โจ การ์ดเนอร์: มีชีวิต แต่ (เกือบ) ไม่ได้ใช้ชีวิต

โจ การ์ดเนอร์: มีชีวิต แต่ (เกือบ) ไม่ได้ใช้ชีวิต

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง

ถ้าพรุ่งนี้ตายจะเสียดายไหม ?
นี่เป็นคำถามแรกในใจเมื่อมาถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ‘Soul’ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจาก Pixar ที่ชวนตั้งคำถามถึง ‘ความหมายของชีวิต’ โดยเล่าผ่านตัวละครโจ การ์ดเนอร์ (Joe Gardner) ครูสอนดนตรีผู้มีฝันว่าอยากเป็นนักเปียโนในแจ๊สคลับชื่อดังของเมือง แต่ก่อนที่โจจะได้ขึ้นไปเฉิดฉายบนเวที เขาดันประสบอุบัติเหตุ วิญญาณของโจล่องลอยอยู่บนสายพานไปสู่ Great Beyond หรือโลกหลังความตาย
“ฉันยังไม่อยากตาย ชีวิตฉันเพิ่งจะเริ่มต้นเองนะ”
โจวิ่งสวนทางกับเหล่าวิญญาณหมดอายุขัย ก่อนจะหลงทางไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Great Before’ หรือ ‘โลกก่อนเกิด’ ที่เหล่าเจอร์รี (Jerry) จะทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้วิญญาณบริสุทธิ์ได้รู้สึกว่า ‘อยากไปเกิดเป็นมนุษย์’ โดยมี ‘พี่เลี้ยง’ คือดวงวิญญาณของคนมีชื่อเสียงจากโลกมนุษย์มาคอยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ซึ่งถ้าดวงวิญญาณไหนค้นพบเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ จะได้ตั๋วไปเกิดในโลกมนุษย์นั่นเอง โจ การ์ดเนอร์ผู้ยังไม่พร้อมก้าวสู่โลกหลังความตาย เลยทำเนียนเป็นพี่เลี้ยงของเจ้า ‘22’ ดวงวิญญาณที่ไม่เคยรู้สึกอยากเกิดมาเป็นพัน ๆ ปี แม้แต่พี่เลี้ยงอย่างแม่ชีเทเรซายังต้องหันหน้าหนี เพราะอับจนหนทางจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ    ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นความปรารถนาที่จะมีชีวิต เมื่อ 22 ได้ลองไปอยู่ในร่างโจ เธอเริ่มหลงใหลการใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่ารสอร่อย สายลมอ่อน ๆ กลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่น แม้แต่คำสบถของคนบนรถไฟใต้ดิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ 22 ได้ตั๋วไปเกิด แม้เธอจะยังคงไม่พบเป้าหมายของตัวเอง “เป้าหมายของ 22 คืออะไร” โจเอ่ยถามเจอร์รีด้วยความฉงนใจว่าทำไม 22 จึงได้ตั๋วไปเกิด แต่เจอร์รีหัวเราะพร้อมบอกว่า “ใครบอกว่าต้องหาเป้าหมายล่ะ” ฉากนี้อาจกำลังเฉลยหรือบอกกับเราว่า สิ่งที่ดวงวิญญาณตามหาก่อนไปเกิด อาจไม่ใช่เป้าหมายเสมอไป แต่เป็น ‘ความปรารถนาที่จะมีชีวิต’ ซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายแบบโจ หรือเป็นความงดงามรายทางที่ดวงวิญญาณ 22 ค้นพบก็เป็นได้  สิ่งที่น่าสนใจคือ โลกของ ‘Great Before’ ไม่มีพื้นที่ให้ดวงวิญญาณไร้เป้าหมายแบบ 22 ค้นพบ ‘ความปรารถนาที่จะมีชีวิต’ เพราะเต็มไปด้วยการสร้างแรงบันดาลใจผ่านสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คนมีชื่อเสียงหรือสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีเป้าหมาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือความงดงามแสนธรรมดาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่การมีชีวิตเท่านั้นจึงจะรู้สึกได้ เห็นได้จากฉากร้านเบเกอร์รี่ที่พิซซ่าไร้รสชาติ ไม่สามารถเคี้ยว สัมผัส หรือดมกลิ่นได้  Great Before จึงเหมือนโลกที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าคนมีเป้าหมาย (โดยไม่ได้ตั้งใจ) คงเพราะเหล่าเจอร์รีเองก็ไม่ใช่มนุษย์ จึงมองแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือความสำเร็จในชีวิตซะมากกว่า จนอาจหลงลืมไปว่ามีคนอีกกลุ่มที่ปรารถนาที่จะมีชีวิตแบบไม่มีเป้าหมายเช่นกัน คงคล้ายกับหลายคนในปัจจุบันที่ไม่ได้มีแพสชัน ไม่ได้มีแพลนระยะยาว ไม่ได้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ แต่มีความสุขกับเรื่องเล็กน้อยในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุให้ตอนสุดท้าย เจอร์รีบอกกับโจว่า “พวกเราสร้างแรงบันดาลใจให้ดวงวิญญาณมานาน แต่ไม่เคยมีใครสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราแบบนี้” เพราะเจอร์รีเอง ก็ไม่เคยสัมผัส ‘แง่งามของความเป็นมนุษย์’ จากรูป รส กลิ่น เสียงดังกล่าวเลย ทำให้ Great Before ไม่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้ดวงวิญญาณในรูปแบบที่โจพา 22 ไปสัมผัส   ปลาน้อยว่ายเวียนในมหาสมุทร แม้โจจะค้นพบ ‘ความปรารถนาที่จะมีชีวิต’ แต่เมื่อถึงวันตายเขากลับไม่พร้อมที่จะจากโลกนี้ไป อาจเป็นเพราะโจยังไม่พบความหมายของการใช้ชีวิต เพราะเขาเป็นคนประเภท ‘เป้าหมายมีไว้พุ่งชน’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่การโฟกัสไปที่เป้าหมายและความสำเร็จมากเกินไป ทำให้เขาไม่ทันได้มองแง่งามด้านอื่น ๆ ของชีวิต เรียกง่าย ๆ ว่า ‘โจมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ชีวิต’  เขาค้นพบคำตอบนี้ บนเวทีที่ใฝ่ฝัน หลังสิ้นเสียงปรบมือกึกก้อง ไฟบนเวทีดับลง ปิดฉากอันงดงามที่สุดในชีวิตของเขา น่าแปลกที่โจกลับรู้สึกดีใจเพียงชั่วครู่ เขาเลยถามโดโรธีว่า แล้วพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อ โดโรธีกลับตอบว่า ก็กลับมาเล่นดนตรีที่นี่อีก เวลาเดิม โจมองโดโรธีด้วยสีหน้า ‘แค่นี้เองเหรอ ?’ เธอจึงเล่านิทานปลาให้โจฟังว่า
“มีปลาตัวน้อยว่ายน้ำมาถามปลาแก่ว่า มหาสมุทรไปทางไหน ปลาแก่ตอบไปเพียงว่า ก็ที่ว่ายน้ำอยู่นี่แหละคือมหาสมุทร”
นั่นทำให้โจเริ่มนึกย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมาเขาอยู่กับความคิด ‘ต้องเดินไปถึงตรงเป้าหมายก่อนถึงจะมีความสุข’ ‘ต้องทำให้สำเร็จก่อนชีวิตถึงจะมีความหมาย’   โจเริ่มนึกภาพ 22 ที่หลงใหลการใช้ชีวิตด้นสดแบบดนตรีแจ๊ส ปล่อยไปตามความรู้สึก มีความสุขได้โดยไม่ต้องมีแบบแผน รวมทั้งช่างตัดผมที่ทิ้งความฝันการเป็นสัตวแพทย์ แต่มีความสุขไปกับการพูดคุยกับลูกค้า และภูมิใจกับฝีมือการตัดผมชั้นเยี่ยมของตัวเอง ณ ตอนนั้นโจเริ่มเข้าใจแล้วว่า ความหมายของชีวิตเขา ไม่ใช่การเป็นนักดนตรีแจ๊สเฉิดฉายบนเวที แต่เป็นทุกวินาทีที่เขาได้พรมนิ้วลงบนเปียโนแล้วหลุดเข้าไปอยู่ในภวังค์แห่งเสียงเพลง ทุกวินาทีที่เขาได้หายใจ ได้สัมผัสกลิ่นหอมและรสชาติของอาหาร การได้ ‘รู้สึก’ กับสิ่งต่าง ๆ และมีความสุขในแบบของตัวเอง    ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่อง Soul อาจกำลังบอกกับเราว่า การพร้อมจะไปเกิดต้องอาศัย ‘ความปรารถนาที่จะมีชีวิต’ แต่ ‘การพร้อมที่จะตาย’ อาจจะต้องอาศัยความรู้สึกว่า ‘ได้ใช้ชีวิตแล้ว’ ซึ่งตอนท้าย โจ การ์ดเนอร์ได้ค้นพบทั้งสองสิ่ง นั่นทำให้เขารู้สึกยินดีที่จะใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าหากจะได้อยู่บนโลกใบนี้ต่อ และพร้อมหากต้องจากโลกใบนี้ไปด้วยความเข้าใจและไม่เสียดาย