เจมส์ แบร์รี หมอศตวรรษที่ 19 ผู้ซ่อนเพศกำเนิดที่แท้จริงจนวันตาย

เจมส์ แบร์รี หมอศตวรรษที่ 19 ผู้ซ่อนเพศกำเนิดที่แท้จริงจนวันตาย

เจมส์ แบร์รี หมอศตวรรษที่ 19 ผู้ซ่อนเพศกำเนิดที่แท้จริงจนวันตาย

ในศตวรรษที่ 18 ที่ทางของผู้หญิงในสังคมอังกฤษยังค่อนข้างจำกัด แม้ผู้หญิงจะเริ่มมีการศึกษาอ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว แต่เป้าหมายของการศึกษาสำหรับผู้หญิงสมัยนั้นก็เพื่อเป็นภรรยาคอยสนับสนุนสามี อย่างไรก็ดี ถ้าผู้หญิงคิดจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพที่กีดกันผู้หญิงก็อาจทำได้ แต่ผู้หญิงคนนั้นต้องแปลงตนเองเป็นผู้ชาย วิธีการนี้ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแม้ว่าเพศที่แท้จริงของพวกเธอจะถูกเปิดเผย นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเคยค้นคว้าพบผู้หญิงที่แต่งตัวข้ามเพศเพื่อประกอบอาชีพต้องห้ามสำหรับผู้หญิงในยุคศตวรรษที่ 18 จำนวน 34 คน ในจำนวนนี้มี 16 คนที่เป็นทหาร นักเดินเรือ หรือโจรสลัด การเป็นหมอก็ไม่ต่างกัน นั่นจึงทำให้ มาร์กาเร็ต แอน บัล์กลีย์ (Margaret Ann Bulkley) ต้องกลายมาเป็น "เจมส์ มิรันดา สจวต แบร์รี" (James Miranda Steuart Barry) เพื่อได้เป็นหมอในกองทัพอังกฤษ แบร์รีเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พ่อแม่เป็นใครไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเขาน่าจะเป็นหลานของศิลปินรายหนึ่งที่ชื่อ เจมส์ แบร์รี ซึ่งไม่เพียงแต่เขาจะเอาชื่อของลุงที่เสียไปแล้วมาใช้เป็นชื่อตัวเท่านั้น เขายังได้ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของลุงมาช่วยเหลือให้สามารถเข้าเรียนด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ตอนนั้นเขาอายุได้ราว 19 ปีแล้ว แต่อ้างว่าตัวเองยังเด็กเลยตัวเล็กและยังไม่มีหนวดให้เห็นสักเส้น ตอนแรกทางมหาวิทยาลัยจะไม่ยอมรับเขาเข้าเรียนเพราะคิดว่าเขาอายุน้อยเกินไป แต่ด้วยความช่วยเหลือจากลอร์ดบักคัน (Lord Buchan) ชนชั้นสูงผู้ให้การอุปถัมภ์ศิลปินและนักวิชาการ และยังเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้หญิงด้วย ทำให้แบร์รีสามารถเข้าเรียนที่สถาบันแห่งนี้ได้สำเร็จ หลังจบการศึกษาเมื่ออายุได้ 22 ปี (แต่เจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่าเขาคงอายุได้เพียง 12 ปีเท่านั้น) และผ่านการทดสอบของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ (Royal College of Surgeons) แล้ว เขาก็สมัครเข้าเป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ในกองทัพ ซึ่งก็ได้รับการผลักดันจากลอร์ดคนเดิม เพราะตอนแรกกองทัพตั้งท่าจะปฏิเสธด้วยเห็นว่าเขายังเด็กเกินไป เมื่อได้มาเป็นหมอทหารแล้วเขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเพราะกำลังภายในและเส้นสายหรือไม่? แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือเขาคือศัลยแพทย์ที่มีความสามารถจริง ตัวอย่างหนึ่งคือในช่วงที่เขาประจำการอยู่ที่เคปทาวน์ในแอฟริกาใต้ (ค.