โจ ไบเดน: จากเด็กพูดติดอ่างสู่นักปราศรัย ผู้แพ้ที่ลุกขึ้นสู้จนก้าวสู่ประธานาธิบดี

โจ ไบเดน: จากเด็กพูดติดอ่างสู่นักปราศรัย ผู้แพ้ที่ลุกขึ้นสู้จนก้าวสู่ประธานาธิบดี
จากเด็กพูดติดอ่างสู่นักปราศรัย-ดีเบต จากสามีใจสลายที่สูญเสียภรรยาและลูกแบบไม่ทันตั้งตัว สู่นักการเมืองดาวสภาแดนพญาอินทรี และผู้แพ้เลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าสู่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของอเมริกา โจ ไบเดน หรือชื่อเต็ม โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ เกิดวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 ณ เมืองสแครนตัน มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายไอริช เขาเป็นพี่ชายคนโตของน้อง ๆ อีก 3 คน ชีวิตวัยเด็กของโจเติบโตมาในสังคมชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกคล้ายผู้อพยพชาวไอริชทั่วไป แต่ที่แตกต่างไป คือ โชคชะตาที่พลิกผันตลอดเวลาจนทำให้เขากลายเป็นนักสู้ชีวิตที่สมบุกสมบันมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา บารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ เคยกล่าวถึงโจ ไบเดน ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก่อนที่ทั้งคู่จะหมดวาระการทำหน้าที่ผู้นำคู่กันมานาน 8 ปีว่า “การได้รู้จักโจ ไบเดน คือการรู้จักความรักอันปราศจากการเสแสร้ง, การอุทิศตนเพื่อผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตนเอง และการได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์”  โชคชะตาที่ทำให้ชีวิตของคนชื่อโจสมบูรณ์และสมบุกสมบันกว่าคนทั่วไป เริ่มตั้งแต่เกิดมาลืมตาดูโลก ธุรกิจครอบครัวที่เคยรุ่งโรจน์กลับล่มสลายจนไม่มีที่ซุกหัวนอน พ่อแม่ต้องหอบเขาและน้อง ๆ ย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านตายาย ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมที่ชนชั้นกลางอเมริกันส่วนใหญ่ทำกัน และบ้านหลังไม่ใหญ่โตนักท่ามกลางสมาชิกครอบครัว 3 รุ่นอยู่รวมกันนั่นเอง คือที่ที่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเยาว์ เอาชนะอาการพูดติดอ่าง อย่างไรก็ตาม เรื่องท้าทายที่สุดในวัยเด็กกลับไม่ใช่ความเป็นอยู่ของครอบครัว แต่คือความผิดปกติทางร่างกายที่ทำให้เขากลายเป็นเด็กพูดติดอ่างจนถูกเพื่อน ๆ หรือแม้แต่ครูที่โรงเรียนล้อเลียนปมด้อยนี้เป็นประจำ โจบันทึกเรื่องนี้ลงในประวัติชีวิตของตนเองว่า “แม้จนวันนี้ ผมยังจำความรู้สึกหวาดกลัว, อับอาย และโมโหสุดขีดที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างชัดเจน” แต่แทนที่จะโทษผู้อื่นและโชคชะตา เขาแปรความรู้สึกนั้นมาเป็นความพยายามเอาชนะปมด้อยดังกล่าว เขาฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า และซ้อมพูดหน้ากระจกทุกวัน ทำอย่างนั้นติดต่อกันนานหลายเดือน จนสามารถเอาชนะอาการพูดติดอ่างได้ก่อนไปเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แม้อาการนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่อุปสรรคในชีวิตของเขาอีกต่อไป โจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ก่อนไปจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ในมลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ที่เขาพบรักกับนีเลีย ภรรยาคนแรก ก่อนทั้งคู่จะแต่งงานและมีลูกด้วยกัน 3 คน ก้าวข้ามความสูญเสียคนรัก ชีวิตรักและการงานของโจดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อเขาชนะการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเดลาแวร์ครั้งแรกในวัย 29 ปี นับเป็นสมาชิกวุฒิสภาอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ณ เวลานั้น และกลายเป็นดาวรุ่งที่ถูกจับตามากที่สุดคนหนึ่งของพรรคเดโมแครต แต่หลังจบเลือกตั้งเพียงเดือนเดียว ยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการ โจต้องเผชิญข่าวร้ายที่เกือบทำให้เขาหันหลังให้การเมือง ข่าวร้ายที่ว่าคือการสูญเสียภรรยาและลูกสาวคนเล็กแบบไม่มีวันหวนกลับจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนลูกชายอีก 2 คน คือ โบ และฮันเตอร์ ได้รับบาดเจ็บหนักต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล “ผมรู้สึกเหมือนพระเจ้าเล่นตลกอย่างเลวร้ายกับผม และผมก็รู้สึกโกรธ” เขาเขียนลงในบันทึกความทรงจำ เนื่องจากยังมีลูกกำพร้าแม่อีก 2 คนให้ต้องดูแล โจตัดสินใจสู้ต่อไป เขาเข้าทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ส.