เจมี ลอว์เรนซ์: ชีวิตยิ่งกว่านิยาย จุดกลับใจ จากอาชญากร สู่นักบอลพรีเมียร์ลีก

เจมี ลอว์เรนซ์: ชีวิตยิ่งกว่านิยาย จุดกลับใจ จากอาชญากร สู่นักบอลพรีเมียร์ลีก
งานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ที่สนามวัลลีย์ พาเหรด รังเหย้าของแบรดฟอร์ด ซิตี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อนกหวีดยาวของผู้ตัดสินเป่าจบเกม แฟนบอลหลายพันคนวิ่งกรูเข้ามาในสนามเพื่อแสดงความยินดีกับทีมรักที่รอดตกชั้นได้สำเร็จ หลังจากชนะลิเวอร์พูลในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 1999/2000 ได้ 1 ประตูต่อ 0 หนึ่งในดาวเตะที่โชว์ฟอร์มร้อนแรงของแบรดฟอร์ดในวันนั้นคือ เจมี ลอว์เรนซ์ (Jamie Lawrence) ผู้เล่นหมายเลข 7 ของทีม ผู้ที่โดดเด่นกว่าใครด้วยผมสีม่วง และการวิ่งไล่บอลชนิดลืมตาย  แต่นั่นไม่ใช่การวิ่งแบบลืมตายครั้งแรกของเขา   วิ่งแบบลืมตาย การวิ่งแบบลืมตายของเจมีเริ่มต้นเมื่ออายุ 17 คู่แข่งของเขาครั้งนั้นไม่ใช่นักฟุตบอลฝั่งตรงข้าม แต่เป็น “ตำรวจ”  เด็กหนุ่มเจมี ออกวิ่งอย่างสุดกำลังที่มีเพื่อเอาชีวิตรอด หลังจากเขาไปงัดประตูและหน้าต่างของบ้านในกรุงลอนดอน เพื่อกวาดของมีค่าเอาไปประทังชีวิต เจมีไม่แคร์ว่าเงินนั้นจะได้มาอย่างสุจริตหรือไม่ ขอให้ได้เงินมาเลี้ยงตัวเขากับน้องสาวก็พอ แต่การวิ่งในครั้งนั้น เขากลายเป็นผู้แพ้ เจมีถูกตำรวจจับและตัดสินจำคุก 3 ปี ชีวิตของเจมี ลอว์เรนซ์ ลำบากตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ เขาเกิดและเติบโตในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงลอนดอน พ่อแม่ของเขาเป็นชาวจาเมกาที่อพยพมาหางานทำที่อังกฤษ ความยากจนเป็นแรงผลักดันให้เจมีฝึกฝนฟุตบอล เขาเริ่มฉายแววกับทีมโรงเรียน และนั่นทำให้ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพเข้าใกล้ความจริงเข้ามา เมื่ออายุ 17 ช่วงเวลาที่นักฟุตบอลควรเริ่มเข้าอะคาเดมีเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักเตะอาชีพ ชีวิตของเจมีก็พลิกผันถึงขีดสุด เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จาเมกา ทิ้งเขากับน้องสาวให้เผชิญชีวิตอยู่ในอังกฤษกันสองคน สถานการณ์ตอนนั้นบีบให้ ถ้าเจมีเป็นนักฟุตบอลอาชีพไม่ได้ เขาและน้องจะอดตาย    ก้าวที่พลาด ถ้าเป็นชีวิตของดาวเตะระดับโลกทั่ว ๆ ไป ความลำบากยากจนในวันนั้นก็คงเป็นแรงผลักดันให้เขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพื่อครอบครัวในเวลาต่อมา แต่นั่นไม่เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มเชื้อสายจาเมกา หลังจาก “ไม่ผ่าน” การคัดตัวเข้าอะคาเดมีของทีมลูกหนังในลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นคริสตัล พาเลซ หรือมิลวอลล์ เขาก็ไม่เหลือทางเลือกอื่นในชีวิต นอกจากเข้าสู่แวดวงอาชญากรรม หลังจากถูกจับติดคุกครั้งแรก เวลาผ่านไปหลายปี เขาได้รับการพักการลงโทษ เจมีกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง ในฐานะผู้ถูกคุมประพฤติ เจมีในวัย 20 ปี กลายเป็นไอ้ขี้คุก ตกงาน ไม่มีเงิน ไม่มีแม้ความฝันใด ๆ เขาใช้เวลาสามเดือนหางานทำ แต่ก็พบว่าประวัติอาชญากรที่มี ทำให้ไม่มีที่ไหนรับเขาเข้าทำงานเลย เสียงจากนรกเข้ามาชักชวนเจมี เมื่อเพื่อนของเขาที่เป็นสมาชิกแกงค์อาชญากรยื่นปืนมาให้ และหว่านล้อมให้เจมีออกไปปล้นอีกครั้ง เจมีตัดสินใจทำอย่างไม่ลังเล นั่นทำให้เขาโดนจับเป็นครั้งที่สอง แถมยังโดนเพื่อนอาชญากรด้วยกันหักหลัง ให้การซัดทอดเจมีให้รับผิดไปคนเดียว สุดท้ายศาลตัดสินจำคุกเขาอีกครั้งเป็นเวลา 4 ปี เด็กหนุ่มจาเมกาถูกส่งไปขังที่เรือนจำแคมป์ ฮิลล์ ที่เอาไว้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์โดยเฉพาะที่เกาะไอล์ออฟไวต์ สถานที่ที่เพื่อนร่วมตะรางคือนักโทษขาใหญ่จากคดีปล้น ฆ่า และยาเสพติด ไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่ชีวิตทั้งชีวิตของเขาดูเหมือนจะจบลงตั้งแต่อายุ 21 ปี ภาพของคุณแม่ที่บินมาหาจากจาเมกาเพื่อมาเกาะลูกกรงและร้องไห้ต่อหน้าเขา ยังคงเป็นภาพติดตาถึงทุกวันนี้ “ผมเลือกที่จะทำผิดเอง ผมทำตัวเอง ไม่มีใครบังคับผม คุณต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำเมื่อคุณทำผิด คุณโทษใครไม่ได้หรอก” เจมีกล่าว   ชีวิตใหม่หลังลูกกรง หลังจากใช้ชีวิตในคุกได้ไม่นาน โอกาสสำคัญก็มาถึง เมื่อผู้คุมในคุกจัดการแข่งขันฟุตบอลภายในเรือนจำขึ้น เจมีเลยได้กลับมาเตะลูกหนังอีกครั้ง ฟอร์มของเจมีร้อนแรงจนทำให้ทีมของเขาได้แชมป์ แชมป์นั้นเป็นเหมือนโชคสองชั้น เมื่อผู้คุมแนะนำเขาให้กับทีมฟุตบอลท้องถิ่นชื่อ คาวส์ สปอร์ต แม้จะไม่ใช่ฟุตบอลอาชีพ แต่การได้ลงแข่ง ทำให้เจมีได้ออกมาสู่โลกภายนอกแม้จะยังไม่พ้นโทษก็ตาม ทุก ๆ สิบโมงเช้าของวันเสาร์ จะมีรถตู้ของทีมมารับที่หน้าเรือนจำเพื่อพาเขาไปแข่ง และส่งเขากลับเมื่อแข่งเสร็จ วนไปอย่างนี้ทุกครั้ง จนเขาพ้นโทษ “เมื่อผมเห็นเขาเล่น นี่มันปรากฏการณ์ชัด ๆ เขาเก่งเกินกว่าจะมาเล่นฟุตบอลระดับนี้ การที่เขาได้ออกมาเล่นฟุตบอลกับที่นี่ และก็ต้องกลับไปนอนในคุก ทำให้เขาตระหนักดีว่าเขาสูญเสียอะไรไป” เดล ทอมป์สัน โค้ชของคาวส์ สปอร์ต รำลึกถึงความหลัง “ผมรู้สึกโชคดีที่มีคนในเรือนจำเชื่อในตัวผม พวกเขายอมทำทุกอย่างให้ผมได้ออกไปพิสูจน์ความสามารถข้างนอก… ถ้าผมทำอะไรไม่ดีอีก พวกเขาก็คงตกงานแน่ ๆ การที่เขาทำเพื่อผมขนาดนี้ ผมจะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวังเป็นอันขาด” เจมีกล่าวขอบคุณ   จากคุก สู่พรีเมียร์ลีก หลังจากพ้นโทษ เจมีได้ยินมาว่าทีมซันเดอร์แลนด์กำลังมองหาผู้เล่นหน้าใหม่ เขาตัดสินใจพาตัวหนีห่างจากเพื่อนแกงค์โจรที่ลอนดอน และนั่งรถขึ้นตอนเหนือของอังกฤษเพื่อไปทดสอบฝีเท้าทันที และคราวนี้ฟ้าดินเป็นใจ ทำให้เจมี ลอว์เรนซ์ ได้เซ็นสัญญาอาชีพ “ผมต้องหยิกตัวเองเลยว่าฝันไปหรือเปล่า ผมเพิ่งติดคุกแคมป์ฮิลล์ ที่มันเป็นคุกที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต… แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังดูผมเล่นฟุตบอล เมื่อกี้ผมยังอยู่ในคุกเลย เผลอแป๊บเดียวผมได้ออกทีวีแล้ว” เมื่อฟ้าหลังฝนมาถึง เส้นทางลูกหนังของแข้งจาเมกาก็เติบโตก้าวหน้า เขาได้ย้ายไปเล่นกับเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์ลีกคัพกับทีม และประสบความสำเร็จสูงสุดกับแบรดฟอร์ด ซิตี้ ที่ทำให้เขาได้ติดทีมชาติจาเมกา กลายเป็นดาวเตะระดับอินเตอร์ แม้ไม่เคยผ่านอะคาเดมีลูกหนังใดมาก่อนก็ตาม   กลับไปเข้าคุกอีกครั้ง หลังจากอำลาชีวิตลูกหนัง เจมี ลอว์เรนซ์ พบช่วงเวลาที่ว่างเปล่า เขาไม่รู้จะทำอะไร เลยหวนคิดถึงเพื่อนเก่า ๆ และตัดสินใจกลับไปเป็นโจรอีกครั้ง