โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก: ผู้ปฎิวัติการพิมพ์ที่ทำให้คนเข้าถึง ‘การอ่าน’ ได้มากขึ้น จนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก: ผู้ปฎิวัติการพิมพ์ที่ทำให้คนเข้าถึง ‘การอ่าน’ ได้มากขึ้น จนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
ในโลกก่อนยุคสมัยใหม่ การทำหนังสือหรือการบันทึกเรื่องราวข้อมูลต่าง ๆ ต้องกระทำผ่านการคัดลอกโดยมือเท่านั้น กว่าจะทำหนังสือเล่มหนึ่งสำเร็จจึงใช้เวลานานมาก ทำให้หนังสือจึงมีจำนวนจำกัด ผู้คนในยุคนั้นเข้าถึงหนังสือได้ไม่มากนัก ส่งผลให้น้อยคนที่จะอ่านออกเขียนได้ ในยุโรปองค์ความรู้ต่าง ๆ จึงถูกผูกขาดอยู่กับศาสนจักรและนักบวช พวกเขาเป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่สามารถอ่านเขียนหนังสือได้  แม้แต่ขุนนางหรือชนชั้นสูงก็มีจำนวนไม่มากนักที่จะรู้หนังสือ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านทั่วไป แต่เรื่องราวดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อโลกนี้ได้รู้จัก แท่นพิมพ์โลหะแบบเคลื่อนที่ ของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ช่างฝีมือด้านทอง เหล็ก และการพิมพ์ชาวเยอรมัน   พื้นเพ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) เกิดประมาณคริสตศักราช 1400 ที่เมืองไมนทซ์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (เยอรมนีในปัจจุบัน) เขาเติบโตในครอบครัวของพ่อค้าผู้มั่งคั่งซึ่งมีเชื้อสายของขุนนางเยอรมันในเมือง ชีวิตในวัยเยาว์ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก เขาได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง สตราสบูรก์ (ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ในปี 1434 และทำงานเป็นช่างทองและเหล็กในเมือง (Goldsmith / Blacksmith)  เวลาต่อมา กูเตนเบิร์กได้รับงานในการทำกระจกโลหะให้กับนักแสวงบุญเพื่อใช้ในทางศาสนา ซึ่งได้สร้างรายได้ให้กับเขาเป็นอย่างมาก เมื่อถึงปี 1446 เขาได้กลับไปที่เมืองไมนทซ์ และได้เริ่มบุกเบิกคิดค้นเครื่องพิมพ์ จนในที่สุดเขาก็สามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้ ”เทคนิคการพิมพ์แบบตัวเรียง” (movable printing press) ขึ้นสำเร็จในช่วงปลายทศวรรษดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก โยฮันน์ ฟุสต์ นักการเงินชาวเยอรมัน    การปฎิวัติการพิมพ์ เทคนิคการพิมพ์แบบใหม่ที่กูเตนเบิร์กคิดค้นขึ้นนี้ เป็นการนำแท่งโลหะ มาสลักตัวอักษรทั้ง 26 ตัว ซึ่งสามารถเรียงเป็นคำใหม่หรือประโยคใหม่เพื่อทำการใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ โดยเขาใช้เครื่องทำไวน์มาพัฒนาเป็นแท่นพิมพ์ ผลงานการพิมพ์ชิ้นแรกของกูเตนเบิร์ก ได้แก่ เอกสารราชการ กฤษฎีของพระสันตะปาปา และพวกตำราไวยากรณ์ต่าง ๆ ผลงานที่สำคัญของเขาก็คือ คัมภีร์ไบเบิล 42 บรรทัด (42-line Bible) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกในยุโรปที่ได้ใช้การพิมพ์ด้วยเทคนิคแบบใหม่นี้   การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการพิมพ์แบบใหม่ของกูเตนเบิร์กนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากแก่โลกตะวันตก   เครื่องพิมพ์ของกูเตนเบิร์กทำให้ต้นทุนในการผลิตหนังสือลดลงเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้หนังสือกลายเป็นสินค้าที่คนจำนวนมากสามารถหาซื้อได้ ทำให้ความรู้ในวิทยาการต่าง ๆ แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลเป็นกระบวนการลูกโซ่ทำให้เกิดการปฎิวัติทางภูมิปัญญา เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม ในโลกตะวันตก ผลจากการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ตัวเรียงนี้ ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคกลาง สามารถมีตำราที่เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียนแทนที่การคัดลอกด้วยลายมือ นอกจากนี้ มาร์ติน ลูเทอร์ ยังได้ใช้ความเร็วในการพิมพ์นี้ พิมพ์แจกข้อเรียกร้องในการปฎิรูปศาสนาให้กระจายไปทั่วยุโรปได้อย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของนิกายโปรเตสเเตนท์ในเวลาต่อมา เฉกเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็ได้ใช้การพิมพ์หนังสือแบบใหม่ของกูเตนเบิร์ก ในการเผยแพร่ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ชื่อ การปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดีหลังจากประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ได้ไม่นานนัก กูเตนเบิร์ก ไม่สามารถคืนเงินทุนแก่ ฟุสต์ ผู้สนับสนุนทางการเงินของเขาได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้เขาถูกฟ้องร้องต่อศาลและแพ้คดี เขาต้องสูญเสียแท่นพิมพ์และคัมภีร์ไบเบิลที่กำลังพิมพ์ไปทั้งหมด  หลังจากนั้น กูเตนเบิร์กได้ย้ายออกไปจากไมนทซ์  ในช่วงที่เมืองได้เกิดสงคราม ก่อนที่เขาจะกลับมาอีกครั้งใน 3 ปีถัดมา และได้ทำงานเป็นลูกจ้างของอาร์คบิชอปคนใหม่ของเมือง กูเตนเบิร์ก เสียชีวิตอย่างสงบ ในปี 1468 พร้อมกับฝากผลงานและภูมิปัญญาซึ่งได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปตลอดกาล   เรื่อง: วรินทร์ สิงหเสมานนท์ (The People Junior) อ้างอิง อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553 Micheal Prestwich, 2014. Medieval People: From Charlemagne to Piero della Francesca (London: Thomas & Hudson Ltd.) https://www.britannica.com/biography/Johannes-Gutenberg https://www.history.com/topics/inventions/printing-press https://www.thoughtco.com/johannes-gutenberg-and-the-printing-press-1991865 http://www.fourgreatinventions.com/chinese-printing/johannes-gutenberg/   ที่มาภาพ Bettmann / Contributor The Print Collector/ Getty Images