เจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านอังกฤษ ผู้ไม่ยอมคุกเข่าให้ควีน

เจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้านอังกฤษ ผู้ไม่ยอมคุกเข่าให้ควีน
ประเทศอังกฤษคือต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เรียกกันว่า "ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองแบบ "สาธารณรัฐ" เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในยุคของ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เมื่อช่วงศตวรรษที่ 17 ก่อนที่ฝ่ายนิยมกษัตริย์จะรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมาหลังการตายของครอมเวลล์ และกลายเป็นสถาบันหลักของชาติที่ตั้งมั่นจนถึงปัจจุบัน แต่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในอังกฤษก็มิได้ล้มตายตามครอมเวลล์ไปหมด หากยังคงมีผู้ศรัทธาในสาธารณรัฐสืบมามากบ้างน้อยบ้างตามยุคสมัย โดยบุคคลตัวอย่างฝ่ายนี้ในปัจจุบันที่โดดเด่นที่สุดก็คงไม่พ้น “เจเรมี คอร์บิน” (Jeremy Corbyn) ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานที่ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคได้สำเร็จหลังการเลือกตั้งปี 2015 คอร์บินเกิดเมื่อ 26 พฤษภาคม 1949 จบมัธยมแล้วได้เรียนวิทยาลัยเทคนิคเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะหันมาเป็นนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นแห่งหนึ่งในลอนดอนตอนอายุ 25 ปี ก่อนได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในนามพรรคแรงงานในปี 1983 เขาเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายสุดโต่ง (ในสายตาคนอื่น แต่สำหรับเขาเรียกจุดยืนตัวเองว่าเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย) ไม่สนใจว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคเขาก็พร้อมจะคัดค้านเสมอ หากนโยบายพรรคขัดต่ออุดมการณ์ของตนเอง ข้อมูลของ Britannica บอกว่า เขาเคยโหวตสวนมติพรรคมาแล้วกว่า 500 ครั้งตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่เขาเป็นผู้แทน จุดยืนของคอร์บินที่โดดเด่นคือการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ต่อต้านนโยบายในตะวันออกกลางที่มีสหรัฐฯ และอิสราเอลเป็นแกนกลาง (เขาเองถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต้านยิว) ต่อต้านการเป็นสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรปของอังกฤษ ในอีกทางหนึ่งเขาให้การสนับสนุนภาคการเมืองของกลุ่มไออาร์เอที่ต้องการปลดปล่อยไอร์แลนด์เหนือจากสหราชอาณาจักร สนับสนุนการดึงกิจการรถไฟกลับมาเป็นของรัฐ และเขายังเป็นฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ซึ่งการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐย่อมเท่ากับการล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ไปด้วย แนวคิดที่ไม่ยอมประนีประนอมของคอร์บินทำให้เขาที่เป็น ส.ส. มาอย่างยาวนานไม่เคยได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกับเขาเลยในช่วงที่พรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาล และการก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคของเขาก็ทุลักทุเลเป็นอย่างมาก เพราะนักการเมืองที่มีตำแหน่งในสภาของพรรคต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางซ้ายจัดของคอร์บิน โดยหลังความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 เอ็ด มิลิแบนด์ ผู้นำพรรคแรงงานในขณะนั้นตัดสินใจรับผิดชอบด้วยการลาออก ตอนแรกมี ส.ส. ที่ลงชื่อสนับสนุนเขาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เพียง 20 ชื่อ จาก ส.ส. ที่พรรคมีทั้งหมด 232 คน แต่ตามกฎของพรรคเขาต้องการอย่างน้อย 35 รายชื่อถึงจะมีสิทธิได้เป็นแคนดิเดต และในช่วงนาทีสุดท้ายนั่นเองที่ ส.ส. ซึ่งมิได้ชื่นชอบแนวทางหรือต้องการให้คอร์บินเป็นหัวหน้าพรรค ตัดสินใจร่วมกันลงชื่อรวมได้ตามข้อกำหนดเสนอให้คอร์บินลงแข่ง ด้วยหวังจะช่วยเพิ่มตัวเลือกและการถกเถียงถึงแนวทางที่ควรจะก้าวต่อไปของพรรคเป็นสำคัญ แต่เมื่อการตัดสินตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปอยู่ในมือของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ คอร์บินซึ่งแม้จะเป็นคนรุ่นเก่าแต่เป็นผู้เสนอแนวทางการเมืองที่อยู่นอกกระแสมาตลอดทำให้ถูกมองว่าเป็น "ทางเลือกอื่น" ในหมู่คนรุ่นใหม่ และสามารถชนะการเลือกตั้งผู้นำพรรคแรงงานไปแบบขาดลอยด้วยคะแนนรวม 59.5 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งคะแนนแคนดิเดตรายอื่นกว่า 3 เท่า การได้ชัยชนะของคอร์บินทำให้เขาถูกพินิจพิจารณาอย่างหนักจากสาธารณะกับอุดมการณ์ส่วนตัวซึ่งขัดกับนโยบาย ค่านิยมหรือจารีตประเพณีที่มาแต่เดิมอย่างสุดขั้ว