ว. จากข้างเตียงผู้ป่วยระหว่างเฝ้าอาการบาดเจ็บของลูกชายในโรงพยาบาล (ต่อมาในปี 2015 โบเสียชีวิตจากเนื้องอกในสมอง) โจแปรความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นพลังในการทำงานเพื่อสังคม เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป ก่อนแต่งงานใหม่กับภรรยาคนปัจจุบันชื่อ จิล และได้รับเลือกเข้าวุฒิสภาต่อเนื่องกันมานานถึง 36 ปี (1972 - 2008) เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการวุฒิสภาทั้งด้านยุติธรรม และการต่างประเทศ ก่อนก้าวไปเป็นรองประธานาธิบดีในยุคของโอบามา (2009 - 2016) แพ้เลือกตั้งซ้ำ ๆ แต่ยังไม่ยอมแพ้ ก่อนนั่งเก้าอี้รองผู้นำสหรัฐฯ โจเคยลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีมาแล้ว 2 ครั้งแต่ก็ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 1988 เขาลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่ต้องถอนตัวไปหลังหาเสียงได้ไม่กี่เดือน เนื่องจากโดนโจมตีอย่างหนักเรื่องความซื่อสัตย์ หลังไปพลาดถูกจับว่าลอกสุนทรพจน์นักการเมืองอังกฤษมาใช้โดยลืมอ้างอิงแหล่งที่มา เขายอมอดทนใช้เวลานานถึง 20 ปี เพื่อพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของตนเอง ก่อนลงสมัครประธานาธิบดีหนที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 2008 โดยครั้งนี้ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย เพราะมิอาจต้านทานความร้อนแรงของคู่แข่งร่วมพรรคอย่างโอบามา และฮิลลารี คลินตันได้ แม้จะผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ความเป็นนักสู้ของโจก็ยังไม่หมดไป เขายอมรับว่า เคยคิดลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2016 แต่ต้องล้มเลิกความคิดไป หลังโอบามาเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจ เพราะเชื่อว่าเขาไม่น่าเอาชนะฮิลลารีได้ และไม่อยากให้การต่อสู้กันเองภายในพรรค ต้องยืดเยื้อจนทำลายโอกาสในการสู้บนเวทีใหญ่กับพรรครีพับลิกัน แต่เมื่อพิสูจน์แล้วว่า ฮิลลารีไม่สามารถหยุดยั้งพรรครีพับลิกัน และโดนัลด์ ทรัมป์จากการขึ้นครองอำนาจ คนชื่อ โจ ไบเดน จึงสวมวิญญาณนักสู้ลงสนามอีกครั้งในปี 2020 เขารับอาสาท้าทายอำนาจผู้นำจอมอหังการอย่างทรัมป์ และทำสำเร็จ กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชนะเลือกตั้งได้ในวัยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะอายุย่าง 78 ปี หากต้องกล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จสูงสุดในชีวิตครั้งนี้ของโจ ไบเดน แน่นอนว่า นอกจากปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองต่าง ๆ ที่เอื้อให้เขาชนะการเลือกตั้งแล้ว ประสบการณ์ชีวิตอันสมบุกสมบัน บวกกับบุคลิกนิสัยความใจสู้ ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา น่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขามาถึงฝั่งฝันในที่สุด เพราะหากยอมแพ้ให้กับความผิดปกติของร่างกายไปตั้งแต่วัยเด็ก หรือหันหลังให้การเมืองไปเพราะความสูญเสียครั้งใหญ่ในครอบครัว และล้มเลิกความตั้งใจหลังพ่ายแพ้ในเวทีนี้มาแล้ว 2 ครั้ง โลกคงไม่ได้จารึกชื่อ โจ ไบเดน ในฐานะผู้นำสูงสุดของชาติมหาอำนาจแดนพญาอินทรีอเมริกาอย่างแน่นอน ข้อมูลอ้างอิง: https://www.bbc.co.uk/news/extra/o9naqcofhi/us-election-joe-biden https://www.washingtonpost.com/outlook/a-joe-biden-biography-with-a-few-surprises/2020/10/22/8e570ea4-0d7c-11eb-8074-0e943a91bf08_story.html https://www.telegraph.co.uk/news/2020/10/29/joe-biden-2020-who-democrat-us-election-president-candidate/   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล