เจย์-ซี: จากเด็กเดินยา ชีวิตเปลี่ยนเพราะดนตรี สู่เศรษฐีฮิปฮอปพันล้านคนแรกของโลก

เจย์-ซี: จากเด็กเดินยา ชีวิตเปลี่ยนเพราะดนตรี สู่เศรษฐีฮิปฮอปพันล้านคนแรกของโลก
“I’m not a businessman. I’m a business, man!” “ผมไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ตัวผมนี่แหละคือ ธุรกิจ!” หากคุณเป็นแฟนเพลงฮิปฮอปตัวยง ประโยคข้างต้นอาจจะพอคุ้นหู เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง Diamonds From Sierra Leona เวอร์ชัน Remix ของคานเย เวสต์ (Kanye West) ที่ได้แรปเปอร์หนุ่มระดับตำนาน เจ้าของประโยคข้างต้นอย่างเจย์-ซี (Jay-Z) หรือที่สาวกเพลงป๊อปรู้จักในฐานะสามีของควีนบี Beyonce มาร่วมแจม เอกลักษณ์จากน้ำเสียงทุ้มลึกในเพลงแรปและเนื้อหาที่กระแทกใจทำให้เจย์-ซีกลายเป็นศิลปินฮิปฮอปเบอร์ต้น ๆ ในใจหลายคน แต่นอกจากบทบาทนักร้อง นักแต่งเพลงแล้ว เขาถือเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการฮิปฮอปและได้ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีฮิปฮอปคนแรกของโลกที่มีทรัพย์สินถึง 1 พันล้านเหรียญฯ จากนิตยสาร Forbes ในปี 2019 เลยทีเดียว เงิน 1 พันล้านเหรียญฯ นี้ไม่ได้มาจากอาชีพศิลปินเพียงอย่างเดียว แต่มาจากบทบาทนักธุรกิจและความสามารถในการบริหารแบบที่วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยกล่าวชื่นชมว่า “สำหรับเด็กที่กำลังโตขึ้นในยุคนี้ เจย์-ซีคือคนที่คุณต้องเรียนรู้ด้วย” แต่ก่อนจะกลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีดีทั้งด้านดนตรีและธุรกิจถึงทุกวันนี้ เจย์-ซีเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจในวัยเด็กจากริมถนนด้วยด้วยการขายโคเคน   บทเรียนธุรกิจข้างถนนจากยาเสพติด ฌอน โครี คาร์เตอร์ (Shawn Corey Carter) หรือเจย์-ซี เติบโตมาในอะพาร์ตเมนต์ของ Marcy Project (โครงการที่อยู่สาธารณะ) ที่รายล้อมไปด้วยความรุนแรง ปืน และยาเสพติดในยุค 80’s เมืองบรูคลิน รัฐนิวยอร์ก โดยชีวิตของเขาพลิกผันลำบากเมื่อพ่อทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เขาอายุ 11 ขวบ ทำให้เขาและพี่น้องอีก 3 คนถูกเลี้ยงมาโดยคุณแม่เพียงคนเดียว การเติบโตในย่านที่ลำบาก โอกาสมีอยู่อย่างจำกัดทำให้เขาต้องดรอปเรียนหลังเข้าไฮสคูลได้ไม่นาน ก่อนจะเริ่มเปลี่ยนโอกาสบนถนนเป็นรายได้ด้วยการขายยาเสพติดเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัว ตอนต้นยุค 90’s ที่โคเคนระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วอเมริกา ทำให้เขาเรียนรู้ทักษะธุรกิจและการหาเงินภาคบังคับเป็นครั้งแรกในชีวิต “เราเติบโตในยุคที่คนผิวดำมีปัญหาและเข้าใจในท้ายสุดว่า ไม่มีใครช่วยเราได้ แม้พ่อของเราจะอยู่ข้าง ๆ ก็ตาม” เขาเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ Decoded ที่เขียนขึ้นเองเมื่อปี 2010 โชคยังดีที่เขาหลบหนีจากชีวิตแบบนั้นได้ทันเวลาเมื่อเรื่องเข้าหูเหล่าตำรวจจนเกิดการบุกจับและสอบสวน ทำให้เพื่อนเกือบทั้งก๊วนต้องเข้าคุก และโชคอีกชั้นที่เข้ามาคือ การเข้าสู่โลกแห่งเสียงดนตรีที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง   สร้างทางเดินใหม่ด้วยบีตดนตรี ความสนใจด้านดนตรีก็ถูกจุดประกายขึ้นเมื่อแม่ของเขาซื้อเครื่องเล่นวิทยุและเทปให้ในวันเกิด กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กชายคาร์เตอร์หมกมุ่นอยู่กับการเขียนเนื้อเพลงไม่หยุดในสมุดบันทึก ร้องแรปแบบ Freestyle และปลุกพี่น้องให้ตื่นกลางดึกด้วยการทุบโต๊ะในครัวเพื่อสร้างบีตของตัวเอง เขาเริ่มลงสู่สนามแข่งแรปกับเหล่าแรปเปอร์หลายคนในช่วงต้นยุค 90 และกลายเป็นที่รู้จักหลังติดต่อแรปเปอร์ท้องถิ่นชื่อดังอย่าง Jaz-O เพื่อทำเพลง ทำเงินได้มากกว่าที่แรปเปอร์ทั่วไปทำได้ และสร้างชื่อไปเรื่อย ๆ จนได้ออกซิงเกิลแรก “In My Lifetime” พร้อมปล่อย MV ในปี 1995 แต่ความฝันที่ขาดต้นทุนก็ไม่ต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่ขาดน้ำ เจย์-ซีขายซีดีในรถของตัวเองระหว่างตามหาค่ายเพลงเพื่อเดบิวต์จริงจัง แม้จะต้องพบความจริงว่าไม่มีค่ายไหนสนใจเขาเลย เขาเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 2 คน ก่อตั้งค่ายอิสระในนาม Roc-A-Fella ในปี 1996 และปล่อยอัลบั้มเดบิวต์ตัวแรกชื่อ Reasonable Doubt ให้ผู้คนได้ลองฟัง “ผมถูกบังคับให้เป็นทั้งศิลปินและซีอีโอตั้งแต่ต้น ผมจึงเป็นเหมือนนักธุรกิจเมื่อต้องพยายามทำข้อตกลงในการอัดเพลง มันเป็นเรื่องยากที่จะได้ดีลมาด้วยตัวเอง และทางเลือกมีเพียงการยอมแพ้ไปซะหรือสร้างบริษัทของตัวเอง” นอกจากการใช้ชื่อ Roc-A-Fella ที่มาจากชื่อตระกูลเศรษฐีแห่งประวัติศาสตร์อย่าง Rockefeller แล้ว เจย์-ซียังเรียนรู้วิธีสร้างธุรกิจซึ่งมุ่งเน้นการสร้างทุกอย่างแบบครบวงจรด้วยตนเอง ไม่ต่างจากตระกูลผู้ค้าน้ำมันที่ควบคุมทุกอย่างตั้งแต่การกลั่น ขนส่ง จัดเก็บและสร้างมูลค่าให้ธุรกิจแบบเต็มกำลัง แม้จะเริ่มต้นช้าไปนิด เพราะการออกอัลบั้มในวัย 26 ปีช่างต่างจากวิถีของนักดนตรีสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยรุ่น แต่เจย์-ซีเล่าว่าวัย 26 ปีของเขาเป็นช่วงเวลาที่เขามีประสบการณ์และเรื่องราวสำคัญมากพอที่จะถ่ายทอดสู่โลก และอัลบั้มที่อัดแน่นไปด้วยตัวตนชีวิตของเขาต่างได้รับเสียงวิจารณ์ในทางที่ดี พุ่งทะยานสู่อันดับที่ 23 บนบิลบอร์ด 200 นับเป็นความประสบความสำเร็จอย่างมาก กลายเป็นจุดยืนให้เขามีตัวตนในวงการเพลงทันที ผลงานอัลบั้มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘1 ใน 500 อัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล’ จากนิตยสาร Rolling Stone และตลอดเวลา 25 ปีหลังอัลบั้มแรกมาจนถึงวันนี้ เจย์-ซี ยังเดินหน้าสร้างสรรค์เพลงด้วยการออกอัลบั้มเดี่ยวกว่า 13 อัลบั้ม รวมทั้งอัลบั้ม Collab กับศิลปินอื่นอีก 4 อัลบั้ม สร้างยอดขายกว่า 50 ล้านก๊อปปี้และ 75 ล้านซิงเกิลทั่วโลก กลายเป็นศิลปินที่การันตีด้วยรางวัล Grammy Awards ถึง 23 ครั้งเลยทีเดียว และนอกจากความสำเร็จในฐานะศิลปิน ธุรกิจยังเป็นอีก 1 บทบาทที่เจย์-ซีทำได้ยอดเยี่ยมด้วยสัญชาตญาณและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เมื่อครั้งหนึ่งเขาตกหลุมรักงานเสื้อถักของนักออกแบบชาวอิตาลีชื่อ Iceberg จนเอาชื่อแบรนด์ไปใส่เนื้อเพลงเพื่อชื่นชมทำให้ยอดขายเสื้อพุ่งสูงขึ้นทันที กลายเป็นโอกาสที่เจย์-ซีมองเห็นจากพลังของน้ำเสียงตนเอง เขาติดต่อไปหาผู้บริหารฝั่ง Iceberg เพื่อเสนอดีลออกเสื้อผ้าร่วมกัน แต่กลับโดนปฏิเสธกลับมา แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า ทำไมไม่สร้างแบรนด์ของตัวเองแทนที่จะโปรโมตแบรนด์ของคนอื่น ดังนั้นเขาจึงร่วมหุ้นกับเพื่อนอีกครั้งเพื่อสร้างแบรนด์เสื้อผ้าชายหญิงอย่าง Rocawear ในปี 1999 ก่อนจะทำกำไรมหาศาลด้วยการขายให้ Iconix Brand Group ในราคา 204 ล้านเหรียญฯ เมื่อปี 2007 ซึ่งสะท้อนให้เห็นสัญชาตญาณด้านธุรกิจที่ยอดเยี่ยมของเจย์-ซี   เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ ปรัชญาการทำธุรกิจที่เด่นชัดของเจย์-ซีที่เล่าผ่านเนื้อเพลงท่อน “ผมไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ตัวผมนี่แหละคือ ธุรกิจ!” คือการสร้างแบรนด์ของตัวเองและเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ “เสื้อผ้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวผม ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของผม ธุรกิจทั้งหมดของผมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นผมต้องยึดมั่นในสิ่งที่ผมรู้สึกในช่วงเวลานั้น ๆ ไม่ว่าผมจะมุ่งหน้าไปทิศทางใดก็ตาม และหวังว่าทุกคนจะติดตาม” ความมุ่งมั่นที่ฉายแสงท่ามกลางความมืดของถนนในบรูคลินถูกเปลี่ยนเป็นเพลงและสินค้ามากมาย เจย์-ซีเลือกผูกตัวเองติดกับแบรนด์อย่างเหนียวแน่น ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าสินค้าทุกชิ้นของเขาจะสะท้อนตัวตนและรสนิยมสุดเท่ของเขา และเมื่อการสร้างแบรนด์ให้ตัวเองไม่ใช่การสร้างภาพ แรปเปอร์หนุ่มเชื่อว่าความน่าเชื่อถือทางธุรกิจที่ซื้อใจผู้คนได้ต้องมาจากความจริงใจ เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในปี 1999 เมื่อเขาถูกจับกุมในข้อหาแทงโปรดิวเซอร์ Lance Rivera เนื่องจากลักลอบขายอัลบั้มของเขา จนถูกตัดสินคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี สิ่งที่เขาทำ ณ เวลานั้นคือ การยอมรับความผิดในคดีอาญาแต่โดยดี และกล่าวแน่ชัดว่าเขาเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสลัดตัวตนให้ออกห่างจากความรุนแรงไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก การแสดงความจริงใจเมื่อชื่อเสียงกลายเป็นชื่อเสียจากข่าวร้ายแสดงให้เห็นถึงแนวคิดธุรกิจที่ยึดมั่นในตัวตนและสื่อสารอย่างจริงใจทำให้แบรนด์ของเขาแข็งแรง และมากไปกว่านั้น เจย์-ซีเชื่อในอิสระในการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจรด้วยตนเอง ปี 2005 เขาได้ขึ้นเป็นประธานและซีอีโอของค่าย Def Jam Records (บริษัทที่บริหารค่าย Roc-A-Fella อีกที) ด้วยความสามารถด้านการบริหารและวิสัยทัศน์ด้านดนตรี แถมยังมีส่วนในการผลักดันศิลปินชื่อดังมากมายสู่แสงไฟเช่น Kanye West, Young Jeezy, Rihanna แต่หลังเป็นไปประธานได้เพียงแค่ 3 ปี เจย์-ซีตัดสินใจจ่ายเงินกว่า 5 ล้านเหรียญฯ เพื่อลาออกจากค่าย ก่อนเปลี่ยนทิศทางมาร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิง ‘Live Nation’ เพื่อก่อตั้งค่าย Roc Nation ขึ้นมา เหตุผลที่เขาตัดสินใจออกมาแม้จะยืนอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดในค่ายเป็นเพราะ ในยุคนั้น โมเดลธุรกิจของ Def Jam มีเพียงแค่การให้ศิลปินออกอัลบั้มแล้วดูผลตอบรับ ซึ่งทำเงินได้น้อยนิดไม่คุ้มค่า และยังมีปัญหาหลักคือศิลปินเริ่มไม่พัฒนาฝีมือ ดังนั้นทางออกที่เจย์-ซีต้องการคือ เงินทุนในการทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาศิลปินนอกเหนือจากการเซ็นสัญญากับศิลปินชื่อดัง เช่น ซื้อสถานีโทรทัศน์หรือสโมสรใหม่ แต่เมื่อค่ายมีข้อจำกัดมากมายที่น่าอึดอัด เขาเลือกที่จะสร้างค่ายใหม่และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การแต่งเพลง เผยแพร่ ออกทัวร์ และจัดการศิลปินแบบครบวงจร อิสระในการบริหารค่ายแบบเต็มกำลังทำให้ทุกวันนี้ Roc Nation เป็นมากกว่าธุรกิจดนตรีที่ดูแลนักร้องชื่อดัง