ฌอง-มาร์ก บอสแมน นักฟุตบอลที่หมดอนาคตเพราะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

ฌอง-มาร์ก บอสแมน นักฟุตบอลที่หมดอนาคตเพราะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

นักฟุตบอลที่หมดอนาคตเพราะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

ก่อนปี 1995 นักฟุตบอลอาชีพที่หมดสัญญา แต่สโมสรยังจ่ายค่าแรงให้ ต่อให้เขาอยากจะย้ายสโมสรออกไปก็ย้ายไปไหนไม่ได้ หากสโมสรเดิมไม่ยินยอม ซึ่งเหตุผลหลักก็คือสโมสรเดิมต้องการเงินค่าย้ายตัวจากสโมสรใหม่ ทำให้นักเตะมีสภาพเป็นทรัพย์สินของสโมสรตลอดไปตั้งแต่เริ่มเซ็นสัญญา จนกว่าสโมสรนั้นจะไม่ต้องการแล้ว สภาพบังคับที่ไม่เป็นธรรมระหว่างนักเตะกับสโมสรเช่นนี้ "เปลี่ยนไป" เพราะการต่อสู้ของนักฟุตบอลชาวเบลเยียมที่ชื่อ "ฌอง-มาร์ก บอสแมน" ในสมัยเป็นนักเตะเยาวชนบอสแมนเป็นนักเตะที่มีแววรุ่งมีโอกาสได้ติดทีมชาติชุดเล็กในตำแหน่งมิดฟิลด์และยังได้รับตำแหน่งกัปตันทีมด้วย ในวัยเพียง 18 ปี เขาก้าวขึ้นมาติดชุดใหญ่ในทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในลีกเบลเยียมอย่างสตองดาร์ด ลีแอช ก่อนถูก อาร์เอฟซี ลีเอช สโมสรร่วมลีกสูงสุดซื้อตัวไปในปี 1990 ด้วยค่าตัว 66,000 ปอนด์ แต่หลังการย้ายทีมเขากลับไม่มีโอกาสได้ลงเล่นมากนักเมื่อสัญญาของเขาหมดลงเขาจึงขอย้ายทีมไปอยู่กับดันเคิร์กในฝรั่งเศส ลีแอชเรียกค่าตัวของบอสแมนจากดันเคิร์กเป็นเงิน 250,000 ปอนด์ หรือสูงกว่าที่พวกเขาซื้อบอสแมนมา 4 เท่า ทั้งๆ ที่บอสแมนไม่ได้เป็นนักเตะตัวหลักแล้ว และเรียกร้องให้สโมสรจากฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าตัวเขาแบบเต็มจำนวนเท่านั้นถึงจะยอมปล่อยตัวให้  แต่ดันเคิร์กปฏิเสธ เมื่อดีลล่ม แทนที่ลีแอชจะยอมปล่อยนักเตะที่สโมสรไม่ได้ใช้งานออกไป พวกเขาซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องการเงินเลือกที่จะตัดค่าเหนื่อยของบอสแมนลง 75 เปอร์เซนต์ในสัญญาฉบับใหม่ เหลือเพียงเดือนละ 500 ปอนด์ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งมันไม่ได้ทำให้เขาเป็นอิสระ ในทางกลับกันมันกลายเป็นข้ออ้างให้สโมสรสั่งพักงาน ด้วยวัย 25 ปี มันควรเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในอาชีพนักฟุตบอล แต่บอสแมนกลับกลายเป็นหมาหัวเน่าของสโมสรที่คิดหากำไรเป็นครั้งสุดท้ายจากการโก่งค่าตัวเขาจนไม่มีใครสู้ราคา นั่นทำให้บอสแมนเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องคดีต่อศาลในเบลเยียมเพื่อปลดแอกจากพันธการที่ไร้ความเป็นธรรม ระหว่างที่เขาเป็นคดีกับสโมสรและสมาคมฟุตบอลเบลเยียม เขาถูกแบนจากการเล่นในเบลเยียม ทำให้ต้องออกไปหาสโมสรเล่นในต่างประเทศซึ่งก็เป็นเรื่องยากอีกเพราะสมัยนั้น UEFA องค์กรควบคุมดูแลกิจการฟุตบอลในยุโรปมีกฎควบคุมจำนวนนักเตะต่างชาติไม่ว่าจะเป็นนักเตะจากสหภาพยุโรปด้วยกันหรือไม่ก็ตาม หลายสโมสรจึงปฏิเสธที่จะจ้างเขาโดยอ้างว่าโควตานักเตะต่างชาติมันเต็มแล้ว และการเป็นความกับนายจ้างเดิมคงไม่ทำให้เขาน่าพิสมัยในสายตานายจ้างรายอื่นที่มีทางเลือกมากสักเท่าไหร่ เขาเลยต้องลงไปเล่นกับทีมเล็กๆ ในลีกล่างๆ ด้วยความไม่เป็นธรรมที่เขาต้องเผชิญไม่ใช่แค่ระดับประเทศแต่เป็นระดับทวีป บอสแมนจึงยกคดีของเขาขึ้นว่ากล่าวในศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice) ฟ้องทั้งสโมสรลีแอช สมาคมฟุตบอลเบลเยียม