เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ: เมื่อหลากความฝันผลิบานใน ‘หอศิลป์’ ปัตตานี

เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ: เมื่อหลากความฝันผลิบานใน ‘หอศิลป์’ ปัตตานี
บนพื้นที่ที่มองออกไป จะเห็นเวิ้งนาข้าวไกลสุดสายตา เหนือขึ้นไปเป็นแผ่นฟ้า ประดับด้วยเมฆขาวที่เคลื่อนไหวไปตามแรงลม จากมุมมองของผู้มาเยี่ยมชม เมื่อมองออกไปภายนอก ‘ปัตตานี อาร์ตสเปซ’ คืออาคารสีขาวรายล้อมด้วยความเงียบงามราวศิลปะจากธรรมชาติ และหากมองกลับมาข้างใน อาร์ตสเปซแรกในสามจังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ ก็เรียงรายไปด้วยผลงานศิลปะจากมนุษย์ ที่พร้อมสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวมากมายให้ผู้เยี่ยมชมได้รับฟัง แรกเริ่มเดิมที ที่ดินผืนนี้เป็นทุ่งนาไม่ต่างจากแปลงอื่น ๆ รอบข้าง หากด้วยความตั้งใจที่จะสร้าง ‘หอศิลป์’ ของ ‘ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ’ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี จึงทำให้ปัตตานี อาร์ตสเปซ กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะแห่งสำคัญ ที่ทำให้ความฝันของผู้คนมากมายผลิบาน   เมื่อฝันฉันเกิด “ผมจำภาพตัวเองตอนเด็กว่าเป็นเด็กชอบวาด ชอบขีด ชอบเขียน ชอบการประดิษฐ์ ของเล่นทุกอย่างสมัยนั้นไม่ซื้อเพราะไม่มีเงิน อยากได้อะไรต้องประดิษฐ์ขึ้นมา รถ ตุ๊กตา ของเล่นไม้ อยากได้ก็สร้างขึ้นมา ทำเองหมดเลย”  คือถ้อยคำของเจะอับดุลเลาะเมื่อเราถามถึงวัยเยาว์และจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชอบศิลปะ เจะอับดุลเลาะเกิดและโตท่ามกลางธรรมชาติ และซึมซับความงดงามจากวิถีชีวิตที่คนในครอบครัวล้วนเป็น ‘ช่าง’ “พ่อเราเป็นช่างต่อเรือ ต่อไม้ สร้างบ้าน ปู่เป็นช่างปลูกบ้านสร้างเรือ พี่ชายเป็นช่างเขียนป้าย พี่สาวเป็นช่างเย็บผ้า ผมเติบโตมาในสกุลช่าง” กระนั้น เส้นทางความฝันของเขาก็ไม่ได้ง่าย เมื่อเจะอับดุลเลาะเป็นลูกชายคนสุดท้องในหมู่พี่น้อง 10 คน และครอบครัวของเขาไม่ได้ร่ำรวยมากพอที่จะส่งให้เขาได้เล่าเรียนสูงกว่าประถมศึกษาปีที่ 6 “ที่บ้านไม่อยากให้เรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินส่งเรียน แต่เราอยากเรียน ก็เลยออกจากบ้านไปอยู่บ้านพี่ชาย ให้พี่ชายพาไปสมัคร เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ กลางป่า เรียนที่นั่นจบ ม.3 แล้วต่อ ปวช. เพราะเราอยากเรียนศิลปะ” ช่วงที่เล่าเรียนเพื่อใบวิชาชีพช่างศิลป์นั่นเองที่เจะอับดุลเลาะต้องทำงานส่งตัวเองเรียน คลองหลายสายกลายเป็นแหล่งทำเงินของเขา แหหาปลาถูกทอดลงไป ปลาที่ติดกับแปรเป็นเงินสองถึงสามร้อยพอให้เขาได้ใช้เป็นทุนในการเล่าเรียน เมื่อปิดเทอมก็ได้เวลาหางานพิเศษ ทั้งงานเสิร์ฟอาหารและงานก่อสร้าง จนกระทั่งสุดท้าย เขาก็สำเร็จการศึกษา เจะอับดุลเลาะได้ใบ ปวช. มาอยู่ในมือ แต่ว่าเขาไม่อยากให้หนทางแห่งการเรียนรู้ต้องสิ้นสุดลงตรงนั้น เขายื่นโควตาเพาะช่างและได้สิทธิ์ในการเล่าเรียน แต่ต้องสละสิทธิ์เพราะฐานะทางครอบครัวซึ่งไม่พร้อมให้เขาย้ายเข้าไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ท่ามกลางความผิดหวังที่ดูไร้ทางแก้ เขาก็ได้ข่าวว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเพิ่งเปิดรับนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นปีแรก เพราะเป็นคณะเปิดใหม่จึงยังไร้อาคารเรียน ใต้ต้นไม้ที่มีผืนผ้าใบและพู่กัน เจะอับดุลเลาะกลายเป็นนักศึกษาศิลปะรุ่นแรก พ่วงด้วยการได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรมากฝีมืออย่าง ‘ถวัลย์ ดัชนี’ และการได้ไปชมงานศิลปะในอเมริกา เขาก็เริ่มปาดฝีแปรงวาดเส้นทางฝันของตัวเองอย่างมั่นคง “ความฝันเกิดขึ้นตรงนั้น ตอนแรกคิดอยากเป็นครูศิลปะ เพราะว่ายังไม่เข้าใจคำว่าศิลปินพอ แต่พอได้เรียน ราวปีสองผมมีโอกาสได้ทุนไปอเมริกา แล้วก็ได้ไปเห็นงานศิลปะของศิลปินระดับโลก เห็นพิพิธภัณฑ์ วันนั้นมันทำให้ผมเปลี่ยนความคิดว่าจริง ๆ แล้วผมอยากเป็นศิลปิน”   เด็กบ้านนอกหอบงานศิลป์เข้ากรุง หลังพอกพูนประสบการณ์งานศิลป์จนได้ฤกษ์จบการศึกษา เจะอับดุลเลาะกลายเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียน แต่เจะอับดุลเลาะก็ไม่ได้คิดจะหยุดการเรียนรู้ไว้เพียงเท่านั้น เขาสอบเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เจะอับดุลเลาะเล่าว่าตนเองในเวลานั้นเปรียบเหมือนเด็กบ้านนอกหอบงานศิลป์เข้ากรุง เพราะขณะที่คนอื่นอาจพกชิ้นงานจริงติดตัวเพื่อสอบสัมภาษณ์เพียงไม่กี่ชิ้น เขากลับแบกงานทั้งหมดร่วม 60 ชิ้นขึ้นรถไฟจากปัตตานีเข้ากรุงเทพฯ และโชว์ผลงานทั้งหมดให้อาจารย์ผู้เป็นกรรมการคัดเลือกนักศึกษาได้ดู “ผมใช้เงินทั้งหมดเอางานศิลปะขึ้นรถไฟมา แต่ตอนขากลับไม่มีเงินเอากลับ บังเอิญได้ยินเขาคุยกันเรื่องการประกวด ผมก็เลยเลือกจากงานที่เอามาด้วยแล้วลองส่งประกวดไป ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 2 แสนบาท ก็เป็นทุนในการขนงานกลับบ้าน เป็นทุนในการเรียนต่อ แล้วก็ไปอเมริกาอีกรอบหนึ่ง ผมได้รู้จักโลกของการประกวดก็ตอนนั้น แล้วพอเรียนปริญญาโท ผมก็ส่งประกวดอยู่ประมาณ 5 ปี แล้วก็เลิกส่งเพราะต้องกลับมาสอนหนังสือ เพื่อสร้างคนใหม่ ๆ ศิลปินใหม่ ๆ ขึ้นมา”   หอศิลป์กลางนา เมื่อถามว่าศิลปะให้อะไรแก่ชีวิตบ้าง “ทุกอย่าง” คือคำตอบของเจะอับดุลเลาะ ศิลปะทำให้เขาได้เริ่มฝัน ศิลปะทำให้เขาได้ทำฝันนั้นให้เป็นจริง ศิลปะกลายเป็นพื้นที่แสดงออก บอกเล่าเรื่องราวของเขา และศิลปะทำให้เขาได้ถ่ายทอดสิ่งดีงามให้แก่ผู้คน “ผมมีความฝันว่าอยากสร้างพื้นที่ทางศิลปะมานานแล้ว” เจะอับดุลเลาะเล่าว่าหลังจากที่เขาได้ออกไปข้างนอก