ศ. 1816-1828) เขาได้ทำการผ่าท้องทำคลอด (ซี-เซกชัน) สำเร็จ โดยที่ทั้งเด็กและแม่รอดชีวิต ซึ่งถือเป็นการผ่าท้องคลอดครั้งแรกในทวีปแอฟริกา และเป็นครั้งแรกๆ ของโลก แบร์รีมักจะไปประจำการอยู่ในดินแดนอาณานิคม นอกจากที่เคปทาวน์แล้ว เขายังเคยไปประจำการอยู่ที่มอริเชียส จาเมกา เซนต์เฮเลนา บาร์บาดอส ตรินิแดด มอลตา และคอร์ฟู เขาสร้างชื่อด้วยการกล้าเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกับปัญหาทุจริตและการละเลยกิจการสาธารณสุข ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับปรุงการดูแลและรักษานักโทษเพื่อมนุษยธรรมด้วย ขณะเดียวกัน แบร์รีก็มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เขามักจะตะคอกใส่คนไข้ ทำลายข้าวของรวมถึงขวดบรรจุยาเมื่อไม่สบอารมณ์ขึ้นมา แม้แต่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล พยาบาลต้นแบบก็เคยถูกแบร์รีตะโกนด่าต่อหน้าสาธารณะมาแล้ว "ตลอดทั้งชีวิตฉันไม่เคยเจอความหยาบคายอะไรอย่างนี้มาก่อน สิ่งที่ฉันเจอมากกว่าผู้หญิงคนไหนๆ จากชายที่ชื่อว่าแบร์รี ตอนนั้นฉันแค่เดินข้ามสนามในโรงพยาบาลโดยสวมหมวกมีปีกกันแดดเท่านั้นแหละ เขาสั่งให้ฉันยืนอยู่ท่ามกลางทหาร กองพลาธิการ คนรับใช้ เพื่อนร่วมแคมป์ ฯลฯ คนเหล่านี้ต่างปฏิบัติต่อฉันอย่างสุภาพบุรุษ ในขณะที่เขาตะโกนด่าฉันอย่างพวกป่าเถี่อน...หลังจากที่เขาตาย ฉันได้ยินว่าเขาเป็นผู้หญิง...ฉันพูดได้ว่าคนคนนี้คือสิ่งมีชีวิตที่แข็งกระด้างที่สุดที่ฉันเคยเจอ" ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กล่าวหลังการตายของแบร์รี มีการวิเคราะห์กันว่า การที่เขาแสดงความเกรี้ยวกราดอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่เขาใช้เพื่อปกปิดความเป็นหญิง ในขณะที่เขาหวงความเป็นส่วนตัวมากจนผิดสังเกต การที่เขาตัวเล็กไม่เหมือนชายทั่วไปยังทำให้เขาถูกล้อเลียน ซึ่งเขาตอบโต้ด้วยการท้าดวล ครั้งหนึ่งคนที่เขาท้าถูกเขายิงตายคาที่ทำให้หลังจากนั้นเสียงล้อเลียนเรื่องรูปร่างและน้ำเสียงของเขาจึงค่อยๆ หายไป เพศกำเนิดของเขา (ซึ่งเป็นที่สงสัยของคนรอบข้างอยู่ก่อนแล้ว และบางคนก็อาจรู้แล้วว่าเขาเป็นผู้หญิง ขณะที่เขาป่วยหนักอยู่ในตรินิแดด) ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงในปี 1865 เมื่อมีหญิงรายหนึ่งที่ได้เห็นศพของแบร์รีนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่กับสื่อ เรื่องนี้ทำให้ จอร์จ แกรแฮม นายทะเบียนใหญ่สมัยนั้นเขียนจดหมายไปถามข้อเท็จจริงจาก ดี.