และหนึ่งในนั้นก็คือการเป็นฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ไม่นานหลังจากรับตำแหน่งผู้นำพรรคแรงงานเขาถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังพิธีรำลึกยุทธการแห่งบริเตน (Battle of Britain - การรบทางอากาศต่อต้านการรุกรานของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2) ในวิหารเซนต์พอลซึ่งผู้ร่วมพิธีมีทั้งทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศ ซึ่งมีคนสังเกตเห็นว่าคอร์บินมิได้ขยับปากร้องเพลง "God Save the Queen" แม้แต่น้อย (แต่ก่อนหน้านั้นเขาได้ออกแถลงการณ์ยกย่องผู้เสียสละชีวิตในสงครามคราวนั้นแล้ว) ไนเจล ฟาราจ อดีตหัวหน้าพรรค UK Independence Party (ปัจจุบัน - 2019 เป็นหัวหน้าพรรค Brexit) ออกมากล่าวว่า "ผมอยู่ในเซนต์พอล แล้วผมก็สังเกตเห็นว่าคอร์บินไม่ได้ขยับปากร้องเพลงชาติสักคำ แต่ก็นะเขาคือพวกนิยมสาธารณรัฐเข้ากระดูกถึงปลายนิ้ว ซึ่งผู้สนับสนุนพรรคแรงงานน้อยคนนักที่จะเอาด้วย" (The Guardian) ส่วน นิโคลัส โซมส์ (Nicholas Soames) ส.ส.จากพรรคอนุรักษนิยม และหลานของ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกฯ ยุคสงครามโลกให้ความเห็นว่า การไม่ยอมร้องเพลงชาติสรรเสริญพระบารมีควีน ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติต่อควีนและทหารอากาศผู้สละชีวิตในยุทธการแห่งบริเตนเป็นอย่างสูง ทางพรรคแรงงานได้ออกแถลงการณ์ว่า คอร์บินได้ไปร่วมงานดังกล่าวเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียสละต่อสู้ในสงครามเพื่อประเทศ และเลือกใช้การยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความเคารพระหว่างที่มีการร้องเพลงชาติ และในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเขาถูกถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง คอร์บินจึงตอบว่า เขาแปลกใจมากที่สื่อให้ความสนใจกับการที่เขาไม่ร้องเพลงมากจนเกินเหตุ แทนที่จะไปให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าวในแง่ประวัติศาสตร์ หรือประเด็นทางสังคมที่มีเนื้อหาสาระกว่านี้ หลังจากนั้นไม่นาน ประเด็นเรื่องความจงรักภักดีของคอร์บินก็ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อเขาซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านโดยตำแหน่งจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมสภาองคมนตรี และโดยพิธีการเขาจะต้องคุกเข่าต่อหน้าควีนเพื่อรับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งทางบีบีซีเคยถามคอร์บินก่อนแล้วว่าเขาจะยอมคุกเข่าให้ควีนหรือไม่? เขาตอบว่าเขาไม่รู้มาก่อนว่าพิธีกรรมเป็นเช่นนั้น เขาคงต้องปรึกษากับทีมงานเสียก่อนว่าจะวางตัวเช่นใด แต่ได้ตอบเป็นนัย ๆ ว่า "แน่นอนว่าสุดท้ายผมก็ต้องเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ [ขณะเดียวกัน] ผมคิดว่ามีหลายอย่างในสังคมที่มันควรจะต้องเปลี่ยน และนี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วยก็ได้" เมื่อมีข่าวว่า คอร์บินตอบรับหนังสือเชิญร่วมเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีก็ทำให้สื่อบางรายตีข่าวว่า ผู้นิยมสาธารณรัฐอย่างเขายอมคุกเข่าให้กับควีนแล้ว (Telegraph) แต่เมื่อถึงวันพิธีสาบานตนจริง ทาง The Guardian กลับรายงานว่า "เจเรมี คอร์บินไม่ได้คุกเข่าให้กับควีน" โดยชี้ว่า แม้โดยธรรมเนียมแล้วผู้เข้ารับตำแหน่งองคมนตรีจะต้องคุกเข่าและจุมพิตพระหัตถ์ของควีน แต่ทางราชสำนักก็ "ไม่บังคับ" ให้สมาชิกองคมนตรีต้องทำในสิ่งที่ลำบากใจแต่อย่างใด คอร์บินจึงไม่ต้องคุกเข่าอย่างที่คนคาดหมายไว้ก่อนหน้าเมื่อเขาแรกประกาศรับตำแหน่งดังกล่าว แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับจ้องในความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในอังกฤษยังคงเห็นดีเห็นงามกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยในการสำรวจเมื่อปี 2018 ของ YouGov สำนักวิจัยด้านการตลาดและการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ชาวอังกฤษกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ยังสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ มีเพียง 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต่อต้าน และอีกราว 11 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่แน่ใจ ถึงอย่างนั้น คอร์บินก็ยังมั่นคงในอุดมการณ์เดิม ขณะเดียวกันเขาก็ไม่คิดจะผลักดันความเชื่อส่วนตัวให้กลายเป็นวาระของพรรค ทำให้คนอังกฤษที่ส่วนใหญ่นิยมกษัตริย์รวมถึงสมาชิกพรรคแรงงาน เทคะแนนให้กับผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐอย่างเขาในการเลือกผู้นำพรรคแรงงานปี 2015 และอีกครั้งในปีต่อมาเมื่อเขาถูกท้าชิงจากผู้ต่อต้านภายในพรรค (ทั้งนี้ อังกฤษมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้กระทั่งความศรัทธาในระบอบอื่นโดยไม่เห็นว่านั่นเป็นปัญหาต่อความมั่นคงแต่ประการใด)