และชมศิลปะทั้งในไทยและเทศ เขาก็เล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรักศิลปะทั้งศิลปินและผู้ชมมารวมตัวกันได้ คือ ‘พื้นที่’ หรือสถานที่ที่อาจถูกเรียกรวม ๆ ได้ว่า ‘หอศิลป์’ “ผมอยากให้ปัตตานีมีหอศิลป์ เพราะผมอยากจัดกิจกรรม ผมทำงานศิลปะ สอนศิลปะ มีลูกศิษย์ที่รักในการสร้างผลงานศิลปะ แต่การที่จะพางานของนักศึกษาที่นี่ไปจัดในหอศิลป์กรุงเทพฯ มันยากมาก เราก็เลยอยากสร้างพื้นที่ที่ทำให้เขาสามารถจัดแสดงผลงานได้ขึ้นมา” เริ่มจากห้องแถวเล็ก ๆ สองชั้น ที่เปิดเป็นอาร์ตสเปซและร้านกาแฟ เจะอับดุลเลาะเล่าว่าเขาเสียเงินกับการรีโนเวทสถานที่ไปราว 5 แสนบาท และในขณะนั้นร้านกาแฟที่เปิดก็ขายได้วันละแค่หนึ่งหรือสองแก้ว “ถ้านับเป็นการลงทุนก็คือขาดทุนย่อยยับ” เขากล่าว “แต่เราไม่ได้สนใจตรงนั้นมาก ที่เราสนใจคือพอเราเปิดแล้วบอกออกไปว่าตรงนี้คือหอศิลป์ ตรงนี้มีงานศิลปะ แล้วเริ่มมีคนมาดู มีคนมาสนใจ มาแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับศิลปะในพื้นที่เดียวกัน” แน่นอนว่าเจะอับดุลเลาะคิดการณ์ไกลกว่าการแสดงผลงานในห้องแถวเช่า เขาเริ่มต้นคุยกับครอบครัว และขอที่ดินแปลงหนึ่งมาสร้างอาคาร “ผมกับพ่อแม่ห่าง ๆ กันตั้งแต่ที่เขาไม่ให้เราเรียนต่อตอนจบ ป.6 แต่เราก็เข้าใจ เพราะเขาไม่มีเงินจริง ๆ พอเราเรียนจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เวลาเราคุยกับเขา เราจะรู้สึกได้ว่าเขาเสียใจ ผมบอกพ่อว่าขอที่ดินแปลงนี้ได้ไหม แล้วผมจะตอบแทนด้วยการพาพ่อกับแม่ไปเมกกะ (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม)” ที่ดินแปลงนั้นจึงได้ค่อย ๆ ถูกก่ออิฐถมทราย และขึ้นปูนด้วยน้ำพักน้ำแรงของเจะอับดุลเลาะ ช่างในพื้นที่ พ่อของเขาที่เป็นช่างเก่า และผู้คนอีกมากมาย จนอาคารหลังย่อมที่เต็มไปด้วยความฝันของผู้คนสำเร็จพร้อมใช้งาน นิทรรศการศิลป์ครั้งถัดไปของปัตตานีจึงจัดที่นี่เรื่อยมา มันกลายเป็นที่แสดงผลงานของนักศึกษาและศิลปินในพื้นที่ กลายเป็นที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน กลายเป็นที่ส่งสาร ขับเคลื่อนสังคมอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็น ‘ปัตตานี อาร์ตสเปซ’ สถานที่ที่รวมศิลปะเข้ากับพื้นที่ และมีชีวิตอยู่ภายในอย่างเต็มเปี่ยม   ฟืนที่เติมไฟ รายล้อมด้วยภาพเขียนบนฝาผนัง และงานศิลปะที่วางตั้ง บ้างโชว์ตัว บ้างซ่อนแอบอยู่มุมพื้น ในสตูดิโอหรือห้องวาดเขียนของเจะอับดุลเลาะที่เชื่อมต่อเป็นหลังเดียวกันกับอาคารหลักที่ใช้จัดแสดงงาน ด้านนอก พระอาทิตย์กำลังใกล้ลับสายตา ท้องฟ้าเป็นสีส้มตอนที่เราเริ่มถามไถ่อาจารย์สอนศิลปะต่อไป บทสนทนาก่อนหน้านั้นทำให้เรารู้ว่า แม้เด็กหนึ่งคนจะรู้ว่าตัวเองชอบศิลปะ แต่การได้เล่าเรียนศิลปะในสถานที่ที่เอื้ออำนวยนั้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างนั้นแล้ว เจะอับดุลเลาะเคยรู้จักคนรอบตัวที่รักในสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่มีโอกาสได้เรียนบ้างไหม “มีคนแบบนั้นอยู่มากมาย” เขาตอบ จากนั้น เจะอับดุลเลาะจึงเล่าให้ฟังถึงชายคนหนึ่งที่เขารู้จักมาตั้งแต่เด็ก เป็นรุ่นพี่สมัยที่เขาเรียนมัธยมต้น รุ่นพี่คนนั้นมักจะใช้เวลาว่างวาดรูป ครั้งแรกที่ทำให้เจะอับดุลเลาะต้องเข้าไปคุยคือตอนที่รุ่นพี่คนดังกล่าวกำลังวาดภาพ ‘ซัลวาดอร์ ดาลี’ ศิลปินหนวดโค้งเสี้ยวพระจันทร์หงาย “เขาวาดตามภาพขาว-ดำจากหนังสือพิมพ์ วาดโดยที่ไม่รู้ว่าดาลีคือใคร ไม่รู้ว่าเขาเป็นศิลปินระดับโลกด้วยซ้ำ” เจะอับดุลเลาะเล่าว่ารุ่นพี่คนนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา เพราะแม้รุ่นพี่ผู้วาดภาพซัลวาดอร์ ดาลี จะไม่ได้เรียนต่อด้านศิลปะด้วยข้อจำกัดทางบ้าน แต่เขาก็เติบโตมาโดยไม่เคยทิ้งการวาดภาพ ไม่เคยทิ้งการสร้างศิลปะแม้ในวัยปัจจุบัน เจะอับดุลเลาะนับเขาเป็นเพื่อนศิลปินในชุมชน และมักพาเด็ก ๆ นักศึกษาไปนั่งสนทนา เพื่อหวังว่าเหล่านักเรียนวิชาศิลป์จะได้รับแรงบันดาลใจเช่นเดียวกับที่เขาเคยได้มาในอดีตเช่นกัน   ศิลปะส่งต่อได้ ในสายตาของเจะอับดุลเลาะ ศิลปะในสามจังหวัดชายแดนใต้เติบโตขึ้นอย่างมากจากคืนวันในอดีต หากเทียบกันจากรุ่นที่เขายังเด็ก คนทั่วไปในช่วงเวลานั้นยังไม่ใคร่จะเข้าใจว่าศิลปะคืออะไร และศิลปินทำอะไร จนเกิดเป็นคำถามทุกครั้งที่มีเด็กคนไหนฝันใฝ่อยากทำอาชีพนี้ว่า ‘เป็นศิลปินจะทำอะไร จะเอาอะไรกิน’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการบุกเบิกของหลาย ๆ ฝ่าย ปัจจุบัน อาชีพศิลปินกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเปิดใจให้มากขึ้น “พอมีอาร์ตสเปซ มีพื้นที่ทางศิลปะ ผู้คนเขาได้ใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านี้ ได้เห็นว่ามันทำอะไรได้บ้าง ทั้งในแง่ของคุณค่าและแง่ของมูลค่า มันจะทำให้เขาเข้าใจเองว่าทำงานศิลปะก็เป็นอาชีพได้ ครั้งหนึ่งที่ผมภูมิใจคือการที่ผู้ปกครองเดินมาบอกผมว่า จะให้ลูกเรียนศิลปะ เพราะอยากให้ลูกเป็นเหมือนอาจารย์” พระอาทิตย์ตกไปนานแล้ว ท้องฟ้าย่ำค่ำสีเทาเกือบดำในตอนที่เจะอับดุลเลาะกล่าวทิ้งท้าย “อย่างน้อยที่สุดอายุผมตอนนี้ 38 ปี ผมเดินมาแล้วในทางศิลปะ ผมทำงานมา 15 ปี แล้วผมก็ไม่รู้ว่าผมจะตายวันไหน อย่างน้อยที่สุดก่อนอายุ 60 หรือ 70 ผมน่าจะได้ทำอะไรอีกหลายอย่าง สร้างปรากฏการณ์อีกหลายหน อย่างที่บอกว่าผมอยากจะเอาศิลปะให้ไปอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้ ผมคิดว่าคนเจนต่อไปเขาจะอินหรือไม่อินไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่เราคือทำตอนนี้ให้เต็มที่ที่สุด ทำให้มันเป็นจุดไคลแมกซ์ของยุคเรา”