เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ

เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ
บางเวลาคนเราต้องเสียใจ ไม่เป็นไรหากเธอต้องร้องไห้” คือท่อนเริ่มต้นของเพลง ‘เเค่เพลงบทหนึ่ง’ ที่ ‘เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา’ หรือ ‘Jesse Mek’ เขียนขึ้นจากประโยคที่ผุดขึ้นมาระหว่างนั่งสมาธิ เริ่มจากความสนใจในกีตาร์เมื่อวัยเด็ก และขอให้ ‘เทียรี่ เมฆวัฒนา’ นักดนตรีในวงเพื่อชีวิต ‘คาราบาว’ ผู้เป็นพ่อสอนเล่น สู่วันที่ไปตั้งวงดนตรีไกลถึงนิวซีแลนด์ ฝึกเขียนเพลงด้วยตัวเอง จนวันที่มีผลงานเพลงออกมาให้ฟังหลายเพลง เจสซี่มีงานอดิเรกเป็นการเดินทาง มีวิธีพักใจเป็นการนั่งสมาธิ และมีความสุขในชีวิตเป็นเสียงเพลง ร่วมย้อนรอยการเดินทางของชีวิตชายคนนี้ผ่านท่วงทำนองดนตรีที่โลดแล่นระหว่างป็อป ร็อก โฟล์ก และเร็กเก ค้นพบแรงบันดาลใจจากทุกสิ่งรอบตัวไปพร้อม ๆ กับเขา เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา เด็กหนุ่มที่ไม่ว่าเมื่อไรก็มีกีตาร์ข้างกายเสมอ   The People: เล่าถึงชีวิตวัยเด็กและจุดเริ่มต้นที่สนใจดนตรีสักหน่อย เจสซี่ เมฆ: ชีวิตวัยเด็กก็สนุกครับ เพราะว่าจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แบบว่าในรั้วบ้านจะมีบ้านน้า บ้านยาย แล้วก็บ้านแม่กับพ่อ ก็เลยจะมีญาติ ๆ แวะเวียนมาหายาย แล้วก็จะมีน้อง ๆ ลูกพี่ลูกน้อง ญาติ ๆ อะไรอย่างนี้ครับ เวลาที่มีลอยกระทงหรือว่ามีงานสงกรานต์ก็จะนัดกันมาเล่นที่บ้าน แบบว่ายิงปืนฉีดน้ำกัน หรือว่าเล่นพลุกันในวันลอยกระทง ก็เป็นอะไรที่สนุกนะครับวัยเด็ก แบบน้า ๆ อา ๆ จะมาเจอกัน แล้วก็แก๊งเด็ก ๆ ก็จะอยู่ด้วยกัน จะมีพี่โตสุดพาเล่น  เริ่มสนใจดนตรีประมาณอายุ คือจริง ๆ ก็ชอบมาตั้งแต่ประมาณ 10 ขวบ แต่ว่าเริ่มที่อยากจะหัดเรียนจริง ๆ น่าจะประมาณอายุ 12 ครับ แล้วก็ขอให้พ่อสอนกีตาร์ ตอนแรกก็ด้วยมือเราเล็ก พ่อก็บอก เฮ้ย! นิ้วยังยาวไม่พอนะที่จะจับคอร์ด รออีกสักปีสองปีนะ เดี๋ยวจะสอน เราก็แบบรอ ได้หรือยัง แบบปีนี้สอนได้หรือยังครับ นิ้วสั้นยาวพอหรือยัง จนประมาณ 12 - 13 ถึงได้เริ่มหัดจริง ๆ    The People: ตอนช่วงอายุเท่านั้น ทำไมคุณถึงเลือกเล่นกีตาร์ ไม่ใช่เครื่องดนตรีอื่น เจสซี่ เมฆ: ดีนะครับคำถามนี้ เพราะจริง ๆ ผมเคยไปเรียนกลองมาด้วย จริง ๆ กลองเป็นเครื่องดนตรีแรก แต่ว่ากีตาร์เนี่ยเหมือนเราเห็นวางไว้ในบ้าน จะมีกีตาร์ของเล่นที่เป็นเด็กด้วย ทำเป็นท่าเป็นทางไปก่อน แต่ว่าที่ไปเริ่มเรียนจริง ๆ คือไปเรียนตีกลองอยู่ได้พักหนึ่ง ประมาณ 2 เดือน แล้วก็ชอบนะ ส่วนกีตาร์ก็เหมือนเพราะว่าเห็นพ่อเล่นด้วยมั้ง แล้วที่บ้านมันมีกีตาร์อยู่แล้ว เราจะมา set กลองก็ยากในตอนนั้น จะซื้อกลองมันต้องเป็นชุดใหญ่ แล้วตีเดี๋ยวเสียงดัง เพื่อนบ้านบ่น ก็เลยกลับมาสนใจกีตาร์ต่อ   The People: คุณพ่อเป็นครูดนตรีคนแรก ๆ ของคุณด้วยใช่ไหม เขาสอนคุณยังไง เจสซี่ เมฆ: เขาจะสอนเบสิกเลยครับ สอนเป็นคอร์ด แล้วก็จังหวะ แล้วก็การเปลี่ยนจากคอร์ดหนึ่งไปอีกคอร์ดหนึ่งให้มัน smooth ก็เริ่มจากการจำคอร์ดก่อน 3 - 4 คอร์ด หัดตีจนมัน smooth แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มรายละเอียดเข้ามา จะมีอย่างหนึ่งที่พ่อจะสอนคือเรื่องการวางนิ้วให้มันถูก แล้วก็เรื่องมูฟเมนต์ของนิ้วมือ หลังจากนั้นเราก็เริ่มชอบเอง ก็เลยหาดนตรีฟังเพิ่ม บวกกับดนตรีที่มีตอนนั้นด้วยที่มีในวิทยุ ในซีดีของในห้องพี่สาวหรือญาติ ๆ ก็ค่อย ๆ ซึมซับมา   The People: พอจะจำเพลงที่ฟังตอนเด็ก ๆ ได้ไหม เจสซี่ เมฆ: ตอนเด็ก ๆ ก็มีหมดเลย อย่างเทปที่บ้านก็พวกรวมฮิตแบบว่า ‘My heart goes shalala lala’ แบบว่า ‘Kung fu fighting’ อะไรอย่างนี้ อย่างคาราบาวก็ฟัง ฟังเทปก็เหมือนหยิบเทปที่บ้าน เป็นเด็กมีอะไรก็ลองเอามาเปิด ๆ ดู  พอโตขึ้นมาหน่อยประมาณ 14 - 15 ก็จะเริ่มชอบวงแบบอพาร์ตเมนต์คุณป้า เริ่มรู้จักอะไรอย่างนี้ ชอบ แล้วตอนนั้นเดอะริชแมนทอยก็เพิ่งออกมนต์รักยาเสน่ห์ เหมือนแบบว่ายังเป็นอินดี้ ๆ อยู่เลย แล้วก็เหมือนรุ่นพี่เปิดให้ฟังมั้ง แล้วก็แบบเออเท่ดี ก็ค่อย ๆ เริ่มรู้จัก แต่อย่างวงที่เขาอยู่ในวิทยุ ใน MTV ใน Channel V แบบว่า ซิลลี่ ฟูลส์, บอดี้สแลม ก็คือฟังอยู่แล้ว เพราะว่าเหมือนเราดูทีวีด้วย มันก็เลยได้ฟังไปโดยอัตโนมัติ   The People: หลังจากนั้นที่ชอบดนตรีแล้ว เล่นเป็นแล้ว ได้มีวงเป็นของตัวเองไหม เจสซี่ เมฆ: มีครับ เดี๋ยวเล่าย้อนอีกนิดหนึ่งว่า คือพอเริ่มชอบดนตรีแล้วมันช่วงผมอายุ 13 แม่ส่งไปนิวซีแลนด์ เป็นเหมือนกึ่ง ๆ โรงเรียนประจำ แต่ไม่ได้นอนในโรงเรียนนะ มันจะเป็นหอแยกออกมา แบบมี supervisor ก็ไปเจอเพื่อน ๆ หลายชาติมาก มีคนจีน คนเกาหลี คนญี่ปุ่น แล้วจะมีเพื่อนคนจีนคนหนึ่ง เขาฟังเพลงเยอะมาก แบบรู้จักวงอังกฤษ วงอะไรที่เท่ ๆ เราก็ไปหมกอยู่ห้องเขา ไปศึกษาการฟังจากเขา ก็รู้จัก Rolling Stones, Bob Dylan จากเขา โห! ตอนแรกก็แบบวงอะไรเนี่ย ฟังครั้งแรกก็ไม่ได้ชอบนะ อย่าง Rolling Stones รู้สึกมันด้วยวัยเราด้วยมั้งครับ แต่พอฟังรอบที่ 2 เริ่มเหมือนเข้าใจ ไม่รู้เรียกว่าเข้าใจได้ไหมนะ อาจจะรู้สึกว่ามันเริ่มชิน แล้วก็กลายเป็นชอบไป The Beatles อะไรก็คือเริ่มฟังช่วงที่ไปนิวซีแลนด์นี่แหละครับ แต่ว่าช่วงนั้นวงที่เป็นวงโปรดของผมเลยที่ฝึกกีตาร์ก็คือ Oasis ตอน 14 - 15 นี่แหละครับ ก็เป็นช่วงที่ตั้งวงกับเพื่อนพอดี เป็นวงคนไทย มีกลอง กีตาร์ เบส แล้วก็นักร้อง ก็แกะเพลงแบบง่าย ๆ เลย ตอนนั้นแกะเพลง ‘เธอที่รัก (ชูวับ ชูวับ)’ เวอร์ชัน Paradox แล้วก็ ‘วัดใจ’ ไปเล่นที่โรงเรียน แต่ว่ามันจะมีงานหนึ่งที่เป็นประกวด เป็นแข่งขันวงมัธยม คล้าย ๆ HotWave ของเมืองไทย แต่ว่าชื่อ Smokefree Rockquest เป็นของที่นิวซีแลนด์ แล้วก็จะมีตามเมืองต่าง ๆ ส่วนเมืองที่เราอยู่เนี่ยเป็นเมืองเล็ก เมือง Blenheim มันจะเป็นเมืองเหมือนเมืองทางผ่านมากกว่า ก็จะจัดที่ stadium เป็นแบบว่าสนามบาสเหมือนประจำอำเภอ สนามบาสประจำจังหวัด แต่ต้องเขียนเพลงเอง นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ลองเขียนเพลงชื่อ Busking Man ครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักดนตรีเปิดหมวก ก็เขียนมาก่อน คือเราไม่เคยเขียนเพลงเลย ก็หา ๆ คอร์ดที่เราชอบ แล้วก็เขียนมา แล้วก็ให้อาจารย์ฝรั่งเขาช่วยดูภาษาอังกฤษพวก grammar ให้ แล้วก็ไปแข่งกัน ก็สนุกดี ไม่ได้ชนะ แต่ว่าได้ไปดูบรรยากาศ ได้รู้สึกว่าเราเป็นวง Rock and roll ที่เจ๋งมากในวันนั้นอะไรอย่างนี้ ตอน 15 โอ้โฮ! เตรียมตัวอย่างดี คือชุดนี่แบบทุกคนจัดเต็มมาก ยิ่งกว่าซ้อมอีก คือมันเป็นความสนุกตอนนั้นครับ เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ The People: พอกลับมาอยู่ประเทศไทยยาว ๆ แล้ว ได้มีวงดนตรีกับเพื่อนที่นี่ไหม หรือทำอะไร เจสซี่ เมฆ: ตอนที่กลับมานี่อายุ 17 ตอนแรกเลยยังไม่ได้ทำวงดนตรีกับเพื่อน ๆ ครับ แต่เราก็มีเดโมแบบเขียน ๆ อัด ๆ ไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มวงอะไร แล้วก็เหมือนช่วงนั้นมีงาน casting พวกแสดงแล้วว่าง ๆ พอดี มันชื่อ Sausage Mansion ครับ 10 ปีแล้ว ตอนนั้น 17 พอดี แล้วแม่ก็บอก เฮ้ย! มันมีอันนี้อยู่ ลองไปทำดูไหม ช่วงนี้แบบว่าง เราก็กลับมาเหมือนยังไม่ได้เข้ามหา’ลัย แบบรอ ๆ ระหว่างที่มหา’ลัยจะเปิด ของที่เมืองไทยนะครับ ก็ลองไปดู มันเป็นบทเป็นนักดนตรีด้วย    The People: ครั้งนั้นก็เป็นครั้งแรกที่รับงานแสดงเลยไหม หรือก่อนหน้านี้เคยมีบ้างแล้ว เจสซี่ เมฆ: ไม่เลยครับ อันนั้นคือครั้งแรก ๆ เลยครับ ที่มีก่อนหน้านั้นจะเป็นที่นู่นแหละครับ คือที่นิวซีแลนด์ มันจะมีแบบว่า พวกงานในโรงเรียนที่เป็นละครเวที แต่เราจะเล่นเป็น part นักดนตรีด้วย แต่คือละครเวทีเรื่องนี้ชื่อ Disco Inferno นะ มันจะเกี่ยวกับยุค 70s ที่อยู่ในผับพอดี วงก็เลยอยู่ในฉากด้วยตลอด คือเราก็จะยืนอยู่ แบบเล่นอะไรอย่างนี้ นักแสดงเขาก็ร้องเพลง แต่ละเพลงมันก็จะมีเพลงเปิดตัวของแต่ละคน ที่จะมีวงบรรเลงให้อยู่ข้างหลัง แต่ที่แสดงในเมืองไทยที่มันเป็นงานจริง ๆ ครั้งแรกก็คือนี่แหละครับ Sausage Mansion กำกับโดยพี่มุก ปิยะกานต์   The People: แล้วคุณได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นอย่างจริงจังได้อย่างไร เจสซี่ เมฆ: เหมือนจังหวะของตอนนั้นด้วยมั้งครับ บวกกับมันมีงานพอดี แล้วตอนนั้นก็มีโครงการของน้องใหม่ฯ ด้วย ก็ลองไปออดิชันดู แม่ก็อยากให้ไปลองอีก จริง ๆ ลึก ๆ เราก็อยากทำเพลงอยู่แล้วแต่ว่า เออ...อันนี้มันเหมือนเป็นงาน เราก็ยังไม่ได้เข้ามหา’ลัย ก็ลองดู ได้ทำงาน ได้หาเงินด้วย ก็รู้สึกว่า เฮ้ย! เรารู้สึกดีว่ะ ทำงานได้เงินเองอะไรอย่างนี้ครับ   The People: เรื่องการทำงานด้วยตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ในครอบครัวสอนไหม  เจสซี่ เมฆ: ใช่ แล้วก็ด้วยการที่เราอาจจะแบบไปอยู่ที่นิวฯ มาครับ แล้วเหมือนมันไปอยู่เอง คือถึงมันจะมีเพื่อน มี supervisor มีอาจารย์ดูแล แต่ว่ามันเหมือนไปไกลจากที่บ้าน จากพ่อแม่ มันก็ได้เรียนรู้ ได้ทะเลาะกับเพื่อน ได้ผิดพลาด ได้แอบเกเรบ้าง มันก็เหมือนได้ไปเจอชีวิต ไปเรียนรู้ชีวิตด้วย อย่างตอนเด็ก ๆ ถ้าอยากได้ของเล่น แม่เขาก็จะมีวิธีว่า สมมติมีค่าขนมให้ เขาบอกให้เก็บตังค์คนละครึ่ง แล้วเดี๋ยวแม่จะออกให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าเกิดเราเก็บตังค์ได้ครึ่งหนึ่งที่อยากจะได้ของชิ้นนั้น เหมือนให้เราฝึกออมด้วย แต่ก็คิดว่ามาจากพ่อแม่ด้วยนะครับ เพราะเห็นเขาทำงานกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ เราก็ภูมิใจที่อย่างน้อยเรา งานแรกงานนั้นเราได้ทำด้วยตัวเองได้เลย    The People: ถ้าให้เปรียบเทียบกันระหว่างงานดนตรีกับงานแสดง เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรบ้าง เจสซี่ เมฆ: มันมีความเหมือนและไม่เหมือนอยู่นะผมว่า อย่างดนตรีมันก็มีหลาย part นะครับ อย่างตอนที่เขียนเพลงมันก็จะเป็นช่วงที่เราสร้างสรรค์ ช่วงที่เราคิดอยู่คนเดียว ใส่อะไรก็ได้ เปลี่ยนแปลงนู่นเปลี่ยนแปลงนี่ แต่มันก็จะมี part ที่ต้อง perform บนเวที อันนั้นก็จะมีเรื่องการแสดงเข้ามาเกี่ยวแล้ว โดยที่มันไม่ใช่ acting มันอาจจะเป็นแบบว่า การทำโดยไม่ทำ การให้มันเป็นธรรมชาติ ทำมันบ่อยจนเป็นธรรมชาติเอง   แต่ว่าการแสดงมันก็จะแตกต่างตรงที่สมมติไปออกกองอย่างนี้ เราก็จะได้รับมอบหมายบทมาหรือหน้าที่มา ให้เราไปทำงาน ต้องทำการบ้านเพื่อจะเป็นคาแรกเตอร์ตัวนั้นให้ได้ดีที่สุด หรือใกล้เคียงที่สุด แต่อย่างดนตรีมันเหมือนเป็นจากข้างใน จากตัวเราเองเลย 100% แต่กระบวนการทำ มันก็ไม่ได้มาจากตัวเรา 100% ใช่ไหม เพราะเราก็ต้องมี sound engineer มีนักดนตรี เพื่อน ๆ คนอื่นที่มาช่วยอัด หรือว่า producer ที่จะช่วยเราคิดต่อได้ในบางอย่าง ก็เลยมองว่ามันมีทั้งเหมือนและแตกต่าง การแสดงจะเป็นเรื่องภาพมากกว่า แล้วก็ดนตรีจะเล่าเรื่องด้วยเสียง เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ The People: เพลงที่แต่งหลังจากเพลงแรก เจสซี่ เมฆ: ก็เขียนแบบว่า โอ้โฮ! แล้วร้องแบบเป็นอาขยานมาก เหมือนท่องบทสวดมนต์เลยครับแรก ๆ เพราะไม่เคยเรียนร้องเพลงเลย ฝึกแต่กีตาร์มาตอนเด็ก ๆ อยากเป็นมือกีตาร์อย่างเดียว แต่ก็พยายามเขียน ตอนเด็ก ๆ ก็จะมีเขียนเกี่ยวกับความฝัน