และ UEFA ที่กำหนดเงื่อนไขการย้ายทีมที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักการแข่งขันทางการค้าและวิชาชีพ รวมถึงจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป คดีนี้กินเวลานานถึง 5 ปีก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินเป็นที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 1995 ระบุว่าการจำกัดโควตานักเตะต่างชาติและระบบสัญญาทาสที่แม้จะหมดสัญญาแต่กลับไม่หมดข้อผูกมัดล้วนขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งนับเป็นคำตัดสินที่พลิกโฉมหน้าวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ หลังการตัดสินในครั้งนั้น ทำให้นักฟุตบอลเบอร์ใหญ่ๆ มีอำนาจต่อรองกับสโมสรมากขึ้น ใครอยากจะย้ายทีมด้วยหวังค่าเหนื่อยสูงๆ ก็แค่รอให้สัญญาหมดซึ่งสโมสรใหม่ก็พร้อมกับทุ่มค่าเหนื่อยแพงๆ ให้เพราะไม่ต้องจ่ายค่าตัวให้กับสโมสรเก่าอีกต่อไป นักเตะดังเจ้าแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากกฎของ "บอสแมน" ก็เช่น เอ็ดการ์ ดาวิดส์ จากอเจ็กซ์ไปมิลาน สตีฟ แม็คมานามาน จากลิเวอร์พูลไปรีล มาดริด และอีกหลายคน สโมสรต้องปรับแผนด้วยการเสนอสัญญาระยะยาวให้กับนักเตะคนสำคัญ ใครไม่ต่อสัญญาก็ต้องรีบขายทิ้งถ้าไม่อยากเสียตัวนักเตะไปแบบฟรีๆ ทำให้การย้ายทีมของนักฟุตบอลดังๆ เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เคย และค่าเหนื่อยของนักเตะก็ได้ทะยานสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่คนที่ไม่ได้ประโยชน์จากกฎบอสแมนกลับเป็น "บอสแมน" เอง เพราะกว่าจะชนะคดีเขาก็เข้าสู่บั้นปลายของการค้าแข้งด้วยอายุ 31 ปี การต่อสู้คดีเป็นระยะเวลายาวนานทำให้เขาหมดเนื้อหมดตัว หมดเรี่ยวแรงที่จะสู้ต่อ และต้องแขวนสตั๊ดหลังจากนั้นราวหนึ่งปี เพราะการเตะให้กับทีมเล็กๆ ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อีกต่อไป เขาได้เงินชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินราว 350,000 ฟรังก์สวิส  แต่เงินที่ได้มาก็ต้องเอาไปใช้หนี้ต่างๆ รวมถึงการลงทุนที่ผิดพลาด เมื่อเขาทำเสื้อ "Who's the Boz" ออกมาขายหวังจะได้รับการสนับสนุนจากบรรดานักฟุตบอลที่ได้ประโยชน์จากการต่อสู้คดีของเขา แต่ผิดคาดแทบไม่มีใครอุดหนุนเขาเลยนอกจากลูกชายของทนายที่ทำคดีให้กับเขา ความล้มเหลวในชีวิตทำให้เขาติดเหล้าและต้องคดีทำร้ายร่างกายแฟนสาวในปี 2011 ซึ่งตอนแรกศาลมีเมตตารอลงอาญาไว้แต่เมื่อเขาไม่ได้จ่ายค่าเสียหายตามเงื่อนไขศาลจึงต้องสั่งจำคุกเขาเป็นเวลาหนึ่งปีเมื่อปี 2013 บอสแมนออกจากคุกมาก็ตกงาน แต่ยังดีที่ Fifpro สหภาพแรงงานนักฟุตบอลนานาชาติยังเข้ามาช่วยเหลือจุนเจือเขาในเวลาตกยาก ในขณะที่นักฟุตบอลยุคหลังซึ่งมีค่าเหนื่อยหลายแสนปอนด์อันเป็นประโยชน์ที่มาจากการสู้คดีของเขาโดยตรงอาจจะไม่รู้เลยว่า นักฟุตบอลรุ่นพ่อที่ทำให้พวกเขามั่งคั่งในวันนี้จะเป็นตายร้ายดีไปแล้วอย่างไร? "มีนักฟุตบอลบางรายได้ค่าจ้างสัปดาห์ละ 200,000-300,000 ยูโร เป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะผม" บอสแมนกล่าว (Vice) ก่อนเสริมว่า "ผมคือผู้ที่มอบอิสรภาพให้กับฟุตบอล บนเกาะอังกฤษพวกเขาพูดว่า 'ฟุตบอลช่างงดงามต้องขอบคุณบอสแมน' ที่ไหน ๆ ในโลกก็ 'ขอบคุณบอสแมน' แต่บอสแมนไม่ได้ค่าจ้างสัปดาห์ละ 300,000 ยูโร จนทุกวันนี้ บอสแมนมีรายได้ 0 ยูโร ต่อเดือน นั่นคือข้อแตกต่าง"