โจ มาโลน: กลิ่นชีวิตผู้กำเนิดแบรนด์ Jo Malone London ที่ถูกขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’

โจ มาโลน: กลิ่นชีวิตผู้กำเนิดแบรนด์ Jo Malone London ที่ถูกขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’
17 ตุลาคม 1994 กรรไกรตัดริบบิ้น สัญญาณแห่งการเปิดร้านใหม่... กลิ่นหอมจากดอกไม้แห้ง ส้ม และอบเชยล่องลอยผ่านสายลมบนถนนวอลตัน (Walton Street) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คล้ายจะเป็นเหมือนใบปลิวแจ้งข่าวแก่ผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่ากำลังจะมีร้านเครื่องหอมเปิดตัวเป็นสมาชิกหน้าใหม่บนถนนเส้นนี้ แกรี วิลคอกซ์ (Gary Willcox) ชายหนุ่มร่างสูงโปร่งผู้เป็นสามีของเจ้าของร้านบรรจงนำริบบิ้นสีดำเนื้อแพรต่วนผูกโยงกั้นเสาทั้งสองของประตูหน้าร้าน พร้อมยื่นกรรไกรให้กับภรรยาผมบลอนด์คนงาม สตรีผู้อยู่เบื้องหลังความคิด จิตใจ ผู้คิดค้นสูตรของทุกเครื่องหอม และเครื่องประทินผิวกายทุกชิ้นในร้านแห่งนี้ เธอคือ...โจ มาโลน (Jo Malone) และชื่อของเธอก็คือชื่อร้าน ‘โจ มาโลน ลอนดอน’ (Jo Malone London - ซึ่งต่อมาไม่ว่าร้านของเธอจะถูกเปิดที่มุมใดของโลก ร้านของเธอก็ยังคงชื่อ โจ มาโลน ลอนดอน อยู่ดี) โจ มาโลน: กลิ่นชีวิตผู้กำเนิดแบรนด์ Jo Malone London ที่ถูกขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’ หากพูดถึงโจ มาโลน เราอาจคิดถึงน้ำหอมกลิ่นลูกแพร์อังกฤษและดอกฟรีเซียสีขาว หรืออาจจะเป็นเทียนหอมกลิ่นทับทิม ราสป์เบอร์รี และลูกพลัม ทุกวันนี้คุณสามารถหาซื้อเทียนหอมแต่งบ้าน หรือโลชั่นหอมประทินผิวกายได้ที่ร้านของโจ มาโลน ลอนดอน ใน 69 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน, นิวยอร์ก, เซี่ยงไฮ้, มอสโก, โตเกียว เราจะเห็นร้านเครื่องหอมโทนสีครีมตัดดำ ภายในร้านตกแต่งด้วยความเรียบง่าย สะอาด สบายตาอยู่  ทุกวันนี้โจ มาโลน ลอนดอน ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องหอมแถวหน้าที่อยู่ในความสนใจของเหล่าบิวตี้กูรู และผู้คลั่งไคล้เสน่ห์ของเครื่องหอมทั่วโลก โจ มาโลน ลอนดอน อาจจะเริ่มเป็นที่รู้จักดีในหมู่ชาวอังกฤษจากผลิตภัณฑ์อาบน้ำ Bath Oil แต่ในปัจจุบันถ้าคุณชอบน้ำหอม หนึ่งในไอเทมยอดนิยมที่หลายคนมีติดบ้านคือ กลิ่น English Pear & Freesia, Wood Sage & Sea Salt หรือน้ำหอมกลิ่นลายเซ็นของแบรนด์อย่าง Lime, Basil & Mandarin ของแบรนด์นี้ จนเจสสิก้า ไดเนอร์ (Jessica Diner) ผู้อำนวยการด้านความงามของนิตยสาร British Vogue เรียกน้ำหอมของโจ มาโลน ลอนดอนว่า “น้ำหอมของโจ มาโลน ลอนดอน = ความสุขในขวดแก้ว” แต่ก่อนที่แบรนด์ โจ มาโลน ลอนดอน จะมาไกลมากในวันนี้ ขอให้ภาพยนตร์ชีวิตของเธอย้อนกลับไปวันเปิดร้าน วันที่ 17 ตุลาคม 1994 อีกรอบ อันเป็นจุดเริ่มต้นหลักไมล์ความสำเร็จของเธอ กับ ‘โจ มาโลน ลอนดอน’ ร้านขายเครื่องหอมและเครื่องประทินผิว สาขาแรกของโจ มาโลน โจ ตัดริบบิ้นดำหน้าร้าน ที่ติดป้ายว่า ‘โจ มาโลน ลอนดอน’ (Jo Malone London) ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของแกรี ลูกจ้างสองคนแรกของร้าน ที่บังเอิญชื่ออะแมนด้าเหมือนกันทั้งสองคน ในเหตุการณ์ดังกล่าว ยังมีเพื่อนสนิทและลูกค้าที่ส่วนใหญ่พัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นเพื่อนของโจ และที่จะขาดไปไม่ได้ แขกคนสำคัญอีกคนที่ช่วยให้การเปิดตัวของร้านเครื่องหอมเล็ก ๆ ขนาด 300 ตารางฟุตร้านนี้เป็นที่รู้จักทั่วกรุงลอนดอน - เดบอราห์ เบ็นเน็ตต์ (Deborah Bennett) ผู้เป็นทั้งเพื่อนที่รักและลูกค้าของโจ เดบอราห์ทำหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยคู่รักสองสามี ภรรยา ในการประชาสัมพันธ์การเปิดร้านเครื่องหอมร้านนี้ จนมีสื่อหลายสำนักให้ความสนใจตีพิมพ์ข่าวการเปิดตัวร้านโจ มาโลน ลอนดอน และหนึ่งในนั้นคือนิตยสาร Tatler (นิตยสารแฟชั่น ไลฟ์สไตล์และสังคมในเครือสำนักพิมพ์เดียวกับ Vogue และ Vanity Fair) ขนานนามร้าน โจ มาโลน ลอนดอน ว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’ มีเรื่องราววุ่น ๆ ที่โจเก็บเอาไปเล่าขานได้ไม่รู้จบกับวันเปิดตัวร้านวันแรกของเธอ เริ่มจากการที่หนังสือพิมพ์ Financial Times ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 1994 ช่วยเขียนโปรโมตข่าวการเปิดร้านของเธอ แต่เกิดเหตุขัดข้องบางอย่างทำให้พิมพ์วันที่เปิดร้านผิด จากกำหนดการเดิมที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเปิดร้านในวันที่ 19 ตุลาคม 1994 แต่ Financial Times พิมพ์ผิดเป็นวันที่ 17 ตุลาคม 1994 ด้วยความที่โจเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ ถ้ามีสื่อประกาศออกไปแล้วว่าร้านจะเปิดวันที่ 17 โจก็ตั้งใจว่าเธอต้องเปิดวันที่ 17 ให้ได้ นั่นหมายความว่า โจและแกรีมีเวลาเพียงแค่ 2 วันเพื่อเตรียมการเปิดร้านอย่างเป็นทางการ โจเรียก 2 วันก่อนเปิดร้านว่าเป็น ‘48 ชั่วโมงแห่งความบ้าคลั่ง’ เธอโทรฯ หาเพื่อนที่เธอรู้จักทุกคนเพื่อขอความช่วยเหลือให้มาช่วยเตรียมงานในการเปิดร้าน ตั้งแต่ช่วยขนของ ช่วยทาสี ช่วยเอาไดร์เป่าผมเป่าอังกับกำแพงเพื่อเร่งให้สีแห้งให้ทันเวลา และแล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทางเสร็จสิ้นสวยงามลงตัวด้วยดีในเวลาตี 3 ของวันที่ 17 ตุลาคม 1994 ถึงตอนนี้ โจ แกรี และสองอะแมนด้าผู้สวมสูทสีน้ำเงินกรมท่าจากแบรนด์ Armani กำลังตระเตรียมตัวให้พร้อมกับเวลาเปิดร้านตอน 10 โมง จนกระทั่งเมื่อเวลา 09.15 น. สตรีผู้หนึ่งผู้ดูเหมือนกับว่าเธอจะไม่สามารถรอให้เข็มนาฬิกาเดินไปจนถึง 10 โมงได้ เดินมาเคาะประตูที่หน้าร้านเพื่อซื้อ Bath Oil ด้วยความเป็นคนเกลียดการปฏิเสธลูกค้า โจจึงเปิดประตูรับสตรีผู้เป็นลูกค้าคนแรกของร้านโจ มาโลน ลอนดอน นอกจากจะเป็นลูกค้าคนแรกของร้านแล้ว ถ้าหากคุณเชื่อในพระเจ้าเหมือนกับที่โจเชื่อในตัวของพระองค์ สตรีผู้นั้นก็คงจะเป็นเหมือนกับคนส่งสารมาบอกโจว่ายังมีบางอย่างที่คนรักความสมบูรณ์แบบอย่างโจพลาดไป ณ วินาทีที่โจเอื้อมมือไปหยิบขวด Bath Oil เพื่อใส่ลงในตะกร้าให้กับลูกค้าคนนั้น ทันใดนั้น เสียงของโจก็ดังขึ้นลั่นร้าน “ขวด...แกรี...ขวดมันติด!” ปรากฏว่าสีที่ทาไว้บนชั้นวางของยังไม่แห้ง ทำให้ขวดทุกใบในร้านโจ มาโลน ลอนดอนติดหนึบอยู่กับชั้นวางของ กลายเป็นว่าลูกค้าคนแรกคนนั้นเป็นเสมือนกับนางฟ้ามาแจ้งเตือนโจกับแกรีว่า ภารกิจการเตรียมร้านของพวกเขายังไม่เสร็จสิ้น เขายังต้องใช้เวลา 45 นาทีที่เหลือในการเตรียมร้าน โจ แกรี และสองอะแมนด้าใช้เวลา 45 นาทีที่เหลือไปกับการใช้มีดขูดแซะให้ก้นขวดทุกใบหลุดออกจากชั้นวางของ เพื่อให้ทันเวลาเปิดร้าน แน่นอนว่าการใช้มีดแซะเอาขวดแต่ละใบออกจะทำให้ชั้นวางของของร้านมีรอยมีด ซึ่งคงเป็นที่ขวางหูขวางตาของโจ แต่ทำอย่างไรได้เมื่อเข็มนาฬิกาเหมือนว่าจะเดินเร็วขึ้นทุกที   เวลา 09.55 น. ขวดทุกใบก็หลุดออกจากชั้นวางของอย่างหวุดหวิด และร้านโจ มาโลน ลอนดอนก็เปิดรับผู้คนนับตั้งแต่นั้นมา...นี่คือหน้าแรกของตำนาน ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’ โจ มาโลน: กลิ่นชีวิตผู้กำเนิดแบรนด์ Jo Malone London ที่ถูกขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’ ชีวิตของผู้ให้กำเนิด ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล ถ้ากลิ่นหวานอมเปรี้ยวแซมด้วยความฉุนน้อย ๆ ปลายจมูก อย่างกลิ่นมะนาว ใบกะเพรา และส้มแมนดาริน (Lime, Basil, and Mandarin) เป็นน้ำหอมกลิ่นลายเซ็นประจำยี่ห้อ โจ มาโลน ก็คงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ชีวิตจริงของโจ มาโลน ก็ทั้งหวานขมอมเปรี้ยวไม่ต่างกับน้ำหอมกลิ่นแรกของเธอสักเท่าใดนัก จากเรื่องราวความวุ่นวายของวันเปิดร้านโจ มาโลน ลอนดอนที่คิดว่าเต็มไปด้วยสีสันแล้ว ชีวิตของโจ มาโลนนั้นก็มีสีสันไม่ต่างกันเลย ถ้าจะนิยามชีวิตของโจ มาโลน จะต้องใช้คำว่าเธอคือสตรีนักสู้ ผู้ไม่ยอมลดราวาศอกให้กับทุกโชคชะตาที่พัดพาเข้ามาในชีวิตของเธอ เธอเกิดที่  Bexleyheath เมืองที่อยู่ใน Kent County ประเทศอังกฤษ ในปี 1963 ในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่มีชีวิตการแต่งงานที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่คุณพ่อของเธอไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งและติดพนัน โดยเฉพาะการเล่นโป๊กเกอร์ จนทำให้ชีวิตสมรสต้องสั่นคลอน โจเล่าเอาไว้ในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวของเธอ Jo Malone My Story ว่า บางวันเธอเห็นคุณพ่อกำเงินเป็นจำนวนหลายร้อยปอนด์มาให้คุณแม่ แต่บางวันเธอกลับมาจากโรงเรียนแล้วพบว่าคุณพ่อเธอกลับบ้านโดยอาศัยรถเพื่อน (เพราะเสียรถไปกับการเล่นโป๊กเกอร์) บางครั้งดูเหมือนว่าที่บ้านจะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ทำให้บางฤดูหนาว ครอบครัวของโจไม่มีฮีตเตอร์ใช้ พวกเขาจึงต้องอาศัยความอบอุ่นจากเตาอบและเตาผิงไฟแทน ในวันเกิดครบรอบ 5 ขวบของโจ เธอได้รับของขวัญเป็นการ์ดวันเกิดและเงินเหรียญจำนวนหนึ่งจากคุณอา และนั่นเป็นเงินเหรียญแรกในชีวิตของโจที่เป็นของตัวเธอเอง เธอจึงตั้งใจเก็บมันไว้เป็นอย่างดีในกระเป๋าสตางค์ของเธอ แต่แล้วในบ่ายวันนั้นเมื่อเดินไปถึงร้านขายของชำเพื่อซื้อของใช้จำเป็นเข้าบ้าน คุณแม่ของเธอได้เอ่ยถามลูกสาวว่า “โจแอน แม่ขอยืมเงินของลูกหน่อยได้ไหม? แล้วเดี๋ยวแม่จะคืนให้” แน่นอนว่าโจไม่เคยได้เงินส่วนนั้นคืน และนั่นไม่ใช่เงินวันเกิดครั้งสุดท้ายที่เธอถูกยืมจากคุณพ่อคุณแม่ ด้วยความสั่นคลอนของชีวิตครอบครัว และความไม่แน่นอนในการหาเงินเข้าบ้านของคุณพ่อ ทำให้คนที่ทำหน้าที่หลักในเรื่องหาเงินตกเป็นของคุณแม่ โจพูดถึงคุณแม่เอาไว้เสมอว่าเป็นคนมีสไตล์และรสนิยมในการเลือกเครื่องแต่งกายเสมอ คุณแม่ของโจทำงานเป็นผู้ดูแลความงามในร้านเสริมความงามของมาดาม Lubatti อดีตภริยาของท่านเคานต์เชื้อสายอิตาลี ผู้ซึ่งต่อมาเป็นเสมือนครูแห่งเส้นทางสายความงามคนแรกของโจ และที่สถานเสริมความงามแห่งนี้เอง ก็เป็นเสมือนโรงเรียนสอนวิชาความงามแห่งแรกให้กับเด็กหญิงโจแอน มาโลน (Joanne Malone - ชื่อเต็มของโจ มาโลน) ปี 1971 เด็กหญิงโจตัวน้อยอายุได้ 8 ขวบ เริ่มติดตามคุณแม่ไปทำงานที่ซาลอนเสริมความงามของ มาดาม Lubatti ซาลอนอาคาร 4 ชั้นสไตล์วิกตอเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเบเกอร์ ประกอบไปด้วยห้องทรีตเมนต์, ห้องแล็บที่ใช้ผสมครีมทาหน้า โลชั่นทาผิวกาย และมาส์กครีม, ห้องครัว, ห้องวาดภาพ, ห้องน้ำ และบริเวณพักผ่อนของมาดาม Lubatti ปีแล้วปีเล่าที่โจได้ติดตามคุณแม่ไปทำงานที่ซาลอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยความน่ารักของโจ และความเมตตาของมาดามฯ โจได้รับความเอ็นดูจากเจ้าของสถานที่อยู่เสมอ ระหว่างนั่งอยู่ที่ซาลอนเพื่อรอคุณแม่ทำงาน ทั้งคุณแม่และโจค่อย