เป็นแบบคอร์ดง่าย ๆ วน ๆ นี่แหละครับ ‘ทำทุกสิ่งที่อยากทำในวันนี้ ก่อนที่มันจะสายไปในวันหน้า’ อะไรประมาณนี้ครับ ช่วง 15 - 16 แต่ก็คือเขียนเรื่อย ๆ มีทั้งเพลงที่ชอบและไม่ชอบเหมือนกัน เพลงที่แบบไม่อยากเปิดให้ใครฟัง อยากจะให้มันอยู่ใน folder นั้นไปเลย ก็มีหลายเพลงเหมือนกันครับ คือเหมือนเราไม่ได้จำกัดนะว่า เราจะต้องเขียนเฉพาะเรื่องนี้หรือเรื่องนั้น หรือว่าเราต้องเป็นแบบนี้หรือแบบนั้นเท่านั้น คือบางทีปล่อยให้ความรู้สึก หรือให้สิ่งที่เราตกตะกอนกับตัวเองมันเป็นธรรมชาติของมัน ยกเว้นบางอย่าง เช่น groove หรืออะไรที่อยากจะให้เป็นเฉพาะเจาะจงก็ทำได้ แต่โดยปกติก็ปล่อยให้มันมี space มีช่องว่างในการตกตะกอน ในการไม่ต้องเค้นออกมา แต่ว่าเพลงที่เราพยายามจะเค้นมันออกมาก็มีนะ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยดีเท่าไร ไม่ดีเท่าเพลงที่มันมาสะกิดใจเรา เรารู้สึก แล้วคิดต่อ แล้วเล่าออกมา   The People: ปกติเวลาแต่งเพลงได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง มีบางเพลงที่พูดถึงกางเกงลิงสีแดง หรือบางเพลงพูดถึงการออกไปข้างนอก เจสซี่ เมฆ: มันมาจากหลาย ๆ อย่าง อย่างกางเกงลิงเนี่ยเป็น joke ครับ แต่ว่าเราก็อยากใส่อะไรไปใน joke ที่เราจะเล่าด้วยครับว่า แบบเอ๊ย! กางเกงลิงมันหายไป แต่ว่าเหมือนมันอาจจะเป็นความรักที่แบบว่าหายไปก็ได้เหมือนกัน แค่เปรียบเป็นเหมือนผมอยากจะกวนด้วยแหละ รู้สึกว่า แบบว่ากางเกงลิงมันเป็นเรื่องที่คนไม่น่าจะพูดถึงเท่าไร แต่รู้สึกว่าแบบ “ลุกขึ้นมาซักผ้าเมื่อคืน หลังตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ไม่ว่าจะทำยังไง วนเวียนไม่หายไป ต้องพบกับความเสียใจ อะไรไม่เป็นไปดั่งหวัง เจ้าเครื่องซักผ้าก็พัง กาละมังก็หายไป” ก็คือมันเหมือนนึกถึงคนที่อยู่หอ แบบนักศึกษา หรือเพื่อนและแฟนผมนี่แหละครับ  แฟนผมชอบตื่น ฝันร้ายแล้วก็ตื่นมาตอนดึก แล้วเมื่อก่อนชอบคุยกัน ทำอะไรอยู่ นอนไม่หลับหรอ อ๋อ ซักผ้าอยู่ คนอะไรซักผ้าตอนกลางคืนอะไรอย่างนี้ แล้วก็แบบ เออ...มันก็คงมีอีกหลายคนนะที่นอนไม่หลับ แล้วเราก็เลยแบบ เชี่ย ชีวิตมันแย่ เพราะว่าฝันร้าย มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ได้ บางคนคิดว่าเรื่องฝันอาจจะเป็นเรื่องเล็ก แต่ว่าดันมาเจอกะละมังหายอีก แล้วเครื่องซักผ้าก็พังอีก จะซักผ้ายังไม่ได้เลย เราก็อยากลองอะไรใหม่ ๆ บ้าง นอกจากจะเล่าว่าฉันและเธอรักกัน ต่าง ๆ ซึ่งแบบนั้นมันก็ไม่ได้ผิดครับ เราไม่ได้ตัดสิน แค่ตอนนั้นเราอยากเล่าในแบบ joke เท่านั้นเอง แรงบันดาลใจจริง ๆ บางทีก็มาจากหนังสือที่อ่าน จากความคิดเราที่มีต่อบางสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วอยู่กับมัน จนมันตกตะกอนในความคิด มาจากอารมณ์ความรู้สึกด้วย อย่างเช่นเพลง ‘หนีกรุง’ ก็จะพูดถึงการเดินทางออกไป การลาจากความวุ่นวาย ซึ่งการที่พูดถึงสถานที่ที่มันสวยงามแบบทุ่งหญ้า หรือว่า camping ที่แบบว่าธรรมชาติอย่างนี้ มันก็เป็นการเปรียบเปรย แต่ว่าจริง ๆ เราก็คือการเดินทางออกจากความทุกข์ใจด้วย ก็แล้วแต่คนจะตีความ แต่สำหรับผมมันให้ความรู้สึกอยากจะเดินทางอีกรอบ อย่างล่าสุดก็เริ่มลองเขียนจากการมองคนอื่นบ้าง แบบว่าเห็นชีวิตคนอื่น ๆ อย่างเช่นนั่งรถไฟกลับมาจากหัวหิน แถวนั้นก็จะมีคนไร้บ้านเยอะนะครับ เราลงมากับเพื่อน 2 คน ก็เห็นพี่คนหนึ่งกำลังนั่งกินมาม่าแบบอย่างหิวเลย จากซอง แบบไม่ได้ต้มด้วยนะ แล้วคือเราเพิ่งลงมา แล้วเรามีข้าวจากบนรถไฟที่เขาให้มาพอดี ผมกับเพื่อนก็เลยแบบ พี่ครับ อันนี้กินไหมครับ แกก็เหมือนแบบดีใจ คือข้าวนั้น คือแบบว่าต่อชีวิตให้แก แล้วแกดีใจ ผมก็เลยเกิดความรู้สึกว่า เออเนี่ยอยากเขียนเพลงให้พี่คนนี้ ที่ว่าทำไมบางคน