แต่โชคดีที่ครั้งนี้เพื่อนของเขาห้ามเขาได้ทัน  “ผมซึมเศร้าอย่างมากหลังเลิกเล่นฟุตบอล ผมรู้เรื่องนั้นดี เพราะผมออกไปดื่มเพื่อลืมทุกข์ทุกวัน ผมมีรายจ่ายมากมาย แต่ตอนนี้ผมจ่ายไม่ไหวอีกแล้ว ผมเลยคิดที่จะกลับไปยังเส้นทางผิดกฎหมาย เพื่อนผมแต่ละคนก็เป็นอาชญากรทั้งนั้นที่อยากดึงผมกลับไปร่วมด้วย แต่เพื่อนผมคนหนึ่งที่ติดอยู่ในคุก เขาบอกกับผมว่า ‘นี่เอ็งอยากมานั่งเป็นเพื่อนข้าในคุกนี่จริง ๆ เหรอ จัดการชีวิตตัวเองซะ’” คำเตือนนั้นปลุกสติสัมปชัญญะในตัวเจมีให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง เขาอาศัยประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอลเก่าทำหน้าที่เป็นฟิตเนสเทรนเนอร์ส่วนตัวให้กับนักฟุตบอลอาชีพคนอื่น ๆ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว และเปิดอะคาเดมีสอนฟุตบอลของตัวเอง โดยเน้นไปที่การสอนเด็กกลุ่มที่มีปัญหาด้านความรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะอะคาเดมีของเขาไม่ได้สอนแค่หลักสูตรฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีนักจิตวิทยามาสอนเรื่องการควบคุมอารมณ์ และสอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดและแอลกอฮอล์อีกด้วย การเปลี่ยนบทบาทจากนักเตะมาเป็นครู ทำให้เขาได้รับโอกาสที่สองในการกลับเข้าไปในคุก เพื่อเป็นวิทยากรอาสาสมัครในวิชาชีวิต “บทบาทของผมที่นี่คือการแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีทางเลือก ผมเสนอทางเลือกให้และสนับสนุนพวกเขา ทั้งตอนที่พวกเขาอยู่ในคุกและถูกปล่อยออกมาแล้ว “ผมบอกพวกเขาเสมอว่าวิถีชีวิตแบบอันธพาลมันเลวร้าย คุณไว้ใจใครไม่ได้และต้องหวาดระแวงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่กับตำรวจ แต่รวมถึงสมาชิกแกงค์อาชญากรรมคนอื่น ๆ ด้วย “ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำได้ คุณก็จะทำมันได้ ผมคือตัวอย่างนั้น และมันไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาเท่านั้น” ชีวิตใหม่ของเจมี ลอว์เรนซ์ ณ ปัจจุบันคือการเป็นผู้ให้ ให้ทั้งความรู้ด้านฟุตบอลและวิชา “ชีวิต” ให้กับคนอื่น ๆ และนั่นคือความสุขที่แท้จริงในสายตาของอาชญากรกลับใจอย่างเขา “วันหนึ่งผมอยากเป็นผู้จัดการทีมที่เป็นคนผิวดำในพรีเมียร์ลีก แต่ผมไม่มีวันหยุดสอนเด็ก ๆ เป็นอันขาด มันคือ passion ของผม การได้ช่วยเด็ก ๆ เหล่านี้ ผมมีความสุขยิ่งกว่าตอนได้แชมป์ลีก คัพ กับเลสเตอร์ซะอีก” อดีตดาวเตะพรีเมียร์ลีก กล่าวด้วยรอยยิ้ม   ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=iJxjQfBxyqg https://www.youtube.com/watch?v=XYE7GU-8OBE https://www.yorkshirepost.co.uk/sport/rugby-union/weekend-interview-jamie-lawrence-how-football-saved-me-life-sentence-179211 https://www.theguardian.com/football/2018/dec/15/jamie-lawrence-prison-sunderland-premier-league-helping-prisoners-young-players https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-6827647/Jamie-Lawrence-fight-paid-owed-PFA.html https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-1038664/I-man-crime-wave--I-want-lead-kids-better-life.html https://www.instagram.com/jamielawrence7/?hl=en   เรื่อง: ธัญญานันต์