ๆ ปลูกความสัมพันธ์กับมาดามฯ จนเมื่อเธออายุได้ 10 ขวบ มาดามฯ จึงสอนงานให้กับเธอ โดยค่อย ๆ ถ่ายทอดศิลปะและสิ่งที่โจเรียกว่า ‘เวทมนตร์’ ของการผสมผสานส่วนผสมต่างๆ ทั้งเนื้อครีม น้ำมัน โลชั่นเข้ากับกลิ่นหอมจากดอกไม้และพืชพรรณหลาย ๆ ชนิดเพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ประทินผิวที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคนของมาดามฯ จะด้วยอะไรดลใจก็แล้วแต่ อยู่มาวันหนึ่งมาดามฯ ได้เริ่มฝึกทักษะการดมกลิ่นหอมให้กับโจ ในตอนนั้นทั้งโจและมาดามฯ เองคงไม่รู้เลยว่า นั่นจะเป็นทักษะที่ทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักกับชื่อของ โจ มาโลน การฝึกการดมกลิ่นหอมโดยมาดามฯ ก็ไม่ซับซ้อนอะไร มาดามฯ จะนำขวดที่บรรจุน้ำมันหอมที่ดึงป้ายชื่อออกมาตรงหน้าโจ เริ่มให้โจดมกลิ่น แล้วบอกชื่อของกลิ่นหอมแต่ละกลิ่นที่โจได้สัมผัส ด้วยวัยเพียง 10 ขวบ โจสามารถแยกความแตกต่างของกุหลาบหลายชนิดได้เพียงแค่เธอดมกลิ่น เธอสามารถบอกได้ทันทีว่าขวดไหนคือกลิ่นกุหลาบสวน (Garden rose), ขวดไหนคือกลิ่นกุหลาบทรีโรส (Tree rose) และขวดไหนคือกลิ่นกุหลาบบัลแกเรีย (Bulgarian rose) การใช้เวลาสุดสัปดาห์กับมาดามฯ และคุณแม่ที่ซาลอนดูเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของโจ แต่ดูเหมือนว่ากลิ่นกุหลาบที่เธอได้สูดดมมันจะค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อมีมรสุมอีกหลายลูกพัดผ่านเข้ามาในชีวิต เริ่มจากการที่มาดามฯ เสียชีวิตและคุณแม่ก็เป็นผู้รับมรดกร้าน คุณแม่ของโจพยายามประคองธุรกิจซาลอนที่ว่าไปแล้วเปรียบเหมือนโชคหล่นทับก็คงไม่ถูกสักทีเดียว เพราะว่าโชคครั้งนี้มาพร้อมกับหนี้สิน แต่อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณแม่ของโจได้เริ่มประกอบธุรกิจซาลอนเป็นของตัวเอง คุณอาจจะคิดว่าโจเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์เหลือเกินที่สามารถแยกแยะกลิ่นสัมผัสของกลิ่นกุหลาบแต่ละกลิ่นได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว โจต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความบกพร่องในการเรียนรู้จำพวก Dyslexia เธอมีปัญหาในการแยกแยะซ้าย-ขวา มีปัญหาในการอ่านหนังสือ การสะกดคำและการเขียน (เป็นภาวะที่คนดังหลายคนต้องประสบเช่นกัน เช่น เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (Jennifer Aniston), สตีเฟน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg), มูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali), เคียรา ไนต์ลีย์ (Keira Knightley) ) หลังจากที่โจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dyslexia เธอเองไม่ได้รู้สึกตึงเครียดใด ๆ เลย ตรงกันข้ามเธอกลับรู้สึกผ่อนคลายว่า เธอไม่ได้เป็นคนโง่หรือคนขี้เกียจ แม้ว่าภาวะนี้ไม่ได้ทำให้โจรู้สึกด้อยค่าใด ๆ แต่ตราบจนถึงวันนี้ โจเองก็ยอมรับว่าภาวะ Dyslexia ทำให้เธอต้องตระเตรียมการอะไรหลายอย่างก่อนล่วงหน้า เช่น ถ้าเธอต้องไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ไหน เธอจะไม่สามารถอ่านจากสคริปต์ได้ เธอต้องใช้วิธีการเขียนคำสั้น ๆ เป็นคำ ๆ ลงบนบัตรคำเพื่อเตือนความจำเมื่ออยู่บนโพเดียม, เวลาประชุมทีมงานจะต้องเตรียมการพรีเซนต์กราฟให้ออกมาในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด เพื่อไม่ให้เธอรู้สึกสับสน ไหน ๆ ก็ไม่ได้เรียนต่อแล้ว โจจึงเริ่มมองหางานทำ เธอทำงานทุกงานที่เธอสามารถทำได้เพื่อที่เธอจะได้ไม่ต้องเบียดเบียนค่าใช้จ่ายจากคุณแม่ ทั้งเป็นคนขัดพื้น ทำความสะอาดห้องน้ำ พนักงานทำแซนด์วิช คนพาสุนัขไปเดินเล่น ไปจนถึงคนขายดอกไม้ จนอยู่มาวันหนึ่งในปี 1984 ในขณะที่โจอายุได้ 21 ปี คุณแม่ของโจชวนเธอกลับมาช่วยงานธุรกิจซาลอนของที่บ้าน คุณแม่จัดแจงเรื่องเอกสารให้โจเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจความงามของคุณแม่ ที่แห่งนี้เอง โจได้เรียนรู้วิชาความงามจากคุณแม่ของเธอแบบเต็มตัว เธอฝึกนวดหน้า ขัดตัว ผสมครีม และอีกหนึ่งคนสำคัญที่เป็นครูในการฝึกนวดให้กับโจ คือหมอนวดชายตาบอดที่ทำงานให้กับคุณแม่ของโจ เขาผู้นี้เองเป็นคนสอนเคล็ดลับการนวดที่โจเก็บเอาไปใช้และถ่ายทอดให้กับลูกน้องคนอื่น ๆ ของเธอในเวลาต่อมา “อย่าเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น จงเชื่อในสิ่งที่รู้สึก” หมอนวดชายตาบอดบอกกับโจในขณะที่เขากำลังนอนเป็นหุ่นให้โจนวดหน้า ส่วนหนึ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของโจ มาโลน ก็คงจะเป็นการได้พบและรักกับแกรี วิลคอกซ์ (Gary Willcox) เพราะเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่คนรักและสามี แกรีเป็นเพื่อนคู่คิดผู้คอยสนับสนุนโจในทุกทางและทุกย่างก้าวของชีวิต เขาพร้อมจะเดินนำจูงมือเธอหากเธอรู้สึกไม่มั่นใจ เขาพร้อมจะเดินตามหลังเธอบนเส้นทางที่เธอเชี่ยวชาญกว่าเขา เหนือสิ่งอื่นใด แกรีคือคนที่ยืนเคียงข้างโจเสมอ ทั้งสองคนแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน ปี 1985 ในตอนนั้นทั้งคู่ต่างไม่ได้มีเงินมากเท่าไร งานแต่งงานจึงเป็นพิธีเรียบง่าย มีเพียงเพื่อนและญาติ 40 คนเท่านั้นที่มาร่วมงาน ชีวิตโจเหมือนจะไปได้ดี เธอทำงานเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับคุณแม่ เธอได้พบและแต่งงานกับคู่ชีวิตของเธอ แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าชีวิตของเธอไม่ง่ายนัก ต่อมาไม่นานโจและคุณแม่เริ่มมีปากเสียงกันบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการทำงาน ความจากทางฝั่งโจ คือเธอคิดว่าหลังจากที่คุณแม่กลับมาจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง คุณแม่เริ่มปฏิบัติกับเธออย่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ใช่หุ้นส่วน-หุ้นส่วน ไม่ว่าโจจะหยิบจับอะไรดูจะขัดหูขัดตาคุณแม่ไปเสียหมด ทั้งหมดนี้โจคาดคะเนเหตุผลไว้ว่า คุณแม่ของเธอเป็นผู้หญิงที่หยิ่งทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรี และความงาม การที่คุณแม่ต้องพึ่งพาคนอื่นในครอบครัวอย่างมาก แม้แต่การทำกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ เช่น อาบน้ำ หรือการเข้าห้องน้ำ น่าจะทำให้เธอเป็นคนหงุดหงิดง่ายและอารมณ์ร้อน โจเล่าว่าเธอพยายามจะเข้าใจ และเป็นลูกสาวที่ดีแบบที่เป็นมาเสมอให้กับคุณแม่ แต่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของโจต้องขาดลง เมื่อวันหนึ่งเธอกำลังดูแลลูกค้าคนหนึ่งอยู่ คุณแม่ของเธอเข้ามาหาโจในห้องผสมครีม ในขณะที่โจกำลังผสมครีมนวดหน้าให้กับลูกค้าคนหนึ่งอยู่ “จะใช้ยังไงหมด ผสมอะไรเยอะขนาดนั้นน่ะ” เสียงตะคอกของคุณแม่โจดังขึ้นในห้องผสมครีม โจได้ยินแต่ทำทีไม่สนใจ “มันเปลืองนะ เข้าใจไหม” คุณแม่ของโจพูดต่อพลางผลักเหยือกส่วนผสมให้ออกห่างจากตัวโจไป เลี่ยงไม่ให้โจใช้รินเพิ่มได้อีก “แม่พอได้แล้ว หนูรับเรื่องแบบนี้ทั้งวันไม่ไหวนะ” โจตอบด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดพลางเดินกลับไปที่ห้องทรีตเมนต์ ทันใดนั้นเอง คุณแม่ของโจเริ่มโวยวายและกรีดร้องจนโจต้องหันกลับมาที่คุณแม่ พลางเอานิ้วชี้ขึ้นมาที่ริมฝีปากแล้วทำเสียง “ชู่ววววว...เงียบ ๆ แม่! แม่ทำอะไรเนี่ย? หนูจะขึ้นไปทำหน้าลูกค้าต่อข้างบนแล้วนะ” ทันใดนั้นเองคุณแม่ของโจก็คว้าเอาเหยือกครีมแล้วปาเข้าที่เบ้าตาของโจ วินาทีนั้น โจเล่าว่าเธอเห็นแววตาที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจอยู่ในตาของคุณแม่ ดูเหมือนโจโตพอที่จะเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขทุกอย่าง แต่โจยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีขีดจำกัด และในวันนั้นเอง ที่ขีดจำกัดความอดทนของโจได้หมดลง เธอจึงเก็บข้าวของที่เป็นส่วนผสมเครื่องประทินผิว ทั้งน้ำมัน ครีม และโลชั่นของเธอแล้วออกจากร้านไป แล้วโจออกไปทำอะไรต่อ? โจเลือกทำในสิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุดในชีวิต คือทำธุรกิจเกี่ยวกับความงาม เพียงแต่ว่าตอนนี้เธอไม่มีอะไรเลยนอกจากสองมือ ความรู้ ทักษะ ครีม น้ำมัน และโลชั่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น โจจึงเริ่มลิสต์รายชื่อลูกค้าได้ 12 คน ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของเธอเองสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่ซาลอนของคุณแม่ เธอเริ่มโทรศัพท์ไปหาลูกค้าทีละคนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวว่าตอนนี้เธอได้แยกตัวออกมาแล้ว หากคุณยังยินดีที่จะให้โจ มาโลนดูแลผิวหน้า ผิวกาย และความงามต่อ โจ มาโลนพร้อมจะไปบริการคุณถึงบ้าน แต่หากคุณไม่สะดวกใจ โจก็เข้าใจ และผลปรากฏว่า ลูกค้าทั้ง 12 คนของโจ ‘เซย์ เยส’ กับเธอ เธอจึงเริ่มต้นธุรกิจความงามของตัวเธอคนเดียวจากนั้นเป็นต้นมา อีกหนึ่งความผูกพันของโจ มาโลนที่ยังมีต่อคุณแม่ ณ เวลานั้นคือพันธะความเป็นหุ้นส่วนของซาลอนที่เธอเซ็นเอกสารร่วมกับคุณแม่ ซึ่งไม่ทราบว่าด้วยเหตุอันใด เอาเป็นว่าคุณแม่ได้มอบภาระหนี้จำนวน 30,000 ปอนด์ให้กับโจด้วยในฐานะของการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โจได้ทราบภาระหนี้นี้ผ่านทางจดหมายแจ้งเตือนเรื่องการชำระหนี้ที่ส่งมายังแฟลตที่เธอกับแกรีอาศัยอยู่ นั่นเท่ากับว่าโจ มาโลนเริ่มธุรกิจเสริมความงามพร้อมกับหนี้สินจำนวน 30,000 ปอนด์! (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งในยุค 90s ถือว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ระดับหนึ่งทีเดียว) เป็นคนธรรมดาอาจจะคิดถอดใจหรือท้อแท้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าโจ มาโลน จะสะกดคำว่ายอมแพ้ไม่เป็น เธอเริ่มออกบริการนวดหน้า นวดตัว ดูแลความงามให้กับลูกค้าทั่วลอนดอน ทั้งนางแบบ ไฮโซ ไปจนถึงคนในราชวงศ์อย่าง ซาราห์ เฟอร์กูสัน (Sarah Ferguson - ในขณะนั้นเป็นพระชายาของเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ) โจขึ้น-ลงรถแท็กซี่พร้อมเตียงนอนแบบพับได้ของ Marks & Spencer รับบริการนวดตัวให้ลูกค้าวันละ 4 คน ทั่วลอนดอน จนกระทั่งวันหนึ่งโจและแกรีเริ่มมองเห็นว่า ธุรกิจความงามของโจโตขึ้นแบบรวดเร็วเหลือเกิน ทั้งสองจึงเห็นตรงกันว่า ควรมีฐานทัพแห่งความงามให้กับโจได้สักที โจเล่าเอาไว้ในหนังสือของตัวเองว่า “เมื่อเวลาที่โมเมนตัมมาทางคุณแล้ว ขอให้คุณจับจังหวะให้ดีแล้วกระโดดไปกับแรงเหวี่ยงนั้นเลย” เดือนตุลาคม 1990 โจและแกรีเช่าแฟลตแห่งใหม่ในลอนดอน เป็นแฟลตที่อยู่บนชั้น 3 ของตึก 5 ชั้นที่ตั้งอยู่ที่ Sloane Square เพื่อเป็นคลินิกให้กับโจในการให้บริการทรีตเมนต์แก่ลูกค้า โจเล่าเอาไว้ในหนังสือของเธอว่า “ลูกค้าคือทีมการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด” คำกล่าวนี้น่าจะเป็นความจริง คุณเชื่อหรือไม่ว่า คลินิกแห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากลูกค้าเลย นางแบบ ดารา ไฮโซ สมาชิกราชวงศ์ไม่ใช่แค่เฉพาะในอังกฤษ แต่จากทั่วทุกมุมโลก เรียกได้ว่าแทบจะทุกคนที่อยู่ในแวดวงไฮโซต้องมาที่นี่เพื่อผ่านการดูแลความงามจากโจ มาโลน หลายคนประทับใจบริการนี้จนเล่ากันปากต่อปาก ซึ่งเปรียบเหมือนการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจของเธอไปในตัว ค่าตัวการดูแลลูกค้าของเธออยู่ที่ 50 ปอนด์/ครั้ง และเนื่องจากโจ ทำทุกอย่างเองเพียงแค่คนเดียว ทั้งเตรียมอ่างน้ำให้ลูกค้าอาบ ผสมครีมให้เข้ากับผิวของลูกค้า นวดหน้า ขัดตัว นวดตัว เธอจึงสามารถรับลูกค้าได้เพียงแค่ 6 คน/วัน นั่นทำให้คิวของเธอแน่นยาวไม่เคยว่างเลย แค่การดูแลความงาม ขัดตัว นวดผิวก็ไปได้สวยจนโจแทบจะไม่มีเวลาว่างแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะลิขิตจากพระเจ้าที่ทำให้โจ มาโลนไม่หยุดอยู่แค่นั้น เธอคิดถึงสิ่งที่มากกว่านั้น นั่นคือการผสมกลิ่นโลชั่นที่เป็นกลิ่นของตัวเธอเองขึ้นมา เธอเริ่มติดต่อกับ ดีเร็ก (Derek) ชายผู้เป็นตัวแทนซัพพลายเออร์น้ำมันหอมและหัวน้ำหอมให้กับบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศส โจพยายามผสมโลชั่นขึ้นมาเองโดยใช้กลิ่นของลูกจันทน์และขิง (Nutmeg and Ginger) เป็นหลัก เธอทดลองใช้โลชั่นกลิ่นนี้กับลูกค้าหลายคน และทุกคนให้เสียงตอบรับไปในทางเดียวกัน คือพวกเธอชอบโลชั่นกลิ่นนี้จนกระทั่งอยากจะขอมันกลับบ้าน พอโลชั่นกลิ่นลูกจันทน์และขิงได้ผล โจไม่รอช้า เธอลองผสมผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อไปโดยใช้กลิ่นเดียวกัน นั่นคือ Bath Oil โจเชื่อในเรื่องการอาบน้ำในน้ำมันหอมระเหยเสมอ “จะดีแค่ไหนถ้าผู้หญิงได้อาบน้ำในกลิ่นนี้?” นั่นคือคำถามตั้งต้นที่ทำให้เธอเริ่มผลิต Bath Oil กลิ่นลูกจันทน์และขิงเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ของเธอเพื่อเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณที่คอยสนับสนุนเธอเรื่อยมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป จากที่คิดว่าจะแจกให้ลูกค้าใช้ฟรี ก็เริ่มมีคนมาสั่งซื้อ Bath Oil กลิ่นนี้ จาก 1 ขวดเป็น 5 ขวด เป็น 50 ขวด เป็น 100 ขวด เมื่อขาย Bath Oil ได้ดีขึ้น โจก็เริ่มสั่งน้ำมันหอมมากขึ้น ดีเร็กจึงเริ่มส่งตัวอย่างน้ำมันหอมกลิ่นต่าง ๆ มาให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้โจได้เริ่มทดลองผสมกลิ่นใหม่ ๆ ในโลชั่น ครีมทาหน้า และ Bath Oil ของเธอ เวลาผ่านไป 4 ปี เพียงแค่เหมือนกับพริบตาเดียว โจก็จ่ายภาระหนี้ที่คุณแม่ของเธอกล่าวอ้างว่าเป็นหนี้ส่วนของเธอในการเป็นหุ้นส่วนของซาลอนหมดไปทั้ง 30,000 ปอนด์ ครีมทาหน้า เจลทาตัว โลชั่น และ Bath Oil ของโจขายดีเป็นที่ต้องการของทุกคนในลอนดอน ณ ตอนนั้น แต่ด้วยสัญชาตญาณบางอย่างบอกกับเธอว่า ยังมีอีกทางหนึ่งที่เธอควรจะมุ่งหน้าไป นั่นคือการทำน้ำหอม! ถึงตรงนี้คุณคงคิดว่ามันจะไปยากอะไร ถ้าผสมกลิ่นโลชั่นและครีมอื่น ๆ ได้แล้ว ทำไมจะทำน้ำหอมไม่ได้ ขอบอกเลยว่าความคิดนั้นผิดถนัด เพราะการทำน้ำหอมเป็นเสมือนกับโลกใบใหม่ ศาสตร์เรื่องใหม่ที่โจต้องไปเรียนรู้ แต่เธอไม่รู้จักใครเลยในวงการน้ำหอมนอกจากดีเร็ก ซัพพลายเออร์ผู้ส่งน้ำมันหอมให้กับเธอ เธอจึงคิดว่าเธอก็ควรจะเริ่มจากดีเร็กนี่แหละ โจและแกรีตามดีเร็กไปที่ปารีสอยู่หลายครั้งหลายคราว ดีเร็กเป็นทั้งเพื่อนและครูที่นำพาโจเข้าสู่โลกของน้ำหอม เขาเป็นคนแนะนำและสอนโจเกี่ยวกับเรื่องศาสตร์และศิลป์ในการทำน้ำหอม จนกระทั่งเธอเริ่มเข้าใจความซับซ้อนของการคิดกลิ่นของน้ำหอม โจ มาโลน: กลิ่นชีวิตผู้กำเนิดแบรนด์ Jo Malone London ที่ถูกขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางความหอมของจักรวาล’ มีคำกล่าวที่เขาว่ากันว่าเมื่อคุณขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป คุณจะได้สิ่งอื่นมาทดแทน การที่เธอมีภาวะบกพร่องทางการอ่านหนังสืออาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โจมีทักษะในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านกลิ่นได้ดี บวกกับพรสวรรค์ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของเธอทำให้เธอได้หยิบจับส่วนผสมของกลิ่นที่คนทั่วไปอาจจะคิดไม่ถึงในการทำน้ำหอม นั่นคือ มะนาว ใบกะเพรา และส้มแมนดาริน (Lime, Basil, and Mandarin) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในน้ำหอมกลิ่นที่ขายดีที่สุดของโจ มาโลน และเป็นกลิ่นลายเซ็นประจำยี่ห้อโจ มาโลน แถมเธอก็แหกกฎการตั้งชื่อน้ำหอมในยุคนั้น ที่ต้องคิดชื่ออะไรบางอย่างขึ้นมาตามแรงบันดาลใจในการทำน้ำหอม เช่น Opium (จาก YSL), Chanel No.5 (จาก Chanel) โจกลับตั้งชื่อน้ำหอมตามส่วนผสมหลักของกลิ่นดื้อ ๆ แบบนั้นเลยนั่นแหละว่า กลิ่น Lime, Basil, and Mandarin จากการตระเวนไปบ้านลูกค้าทั่วกรุงลอนดอน สู่แฟลตชั้น 3 บน Sloane Square ตอนนี้ดูเหมือนแฟลตชั้น 3 ของเธอดูจะเล็กเกินไปอีกแล้ว และนั่นทำให้เธอและแกรีตัดสินใจเปิดร้านครั้งแรกของโจ มาโลนที่ถนนวอลตันในเดือนตุลาคมปี 1994 แกรีลาออกจากการเป็นพนักงานรังวัดที่ดิน และออกมาทำงานให้กับโจอย่างเต็มตัว และการตอบรับจากผู้คนในกรุงลอนดอน (และนอกลอนดอน) ก็เป็นไปด้วยดี ร้านของเธอเต็มไปด้วยลูกค้าที่มารอเข้าคิวเพื่อซื้อของและใช้บริการนวดและประทินผิว และดูเหมือนเครื่องหอมในร้านของเธอจะหอมไกลถึงอีกฝั่งของซีกโลก ในปี 1997 โจ มาโลน ลอนดอน ได้รับการทาบทามจากห้างดังบนถนน 5th Avenue ในนิวยอร์กอย่างห้าง Bergdorf Goodman ทำให้ในปี 1998 เป็นปีที่โจ มาโลน ลอนดอน เดินทางจากลอนดอนมาถึงมหานคร ‘บิ๊กแอปเปิล’ อย่างเป็นทางการ การเดินทางของโจ มาโลนยังไม่จบแต่เพียงเท่านั้น เดือนตุลาคม 1999 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องสำอางอย่างเอสเต ลอเดอร์ (Estee Lauder) ประกาศซื้อกิจการจากโจ มาโลน โดยที่ในขณะนั้นโจยังคงนั่งตำแหน่งประธานบริหารและตำแหน่ง Creative Director ของโจ มาโลน ลอนดอน จนในปี 2006 โจจึงถอนตัวออกจาก ‘โจ มาโลน ลอนดอน’ ทั้งหมดอย่างเป็นทางการ ปี 2011 โจออกมาตั้งบริษัทผลิตน้ำหอมบริษัทใหม่ โจ เลิฟ (Jo Loves) เธอบอกว่านี่คือการเดินทางครั้งใหม่ของเธอ “แบรนด์ใหม่นี้เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความทรงจำของฉัน ทุกอย่างที่ฉันเคยเป็น และทุกสิ่งที่ฉันเป็นอยู่” ไม่มีใครรู้ว่าการเดินทางครั้งใหม่ของโจจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นโจ มาโลน ลอนดอน หรือ โจ เลิฟ เธอก็คือผู้ที่เคยสร้างศูนย์กลางความหอมของจักรวาลให้เกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์ ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/ ที่มา: https://www.webmd.com/children/ss/slideshow-celebrities-dyslexia https://www.vogue.co.uk/article/jo-malone-biography https://www.jomalone.co.uk/our-company/about-jo-malone https://www.vogue.co.uk/beauty/gallery/beauty-products-may-14-2021 https://edition.cnn.com/2014/10/20/business/smell-of-success-jo-malone/index.html หนังสือ Jo Malone. Jo Malone My Story (2016). London: Simon& Schuster UK Ltd.