำมาหากินอะไรเท่าไร จนมาถึงวันหนึ่ง ชีวิตเขามีสองคนที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยน

คนแรกคือเด็กผู้หญิงทารกตัวเล็ก ๆ ถูกนำมาทิ้งไว้ที่หน้าร้านเขา แล้วเขาก็จับพลัดจับผลูเอาเด็กคนนั้นมาดูแล อีกคนหนึ่งก็เป็นพนักงานขายของสำนักพิมพ์ที่จะต้องเดินทางข้ามเกาะมา เพื่อมาส่งหนังสือวางขายในร้านของ A. J. ก็มีสองคนนี้ที่มาแล้วทำให้มีหลากเรื่องราวเข้ามาในร้าน ชีวิตของเขาเลยเปลี่ยนไป

ผมว่ามันก็อาจจะเข้ากับชีวิตของทีมงานพวกเรา เราจะมีมุมมองว่าร้านหนังสือมีชีวิตอย่างไรกับชีวิตของผู้คนในชุมชน มีต่อคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ มีผลอะไรต่อคนอีกเยอะแยะ เป็นวรรณกรรมน้ำดีอันหนึ่ง อ่านแล้วก็ละมุน มีความรู้สึกว่าเป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่อ่านแล้วได้ความรู้สึกดี ๆ มีความสุข

3. นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ

นักเขียน: ฮาวัน (Ha Wan)

นักแปล: ตรองสิริ ทองคำใส

สำนักพิมพ์: Springbooks

เรื่องสุดท้าย อาจจะเหมาะกับใครหลาย ๆ คน เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มเกาหลีคนหนึ่ง ที่เป็นพนักงานประจำ ทำงานเช้าทำงานเย็น แล้วชีวิตมันก็จำเจไม่ดีขึ้น พอถึงจุดจุดหนึ่ง เขาก็เริ่มรู้สึกว่าการเป็นพนักงานประจำอยู่นั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์เขาแล้ว เช้าทำงาน ดึกกลับห้อง กินเหล้าเมา ใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยคบหาใคร

แต่เขามีความชอบมีความรักอันหนึ่งคือเขาเป็นนักวาด เขาก็เลยออกมา ลองวาดการ์ตูนส่ง พอถึงจุดหนึ่งเขาก็บอกว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนมันไม่ได้แล้ว เขาจึงตัดสินใจออกมา กระโดดออกมาทำทั้งที่จริง ๆ แล้วการเป็นฟรีแลนซ์ก็ไม่ได้มีโอกาสจะร่ำรวยได้มากเท่าไรในยุคนี้ แต่เขาก็กระโดดออกมาทำ แล้วทำให้เขาสามารถมีชีวิต ทำมาหากินได้อย่างมีความสุข

ผมชอบประโยคอันหนึ่งในเล่มนี้ เขาบอกว่า บางทีเราไปทำอะไรที่ยาก แล้วหลายคนก็บอกว่าต้องสู้นะ ทำให้ได้เดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไปได้ ทำเถอะเดี๋ยวมันต้องได้ แต่ในเล่มนี้เขาบอกว่าบางทีมันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าการที่เรามัวแต่ทำแต่มุ่งไปในสิ่งที่มันยาก นั่นคือเรากำลังปิดโอกาสตัวเองในการได้ทำอย่างอื่นที่มันใช่กว่า เราก็อย่าไปมองอะไรให้มันแคบเกินไป บางทีต้องถอยออกมาบ้าง อย่าไปเสียโอกาสต่าง ๆ เหล่านั้น ตอนนี้คุณอาจจะกำลังใช้ชีวิตยากเกินไปไหม ก็ต้องลองถามตัวเองดู