ฟุ่มเฟือยมาก คือมันก็ไม่ได้ผิดนะ เขาสามารถทำได้ มันเป็นสิทธิ์ของเขา แต่ว่าบางคนแบบว่า โอ้โฮ! เขาเรียกว่าอะไร แบบกำลังสู้อยู่เลย กำลังลำบากอยู่เลย มันก็เห็นถึงความแตกต่างของชีวิตคน ของโชคชะตาหลาย ๆ อย่าง แล้วก็เลยคิดว่าอย่างน้อยอะไรที่แบ่งปันได้ก็แบ่งปัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น คือบางทีเห็นเรื่องจากคนอื่นด้วย ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้อย่างนี้ครับ   The People: งานอดิเรกที่ชอบนอกจากดนตรี คือการเดินทางด้วยไหม เจสซี่ เมฆ: ใช่ ผมชอบเดินทางนะครับ ถ้ามีเวลา ผมไม่ชอบไปเที่ยวแบบคนเยอะ ๆ หรือห้าง แต่ว่าชอบไปต่างจังหวัด ชอบไปเจอคนเจ๋ง ๆ ที่เป็น local hero เป็นคนที่อยู่ตรงนั้น จะเรียกว่าการเดินทางเป็นงานอดิเรกไหม เราก็ไม่ได้เดินทางตลอดนะ แต่ถามว่าชอบไหม ก็ชอบครับ อย่างเดินทางขึ้นเหนือไปอำเภอกัลยาณิวัฒนา ก็จะมีพี่คลี โพ ที่เป็นนักดนตรีอยู่ มีคุณพ่อเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ผมรู้สึกว่าเหมือนพอไปเจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ มันเติมพลังให้กันน่ะครับ แบบมันจริงใจดี   The People: แปลว่าคุณรู้จักคนที่เป็นคนนอกสังคมเมืองมากพอสมควร เจสซี่ เมฆ: ไม่รู้มันเรียกว่ามากไหม แต่ก็รู้จักบ้าง ถ้าเกิดอำเภอลึก ๆ หรือพวกที่สายเขาเดินทางไปที่ลึก ๆ จริง ๆ ผมก็อาจจะยังไปไม่ถึงตรงนั้นเหมือนกันครับ แต่ว่าก็อยากไป ขนาดเมืองไทยก็ยังไปไม่ครบเลยนะ มีอีกหลายที่เลย   The People: ที่มาของเพลงใหม่ ‘แค่เพลงบทหนึ่ง’ เจสซี่ เมฆ: ตอนแต่งไม่ได้คิดอะไรครับ เหมือนกำลังจะนั่งสมาธิพอดี เพิ่งเริ่มไปแป๊บเดียวเอง แล้วก็เหมือนอันนี้มันแวบเข้ามา แต่ปกติเราก็จะปล่อยผ่านใช่ไหม เวลาฝึกสมาธิก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้มันผ่านไป กลับมาที่ลมหายใจอะไรอย่างนี้ แต่อันนี้รู้สึกว่าขอลุกขึ้นมาเขียนก่อนแล้วกัน ก็เลยเลิก ขึ้นมาเขียนก่อน จด ๆ ไว้กันลืม ท่อน “บางเวลาคนเราต้องเสียใจ ไม่เป็นไรหากเธอต้องร้องไห้” แต่ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับที่ช่วงก่อนหน้านั้นด้วย แฟนผมก็เป็นคนที่ร้องไห้ง่ายคนหนึ่ง มีอะไรสะกิด หรือเราพูดอะไรผิดไปนิดหน่อย เขาก็ร้องไห้แล้ว  นึกถึงเพลงของ Bob Marley ด้วยครับ ที่มันง่าย แต่ว่ามันมีพลังมากเลย แบบท่อน “don’t worry, about a thing ’Cause every little thing, gonna be alright” บางทีที่เรารู้สึกแย่ ถ้อยคำพวกนี้มันส่งพลังให้เราได้ แล้วผมเคยดูสัมภาษณ์ของ Bob Marley เขาบอกว่า เขาต้องการเขียนเพลงที่มันง่าย จนแม้แต่เด็กฟัง เด็กก็สามารถเข้าใจได้ แต่ว่าในความง่ายมันก็มีพลังมาก ๆ ก็คงมาจากอันนี้ด้วยครับ บวกกับที่นึกถึงแฟนที่ร้องไห้บ่อย แล้วก็อีกหลาย ๆ คน อาจจะตัวผมเองด้วยมั้ง เหมือนเขียนปลอบตัวเองด้วยแหละในแง่หนึ่ง ในเวลาที่เราท้อแท้   The People: เล่าถึงการฝึกสมาธิของคุณสักหน่อย เจสซี่ เมฆ: ที่ผมไปมาคือเขาจะสอนเป็นอานาปานสติ แล้วก็มีวิปัสสนา คืออานาปานสติก็คือจะสอนแค่เรื่องกลับมาที่ลมหายใจ ให้สังเกตลมหายใจตามที่มันเป็นโดยไม่ต้องควบคุม สมมติลมมันออกรูซ้าย ก็อ๋อ โอเค รับรู้ว่ามันออกอันนี้ หรือว่าแบบเราหายใจแรง ก็แค่รับรู้ว่ามันหายใจแรง หรือหายใจเบา ซึ่งตอนแรกมันทำไม่ได้ มันยากมาก มันเหมือนม้าพยศครับ แบบโห! ไปละ ความคิดไปนู่นไปนี่ ก็คือเขาก็แค่ให้กลับมาที่ลมหายใจ ที่ผมไปคือของอาจารย์โกเอ็นก้า เขาจะสอนเกี่ยวกับสมาธิอย่างเดียว ไม่ได้เป็นศาสนาพุทธ ไม่มีการสวดมนต์ ไม่มีการอะไร คือสอนเกี่ยวกับธรรมชาติของความคิด แล้วก็การสังเกตตัวเอง ส่วนวิปัสสนาจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเป็นเหมือนการสังเกตทั่วร่างกาย แต่ว่าอันนั้นควรจะให้อาจารย์สอนดีกว่า  เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ The People: ทำไมถึงสนใจฝึกสมาธิ เจสซี่ เมฆ: ช่วงนั้นรู้สึกทุกข์กับชีวิตหลาย ๆ อย่าง ก็เริ่มจากลองเปิด YouTube ฟังท่านพุทธทาสก่อน รู้สึกว่าถูกจริตแบบว่าของท่านพุทธทาส อ่านหนังสือปรัชญาอะไรทั่วไป แล้วก็รู้สึกว่าช่วงนั้นเป็นทุกข์จังเลย แล้วพี่หลายคนที่เขาไปมา ก็เคยมาเล่าให้ฟังว่าเป็นการไป 10 วัน โดยที่ห้ามพูด ห้ามใช้โทรศัพท์ อยู่กับตัวเองอย่างเดียว คือจะมีคนไปด้วยแหละ หลาย ๆ คน แต่ต่างคนต่างทำสมาธิของตัวเองไป ผมก็ไม่ได้ฝึกวิปัสสนาสม่ำเสมอนะครับ เพราะว่ามันต้องใช้เวลาและระเบียบวินัยมาก ผมก็ไม่ได้มีระเบียบวินัยขนาดนั้น แต่ก็พยายามฝึกในขณะที่มีโอกาส แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ผมก็คิดว่าไม่ได้อยากไปยึดติดการที่ต้องนั่งสมาธิเกินไปอีก บางทีแค่เรามีสติเท่านี้ก็พอ ก็เลยแบบว่า บางทีเล่นกีตาร์มันก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง โดยที่เราก็ลืมความฟุ้งซ่านของเราไปได้เหมือนกัน สุดท้ายก็คือ อยากให้ศึกษาแล้วก็เป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคคลมากกว่า เหมือนผมไม่อยากบอกว่า กะเพราจานนี้มันอร่อยโดยที่คุณยังไม่ได้ชิมเอง   The People: ความสุขในขณะนี้คืออะไร เจสซี่ เมฆ: ความสุขตอนนี้ก็คือได้ตื่นมาทำในสิ่งที่เรารักครับ แล้วก็ยังได้เจอหน้าคนที่เรารักอยู่ เพื่อน ๆ ครอบครัว ยังมีแรงพอที่จะทำอะไรกระฉับกระเฉง ยังเล่นกีตาร์ได้อยู่ ยังมีความฝันอยู่   แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องการเรียนรู้ แล้วก็เหมือนค่อย ๆ เติบโตไปด้วยครับ อาจจะไม่ใช่ร่างกายอย่างเดียว แต่ว่าเป็นจิตใจด้วย เหมือนพอเราเจอชีวิตไปเรื่อย ๆ มันก็จะเป็นสิ่งที่เป็นครูเรา ทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้น ก็เติมพลัง แล้วก็ค่อย ๆ เติบโตไปในแบบของเรา ช่วงนี้ความสุขอีกอย่างหนึ่งก็คือการตื่นเช้าขึ้น เพราะว่าผมเป็นคนที่นอนตี 4 ตื่นสายมาหลายปีมาก แล้วก็ช่วงนี้คือกบฏตัวเองได้ ตื่นเช้า 9 โมงได้ แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว บางคนอาจจะ โห! กระจอก พี่ตื่น 7 โมงมาตลอด แต่สำหรับคนที่นอนตี 4 อย่างเราแล้วตื่นเที่ยงอย่างนี้ มันก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้ว ความสุขช่วงนี้ ปรับเวลาครับ ปรับกิจกรรมตัวเอง    The People: เมื่อกี้พูดถึงเรื่องความฝันด้วย อยากรู้ว่าความฝันที่คุณมีคืออะไร เจสซี่ เมฆ: หลายอย่างนะ ผมอยากเดินทางรอบโลก อยากไปหลายประเทศที่ยังไม่เคยไป อยากไป backpack ครับ อยากไปเล่นดนตรีในแบบที่อื่น ๆ บ้าง ที่ประเทศอื่น ๆ บ้าง ประเทศไทยด้วยก็ได้ ประเทศไทยก็ยังเล่น ยังไม่ค่อยมีงานเล่นเท่าไร อยากเล่นในประเทศไทยด้วย แล้วก็อยากลองพาดนตรีเดินทางไปญี่ปุ่น ไปที่ไหนก็ได้ที่มันจะไปได้ แล้วก็อาจจะมีที่เป็นที่พักที่ต่างจังหวัดเล็ก ๆ เป็นห้องอัด หรือว่ามีสวนมีอะไรอย่างนี้ครับ อาจจะขายกาแฟด้วย เพราะผมก็ชอบกาแฟ เป็นอีกอย่างที่อินกับมันเหมือนกัน   The People: เคยผ่าน life crisis อะไรบ้างไหม อยากให้ช่วยแชร์หน่อย เจสซี่ เมฆ: ถ้าเอาจริง ๆ แบบ crisis ในแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกันนะ ของผมที่มันเปลี่ยนชีวิตเลยน่าจะรอบแรกก็คือตอนที่พ่อแม่แยกกัน มันเป็น crisis สำหรับเด็ก 7 ขวบตอนนั้น เหมือนเราก็ตั้งตัวไม่ทัน แต่ว่าตอนนี้มองกลับไปมันก็เป็นบทเรียนให้เรา แล้วเหมือนเราก็เป็นครอบครัวอยู่ ถึงจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ยัง connect กันตลอด พี่สาว พ่อ แม่ แต่ว่านั่นก็ถือเป็น crisis หนึ่งที่กะทันหันเหมือนกัน ณ ช่วงเวลานั้นของชีวิต   The