ฌานน์ บาเรต์: แม่บ้าน นักสำรวจ สตรีผู้เดินทางรอบโลกได้เพราะปลอมเป็นชาย

ฌานน์ บาเรต์: แม่บ้าน นักสำรวจ สตรีผู้เดินทางรอบโลกได้เพราะปลอมเป็นชาย
ย้อนกลับไปราว ๆ สองร้อยปีก่อน ในสังคมยุโรป วงการวิทยาศาสตร์ กับ เพศหญิง แทบจะเป็นดั่งเส้นขนานที่ไม่มีวันผ่านมาบรรจบกันได้ ค่านิยมยุคนั้น ผู้หญิงในชนบทมักไม่ได้รับการศึกษา ส่วนหญิงสูงศักดิ์ก็นิยมดำรงตัวให้มีคุณค่าในฐานะสุภาพสตรี แทบไม่มีใครหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนแสนน่าเบื่อ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีสตรีคนใดแหวกม่านประเพณีออกมาเลย เพราะเรื่องราวของ ฌานน์ บาเรต์ (Jeanne Baret) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่เดินทางรอบโลกได้เพราะปลอมตัวเป็นผู้ชาย ก็คล้ายจะสะท้อนให้เราเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในสังคมที่แทบไม่เอื้อให้ผู้หญิงมีโอกาสประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นของ ฌานน์ บาเรต์ เธอเป็นเพียงลูกสาวของกรรมกร ในแคว้นบูร์กอญ ถิ่นอาศัยของคนงานยากจนและไร้การศึกษา แต่เพราะบาเรต์ได้มีโอกาสเรียนอ่านเขียนจากบาทหลวงอยู่บ้าง เธอจึงมิใช่คนโง่งม บาเรต์เป็นที่รู้จักในฐานะ “herb woman” เพราะเธอพอจะมีความรู้ด้านการใช้สมุนไพรรักษาโรคเบื้องต้นอยู่บ้าง สำหรับหมู่บ้านที่อยู่ห่างความเจริญแล้ว เธอไม่ต่างจากบุคคลสำคัญ ชีวิตของบาเรต์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ ฟิลิแบรต์ ก็องแมร์ซง (Philibert Commerçon) นักพฤกษศาสตร์ ผู้ที่กำลังเดินทางเก็บสะสมตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืช ย้ายครอบครัวมาอยู่ใกล้กลับชุมชนของบาเรต์ ทีแรกเขาเพียงต้องการจ้างเธอมาเป็นแม่บ้านทำความสะอาด แต่เพราะความรู้เกี่ยวกับพืชที่บาเรต์มีทั้งสองจึงเริ่มสนิทสนมกัน เวลาผ่านไป 2 ปี ภรรยาของก็องแมร์ซงเสียชีวิตเพราะป่วยหนัก บาเรต์จึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับก็องแมร์ซงในฐานะคนรักและมีลูกด้วยกันหนึ่งคน ทั้งสองไม่ได้เข้าพิธีแต่งงาน แต่ก็อพยพไปอยู่ด้วยกันที่ปารีส ก่อนจะตัดสินใจยกลูกให้คนอื่นดูแลต่อ บาเรต์ยังคงทำงานเป็นแม่บ้าน รวมถึงพยาบาลยามก็องแมร์ซงล้มป่วย กระทั่งปี 1765 มีจดหมายจาก หลุยส์ อ็องตวน เดอ บูแกงวิลล์ (Louis-Antoine de Bougainville) พลเรือเอกและนักสำรวจชาวฝรั่งเศสส่งมาหาก็องแมร์ซง ใจความว่าอยากจะเชิญเขาขึ้นเรือออกไปสำรวจรอบโลก ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดยนอกจากจะเชิญก็องแมร์ซงขึ้นเรือไปในฐานะนักพฤกษศาสตร์ บูแกงวิลล์ก็ยังเชิญบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ อย่างนักภูมิศาสตร์ นักชีววิทยา แพทย์ นักดาราศาสตร์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ฯลฯ อีกหลายคนร่วมเดินทางไปด้วย แน่นอนว่าก็องแมร์ซงยากจะตกลงเดินทาง เพราะมันเป็นโอกาสที่ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ ในชีวิตของเขา แต่เพราะสุขภาพที่ไม่ดีนัก เขาจึงอยากจะพาบาเรต์ ผู้เป็นทั้งภรรยาและผู้ดูแลติดตามไปด้วย ปัญหาคือในยุคนั้นราชนาวีฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามสตรีโดยสารเรือเดินทางไกล ก็องแมร์ซงจึงให้บาเรต์ปลอมตัวเป็นผู้ชาย และบอกบูแกงวิลล์ผู้เป็นกัปตัน รวมถึงสมาชิกอีกกว่าสองร้อยคนบนเรือลำนั้นว่านี่คือผู้ช่วยของเขา “ฌอง” ระหว่างออกสำรวจ บาเรต์ช่วยเหลือสามีเก็บตัวอย่างพืชมาได้มากมาย ทั้งพืชชนิดใหม่ พืชหายาก พืชที่ไม่มีใครเคยพบเห็น ล้วนถูกค้นพบโดยเขาทั้งคู่ ก็องแมร์ซงและบาเรต์ได้พักอยู่ในห้องเดียวกัน มันเป็นห้องขนาดใหญ่ที่มีทั้งห้องน้ำและพื้นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์และพืชที่ได้จากการสำรวจ ระหว่างนั้นอาการของก็องแมร์ซงทรุดหนักลงเพราะเขามีอาการเมาเรือเพิ่มมาด้วย ทำให้บาเรต์ต้องเป็นคนดูแล รวมถึงลงไปเก็บเมล็ดพันธุ์มาคัดแยก จำแนกตามประเภทตามความต้องการของเขา มันคงเป็นช่วงเวลาที่บาเรต์ได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ถึงขีดสุด เธอคือชาวตะวันตกคนแรกที่ค้นพบเฟื่องฟ้า (bougainvillea) ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จัก และเก็บตัวอย่างจากประเทศบราซิล ช่วงปี 1768 ขบวนเรือสำรวจได้เดินทางถึงเกาะตาฮีตี ตอนนั้นเองที่ความลับของบาเรต์ถูกเปิดเผย สองสามีภรรยาจึงต้องลงเรือและพำนักอยู่ที่เกาะมอริเชียส นอกชายฝั่งแอฟริกา พวกเขาอยู่ด้วยกันบนเกาะจนกระทั่งก็องแมร์ซงเสียชีวิต ปีต่อมาบาเรต์แต่งงานใหม่กับทหารเรือคนหนึ่ง และกลับมาใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส เธอเสียชีวิตลงในปี 1807 และเพิ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสตรีคนแรกที่ได้เดินทางรอบโลกในภายหลัง องค์ความรู้ของเธอถูกรวบรวมมาทำเป็นหนังสือความรู้ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลพันธุ์ไม้และสมุนไพรกว่า 3,000 ชนิด มันได้กลายเป็นตำราอันทรงคุณค่าที่เหล่านักพฤกษศาสตร์นำมาใช้ในการศึกษาพันธุ์ไม้ในยุคหลัง     ที่มา คาวัลโล, ฟรันเชสกา. 2561. ร้อยเรื่องเล่าของผู้หญิงเปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์ https://exploration.marinersmuseum.org/subject/jeanne-baret/ https://www.mentalfloss.com/…/retrobituaries-jeanne-baret-f… https://www.npr.org/…/a-female-explorer-discovered-on-the-h…