จิมมี ชู สร้างแบรนด์รองเท้าหรู จากเงินเกษียณอายุของแม่

จิมมี ชู สร้างแบรนด์รองเท้าหรู จากเงินเกษียณอายุของแม่

สร้างแบรนด์รองเท้าหรู จากเงินเกษียณอายุของแม่

"ผมเห็นดีไซเนอร์จำนวนมากล้มเลิกความพยายามกลางคัน แต่ผมมีความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวมากพอที่จะทำให้สำเร็จ แรงกระตุ้นและแรงผลักดันทั้งหลายเกิดขึ้นก็เพราะความตั้งใจของผมที่จะไม่ทำให้แม่ผิดหวังเป็นอันขาด เพราะแม่เชื่อมั่นในตัวผม และวางเดิมพันกับผมด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่แม่มีในชีวิต” จิมมี ชู (Jimmy Choo) คือหนึ่งในแบรนด์รองเท้าไฮเอนด์ขวัญใจสาวๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอย่าง เจ้าหญิงไดอานาผู้ล่วงลับ, แคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ นักแสดงระดับเอ-ลิสต์ ของฮอลลีวูด ทั้ง จูเลีย โรเบิร์ตส, เรเน่ เซลเวเกอร์,ฮิลลารี สแวงก์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นแฟนเหนียวแน่นของแบรนด์นี้กันทั้งนั้น แต่กว่า จิมมี ชู ที่นำชื่อตัวเองมาเป็นชื่อแบรนด์ จะปลุกปั้นรองเท้าสัญชาติอังกฤษให้ดังเปรี้ยงปร้างขนาดนี้ เขาต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากมาก่อน และต้องนำเงินเกษียณอายุทั้งหมดของแม่มาลงทุนสร้างธุรกิจรองเท้า ที่แม้แต่ในวันนั้นเขาก็ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย... แต่อย่างเดียวที่รู้ คือเขาจะยอมแพ้ไม่ได้เท่านั้น!   นักออกแบบรองเท้ารุ่นเยาว์ ชูไม่ใช่ชาวอังกฤษแต่กำเนิด แต่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เกิดที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ.1948 ในครอบครัวที่พ่อคือ ชู คี ยิน (Choo Kee Yin) เป็นนักออกแบบและทำรองเท้า ส่วนแม่คือคนที่คอยช่วยเหลือพ่อและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน แม้ครอบครัวจะไม่ร่ำรวย แต่เด็กชายชูก็มีความสุข ทุกวันหลังเลิกเรียน ชูจะใช้เวลาขลุกอยู่ในห้องทำงานของพ่อ เพื่อดูพ่อออกแบบและทำรองเท้าคู่แล้วคู่เล่าด้วยมืออย่างประณีต ทั้งรองเท้าผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก และนั่นทำให้ชูค่อยๆ ตกหลุมรักการทำรองเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งชูอายุ 11 ขวบ ก็มีโอกาสทำรองเท้าคู่แรกในชีวิตเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้แม่ เขาย้อนความทรงจำสมัยนั้นว่า “ผมทำสลิปเปอร์ (รองเท้าสวม) ทำด้วยหนังให้แม่ เพราะทำง่ายกว่ารองเท้าแบบอื่น ผมออกแบบเองและใช้เวลาทำอยู่ 8 ชั่วโมง แต่ผมไม่ได้เก็บรองเท้าคู่นั้นไว้ เพราะถูกฝังไปกับแม่เมื่อแม่เสียชีวิต” ชูใช้เวลาช่วงวัยรุ่นฝึกปรือทักษะ พออายุ 15-16 ปี เขาก็กลายเป็นนักออกแบบและทำรองเท้าที่มีฝีมือพอตัวคนหนึ่งในปีนัง แม้จะมีพี่สาวอีกคน แต่ชูก็เป็นลูกคนเดียวที่สืบทอดศิลปะการทำรองเท้าจากพ่อ จากนั้นเมื่ออายุ 21 ปี เขาต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปที่อังกฤษ เข้าเรียนที่ Cordwainers Technical College  (ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของ London College of Fashion) และจบด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ซึ่งระหว่างเรียนอยู่นั้นเขาก็หาเงินเลี้ยงตัวเองด้วยการทำงานในร้านอาหาร เขาทำทุกอย่างรวมถึงทำความสะอาดพื้นและล้างห้องน้ำ ความที่ยังไม่อยากกลับมาเลเซีย ชูจึงสมัครเข้าทำงานในบริษัทออกแบบรองเท้าแห่งหนึ่ง อยู่ที่นั่น 8 ปี ก่อนย้ายไปทำงานอีกบริษัท แต่ทำได้สักพักก็วาบความคิดอยากออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง   ก่อร่างสร้างฝันที่อังกฤษ แม้จะอยู่ไกลคนละซีกโลก แต่เมื่อพ่อแม่ของชูรู้ว่าลูกชายอยากสร้างธุรกิจ พวกเขาก็เดินทางมาที่อังกฤษและอยู่ยาวถึง 2 ปี เพื่อช่วยชูทำความฝันให้เป็นจริง ซึ่งเงินก้อนแรกที่ชูเอามาลงทุนคือเงินกองทุนเกษียณอายุของแม่ จำนวน 6,000 ปอนด์ (ราว 7,930 เหรียญสหรัฐ) “ผมเติบโตมาท่ามกลางผู้หญิง และผมเคารพพวกเธอเสมอ ตอนเด็กผมใกล้ชิดกับแม่มากๆ ผมนอนหลับโดยมีแม่กุมมือผม ผมยกย่องชื่นชมแม่และแม่ก็รักผมเช่นกัน” ชูบอก สามคนพ่อแม่ลูกช่วยกันทำธุรกิจออกแบบและทำรองเท้าผู้หญิงอย่างแข็งขัน เวลาแต่ละวันหมดไปกับการทำรองเท้า บรรจุรองเท้าใส่กล่อง โปรโมทรองเท้า และขาย จวบจนปี 1986 ชูก็ตัดสินใจขยายธุรกิจ แล้วก็ได้พบกับอาคารโรงพยาบาลเก่าในย่านอีสต์ เอนด์ ของลอนดอน ซึ่งกลายมาเป็นร้านรับตัดรองเท้าของเขา จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในปี 1988 เมื่อชูทำโชว์ใน “ลอนดอน แฟชัน วีก” และไปเตะตานิตยสารโว้กเข้าอย่างจัง จนโว้กถึงกับนำเสนอรองเท้าของเขาด้วยพื้นที่ 8 หน้าเต็ม ความทรงอิทธิพลในโลกแฟชันของโว้ก ส่งผลให้รองเท้าที่ชูรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ต่างจากก่อนหน้าที่ลูกค้าหลายรายไม่สนใจเพราะยังไม่ใช่รองเท้าที่มีชื่อเสียง แต่ตอนนี้หญิงสาวในแวดวงชั้นสูงและเซเลบริตี้ทั้งหลายต่างต้องการจะเป็นเจ้าของอย่างน้อยสักคู่หรือมากกว่า แต่ชูก็ยังคงรักษามาตรฐานการทำรองเท้าด้วยมือไว้อย่างเคร่งครัด และผลิตเพียง 20 คู่ต่อสัปดาห์เท่านั้น “ผมเห็นดีไซเนอร์จำนวนมากล้มเลิกความพยายามกลางคัน แต่ผมมีความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวมากพอที่จะทำให้สำเร็จ แรงกระตุ้นและแรงผลักดันทั้งหลายเกิดขึ้นก็เพราะความตั้งใจของผมที่จะไม่ทำให้แม่ผิดหวังเป็นอันขาด เพราะแม่เชื่อมั่นในตัวผม และวางเดิมพันกับผมด้วยเงินเก็บทั้งหมดที่แม่มีในชีวิต ซึ่งในที่สุดผมก็ใช้เวลาไม่นานนักในการคืนเงินให้แม่พร้อมกับกำไรอีกจำนวนหนึ่ง” ชูเล่า   รองเท้าขวัญใจสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ หนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของชูคือ เจ้าหญิงไดอานา ที่ทรงโปรดการสวมใส่รองเท้าจิมมี ชู ในหลายโอกาส ชูได้รับการแนะนำให้รู้จักเจ้าหญิงไดอานาผ่านคนในแวดวงแฟชัน ซึ่งเขาเชื่อว่าพระองค์ทรงเห็นผลงานของเขาในโว้กมาแล้ว “ครอบครัวของผมรู้ว่าผมทำรองเท้าให้เจ้าหญิงไดอานา แต่เมื่อผมบอกพวกเขาว่าผมต้องไปที่พระราชวังเคนซิงตันเพื่อนำรองเท้าไปถวายพระองค์ แม่ไม่เชื่อผมและบอกว่า ‘ลูกล้อเล่นหรือเปล่า ลูกเป็นคนจีนผิวเหลืองและพระองค์เป็นถึงเจ้าหญิงเชียวนะ ทำไมพระองค์ถึงไม่อยากพบดีไซเนอร์จากคริสเตียน ดิออร์ หรือโคโค ชาแนล ล่ะ?” นักออกแบบรองเท้าชื่อดังก้องโลกให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อแม่ของชูรู้ว่าเป็นเรื่องจริง ก็บอกให้เขาใช้เงินเท่าที่มีไปซื้อสูทที่ดีที่สุดในโลกสำหรับสวมใส่ไปเข้าเฝ้า เขาทำตามที่แม่บอก และซื้อแม้กระทั่งกางเกงในกับถุงเท้า “ทุกอย่างใหม่หมดตั้งแต่หัวจรดเท้า และครอบครัวของผมก็ภูมิใจมาก”   บริษัท "จิมมี ชู" การขยับตัวครั้งใหญ่ของชูเกิดขึ้นอีกครั้งในทศวรรษที่ 1990 เมื่อ ทามารา เมลลอน (Tamara Mellon) บรรณาธิการด้านเครื่องประดับตกแต่งของนิตยสารโว้ก อังกฤษ ซึ่งให้ชูช่วยทำรองเท้าสำหรับถ่ายแฟชันอยู่เรื่อยๆ ต้องการร่วมธุรกิจกับชู ทั้งคู่จึงตกลงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ Jimmy Choo Ltd. เพื่อผลิตรองเท้าพร้อมใส่แบบไม่ใช่ทำทีละคู่เหมือนที่ผ่านมา ชูและเมลลอนช่วยกันสร้างธุรกิจให้เติบโต โฟกัสที่กลุ่มรองเท้าไฮเอนด์ เน้นความเรียบหรูดูดีที่มาพร้อมคุณภาพชั้นเยี่ยม และเปิดบูทีคแห่งแรกที่ลอนดอนในปี 1997 จากนั้นปี 1998 จิมมี ชู สาขาแรกในสหรัฐอเมริกาก็เปิดตัวที่นิวยอร์ก มีราคาเริ่มต้นคู่ละ 300 เหรียญสหรัฐ แต่แล้วอีกไม่กี่ปีก็ดูเหมือนว่าชูและเมลลอนเห็นไม่ตรงกันเรื่องทิศทางบริษัท นำสู่ปี 2001 ซึ่งชูชายหุ้นในสัดส่วน 50% ที่ตนเองถือครองใน Jimmy Choo Ltd. ให้กับ Equinox Holdings ในราคา 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมลลอนและ ซานดรา ชอย (Sandra Choi) ซึ่งเป็นหลานสาวของชูยังคงถือครองหุ้นในส่วนแต่ละคนอยู่ “ผมไม่รู้สึกเศร้าเลย” ชูบอก “ผมไม่ได้เรียนกฎหมาย ผมไมได้เรียนบัญชี ผมเรียนการออกแบบรองเท้าและนั่นคือสิ่งที่อยู่ในใจผม ผมไม่เข้าใจธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะขายธุรกิจ คุณก็แค่ขายมันไป” “การขายธุรกิจมีข้อดีอยู่สองอย่าง มันทำให้ผมได้ใช้เวลากับลูกๆ มากขึ้น ก่อนหน้านั้นผมใช้เวลาอยู่แต่ที่ทำงาน ผมไม่เคยได้เจอพวกเขาเลย ผมไม่ได้พาพวกเขาไปเที่ยววันหยุด ใช่, คุณสามารถจ่ายค่าเทอมให้ลูกๆ ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความรัก พวกเขาต้องการรู้ว่าพวกเขามีพ่อ” แบรนด์จิมมี ชู หลังจากไม่มีชูที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการแตกไลน์สินค้าอย่างกระเป๋าถือ แว่นตา ฯลฯ และการขยายสาขาไปหลายประเทศ รวมทั้งมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเป็นระยะ ปี 2004 ขายต่อให้ Lion Capital ในราคา 101 ล้านปอนด์ ซึ่งเมลลอนยังคงถือหุ้นส่วนน้อย พอปี 2007 มีการขายส่วนแบ่ง 60% ในแบรนด์ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ TowerBrook Capital ในราคา 185 ล้านปอนด์ ต่อด้วยปี 2011 ที่ขายต่อให้บริษัทผลิตสินค้าหรูสายเลือดเยอรมันอย่าง Labelux ในราคา 850 ล้านเหรียญ และเมลลอนก็ลาออกจากบริษัทไปในเดือนพฤศจิกายน กระทั่งปี 2017 Michael Kors Holdings (ที่มีแบรนด์ Michael Kors) ก็ซื้อแบรนด์ไปในราคา 1,200 ล้านเหรียญ โดยชอยผู้เป็นหลานสาวของชูยังคงทำงานกับบริษัทต่อไป หลังจากขายหุ้นใน Jimmy Choo Ltd. ชูก็ก่อตั้งร้านรองเท้าของตนขึ้นใหม่ในชื่อแบรนด์ Zhou Yang Jie (มาจากชื่อจีนของเขา) ซึ่งยังคงคอนเซปต์รองเท้าหรู ตัดเย็บอย่างประณีตขั้นสุด คุณภาพชั้นเยี่ยม ในราคา 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐต่อคู่ “รองเท้าต้องใช้วัสดุคุณภาพดี ต้องพิถีพิถัน จริงใจ และระมัดระวังอย่างสูงในการตัดเย็บรองเท้า การออกแบบก็เป็นเรื่องสำคัญมาก คุณภาพก็สำคัญมากเช่นกัน ไม่อย่างนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาอีก” ชูเล่าจากประสบการณ์ “ผมคิดว่าความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ท้ายสุดพวกเขา (ลูกค้า) จะกลับมา และบอกคนอื่นๆ ว่ารองเท้าเหล่านี้แหละที่สวยและสวมใส่สบายที่สุด”   ที่มา https://www.scmp.com/news/hong-kong/community/article/2153979/jimmy-choo-how-boy-penang-malaysia-became-shoemaker-choice https://www.forbes.com/sites/msolomon/2017/08/15/luxury-lineage-a-brief-history-of-jimmy-choo/#5fd4c7d33a2e https://www.biography.com/people/jimmy-choo-20692491 https://www.thefamouspeople.com/profiles/jimmy-choo-5616.php https://www.vogue.com.au/fashion/accessories/professor-jimmy-choo-on-your-big-mistake-when-buying-shoes-and-his-new-line/news-story/b31cc397c52bea9f2fc4fdb8a47f8c45 http://www.asiaone.com/business/his-shoes-secret-jimmy-choos-success https://www.lifestyleasia.com/living/people/datuk-jimmy-choo-importance-nice/