จรัณภัตษญ์ แก้วอ่ำ ใส่ สิตางศุ์ ส้มหยุด สะท้อนภาพร่วมสมัยบนผนังวัด

จรัณภัตษญ์ แก้วอ่ำ ใส่ สิตางศุ์ ส้มหยุด สะท้อนภาพร่วมสมัยบนผนังวัด
"ในภาพทางผู้ใหญ่ประสงค์อยากให้ทุก ๆ คนมองสบตาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ยกมือไหว้พนมมือ ในเชิงศิลปะตามมุมของปุ๊ถ้าหากอิริยาบทของตัวละครในภาพทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภาพมันจะดูน่าเบื่อดูแข็งกระด้าง ไม่มีอารมณ์ มูฟเมนต์ มันค่อนข้างดูเลี่ยนตา 20 คนพนมมือกันทุกคน มองหน้าพระพุทธเจ้ากันทุกคน มันก็ค่อนข้างเลี่ยนสายตา อันนี้ในมุมมองของปุ๊" จรัณภัตษญ์ แก้วอ่ำ จิตรกรผู้วาดภาพของ สิตางศุ์ บัวทอง เจ้าของตำนานส้มหยุดลงบนผนังโบสถ์วัดหนองเต่า จังหวัดอุทัยธานี กล่าวกับ The People ถึงการวาดภาพไอดอลชื่อดังด้วยอิริยาบทเฉพาะ ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ มองว่าไม่เหมะสม จิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่างนอกจากจะมีเรื่องของพุทธประวัติ นิทานชาดกสำนวนต่าง ๆ แล้ว ศิลปินยังนิยมสอดแทรกเหตุการณ์ร่วมสมัยลงไปในงานนั้น ๆ อยู่เสมอ  อย่างเช่นวัดกัลยาณมิตร วัดข้างคลองบางกอกใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีเรื่องราวร่วมสมัยที่เกิดขึ้น ณ เวลาที่ศิลปินสร้างผลงานอยู่หลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์ที่นักโทษชาวพม่ากลุ่มหนึ่งปล้นแม่ค้าพายเรือ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุใหญ่สำหรับคนในสมัยนั้น จนเฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออกก็ยังบันทึกถึงเหตุการณ์นี้  อย่างไรก็ดี จรัณภัตษญ์ ซึ่งไม่ได้รับงานวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเป็นงานหลักบอกว่า เค้าเองไม่แน่ใจว่า ธรรมเนียมนั้นมีอยู่หรือไม่อย่างไร แต่การสะท้อนเหตุการณ์ร่วมสมัยลงไปในงานก็มีคุณค่าในตัวของมัน "ปุ๊ไม่อาจกล้าบอกว่ามันเป็นเรื่องของธรรมเนียมมั้ย แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยส่งเสริม บอกเล่า ผ่านกาลเวลา เป็นการพูดถึงเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญในยุคต่าง ๆ มันช่วยสื่อไปถึงคนที่สนใจในวิถีชีวิตของบรรพบุรุษและประวัติศาสตร์ ภาพมันมีคุณค่าก็ด้วยเนื้อหาเหล่านี้" ก่อนจะมาเป็นศิลปินในวันนี้ จรัณภัตษญ์ในวัยเด็กฝันวอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยความชื่นชมในเรื่องราวการค้นพบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการทำการทดลองต่าง ๆ แม้ปัจจุบันจะมาทำงานด้านศิลปะแต่เธอก็คิดว่า สิ่งที่เธอทำอยู่นี้ก็มีพื้นฐานที่คล้ายกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน "ตอนเด็ก ๆ เราเห็นในสื่อในหนังบอกว่านักวิทยาศาสตร์เป็นคนที่เก่ง ชอบประดิษฐ์อุปกรณ์ เทคโนโลยี กลไกต่าง ๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์ ก็เลยชอบนักวิทยาศาสตร์ แล้วในสื่อนักวิทยาศาสตร์ก็ชอบผสมยา ผสมอะไรก็ไม่รู้อีเหละเขะขะแล้วก็ระเบิดตูมตาม เรารู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้น ก็เลยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถามว่าโตมาแล้วมันใกล้เคียง เทียบเคียงกันได้มั้ย มันก็ใกล้อยู่นะ เพราะว่าโตมาเราก็เป็นคนที่ชอบทำงาน DIY งานฝีมือ งานอาร์ต ส่วนเรื่องการผสมผสานก็น่าจะเป็นเรื่องการผสมสี หรือไม่ก็การทำอาหาร เพราะเป็นคนที่มีทักษะการทำอาหารด้วย"  นอกจากจะชื่นชมนักวิทยาศาสตร์แล้ว จรัณภัตษญ์ก็สนใจงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบขีดชอบเขียนตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียน เมื่อเข้าเรียนในระบบแล้ว ครูก็เห็นแววความสามารถจึงได้เข้าประกวดงานศิลปะเรื่อยมา กลายเป็น “เด็กสายประกวด” ตั้งแต่ชั้น ป. 1 ได้รับการติวเข้มในด้านศิลปะเรื่อยมา และได้ใช้ความสามารถในด้านศิลปะในการเข้าเรียนต่อชั้นมัธยม ก่อนเข้าเรียนด้านศิลปะโดยตรงระดับอุดมศึกษา ในสาขาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เรียนจบแล้วเธอทำงาน “เพนต์” เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภายในอาคารหรือภายนอกอาคาร ร้านอาหาร ตกแต่งบรรยากาศในร้าน “ทั่วราชอาณาจักร” รับงานเขียนการ์ตูนล้อบ้าง เป็นครูสอนศิลปะ และล่าสุดยังเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นของตัวเองด้วย (ชมผลงานของเธอได้ที่เพจ Artytus By jarunnapat) ส่วนที่เธอได้มาวาดภาพจิตรกรรมที่วัดหนองเต่านั้น เป็นเพราะรุ่นพี่ร่วมสถาบันชักชวนให้มาร่วมงาน โดยเธอได้ทำงานในรอบแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นเดือนธันวาคม (พ.ศ. 2562) และได้กลับมาทำงานอีกครั้งในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เธอวาดภาพแม่สิตางศุ์ "จุดเริ่มต้นมาจากความผสมผสานของช่วงเวลา องค์ประกอบของมันลงตัวพอดี ปุ๊ชื่นชมแม่สิตางศุ์ตั้งแต่เข้าวงการใหม่ ๆ ด้วยรูปลักษณ์การแสดงออกของนางสามารถให้รอยยิ้มกับเราได้  เราประทับใจในการวางตัว การใช้ชีวิต นางเป็นคนมีทัศนคติในด้านบวก ไม่สนใจด้านลบ  "ภาพของคุณแม่เกิดจากความชอบ ความภาคภูมิใจ ความประทับใจ ณ เวลาที่ปุ๊ทำงาน เป็นจังหวะที่แม่มีชื่อเสียงและมีวลีเด็ดคือคำว่า 'ส้มหยุด' ปุ๊ก็เลยอยากบันทึกความทรงจำ ก็ถือเป็นความชอบส่วนตัวของจิตรกรหรือศิลปินในส่วนที่เราได้รับมอบหมาย แต่ก็ไม่ได้รบกวนภาพประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติเลย" จรัณภัตษญ์ กล่าว แต่งานของจรัณภัตษญ์อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากขนาดนี้ถ้าไม่ได้ ธรรมนันท์ จุฑาธนทรัพย์ นักวิชาการจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุทัยธานี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุทัยธานี ที่ออกมาให้ความเห็นว่า อากัปกิริยาของภาพเหมือน สิตางศุ์ บัวทอง ที่ปรากฏ ดูไม่ค่อยเหมาะสม และแนะนำให้ศิลปินแก้ไขให้เป็นภาพ สิตางศุ์ นั่งพนมมือไหว้ เงยหน้าเฝ้ารับเสด็จพระพุทธเจ้า เหมือนกับภาพคนอื่น ๆ แทนการนั่งก้มหน้า ชี้นิ้วไปที่ผลส้ม  แม้การแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงแค่การ “แนะนำ” มิใช่การออกคำสั่ง (และพระอธิการสมชาย เตชะพะโล เจ้าอาวาสวัดหนองเต่าก็ออกมาบอกแล้วว่าไม่ต้องแก้) แต่ก็ดูจะเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของศิลปินอยู่ไม่น้อย  ขณะเดียวกันก็มิได้คำนึงถึงธรรมเนียมการสอดแทรกเรื่องราวร่วมสมัยของศิลปินลงในงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดที่มีมาแต่โบราณ และบางกรณียังมีภาพ “เชิงสังวาส” หรือเรื่องราวทางเพศแสดงถึงชีวิตประจำวันและ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง เช่นงานเชิงสังวาสที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี  "ปุ๊แค่ต้องการฝากนามปากกา ลายเซ็น ลงในภาพ มันเป็นความขบขันด้วย เพราะสมมติว่า ถ้าเวลาผ่านไปเป็นเวลา 10 ปี 20 ปี 30 ปี คนกลับมาย้อนดู คนก็จะรับรู้ได้ว่า ศิลปินคนนี้เขียนในยุคของสมัยที่แม่สิตางศุ์มีชื่อเสียงมากที่สุดในเรื่องส้มหยุด มันก็จะเกิดเป็นรอยยิ้มความขบขันในภาพ แล้วเขาก็สามารถเทียบเคียงได้ว่า มันเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ไหน นั่นคือเป้าหมายแรกเริ่ม"  จรัณภัตษญ์ กล่าว