จาเร็ด เลโต : นอนข้างถนนเพื่อเข้าถึงตัวละคร สู่การรับบทใหม่เป็น 'แวมไพร์'

จาเร็ด เลโต : นอนข้างถนนเพื่อเข้าถึงตัวละคร สู่การรับบทใหม่เป็น 'แวมไพร์'
หากจะเอ่ยถึงบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีเส้นทางชีวิตผาดโผนแบบทะลุลิมิต ใช้ชีวิตแบบสุดทุกสาย จาเร็ด เลโต (Jared Leto) น่าจะมีชื่อติดอันดับต้น ๆ ชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องการทุ่มเทให้การแสดงของเลโต เลื่องลือในวงการมายาวนาน กระทั่งโอกาสหนึ่งนำพาให้เขาขึ้นรับรางวัลออสการ์มาแล้ว แน่นอนว่า เลโต ไม่ใช่นักแสดงคนแรกซึ่งทุ่มเทกับงานแสดงและนำระเบียบวิธีปฏิบัติในการทำงานสายนี้ซึ่งเรียกกันว่า Method Acting มาใช้ในการทำงานแสดงหลากหลายบทบาทตลอดอาชีพนักแสดงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นักแสดงระดับตำนานหลายรายเคยทำงานด้วยแนวทางนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาลอน แบรนโด (Malon Brando), แดเนียล เดย์-ลูอิส (Daniel Day Lewis), โรเบิร์ต เด นีโร (Robert De Niro) และที่น่าจะคุ้นเคยกันดีคือฮีธ เล็ดเจอร์ (Heath Ledger) ผู้ล่วงลับ นักแสดงจำนวนมากใช้แนวทาง ‘Method acting’ มาประยุกต์ในการทำงานเพื่อศึกษาและเข้าถึงตัวละครแบบลึกซึ้ง ทั้งในแง่ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเอง ไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอกของตัวละคร นักแสดงที่ทำงานด้วยแนวทางนี้พอจะกล่าวได้ว่า ตัวตนและจิตวิญญาณของนักแสดงแทบจะกลายเป็นตัวละครนั้นไปโดยปริยาย การจะไปถึงขั้นนั้นได้ นักแสดงไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกให้เป็นเหมือนตัวละครนั้น บางครั้งพวกเขายังเลือกซึมซับอารมณ์ความรู้สึก แนวคิด และตัวตนของตัวละครผ่านการเข้าไปมีประสบการณ์จริงในบริบทเดียวกับตัวละคร หรือแสดงพฤติกรรมแบบตัวละครในโลกความเป็นจริง จาเร็ด เลโต ถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่ออกแนว “ฮิปปี” สภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมาก็รายล้อมด้วยบุคคลสายศิลป์ ตั้งแต่ศิลปิน นักดนตรี ช่างภาพ ขณะที่ตัวเขาเองก็มีลักษณะกล้าได้กล้าเสีย มีแนวโน้มกระโจนไปหาเรื่องที่มีความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง เลโต มองว่า “ความเจ็บปวดเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องแย่อะไร” เขาย้ายมาที่ลอส แองเจลิส เมื่อปี 1992 เคยลงเรียนคอร์สการแสดงระยะเวลา 12 สัปดาห์ แต่ก็แทบไม่ได้เข้าคลาส เลโต กลับได้สิ่งชดเชยมาจากการใช้แนวทาง ‘Method acting’ เลโต เคยใช้ชีวิตบนถนนกับกลุ่ม “คนติดสารเสพติด” ในนิวยอร์กหลายสัปดาห์ ที่ต้องเลือกทำแบบนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเตรียมตัวรับบทชายที่ใช้สารเสพติดอย่างหนักถึงขั้นแพทย์ต้องตัดแขนเขาทิ้งในภาพยนตร์ Requiem for a Dream (2000) ทั้งนี้ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ (สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม) ยังไม่ได้ทะลุลิมิตขั้นไปใช้สารเสพติดจริง ๆ เขาเล่าว่า พวกที่อยู่ด้วยฉีดสารเสพติดกัน ขณะที่เขาฉีดน้ำเข้าไปเฉย ๆ “เขาจะอึดอัดถ้าพวกเขาทั้งหมดฉีดสารเสพติดกันและคุณไม่ได้ใช้ ผมไม่ได้ใช้เข็มเดียวกันกับคนอื่นหรอก การฉีดอะไรก็ตามเป็นเรื่องรุนแรง นั่นเป็นเรื่องนานมาแล้ว และผมจะไม่ทำอีก” หลังทำงานในแวดวงภาพยนตร์สักระยะ เขาเริ่มพักเบรกจากฮอลลีวูด บทต่างๆ ก็เริ่มไม่ได้ส่งเข้ามาหาเขาอีก กระทั่งเลโต มีโอกาสอ่านบทภาพยนตร์ Dallas Buyers Club (2013) บทภาพยนตร์นี้เองที่ทำให้เลโต ประทับใจตัวละคร ‘เรยอน’ (Rayon) ซึ่งเขาตีความไว้ในสถานะ ‘หญิงข้ามเพศ’ (transgender woman) ที่ทั้งใช้สารเสพติดและติดเชื้อ HIV เขาติดต่อกับผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกผ่านคอลทางโปรแกรมทางไกล และในการคอลนั้น เลโต เริ่มอยู่ในบทบาท Rayon แล้ว แม้ว่าตัวเขาเองยังไม่ได้บทเสียด้วยซ้ำ ฌอง มาร์ก-วัลลี (Jean-Marc Vallée) ผู้กำกับเรื่องนี้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เลโต แต่งกายในเสื้อผ้าผู้หญิง” ซึ่งทำให้เขาถึงกับสะดุดตา ผู้กำกับหนังดังเล่าว่า เลโต สวมมันเอาไว้ราว 25 นาทีเลย เมื่อทำงานแล้ว วัลลี ไม่เคยพบกับ ‘จาเร็ด เลโต’ เลย เขาพบเพียงแค่ ‘เรยอน’ เท่านั้น คำบอกเล่านี้ส่วนหนึ่งสะท้อนว่า ‘เลโต’ อยู่ในคาแรกเตอร์ตลอดเวลาขณะอยู่ที่ทำงาน จากปากคำของแมธธิว แม็คคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) นักแสดงดังเล่าว่า ‘เลโต’ (ในตัวตนของตัวละคร ‘เรยอน’) พยายามขโมยมีดพับ ไฟแช็ค และสิ่งของอื่น ๆ จากเขาด้วย ด้วยการทำงานสไตล์นี้บวกกับผลงานทางดนตรีในแนวทะลุลิมิตไม่แพ้กันทำให้เขาได้บทตัวละครวายร้ายอันอมตะอีกรายอย่าง ‘โจ๊กเกอร์’ (Joker) จากคอมิกค่ายดีซี (DC) ครั้งนี้มีรายงานว่า ขณะถ่ายทำ ‘เลโต’ แสดงพฤติกรรมสายเกรียนตามตัวตนตัวละครเช่นกัน คราวนี้ตัวละครที่เขาซึมซับเป็น ‘วายร้าย’ นั่นไม่ใช่ฝันร้ายแค่สำหรับฝั่งฮีโร่ในโลกเสมือน ในโลกความเป็นจริงที่นักแสดงยังอยู่ในบทบาทของตัวละครตามแนวทางการแสดงอันเข้มข้นนี้ ‘เลโต’ ยังไปป่วนเพื่อนนักแสดง จนหลายครั้งอยู่ในระดับ ‘ล้ำเส้น’ มีรายงานว่า เขาส่งสิ่งของน่าขยะแขยงไปให้เพื่อนนักแสดง อาทิ ถุงยางอนามัยใช้แล้ว ซากหมู หนูตัวเป็น ๆ และยังดูคลิปอาชญากรรมในออนไลน์เพื่อเข้าถึงจิตใจที่ผิดปกติของตัวละคร ที่เอ่ยถึงข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานการแสดงที่เลโต พยายามเข้าถึงบทบาทแบบถึงแก่น ยังมีอีกหลายบทบาทที่เขาแสดงให้เห็นว่า เขาเอาจริงเอาจังกับการแสดงแค่ไหน จากภายในถึงภายนอก สภาพร่างกายก็เป็นอีกส่วนที่เขาเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของตัวละครด้วย เมื่อครั้งรับบทมาร์ก เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman) มือปืนที่สังหารจอห์น เลนนอน (John Lennon) ในภาพยนตร์ Chapter 27 (2007) ซึ่งเขาเพิ่มน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม ส่งผลทำให้เดินไกล ๆ ไม่ได้ และต้องนั่งรถเข็นจนถึงกับบอกว่า จะไม่เพิ่มน้ำหนักเยอะ ๆ แบบนี้อีก (แต่งานอื่นที่ต้องลดน้ำหนักเยอะก็มี) เวลาผ่านมาจนถึงบทบาทล่าสุดของ ‘เลโต’ ในปี 2022 ผลงานภาพยนตร์ Morbius จากฝั่งมาร์เวล (Marvel) จาเร็ด เลโต มารับบทดร.มอร์เบียส (Morbius) ตัวละครฝั่ง ‘วายร้าย’ ในคอมิกที่ถูกหยิบยกมาบอกเล่าในฉบับจักรวาลภาพยนตร์ของมาร์เวล หากสรุปโดยง่าย มอร์เบียส มีลักษณะเข้าข่าย ‘แวมไพร์’ ตามการรับรู้ของคนทั่วไป เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เลโต ทำงานด้วย เอ่ยปากชื่นชมแนวทางทำงานอันทุ่มเทให้เข้าถึงบทบาทของตัวละคร เมื่อเขาเดินออกจากที่พักนักแสดง แทบไม่มีคนชื่อจาเร็ด เลโต อีกต่อไป และเขาไม่ต้องการพูดจาในฐานะเลโต ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจสวมบทบาทอย่างมาก กลับกัน สำหรับมุมของเลโต บทนี้กลับยากขึ้นบ้างสำหรับเขา เลโต อธิบายว่า ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการรับบทตัวละครซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวตนของเขาเอง ลักษณะการพูดจาและพฤติกรรมของดร.มอร์เบียส ใกล้เคียงกับลักษณะของจาเร็ด เลโต ดร. มอร์เบียส ในฉบับภาพยนตร์เป็นมนุษย์ที่สภาพร่างกายกลับกลายเป็นมีสภาพแบบ ‘แวมไพร์’ หากอ่านลักษณะตัวละครโดยคร่าว ในแง่หนึ่ง หลายคนอาจคิดขึ้นว่า ใกล้เคียงกับตัวเลโต อยู่บ้าง หากเทียบลักษณะการเคลื่อนไหว การพูดจาของตัวละครดร.มอร์เบียส จากตัวอย่างหนัง กับคลิปอื่นในโลกความเป็นจริงที่มีเลโต ปรากฏอยู่ด้วย มอร์เบียส ในภาพยนตร์มีเส้นทางชีวิตจากภาวะผิดปกติทางร่างกายจนต้องหาหนทางรักษาและสามารถปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายตัวเองให้แข็งแกร่งได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับความผิดปกติอื่นในลักษณะที่ทำให้เขามีสภาพเสมือนเป็น ‘ตัวประหลาด’ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เลโต สนใจบทบาทนี้ ชีวิตในวัยเด็กของเลโต อยู่กับเรื่องยาเสพติดมาก่อน เขาให้สัมภาษณ์ว่า ‘ยาเสพติด’ คือ ‘กีฬา’ ที่เขาเล่นสมัยเรียน เขาไม่มีเป้าหมายจะเป็นคนดัง อาชีพที่เลโต จินตนาการว่าจะทำในอนาคตมี 2 อย่างคือ ศิลปิน หรือไม่ก็คนค้ายา อย่างไรก็ตาม เลโต พบเส้นทางของตัวเองในด้านการแสดงและสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในอดีต มาเป็นสายคลีนแบบที่เขาบอกเองว่าไม่แม้กระทั่งจะ ‘ดื่ม’ แล้ว หากมองในแง่นี้ ย่อมเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้เสมอ ไม่ว่าแนวทาง Method acting จะเปลี่ยนแปลงเขาไปอย่างไร (ในเวลาทำงาน) หรือจะถูกวิจารณ์จากสื่อว่าถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือการตลาด’ มากกว่าน้ำหนักในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการแสดง หรือถูกมองว่าส่งผลเสียต่อร่างกายและสภาพจิตใจนักแสดงที่ปฏิบัติแนวทางนี้ ไปจนถึงสร้างความอึดอัดกับเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทของตัวนักแสดงในการทำงานภายใต้แนวทางนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งนั่นคือสร้างความบันเทิงให้ผู้ชม แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว หากมีจุดประสงค์อื่น เช่น เรื่องการตลาด อีโก้ หรือความเข้าใจผิด นั่นอาจต้องปรับปรุงแก้ไขในแง่กระบวนการควบคู่กันไปด้วย จาเร็ด เลโต พิสูจน์ถึงเรื่องความมุ่งมั่นมาแล้ว การันตีจากรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Dallas Buyers Club เมื่อปี 2014 เชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นบทบาทที่ท้าทายมากกว่าตัวละครมอร์เบียส หรือแม้แต่ตัวละครอื่นก่อนหน้านี้อีกหากเลโต ไม่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเส้นทางของตัวเอง อ้างอิง  https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2016/08/hollywood-has-ruined-method-acting/494777/ https://www.gamesradar.com/morbius-interview-daniel-espinosa-jared-leto/ https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/films/news/jared-leto-morbius-method-acting-b2037827.html https://www.rollingstone.com/movies/movie-features/jared-leto-the-unlikely-triumphs-of-a-rock-star-movie-star-250359/