อาร์. แมคคินนอน (D.R. McKinnon) แพทย์ที่ลงนามในมรณบัตรของแบร์รี และยืนยันว่าเขาเป็นผู้ชาย ซึ่งหมอแมคคินนอนได้ตอบกลับนายทะเบียนใหญ่ไปว่า "ผมได้รู้จักใกล้ชิดกับคุณหมอมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งในลอนดอน และอินเดียตะวันตก ผมไม่เคยสงสัยเลยสักนิดว่าหมอแบร์รีจะเป็นผู้หญิง ผมคือผู้ตรวจอาการป่วยสุดท้ายของเขา (ก่อนนี้เขามีอาการหลอดลมอักเสบ และติดเชื้อท้องร่วง) พอหมอแบร์รีเสียชีวิตลงที่ออฟฟิศของเซอร์ชาลส์ แมคเกรเกอร์ (Sir Charles McGregor) พยาบาลที่ทำศพให้หมอแบร์รีมารอพบผม เธอบอกว่าเธออยากสืบต่องานบางส่วนที่หมอเคยทำ แต่คุณหญิงที่ดูแลบ้านที่หมอเคยพักอยู่แกไม่ยอม เหนือสิ่งอื่นใด เธอบอกว่าหมอแบร์รีเป็นผู้หญิงและบอกว่าผมเป็นหมอที่ไม่เอาไหนที่ไม่รู้เรื่องนี้ และบอกว่าเธอจะไม่ยอมให้ผมตรวจรักษาแน่ๆ ผมบอกเธอไปว่ามันไม่ใช่เรื่องของผมเลยว่าหมอแบร์รีจะมีเพศหญิงหรือเพศชาย ซึ่งผมคิดว่าเขาอาจจะไม่ใช่ทั้งสองเพศก็ได้ อาจพูดได้ว่าเป็นคนที่มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ เธอบอกว่าเธอได้ตรวจร่างกายของเขาแล้ว ยืนยันว่าเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้นยังมีร่องรอยว่าเคยมีลูกมาก่อนตอนที่เขาอายุน้อยๆ ผมเลยถามกลับไปว่าเธอรู้ได้อย่างไร ผู้หญิงคนนี้ชี้ไปที่ตอนล่างของท้องเธอแล้วพูดว่า 'จากรอยตรงนี้ ฉันคือหญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกอยู่เก้าคน ฉันต้องรู้สิ' "หญิงคนนี้คิดว่าเธอได้ล่วงรู้ความลับยิ่งใหญ่เข้าแล้ว และอยากจะได้เงินปิดปาก ผมเลยบอกไปว่าญาติของหมอแบร์รีตายหมดแล้ว ผมเองก็ไม่มีเรื่องต้องปิดบัง และในความเห็นของผมหมอแบร์รีเป็นกระเทยแท้ แต่จริงๆ หมอแบร์รีจะเป็นหญิงหรือชาย หรือกระเทย ผมก็ไม่รู้หรอก แล้วผมก็ไม่มีเป้าหมายที่จะต้องเปิดโปงเรื่องนี้ สิ่งที่ผมสาบานได้ก็คือตัวตนของเจ้าของร่างซึ่งเป็นคนที่ผมรู้จักในฐานะผู้ตรวจการใหญ่กิจการโรงพยาบาล (Inspector-General of Hospitals) มานานหลายปี" "ด้วยความสัตย์ "ดี.อาร์ แมคคินนอน" จากคำตอบของหมอแมคคินนอนอาจทำให้คิดได้ว่า จริงๆ แล้วหมอแบร์รีไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่คำพูดของเขาก็มีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้มากกว่าจะยืนยันชัดเจนว่าหมอแบร์รีเป็นกระเทยแท้ ที่น่าสนใจก็คือหมอแมคคินนอนไม่เห็นว่าเพศกำเนิดของหมอแบร์รีจะเป็นปัญหาอะไร และไม่ใช่เรื่องที่เขาจะต้องหาคำตอบมาให้กับสังคมหรือหน่วยราชการ และให้ความสำคัญกับตัวตนที่หมอแบร์รีเลือกจะเป็นมากกว่า   ที่มา https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1923327/pdf/canmedaj01234-0053.pdf https://www.theguardian.com/books/2016/nov/10/dr-james-barry-a-woman-ahead-of-her-time-review https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1835606/pdf/bmj00217-0035.pdf https://www.ed.ac.uk/medicine-vet-medicine/about/history/women/james-barry