จอห์น เดอลอเรียน ผู้สร้างรถที่ล้มเหลว แต่ดังในฐานะไทม์แมชชีน

จอห์น เดอลอเรียน ผู้สร้างรถที่ล้มเหลว แต่ดังในฐานะไทม์แมชชีน
ถ้าเอ่ยชื่อ "เดอลอเรียน" (DeLorean) แฟนภาพยนตร์ในยุค 80 น่าจะจำได้ดีกับภาพลักษณ์อันสะดุดตาของรถยนต์ปีกนกนางนวลที่ถูก "ด็อก" บราวน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะดัดแปลงมันให้กลายเป็น "ไทม์แมชชีน" ในเรื่อง Back to the Future ซึ่งทำให้แฟนหนังหลายคนอยากได้มันมาไว้ในครอบครอง แต่ในปี 1985 ที่ Back to the Future เผยแพร่สู่สาธารณะ โรงงานที่ผลิตเดอลอเรียนได้ปิดตัวลงไปก่อนแล้ว แถมเจ้าของบริษัทก็ยังต้องคดีค้าโคเคนอีกด้วย  ความเป็นมาของเดอลอเรียนนับว่าน่าสนใจแล้ว ชีวิตของ "จอห์น เดอลอเรียน" (John DeLorean) เจ้าของบริษัทผู้สร้างรถสปอร์ตในตำนานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จอห์น เดอลอเรียน เป็นชาวดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อปี 1925 ในยุคที่ดีทรอยต์ยังรุ่งเรือง พ่อของเขาเป็นผู้อพยพจากโรมาเนียที่ทำงานเป็นช่างหล่อในโรงงานของฟอร์ด มอเตอร์ เขาโตมาในย่านครอบครัวชนชั้นแรงงาน จบปริญญาตรีจาก Lawrence Institute of Technology ก่อนไปต่อโทจนจบทั้งด้านวิศวกรรมและธุรกิจ เดอลอเรียน ทำงานเป็นวิศวกรให้กับ Packard Motor Car Company บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เล็ก ๆ ในปี 1952 ที่ประสบปัญหาด้านผลประกอบการ แต่เขาก็สามารถช่วยปลุกปั้นให้มันกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ณ ตอนนั้น เดอลอเรียนถือเป็นดาวรุ่งที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์และความทะเยอทะยาน อยู่กับ Packard ได้ราว 4 ปีก็ย้ายไปอยู่กับ GM ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอายุเพียง 40 ปี เขากลายเป็นผู้จัดการใหญ่ที่อายุน้อยที่สุดของ GM ในแผนก Pontiac ที่ที่เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการปล่อยตัว Pontiac GTO รถสปอร์ตในฝันของวัยรุ่นอเมริกันยุคนั้น สี่ปีต่อมา เดอลอเรียนก็ไปเป็นผู้จัดการใหญ่ที่อายุน้อยที่สุดในแผนก Chevrolet และในปี 1972 เดอลอเรียนก็กลายเป็นรองประธานบริษัทของ GM ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน ทำให้เขาถูกคาดหมายว่าจะต้องได้นั่งเก้าอี้ประธานใหญ่ของ GM เป็นแน่ แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเสียก่อน การลาออกมีขึ้นในปี 1973 โดยเขาให้เหตุผลว่าเขาไม่เห็นด้วยกับแผนการตลาดแบบเดิม ๆ ของบริษัท เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวในขณะนั้นว่า "มันไม่มีการตอบสนองใด ๆ จาก General Motor ต่อความต้องการของสาธารณะ (ลูกค้า) ในปัจจุบัน" (The New York Times) เดอลอเรียน นอกจากจะมีประวัติการทำงานที่เลิศหรู ชีวิตส่วนตัวของเขาก็ฉูดฉาดเต็มไปด้วยสีสันไม่แพ้กัน เดอลอเรียนแต่งงานครั้งแรกกับสาวรุ่นวัย 19 ปี ในขณะที่เขาอายุมากกว่าเป็นสิบปี เมื่อการงานประสบความสำเร็จ (ในวัยสี่สิบกลาง ๆ) เขาก็แต่งรอบสองกับดาราสาวอายุคราวลูก แต่ก็อยู่กินกันได้เพียงสามปี หย่าได้ไม่ถึงปีก็แต่งใหม่กับนางแบบที่อยู่กับเขาจนกระทั่งเขาต้องคดีค้ายาเสพติด และพฤติกรรมที่เขาชอบมีข่าวกับสาว ๆ ทำให้มีข่าวออกมาในอีกทางหนึ่งว่า การที่เขาออกจาก GM นั่นไม่ใช่ว่าเขาทิ้ง GM ออกมาหรอก หากเป็นเพราะการที่เขาไม่ใส่ใจงานบริหาร หมกมุ่นอยู่กับการควงดารานางแบบ และที่สำคัญการที่เขาไม่สามารถสร้างตัวเลขยอดขายสวย ๆ ได้เหมือนก่อน ทำให้บริษัทไม่คิดจะเก็บคนที่ทำตัววุ่นวายเช่นเขาเอาไว้อีก (The Independent) หลังออกจาก GM เขาก็ตั้งบริษัทของตัวเองในปี 1975 ในชื่อ DeLorean Motor Company เพื่อทำตามแนวทางของตัวเองและท้าทายผู้ผลิตรายใหญ่ที่กุมตลาดรถยนต์ในสมัยนั้น มีนายทุนและรัฐบาลหลายแห่งสนใจที่จะให้เงินลงทุน หรือต้องการให้ถิ่นฐานของตนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของเดอลอเรียน  ก่อนที่เขาจะเลือก "เบลฟาสต์" เมืองเอกของไอร์แลนด์เหนือที่สมัยนั้นยังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามกลางเมืองและปัญหาการว่างงาน หลังรัฐบาลพรรคแรงงานของ เจมส์ คัลลาแกน (James Callaghan) ตกลงทุ่มเงินให้กับแผนตั้งโรงงานของเขากว่า 55 ล้านปอนด์ (เป็นก้อนแรก ก่อนที่จะได้เพิ่มอีกราว 30 ล้านปอนด์ในยุคของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์) ด้วยหวังว่าแผนของเดอลอเรียนจะช่วยกระจายรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับดินแดนแห่งความขัดแย้ง แต่โรงงานในเบลฟาสต์ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของอัจฉริยะแห่งวงการรถยนต์ให้กลายเป็นนักฉ้อโกงระดับโลก  (นักฉ้อโกง เป็นฉายาที่สื่อจากสหราชอาณาจักรยกให้เดอลอเรียนเป็นเสียงเดียวกัน หลังโครงการของเดอลอเรียนผลาญภาษีประชาชนชาวสหราชอาณาจักรไปอย่างสูญเปล่าในระยะเวลาสั้น ๆ ขณะที่สหรัฐฯ คนทั่วไปยังมองเดอลอเรียนเป็นฮีโร ส่วนสื่อก็ไม่กล่าวถึงเขาในแง่ลบมากนักแม้เขาจะต้องคดีอื้อฉาวมากมาย) นอกจากจะได้เงินจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรแล้ว เขายังขายฝันให้กับนักลงทุนรวมไปถึงดาราดังหลายรายที่ทุ่มเงินให้กับเขา โดยบอกว่า เขาจะสร้างรถที่ดีทรอยต์ไม่ยอมให้สร้าง ด้วยการออกแบบที่นอกกรอบ สร้างจากวัสดุปลอดสนิม ซึ่งจะมีความปลอดภัยและคุ้มค่าเรียกได้ว่าเป็น "รถแห่งศีลธรรม" ที่ไม่ได้มุ่งหวังแต่จะเอากำไรจากลูกค้าแต่อย่างเดียว  เดอลอเรียนได้แบบของ DMC DeLorean รถรุ่นแรกและรุ่นเดียวของเขามาจากนักออกแบบชาวอิตาเลียน จอเจ็ตโต จูไจโร (Giogetto Giugiaro) ที่เคยออกแบบรถหลายรุ่นให้กับทั้ง Alfa Romeo, Aston Martin, Audi หรือ BMW มาก่อน แบบจากจูไจโร (ซึ่งรายงานของ The Guardian ระบุว่าจริง ๆ แล้ว เป็นรถต้นแบบที่ทาง Porsche คัดทิ้งมาก่อน) เป็นรถสปอร์ตสองประตูปีกนกนางนวล ไฟหน้าตาเหลี่ยมสองคู่ กับใช้สเตนเลสเป็นวัสดุหุ้มตัวรถ แปลกจากชาวบ้านที่ทั่วไปใช้โลหะละมุนที่เบาราคาถูกแต่ผุง่าย (ในขณะเดียวกัน สเตนเลสแม้จะผุยากแต่ก็หนักกว่า เป็นรอยง่ายและทำสียาก ทำให้รถของเดอลอเรียนออกมาจากโรงงานแบบเปลือย ๆ ไม่ได้ทำสี)  อย่างไรก็ดี รถของเดอลอเรียนถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบหลังการพัฒนาในระยะเวลาเพียงสองปี (ในขณะที่รถยนต์สปอร์ตชั้นนำของ Porsche ใช้เวลาออกแบบและพัฒนาระบบเครื่องยนต์รวมกันอย่างน้อยหกปี) โดยได้ โคลิน แชปแมน (Colin Chapman) ผู้ก่อตั้ง Lotus ที่สร้างรถยนต์สมรรถนะสูงมากมายมาช่วย ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ที่แชปแมนตกลงมาช่วยนั้นเป็นเพราะเขาได้สินบนจูงใจเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ซึ่งเดอลอเรียนระดมทุนมาจากนักลงทุนเพื่อมาแบ่งกันเองสองคน โรงงานของเขาเริ่มเดินเครื่องผลิตในช่วงต้นปี 1981 DMC DeLorean ถูกตั้งป้ายขายในราคา 25,000 ดอลลาร์ ในขณะที่ราคารถยนต์เฉลี่ยในสมัยนั้นอยู่ที่เพียง 10,000 ดอลลาร์ แต่รถยนต์ที่อ้างว่าเป็น “รถแห่งศีลธรรม” กลับเกิดขึ้นโดยอาศัยชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูปมาประกอบเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพและสมรรถนะทางวิศวกรรมของมันด้อยกว่ารถยนต์สปอร์ตชั้นเดียวกันราคาใกล้เคียงกันแบบเทียบไม่ติด แถมแรงงานของโรงงานก็ขาดประสบการณ์ ปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพการผลิตจึงตามมา  ก่อนนั้น เดอลอเรียน อ้างว่ารถยนต์ของเขาเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก มีตัวเลขสั่งซื้อเข้ามากว่า 30,000 คัน ทำให้ธุรกิจของเขามีมูลค่าเกินกว่างบประมาณที่ทางสหราชอาณาจักรมอบให้มากมายนัก มันจึงไม่ใช่การลงทุนที่เสี่ยงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี หลังเปิดโรงงานได้ราวสองปี พวกเขาผลิตรถยนต์ได้ไม่ถึง 9,000 คัน ตัวเลขยอดขายก็ต่ำเตี้ย แถมรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็เริ่มสงสัยความผิดปกติทางบัญชีของบริษัท เดอลอเรียนหวังจะช่วยให้โรงงานของเขาพ้นจากภาวะวิกฤตจึงคิดค้า “โคเคน”  วันที่ 19 ตุลาคม 1982 หลังทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรตรวจสอบพบการเคลื่อนย้ายเงินทุนในบริษัทของเดอลอเรียนอย่างผิดปกติจึงได้ประกาศว่าจะปิดโรงงานของเดอลอเรียน คล้อยหลังไม่นานในวันเดียวกันนั้นเอง เดอลอเรียนก็ถูกจับกุมที่ลอสแอนเจลิสด้วยข้อหาค้ายาเสพติดโดยเจ้าหน้าที่พบเขามีโคเคนในครอบครองเกินกว่า 50 ปอนด์ ทางเอฟบีไออ้างว่า โคเคนที่พบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อตกลงซื้อขายโคเคนปริมาณ 220 ปอนด์ มีมูลค่ากว่า 24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเดอลอเรียนก็คือนายทุนเบื้องหลังดีลนี้   ถึงตอนนั้นรถของเขาขายได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมดเพียงเล็กน้อย รถกว่าพันคันถูกจอดทิ้งในโรงงานอย่างไม่มีที่ไป และไม่รู้ว่าใครจะจ่าย เช่นเดียวกับอีกหลายพันคันที่ถูกจอดทิ้งในโชว์รูมโดยปราศจากคนสนใจ นอกจากคดีค้ายา เดอลอเรียนยังถูกตั้งข้อหามากมายทั้งฉ้อโกงนักลงทุน และยักยอกทรัพย์บริษัท รายงานของ The Guardian อ้างว่า ผู้พิพากษาอังกฤษรายหนึ่งกล่าวว่า เขาอยากจะพิพากษาจำคุกเดอลอเรียนสัก 10 ปี จากการฉ้อโกงเงินของรัฐบาลอังกฤษเป็นจำนวนมหาศาล แต่เขาสามารถหลุดรอดจากทุกคดีในสหรัฐฯ ได้อย่างเหลือเชื่อ รวมถึงคดีค้าโคเคน โดยอ้างว่า มันเป็นการ “ล่อซื้อ” ให้เขาติดกับดักของเจ้าหน้าที่  (การล่อซื้อมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเพราะเท่ากับผู้กล่าวหาไม่มีหลักฐานในการปรักปรำ จึงต้องสร้างหลักฐานขึ้นมาปรักปรำผู้อื่น ซึ่งคนผู้นั้นอาจไม่เคยกระทำผิดมาก่อนจึงไม่มีหลักฐานในการปรักปรำ การที่ผู้กล่าวหา “ล่อซื้อ” ผู้อื่น จึงเป็นการ “ก่อ” หรือ “ใช้” ให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยที่เขามิได้มีเจตนาที่จะกระทำความผิดนั้นมาก่อน การที่เจ้าหน้าที่ล่อซื้อผู้อื่นจึงเหมือนเป็นการ “จ้าง” ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพื่อที่ตนจะได้มีหลักฐานในการจับกุม จึงเข้าข่ายเป็นการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมประการหนึ่งได้ เว้นแต่จะใช้เป็นเพียงหลักฐานประกอบหลักฐานอื่นที่ชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดเดียวกันมาก่อนแล้ว) แม้ว่ารถยนต์ของเขาจะกลายเป็นกระแสดังขึ้นมาจากภาพยนตร์ชุด Back to the Future หลังต้องคดีได้ไม่กี่ปี แต่เดอลอเรียนก็ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับวงการรถยนต์อีก ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ทิ้งงานด้านรถยนต์ไปเสียทีเดียวยังได้ออกแบบรถยนต์สปอร์ตที่ทำจากพลาสติกเอาไว้ ในปี 1999 เขาถูกประกาศให้เป็นบุคคลล้มละลาย ปีต่อมาเขาหันมาเปิดบริษัทนาฬิกา และในปี 2005 เดอลอเรียนก็เสียชีวิตลงด้วยผลแทรกซ้อนจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก