เจอร์รี บัสส์ : เด็กสู้ชีวิต สู่นักธุรกิจซื้อแอลเอ เลเกอร์ส ปั้นทีมจนยุคหลังมีมูลค่าแซง 'ปีศาจแดง' และ 'หงส์แดง' พลิกโฉมบาสเกตบอลเอ็นบีเอไปตลอดกาล

เจอร์รี บัสส์ : เด็กสู้ชีวิต สู่นักธุรกิจซื้อแอลเอ เลเกอร์ส ปั้นทีมจนยุคหลังมีมูลค่าแซง 'ปีศาจแดง' และ 'หงส์แดง' พลิกโฉมบาสเกตบอลเอ็นบีเอไปตลอดกาล
เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ดีลทุ่มเงินเข้าซื้อธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคทุนนิยมแทรกซึมไปในแทบทุกวงการ โลกกีฬารอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนในแบบหนึ่ง สโมสรกีฬาไปจนถึงองค์กรต่าง ๆ ตกเป็นเป้าหมายของผู้มั่งคั่งทุกทวีป แต่จะมีสักกี่ดีลที่ประสบความสำเร็จขั้นเจ้าของคนใหม่เปลี่ยนแปลงทีมนั้นแบบพลิกแผ่นดินกลับด้านเป็นแผ่นฟ้า และส่งอิทธิพลไปถึงแวดวงกีฬาที่ทีมนั้นวนเวียนอยู่ ถึงแม้จะมีไม่มากนัก แต่กรณีตัวอย่างกลุ่มเล็ก ๆ หากจะหยิบยกมาพูดถึงคงคุยกันได้อย่างออกรส แน่นอนว่าหากจะพูดถึงเรื่องนี้ ดีลที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ย่อมมีดีลของเจอร์รี บัสส์ นักธุรกิจผู้ซื้อทีมแอลเอ เลเกอร์ส (Los Angeles Lakers) เมื่อปี ค.ศ. 1979 ด้วยดีลมูลค่ารวมราว 67.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแปลงโฉมทีมบาสเกตบอลที่มีตัวผู้เล่นชั้นยอดแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน พลิกบรรยากาศและรสชาติเกมในลีกเอ็นบีเอที่จืดชืด กลายเป็นยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวือหวา ผู้คนเรียกยุคนี้ของเลเกอร์สว่า ‘โชว์ไทม์’ (Showtime) คำเรียกที่ติดปากคอกีฬาอเมริกันเกมว่า ‘โชว์ไทม์’ สื่อถึงลีลาการเล่นอันลื่นไหล ดูแล้วสนุกสนานตื่นเต้น และไม่ใช่แค่สไตล์การเล่นของทีม ทีมยังนำความบันเทิงเข้ามาผสมผสานสร้างบรรยากาศในสนามด้วย มีทีมนักเต้นสาวที่เรียกว่า ‘เลเกอร์ เกิร์ลส’ (Laker Girls) ขณะที่ในสนามยังเติมดาราคนดังเข้ามาชมเกมมากกว่าเดิม สร้างบรรยากาศครึกครื้นประหนึ่งอยู่ในโชว์ความบันเทิงที่มีแข่งเกมกีฬา ซึ่งบางคนมองว่า ยุคนี้เองเป็นช่วงแรกที่กีฬาผสมผสานกับความบันเทิงหากเรียกตามนิยามปัจจุบัน คนมักเรียกกันว่า Sports Entertainment นั่นเอง ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่เจอร์รี บัสส์ บริหารทีม พอจะกล่าวได้ว่าแนวทางของเขาพลิกโฉมทั้งทีมเลเกอร์ส และลีกเอ็นบีเอไปตลอดกาล อิทธิพลของเขายังส่งผลสืบเนื่องถึงยุคต่อมา เด็กสู้ชีวิต กว่าที่จะสร้างอาณาจักรธุรกิจกีฬาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแอลเออย่างเป็นล่ำเป็นสัน เจอร์รี บัสส์ เริ่มต้นมาจากชีวิตวัยเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน ช่วงยุค 30s ที่เขาเติบโตมาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ตอนอายุ 4 ขวบเคยไปต่อแถวรับขนมปังเพื่อประทังชีวิต พ่อเลี้ยงของเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับการประปา บัสส์ในวัยเด็กต้องตื่นก่อนตี 5 เพื่อมาช่วยทำงานก่อนไปโรงเรียน เวลานั้นเขาอายุไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ สมัยเรียนมัธยมยังต้องทำงานในโรงแรมท้องถิ่นของไวโอมิง (Wyoming) ได้ค่าจ้างวันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ เคราะห์ร้ายที่บัสส์ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานด้านระบบทางรถไฟ เมื่อมีโอกาสถึงกลับมาเรียนใหม่จนไต่ไปถึงระดับปริญญาเอกด้านเคมีเชิงฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California - USC) ในปี 1957 ขณะอายุได้ 24 ปี และก่อนจะไปในสายการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือซื้อทีมกีฬา เดิมทีแล้ว เขาทำงานสายวิทยาศาสตร์เสียมากกว่า เคยทำงานกับหน่วยงานรัฐหลายด้าน ตั้งแต่เหมือง อุตสาหกรรมอวกาศ และเคยทำงานในภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัย USC บัสส์เริ่มหันเหมาด้านการลงทุนโดยหวังว่าจะหารายได้มาเลี้ยงชีพและจะได้ทำงานสอนต่อ ราวปี 1959 - 1960 เขาลงทุนครั้งแรกร่วมกับผู้ร่วมทุนอีก 4 ราย ซื้ออะพาร์ตเมนต์ 14 ยูนิตในแถบแอลเอ โดยจ่ายเป็นเงินมัดจำ 6,000 ดอลลาร์ และกู้ยืมเงินจากธนาคารอีก 100,000 ดอลลาร์ ไม่มีใครคิดว่าเวลาผ่านไปอีกร่วม 20 ปี การลงทุนของบัสส์ครั้งนั้นจะกลายเป็นหนึ่งในอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนกับธุรกิจกีฬา คนส่วนใหญ่รู้จักเจอร์รี บัสส์ จากดีลซื้อทีมแอลเอ เลเกอร์ส ถือเป็นดีลที่สำเร็จมโหฬารที่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์กีฬา แต่ก่อนหน้าขึ้นสู่ดวงดาว บัสส์ที่เป็นแฟนกีฬาตัวยงเคยล้มเหลวกับการลงทุนด้านกีฬามาก่อน เมื่อซื้อลีกเทนนิสที่เรียกว่า เวิลด์ ทีม เทนนิส (World Team Tennis) ถ้าหากงงว่ามันคืออะไร ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันคืออีกหลักฐานหนึ่งว่า การลงทุนครั้งนั้นล้มเหลว ลีกเทนนิสปิดตัวลงในปี 1978 หนึ่งปีก่อนเขาจะซื้อทีมในเอ็นบีเอ ดีลนี้ทำให้เจอร์รี บัสส์ สูญเงินราว 4 - 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากล้มเหลวกับกีฬาเทนนิส บัสส์ไม่เว้นห่างจากการลงทุนซ้ำไปนานนัก ปี 1979 เขาเข้าซื้อทีมเลเกอร์ส ดีลยักษ์ใหญ่ที่เริ่มมาจากข้อสังเกตเมื่อบัสส์รู้มาว่า แจ็ก เคนต์ คุก (Jack Kent Cooke) เจ้าของเดิมไม่เข้าชมเกมเลเกอร์ส ซึ่งทำให้บัสส์คิดว่านี่คือโอกาส หากเขาพบเจ้าของทีมน่าจะกล่อมให้ขายทีมได้ เพราะในเวลานั้น แจ็ก คุก เผชิญคดีความหย่าร้างครั้งใหญ่หลวง ถึงกับย้ายไปรัฐเนเวดา เพื่อได้สถานะผู้พักอาศัยในรัฐนั้นที่มีกฎหมายแตกต่างกัน บัสส์เข้าพบแจ็กและกล่อมอยู่นานแรมปีจนซื้อทีมได้สำเร็จด้วยมูลค่ารวม 67.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดีลนั้นรวมถึงทีมฮอกกี้ (Los Angeles Kings) สนามเดอะฟอรัม (The Forum) และฟาร์มเนื้อที่ 13,000 เอเคอร์ สร้างอาณาจักร วันแรกหลังจากดีลลุล่วง เขาไปเยือนสนามเดอะฟอรัม สำรวจเพชรเม็ดงามในหมู่ทรัพย์สินของเขาทันที คืนนั้นเขาใช้เวลาอยู่ในสนามคนเดียวและคิดว่า นับจากวัยเด็กจนถึงวันที่เขาถือครองทีมในเอ็นบีเอ เขามาไกลทีเดียว บทบาทของเจอร์รี บัสส์ กับแอลเอ เลเกอร์ส ส่วนใหญ่แล้วเขาเป็นเจ้าของในสไตล์ดูแลด้านการตลาดเป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่า แม้บัสส์เป็นแฟนกีฬาตัวยง เป็นนักเคมี เป็นนักธุรกิจที่รู้ว่าจะขายของอย่างไร แต่สำหรับกีฬาบาสเกตบอลแล้ว บัสส์ไม่ได้รู้เชิงลึกมากไปกว่าแฟนทั่วไป เจ้าของรายล่าสุดจึงมีแนวทางว่าจ้างคนเก่งที่สุด และมีความสามารถโดดเด่นที่สุดมาแล้วปล่อยให้คนเหล่านี้ทำงานไป ซึ่งต่างจากแนวเจ้าของเดิม เวลานั้น เออร์วิน ‘เมจิก’ จอห์นสัน (Earvin ‘Magic’ Johnson) ตำนานพอยต์การ์ดของเอ็นบีเออีกรายที่โด่งดังจากยุค ‘โชว์ไทม์’ ถูกดราฟต์มาร่วมทีมเลเกอร์สแล้ว เป็นบัสส์ที่เล็งเห็นว่า เมจิก จอห์นสัน ที่มีสไตล์การส่งลูกอันโดดเด่น หวือหวา บุคลิกส่วนตัวก็น่าดึงดูด จะเป็นแกนหลักของทีมที่ไม่เพียงนำความสำเร็จมา จะเป็นแบรนด์ของทีมตามแนวคิดผนวกรวมกีฬาเข้ากับความบันเทิง บัสส์ใช้ทักษะในด้านการตลาดและความชื่นชอบส่วนตัวมาออกแบบเกมและแบรนด์ของทีม มีตั้งแต่กลุ่มสาวนักเต้น ‘เลเกอร์ เกิร์ลส’ เปิดเสียงดนตรีในสนาม แทรกกิจกรรมกับแฟนช่วงเบรก นำวงดนตรีมาเล่นในสนาม จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีวงเล่นสดขณะผู้เล่นกำลังอบอุ่นร่างกาย เรียกได้ว่ามอบความบันเทิงแบบจัดเต็มให้ผู้ถือตั๋ว ก่อนหน้าบัสส์บริหารทีม ที่นั่งติดริมสนามขายในราคา 15 ดอลลาร์สหรัฐ และมักสำรองไว้สำหรับสื่อ และเป็นเจ้าของทีมรายนี้ที่แปรรูปพื้นที่ทองในสนามเป็น ‘ที่นั่งพรีเมียม’ แม้ว่าไอเดียเดิมทีแล้ว บัสส์บอกว่าแค่อยากได้ที่นั่งนี้ให้เขาและเพื่อนได้เข้ามาดูเกม โดยไม่ได้คิดเรื่องทำรายได้ก็ตาม บัสส์เล่าว่าพยายามจับจองที่นั่งข้างสนามมานานก่อนหน้าซื้อทีมแล้ว แต่ไม่เคยซื้อได้ เขาคิดว่าราคาตั๋วน่าจะต่ำเกินจริงจึงปรับขึ้นราคาจาก 15 เป็น 30 ก็ยังไม่มีใครยกเลิกตั๋วที่นั่งให้มีที่ว่างสำหรับให้เขาได้นั่งเองและสมนาคุณแก่เพื่อน จาก 30 ก็แล้ว ขยับเป็น 60 ดอลลาร์สหรัฐเพราะคิดว่าจะได้ที่นั่งว่างอีก 8 - 10 ที่นั่ง จนแล้วจนรอด ราคาปรับไปถึง 100 ก็ยังหาตั๋วให้เพื่อนยากอยู่ดี ทุกวันนี้ ตั๋วที่นั่งติดขอบสนามในเกมฤดูกาลปกติราคาทะลุ 2,700 ดอลลาร์ไปแล้ว หากเป็นเกมเพลย์ออฟยิ่งพุ่งสูงอีก เป็นผลิตภัณฑ์ทำเงินชิ้นสำคัญของทีมโดยปริยาย (แม้จะปรับที่นั่งสื่อ แต่เขาให้ความสำคัญและมีสัมพันธ์ที่ดีกับสื่ออย่างมาก บางครั้งคุยกับสื่อหลังจบเกมเรื่องบาสเกตบอลและธุรกิจกีฬาจนถึงกลางดึก) ด้วยความชื่นชอบการสังสรรค์ บัสส์ยังตั้งพื้นที่เป็นคลับวีไอพีสำหรับคนดังและเซเลบในแอลเอได้มาพบปะดื่มกินกันก่อนเกม และยังทำให้ที่นั่งขอบสนามเป็นจุดหมายของดารานักแสดงฮอลลีวูด สร้างบรรยากาศราวกับเป็นงานประกาศรางวัลออสการ์หรือแกรมมี ผสมผสานกับกลิ่นอายคล้ายคฤหาสน์เพลย์บอยอยู่บ้าง มรดกสู่ยุคปัจจุบัน ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ แอลเอ เลเกอร์ส เติบโตมาเป็นแฟรนไชส์ในลีกบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จทั้งแง่รางวัลและรายได้ กวาดแชมป์ต่อเนื่องในยุค 80s ยุคของคารีม อับดุล จับบาร์ (Kareem Abdul-Jabbar)/เมจิก จอห์นสัน มาสู่ยุคชาคีล โอ’นีล (Shaquille O’Neal)/โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) และไบรอันท์/พอล กาซอล (Paul Gasol) ล่าสุดก็เป็นยุคของเลบรอน เจมส์ (LeBron James)/แอนโทนี เดวิส (Anthony Davis) แต่ละยุคกวาดความสำเร็จมาให้แฟนได้ทั้งสิ้น 34 ปีของบัสส์กับแอลเอ เลเกอร์ส ทีมขยับแบรนด์ของตัวเองไปเทียบกับแบรนด์กีฬาชั้นนำของโลกอย่างนิวยอร์ก แยงกีส์ ในเบสบอลลีก หรือบาร์เซโลนา ในฟุตบอลลาลีกา สเปน มูลค่ารวมของทีมเลเกอร์ส จากการจัดอันดับทีมกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกโดยฟอร์บส (Forbes) เมื่อปี 2021 เลเกอร์สมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รั้งอันดับ 7 ในตาราง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล รั้งอันดับ 11 และ 12 ตามลำดับ (แอลเอ เลเกอร์ส ติดใน 10 อันดับแรกเมื่อปี 2015 แต่บางปีก่อนหน้านั้นก็หลุดอันดับ) น่าเสียดายที่ ดร.บัสส์ไม่ได้เห็นมรดกรุ่นหลังของเลเกอร์ส เมื่อปี 2013 แฟนเลเกอร์สรับข่าวเศร้าว่าเจอร์รี บัสส์ เสียชีวิตในวัย 80 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2012 สิทธิ์และมรดกของบัสส์ในแอลเอ เลเกอร์ส ถูกถ่ายทอดมาสู่ทายาททั้ง 6 รายแบบเท่ากัน และเมื่อปี 2017 จีนี บัสส์ ลูกสาวของเขาขึ้นรั้งตำแหน่งประธาน ก่อนหน้าเขาเสียชีวิต บัสส์ยังฝากมรดกชิ้นสำคัญไว้จากการปิดดีลเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์กับไทม์ วอร์เนอร์ เคเบิล (Time Warner Cable) มูลค่ารวม 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขสถิติของทีมนับตั้งแต่ก่อตั้งมา เรียกได้ว่าการันตีทางการเงินให้กับเลเกอร์สไปอีกร่วม 20 ปี คนจำนวนไม่น้อยมองว่าชีวิตของบัสส์ไม่ต่างจากเรื่องราวความสำเร็จของกลุ่มคนที่เริ่มต้นสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยสองมือของตัวเอง โดยเริ่มจากต้นทุนชีวิตที่เกือบเป็นศูนย์แล้วส่งไม้ต่อมาสู่รุ่นลูกและรุ่นต่อไปอย่างภาคภูมิ สำหรับผู้คนในแอลเอ บัสส์ไม่ได้เป็นแค่นักธุรกิจเจ้าของทีม แต่ยังเป็นเสมือนผู้ปลุกชีวิตให้กับท้องถิ่น ส่งอิทธิพลต่อวงการอเมริกันเกมอย่างสูง และถูกยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งเจ้าของทีมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกรายในวงการกีฬาโลก สำหรับแฟนทีมเลเกอร์ส หรือผู้สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติม เจอร์รี บัสส์ ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นซีรีส์ Winning Time: The Rise of the Los Angeles Lakers Dynasty (2022) เผยแพร่ทาง HBO มี จอห์น ซี. ไรลีย์ (John C. Reilly) รับบทเป็น ดร.บัสส์ ซีรีส์ดัดแปลงมาจากหนังสือเกี่ยวกับยุคโชว์ไทม์ เนื้อหาบางส่วนในซีรีส์ทำออกมาได้สนุกสนานทีเดียว แต่ต้องบอกไว้ว่ามีรายละเอียดหลายจุดที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ในแง่หนึ่งก็เป็นความสนุกสนานของผู้ชม แต่ในอีกด้านก็อาจต้องระมัดระวังในการรับสาร และหากผู้ชมนำข้อมูลไปใช้ คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันให้ดีก่อน ภาพ : Getty Images อ้างอิง : https://bleacherreport.com/.../1534466-lakers-legendary... https://sports.yahoo.com/.../nba--from-bread-line-to... https://www.menshealth.com/.../winning-time-jerry-buss.../ https://www.nba.com/.../021020-dr-jerry-buss-oral-history... https://www.forbes.com/.../worlds-most-valuable.../...