‘อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี’ คือหญิงชราที่มีตัวตนอยู่จริงในความทรงจำของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ และเธอมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’ ไม่ได้เศร้าเหมือนในบทเพลง

‘อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี’ คือหญิงชราที่มีตัวตนอยู่จริงในความทรงจำของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ และเธอมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’ ไม่ได้เศร้าเหมือนในบทเพลง

‘อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี’ คือหญิงชราที่มีตัวตนอยู่จริงในความทรงจำของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ และเธอมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’ ไม่ได้เศร้าเหมือนในบทเพลง

/ อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี ลูกผัวบ่มี อยู่ตัวคนเดียว / เสียงดนตรีเนิบช้า ว้าเหว่ และเสียงครวญเรียก “อุ้ยคำ” คืออินโทรอันคุ้นหูก่อนเข้าเรื่องราวชีวิตของหญิงชราที่ชื่อว่า ‘คำ’ ส่วนคำว่า ‘อุ้ย’ (ที่จริงคือ อุ๊ย ตามสำเนียงไทยเหนือ แต่บทความนี้เขียนอิงจากชื่อเพลงที่ใช้คำว่า อุ้ย) ซึ่งอุ้ยนั้นเป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือที่ใช้เรียกแทนคนชรา ปู่ ยา ตา ยาย หรือลุง ป้า น้า อา โดยที่มาเพลงสุดคลาสสิคของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา และราชาโฟล์คซองคำเมือง ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ได้ถูกบอกเล่าโดย ‘มานิด อัชวงศ์’ ผู้จัดการส่วนตัวของจรัลไว้ว่า ขณะที่รถไฟกำลังวิ่งผ่านย่านทุ่งรังสิตในเวลาเย็น เพื่อนำพวกเขาทั้งสองกลับสู่บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ จรัลได้มองออกไปนอกหน้าต่าง และเห็นคนเฒ่ากำลังพายเรือเกี่ยวยอดผักบุ้งอยู่ในหนองน้ำ เขาจึงนึกถึงหญิงชราคนหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กขึ้นมา จรัลรีบล้วงเข้าไปในกระเป๋าสะพายของตนเอง แต่ก็ไม่ทันใจ เขาจึงหันมาหามานิดและขอกระดาษหนึ่งแผ่น มานิดฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์ให้จรัล หลังจากนั้นไม่นาน มานิดและผู้โดยสารในรถไฟบางคนก็ได้ยินเพลง ‘อุ้ยคำ’ เป็นครั้งแรก “คุณมานิด อุ้ยคำมีชีวิตจริง ๆ นะ แต่ชีวิตแกไม่ได้เศร้าอย่างในเพลง แกเป็นอุ้ยที่มีความสุข ลูกผัวไม่มี ทุกวันตอนสาย แกจะหาบกระจาดสองใบออกตระเวนไปตามบ้าน เพื่อรับอาหารไปถวายวัด” จรัลยังเล่าต่ออีกว่า เมื่อพระฉันเพลเสร็จแล้ว อาหารที่เหลือก็จะเป็นสิ่งประทังชีวิตของอุ้ยคำ หลังจากนั้นแกจะเก็บกวาดจานชาม เตรียมกลับบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากวัด และไม่ไกลจากบ้านของจรัลที่ประตูเชียงใหม่ นั่นทำให้จรัลมักจะไปนั่งคุย และฟังเรื่องราวเก่า ๆ ของอุ้ยคำหลังเลิกเรียนเป็นครั้งคราว พร้อมยืนยันว่า “แกเป็นคนมีความสุขครับ” แต่หลังจากที่คนในหมู่บ้านไม่เห็นอุ้ยคำหลายวัน จรัลก็ได้บุกไปยังบ้านของอุ้ยคำ ก่อนจะพบว่าอุ้ยคำนอนเสียชีวิตอยู่ “ผมเป็นคนบอกให้ผู้ใหญ่รู้เรื่อง และช่วยกันทำศพ” ‘อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี’ คือหญิงชราที่มีตัวตนอยู่จริงในความทรงจำของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ และเธอมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’ ไม่ได้เศร้าเหมือนในบทเพลง นอกจากนี้ จรัลยังเล่าถึงที่มาของ ‘ผักบุ้ง’ ให้ฟังว่า บ้านของอุ้ยคำมีหนองน้ำ แกจึงเด็ดผักบุ้งไว้กิน ขาย และแจกจ่ายเป็นประจำ ส่วนทำนองเพลงอุ้ยคำมีที่มาจากสมัยเด็กที่จรัลชอบไปโบสถ์ของศาสนาคริสต์ เขาได้จำทำนองเพลงสวดในโบสถ์มา (Hymn - Peter Paul & Mary) แต่สำหรับเพลงอุ้ยคำ จรัลต้องดัดแปลงทำนองเพิ่ม เพื่อให้เข้ากับวรรณยุกต์ของภาษาคำเมือง หลังจากนั้นเพลงอุ้ยคำก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และไม่มีครั้งไหนที่จรัลไม่ร้องเพลงอุ้ยคำบนเวที หากยังจำกันได้ ในช่วงกลางเพลงค่อนไปยังท้ายเพลงจะมีเสียง ‘ระฆัง’ ที่ดังกังวานอย่างเย็นยะเยือกอยู่ในความรู้สึกคนฟัง ซึ่งคนที่ตีระฆังทั้งในตอนบันทึกเสียง และตอนเล่นบนเวทีก็คือผู้จัดการส่วนตัวอย่างมานิด โดยระฆังใบแรกที่มานิดซื้อมาตั้งแต่การอัดเสียงครั้งที่สองได้ถูกนำไปถวายที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้อุ้ยคำ แต่ปรากฏว่าเมื่อมานิดหาระฆังใบที่สองมาแทนที่ เสียงของมันกลับไม่เหมือนใบที่ใช้บันทึกเสียง สุดท้ายมานิดจึงต้องไปขอบูชาใบเก่าจากวัด แล้วนำระฆังใบใหม่ไปถวายแทน ‘อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี’ คือหญิงชราที่มีตัวตนอยู่จริงในความทรงจำของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ และเธอมีชีวิตที่มี ‘ความสุข’ ไม่ได้เศร้าเหมือนในบทเพลง กระทั่งถึงงานคอนเสิร์ต ‘25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร’ ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2544 มานิดก็ได้ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัว และคนตีระฆังหลังเวทีเป็นครั้งสุดท้าย โดยในครั้งนี้ไม่มีจรัล มโนเพ็ชรอยู่บนเวทีอีกแล้ว เพราะเขาได้จากไปก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายน กระนั้นมานิดก็ยังจำได้เสมอว่า เมื่อใดที่มีการร้องเพลงอุ้ยคำ จรัลจะไม่ลืมพูดประโยคว่า “กลับบ้านไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ไปเยี่ยมอุ้ยที่บ้านเน้อ” เรื่อง วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง เขียนโดย คีตา พญาไท สำนักพิมพ์แสงดาว เพลงอุ้ยคำ https://www.youtube.com/watch?v=bwiiPl7EO0A  ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=bwiiPl7EO0A  https://www.nititad.com/product/3/%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A5-%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0  https://www.youtube.com/watch?v=uBZLSHNhqzA