People:  เคยได้ยินจากหลายคนว่าดนตรีมีส่วนช่วยให้ผ่าน crisis ได้ สำหรับเจสซี่มีผลไหม เจสซี่ เมฆ: ของผมตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มเล่นกีตาร์เลย แต่ว่าดนตรีก็ช่วยให้ผมมีชีวิตได้ เพราะมันเป็นอย่างหนึ่งที่เราตื่นมาแล้วอยากทำ มันเป็นเหมือนพลังให้เรารู้ว่าเรายังมีสิ่งนี้อยู่ในชีวิตนะ ถ้าไม่อย่างนั้นคงไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไรแล้ว แล้วอันนี้ก็จะสามารถส่งพลังต่อให้คนอื่นได้อีก ก็ต้องขอบคุณกีตาร์จริง ๆ ครับ ขอบคุณดนตรีที่แบบว่า ทำให้เราแบบ คือถึงมันจะผ่านมานาน มันก็มีช่วงไปอยู่นิวซีแลนด์แล้วเหงาอยู่คนเดียว มันก็ยังมีกีตาร์ ยังมีดนตรีที่คอยเป็นเพื่อนเราตลอด ดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วอยากจะ เหมือนบางคนที่เกิดมาเพื่อจะทำบางสิ่ง ผมก็อยากจะทำอันนี้แหละครับ แบบว่าเล่นดนตรี ส่งต่อพลังงานให้คนอื่นต่อ มันคือชีวิตของผมแหละครับกีตาร์ เพราะว่านอกเหนือจากนี้ก็ไม่รู้ที่เราจะชอบอะไรแบบจริง ๆ จัง ๆ แล้ว   The People: ทำไมดนตรีถึงสามารถส่งพลังงานให้คนอื่นได้ เจสซี่ เมฆ: เพราะว่ามันเป็นคลื่นความถี่ด้วย นอกเหนือจากที่มันเป็นภาษาใช่ไหมครับ บางดนตรีอาจจะทำให้เรารู้สึกอยากเต้นจังเลย หรือบางเพลงก็แบบ จะหลับแล้วเนี่ย ส่วนเพลงที่มีเนื้อหาก็อาจจะเป็นเรื่องที่มันตรงกับจริตของคนคนนั้น แล้วเขาเอาไปคิดต่อหรือว่าให้กำลังเขาได้ หรือทำให้เขามีอารมณ์คิดถึงเหตุการณ์นั้นได้ หรือว่าหวนคิดถึงความสุขที่เขาเคยมีได้ หรือความทุกข์ที่เคยมี ผมว่ามันก็ทำได้หมด ให้มันเป็นพลังลบ มันก็อาจจะทำได้ด้วยซ้ำ บางทีคนส่งอาจจะไม่ได้ต้องการอย่างนี้ แต่คนรับเขารู้สึกอย่างนั้นได้ มันก็ไม่ได้ผิด มันถึงเป็นศิลปะไง ผมว่ามันไม่ได้ตายตัวว่าแบบ เฮ้ย! จะต้องเป็น 1 - 2 - 3 แต่ว่าคนฟังเพลงเดียวกันอาจจะรู้สึกแตกต่างกันก็ได้ในหนึ่งเพลง อะไรอย่างนี้ครับ แต่คิดว่าส่งพลังต่อให้ได้ เพราะว่าเอาแค่ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือตัวผมเองแล้วกันจะได้ใกล้ที่สุด ก็คืออย่างเพลง Bob Marley หรือเพลงคาราบาว หรือ John Lennon เขาก็มอบพลังให้ผมได้นะ ในบางเนื้อหา แบบโห...เขาคิดแบบนี้ ผมก็คิดเหมือนกันเลย เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้นี่หว่าที่เรารู้สึกอย่างนี้ สำหรับคนอื่นก็อาจจะเป็นแบบอื่น ๆ ไปได้ เจสซี่ - เมฆ เมฆวัฒนา: ความสุข ธรรมชาติ และเสียงดนตรี ของมือกีตาร์ที่มีทุกอย่างเป็นแรงบันดาลใจ The People: คุณอยากเป็นนักดนตรีแบบไหน เจสซี่ เมฆ: ผมอยากเป็นนักดนตรีที่ผมรู้สึก ที่เชื่อ ที่ผมอยากจะสื่อสาร แล้วก็อยากทำอัลบั้มให้เสร็จด้วยครับตอนนี้ เอาแบบใกล้ ๆ ก่อน แค่ปีนี้ก่อน อยากทำอัลบั้มให้เสร็จ แล้วก็ปีหน้าค่อยว่ากัน ถ้าเกิดเอาจริง ๆ พูดแบบจริง ๆ เราคิดไว้ เราก็อยากจะทำไปเรื่อย ๆ อยากเป็นนักดนตรีที่จริงใจต่อตัวเอง แล้วก็นักดนตรีที่มีคุณภาพครับผม เนี่ย แล้วก็คุณภาพมันคืออะไรอีก สุดท้ายคุณภาพบางคนอาจจะเป็น feeling ก็ได้ บางคนอาจจะต้องการความเนี้ยบก็ได้ สรุปนี่ผมกำลังงงกับตัวเองอยู่ใช่ไหมครับ ผมก็แค่อยากเล่นดนตรี แล้วก็ทำดนตรีนั่นแหละครับ   The People: คุณอยากเป็นนักดนตรีที่ส่งอะไรให้กับสังคมหรือคนฟังบ้าง เจสซี่ เมฆ: เราก็อยากจะพูดเรื่องของสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมด้วย ที่มันแบบว่าเป็นเรื่องจริง แล้วก็อาจจะบันทึกความรู้สึกเราที่มีมุมมองต่อสิ่งนั้นไว้ด้วย หรือบางอันที่เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ หรือรู้สึกว่ามันแบบไม่ แบบบางคนกำลังแบบอย่างที่ผมบอก เรื่องพี่ที่สถานีรถไฟครับ บางคนกำลังจะตายอยู่แล้ว ขณะที่บางคนแม่งรถ 10 คัน ซึ่งผมก็ไม่ได้ด่าใครนะ แต่ว่ามันก็ยังมีอะไรที่มันเป็นแบบนี้อยู่ แต่สุดท้ายผมเชื่อว่าโลกมันก็ไม่มีอะไรที่มันจะดีทั้งหมดหรือแย่ทั้งหมดได้หรอก มันต้องมีผสมกันแน่นอน แต่ก็คือพยายามจะดูในด้านที่มัน เฮ้ย! ยังไม่ดี อาจจะเติมพลังให้ตรงนั้นหน่อย ให้มันดีขึ้นหน่อย   The People: อัลบั้มเสร็จไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว เจสซี่ เมฆ: ตอนนี้ไปได้ 70 แล้วครับ อยู่ในช่วงกำลัง mix นี่ทำเป็นภาษาอังกฤษนะครับอัลบั้มนี้    The People: สปอยล์สักนิดได้ไหม เจสซี่ เมฆ: (ร้องเพลงและเล่นกีตาร์) “I, I don’t wanna be the happy man of the earth I just wanna play my song for you  I don’t wanna be the richest man in this world  If my heart ain’t got no love, If my heart ain’t got no love” ชื่อ Happy man of the earth ก็เป็น message ที่อยากจะส่งนั่นแหละว่า ผม “I don’t wanna be the happy man of the earth I just wanna play my song for you  I don’t wanna be the richest man in this world  If my heart ain’t got no love, If my heart ain’t got no love”   หมายถึงว่า ฉันไม่อยากจะเป็นคนที่รวยที่สุดหรอก ถ้าเกิดหัวใจฉันยังไม่มีความรักได้ หรือถึงจะอยู่บนภูเขาที่สูงที่สุด แต่ถ้าเกิดยืนอยู่คนเดียวมันก็จะมีค่าอะไร อะไรอย่างนี้ครับ ประมาณนี้ ก็คือส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องชีวิต แต่เป็นเรื่องความรู้สึกข้างในมากกว่า ที่เหมือนให้คุณค่ากับไม่ใช่วัตถุมากเกินไป ที่มันเป็นเรื่องทางใจ หรือเรื่องที่มันบางทีอาจจะแบบคนลืมมองคุณค่าไป เพราะยุคนี้มันก็ดำเนินด้วยวัตถุ ด้วยเงินเยอะ ก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะเราก็ยังอยู่ในระบบมัน   The People: หลาย ๆ เพลงที่ทำออกมาจะมีกลิ่นอายเพลง folk มีเหตุผลตรงนี้ไหม เจสซี่ เมฆ: ชอบ ก็ชอบ Neil Young ด้วยครับ แล้วก็ชอบ Bob Dylan จริง ๆ ตอนแรกผมชอบ Rock and roll นะ คืออยากทำ feel แบบ Rolling Stones แต่เหมือนพอเรามาทำคนเดียว แล้วมันร้องคนเดียว กีตาร์โปร่งตอนที่เขียน มันก็เลยแบบว่าคงไปในทางนี้ แต่ว่าต่อไปก็จะไม่ได้หยุดแค่ที่ folk แล้วครับ ก็จะมีอะไรที่เราเคยอยากทำตอนนั้นแล้วเรายังไม่ได้ทำ พวก Rock and roll พวกอะไรก็จะมีเพิ่มเข้ามาอยู่ครับ จริง ๆ ผมชอบเป็นช่วงเวลานะ ชอบยุคพวก 60s 70s  มันเป็นเหมือนนอกจากดนตรี มันเป็นวัฒนธรรมของช่วงเวลานั้นด้วย folk ก็จะมีความ Rock and roll อยู่ใน folk หรือแบบมี sound อะไรที่มันเพิ่มเติมเข้ามา มีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าใส่เข้ามาหน่อย นอกเหนือจากกีตาร์โปร่ง ชอบ เพราะมันได้ทดลองได้ค้นหาอะไรเพิ่มเติม แล้วก็เหมือนได้ลองไปทำในรูปแบบวงที่เราเคยชื่นชอบ เราไม่ได้ไปก๊อบเขาโดยตรง แต่เราเหมือนเอา feeling ที่เรารู้สึกมาแบบทำอย่างนั้นครับ มีอีกหลายประตูเลย หลายอย่างเลยที่ยังอยากทำเกี่ยวกับดนตรี ดนตรีผมว่าอาจจะไม่ต้องมีเนื้อร้องก็ได้ อย่างบางทีเพลงที่มันเป็นเพลงบำบัด ที่เป็นเสียงอย่างนี้มันก็ดีนะ เออ...แบบว่าถ้ามันมีมาผสมกับเสียงกีตาร์บ้างล่ะ หรืออะไรอย่างนี้ครับ ก็ต้องค้น ทดลองทำต่อไปเรื่อย ๆ ก่อน ตอนนี้เอาอัลบั้มแรกให้เสร็จก่อนครับ   The People: ฝากผลงาน เจสซี่ เมฆ: ก็ฝากเพลง ‘แค่เพลงบทหนึ่ง’ ด้วยนะครับ แล้วก็เพลงเก่า ๆ ที่ปล่อยมาแล้วก็สามารถไปย้อนฟังได้ใน YouTube ของ Me Records แล้วก็ CRAZYMOON ส่วนถ้าอยากติดตามเพลงอื่น ๆ เพลงภาษาอังกฤษที่ทำนอกเหนือจากในค่ายก็จะมีใน YouTube ของผม ก็คือ JESSE MEKWATTANA ฝากติดตามกด subscribe กันด้วยนะครับ จะได้มีคนฟัง เห็นเยอะ ๆ อย่างน้อยก็ช่วยแชร์ด้วยครับผม ขอบคุณครับ เพราะว่าอัลบั้มก็จะเสร็จแล้ว จะได้มีคนเห็นเยอะ ๆ ครับ