เพราะนอกจากจะบริหารกองทัพศิลปินระดับโลกมากมายอย่าง J. Cole, Shakira, DJ Khaled, T.I. และ Big Sean แล้ว พวกเขายังสนับสนุนวงการกีฬาด้วยการตั้ง Roc Nation Sports Agency ในปี 2013 เพื่อดูแลนักกีฬามืออาชีพในหลายวงการเช่น Kevin Durant (บาสเกตบอล), Todd Gurley (อเมริกันฟุตบอล) และ Robinson Cano (เบสบอล) เป็นต้น   ขยายอาณาจักรธุรกิจ “Put me anywhere on God’s green Earth, I triple my worth” - เพลง ‘U Don’t Know’ (2001) “ปล่อยผมไว้สักที่บนโลกสีเขียวของพระเจ้า ผมจะเพิ่มมูลค่าให้ได้ถึง 3 เท่า” ไม่เพียงแต่วงการเพลงและเสื้อผ้าเท่านั้นที่เจย์-ซีทำได้ดี เขาสร้างตัวเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและสร้างทรัพย์สินหลายร้อยล้านเหรียญฯ ด้วยอาณาจักรธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากบริษัทแชมเปญ Armand de Brignac (2014) และบรั่นดีคอนยัค D'Usse (2012), สโมสรกีฬาสุดหรูอย่าง 40/40 Club (2003), บริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์อย่าง Tidal (2015) ที่มีมูลค่ากว่า 600 ล้านเหรียญฯ ในปัจจุบัน เทียบกับต้นทุนที่ซื้อบริษัทมาในราคา 56 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และยังมีธุรกิจอีกมากมาย เรียกได้ว่าตอบรับความต้องการของลูกค้าแทบทุกด้าน ยังไม่พอ เจย์-ซีขยายความสนใจไปยังเทคโนโลยีด้วยการกระจายพอร์ตในหลายธุรกิจเช่น Uber, JetSmarter และมีทรัพย์สินส่วนตัวทั้งอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับภรรยา คอลเลกชันศิลปะราคาแพง หรือแม้กระทั่งไนต์คลับส่วนตัว รวมมูลค่ามหาศาลจนทำให้เขาได้ตำแหน่งเศรษฐีพันล้านมาครอง มาถึงวันนี้ที่เพลงเจย์-ซี กลายเป็นตำนานและความสำเร็จของเขาถูกเล่าขานด้วยผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนตัวตนในแต่ละมุมของเขา การยึดมั่นในตัวเองอย่างแท้จริงอาจเป็นบทสรุปสั้น ๆ ของปรัชญาแห่งความสำเร็จของเจย์-ซี ที่สะท้อนผ่านตัวตน ซึ่งเติบโตไปพร้อมกับดนตรีที่ตัวเองรัก แนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ยึดมั่นในสิ่งที่ทำ และความสำเร็จที่เป็นผลผลิตจากการทำธุรกิจและสื่อสารด้วยความจริงใจ “ผมไม่เคยมองตัวเองแล้วบอกตัวเองว่า ผมต้องทำบางอย่างเพื่อให้ได้กลุ่มคนบางประเภทพอใจ ผมอยากซื่อสัตย์กับตัวเองและผมก็จะทำแบบนั้นเสมอ” ทั้งหมดนี้คือตัวตนของแรปเปอร์หนุ่มผิวสีวัย 51 ปีที่แม้จะกลายเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่ก็ยังคงทำเพลงแรปส่งเมสเสจดี ๆ สู่สังคม และเป็นนักธุรกิจที่ดีที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้คนและแฟนเพลง   ที่มา https://www.forbes.com/sites/drewhansen/2012/02/16/jay-z-and-5-lessons-artists-teach-entrepreneurs/?sh=2794cd2f3b57 https://www.forbes.com/sites/zackomalleygreenburg/2019/06/03/jay-z-billionaire-worth/?sh=219a34673a5f https://www.cheatsheet.com/entertainment/jay-z-built-his-billion-dollar-fortune-in-some-unbelievable-ways.html/ https://financialpost.com/financial-times/the-influencer-how-jay-z-created-a-path-to-luxury-influence-and-become-the-worlds-first-hip-hop-billionaire https://www.menshealth.com/trending-news/a19540810/not-a-businessman-a-business-man/ https://www.businessinsider.com/jay-z-notable-businesses-entrepreneurship-tidal-roc-nation-2017-11