เจมส์ มอริสัน: หมอต้มตุ๋นชาวอังกฤษผู้สร้างยาทิพย์รักษาทุกโรค

เจมส์ มอริสัน: หมอต้มตุ๋นชาวอังกฤษผู้สร้างยาทิพย์รักษาทุกโรค
เมื่อประชาชนเริ่มไม่มั่นใจในวิธีการรักษาของแพทย์แบบดั้งเดิม ประชาชนที่ไม่ได้รับการศึกษาจึงตกเป็นเครื่องมือของนักต้มตุ๋น  ในศตวรรษที่ 19 ประเทศอังกฤษเกิดหมอต้มตุ๋นขึ้นมากมาย แต่มีเพียงคนเดียวที่สามารถยืนหยัดกับการหลอกลวงได้อย่างยาวนาน นั่นคือ เจมส์ มอริสัน (Jame Morison)  ในช่วงต้นทศวรรษ 1820 เจมส์ มอริสัน (Jame Morison) นักธุรกิจชาวอังกฤษเริ่มรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการแพทย์และวิธีการรักษาแบบเดิม ๆ หลังจากที่พยายามรักษาอาการป่วยของตนเองมายาวนานกว่า 30 ปี จึงลุกขึ้นมาคิดค้นวิธีการรักษาแบบใหม่ และมั่นใจว่าจะสามารถรักษาได้ดีกว่าแพทย์ดั้งเดิม   ยาเม็ดมหัศจรรย์ ‘สามสิบปีแห่งความเจ็บปวดที่ไม่สามารถอธิบายได้’  เป็นจุดกำเนิดของยาเม็ดผักที่มอริสันสร้างขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่ายาเม็ดผักที่เขาปรุงขึ้นนี้เป็นสิ่งเดียวที่รักษาเขาได้ โดยมอริสันระบุว่าอาการป่วยและความเจ็บปวดของเขาเป็นผลจากความผิดปกติของเลือด ในปี 1825 มอริสันจึงได้รวบรวมความคิดของเขาให้เป็นยาเม็ดที่มีประโยชน์ซึ่งทำจากส่วนผสมธรรมชาติทั้งหมด ได้แก่ ว่านหางจระเข้ รูบาร์บ (rhubarb) ครีมออฟทาร์ทาร์ (cream of tartar) และมดยอบ (myrrh) มอริสันประกาศว่ายาเม็ดมหัศจรรย์นี้สามารถบรรเทาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่โรคบิด ไข้ทรพิษ ไปจนถึงสิว หรือแม้กระทั่งอาการละเมอขณะนอนหลับ  เขาเชื่อว่ายาระบายจากพืชของเขาสามารถขจัดสิ่งสกปรกและฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาของหมอแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก ยาเม็ดมหัศจรรย์ของมอริสันกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ยาครอบจักรวาล (Universal Pill) หรือ ยาของมอริสัน (Morison’s Pill) เขาอ้างว่ายาเม็ดนี้มีข้อดีคือสามารถกินได้บ่อยเท่าที่ต้องการ หรือจะกินสามสิบเม็ดต่อวันก็สามารถทำได้   โฆษณาชวนเชื่อ มอริสันต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทยาของเขาจึงได้ก่อตั้ง British College of Health ขึ้น โดยเขาทำหน้าที่เป็น ‘นักสุขศาสตร์’ (hygienist) และองค์กรใหม่ของมอริสันนี้ทำให้การจำหน่ายยาของเขาเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ มอริสันได้โฆษณายาครอบจักรวาลของเขาโดยการเปรียบเทียบร่างกายของมนุษย์กับต้นไม้ และรับรองต่อสาธารณชนว่าพวกเขาสามารถใช้ยานี้ได้โดยไม่ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ เขาโน้มน้าวผู้คนโดยการเปรียบเทียบร่างกายมนุษย์กับต้นไม้และพืช เขากล่าวว่า ต้นไม้และพืชไม่เคยเจ็บป่วย แต่มนุษย์สามารถเจ็บป่วยได้เพราะความผิดปกติของเลือด ดังนั้น ‘ยาครอบจักรวาล’ (Universal Medicine) ที่ทำจากผัก (ซึ่งไม่มีเลือด) จึงไม่เป็นอันตรายและสามารถกินได้โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ มอริสันสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคผ่านคำพูดของผู้ป่วยที่อ้างว่าหายจากการรักษาโดยยาครอบจักรวาล และคำยืนยันจากผู้ที่อ้างว่าเป็นแพทย์ เช่น ข้อความที่ตีพิมพ์ใน The Spectator ปี 1832 ชายคนหนึ่งอ้างว่าภรรยาของเขามีอาการเจ็บหน้าอกมาเป็นเวลา 12 ปี และรักษาด้วยการแพทย์แบบดั้งเดิมไม่สำเร็จ “เธอจึงถูกชักชวนให้ลองใช้ยาครอบจักรวาลของมอริสัน ซึ่งเมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์ อาการเจ็บหน้าอกของเธอจึงหายขาดทั้งหมด” เขากล่า โปสเตอร์โฆษณายาเม็ดมหัศจรรย์สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในลอนดอน โดยมีข้อความกล่าวว่า ‘ยาเม็ดมหัศจรรย์ของมอริสันทำให้ขาของชายพิการงอกขึ้นใหม่ในชั่วข้ามคืน’ ซึ่งยาเม็ดมหัศจรรย์นี้มีจำหน่ายโดยทั่วไปตั้งแต่ร้านขายยา ร้านขายของชำ ไปจนถึงห้องสมุด    จุดจบของนักต้มตุ๋น อย่างไรก็ตาม การโจมตีแพทย์แบบดั้งเดิมและการคิดค้นวิธีรักษาแบบใหม่ของมอริสันไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โทมัส แวคลีย์ (Thomas Wakley) บรรณาธิการผู้ก่อตั้งวารสารทางการแพทย์ The Lancet และแพทย์คนอื่น ๆ ได้ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการรักษาของมอริสัน รวมทั้งเปิดโปงเบื้องหลังของยาครอบจักรวาลนี้  แม้มอริสันจะอ้างว่ายาของเขาจะทำให้ผู้คนมีสุขภาพดี แต่กลับมีการรายงานการเสียชีวิตจากการใช้ยาเม็ดนี้ เช่น กรณีเด็กหญิงอายุ 15 ปีเสียชีวิตอย่างทรมานโดยมีสาเหตุมาจากการใช้ยาเม็ดครอบจักรวาลของมอริสัน รวมทั้งเหตุการณ์การเสียชีวิตของกัปตันจอห์น แมคเคนซี (John Mackenzie) ผลชันสูตรระบุว่าเขาใช้ยาครอบจักรวาลของมอริสันมากเกินไปจนเป็นที่มาในสาเหตุของการเสียชีวิต มอริสันหลบหนีความผิดโดยการให้ตัวแทนจำหน่ายยาของเขาเป็นแพะรับบาป และตัดสินใจเดินทางออกจากอังกฤษไปยังปารีสในปี 1834 มอริสันยังคงผลิตยาเม็ดนี้ต่อไป และแนะนำให้ประชาชนกินยาในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มอริสันยังกล่าวว่ายามหัศจรรย์ของเขาอาจไม่ได้ผลในทันที แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดใช้ยา ในปี 1840 มอริสันในวัย 70 ปี ได้เสียชีวิตลงโดยไม่มีบันทึกการใช้ยาเกินขนาด แต่ภายหลังมีคนพบว่านักต้มตุ๋นคนนี้เสียชีวิตลงในขณะที่เขากำลังจะเปิดขวดยาเม็ดมหัศจรรย์ของเขา การต้มตุ๋นของมอริสันทำเงินไปกว่า 500,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 พันล้านบาท ลูกชายของมอริสันยังคงดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป ก่อนที่อังกฤษจะประกาศยุติการขายในปี 1920  เรื่องราวของเจมส์ มอริสัน สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะผ่านมานานเพียงใด การมีชีวิตที่ยืนยาวยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันมาเสมอ แต่ถึงมนุษย์จะพยายามมากมายเพียงใดก็ไม่สามารถหลบหนีสัจธรรมข้อนี้พ้น อย่างชีวิตของมอริสันที่เริ่มต้นจากการไม่อยากเจ็บป่วย นำไปสู่การหลอกลวงจนสร้างรายได้อย่างมากมาย แต่สุดท้ายชีวิตของเขาก็ต้องจบลงด้วยความตายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เรื่องราวของเขายังย้ำเตือนให้เราตระหนักได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของมนุษย์ และการโฆษณาเกินจริงยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ ฉะนั้นการรู้เท่าทันและมีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตาม   เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior)   ที่มา: https://allthatsinteresting.com/james-morison https://collection.sciencemuseumgroup.org.uk/objects/co66666/extraordinary-effects-of-morison-vegetable-pills-advertisement-published-london-england-1834-print http://exhibits.hsl.virginia.edu/caricatures/en4-quacks/   ที่มาภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:James_Morison._Stipple_engraving_by_Castle_after_G._Clint,_1_Wellcome_V0004131.jpg