จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม

จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม
คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จักชื่อของ จอห์น แม็คเคน (John McCain) แต่ถ้าถามคำถามนี้กับชาวอเมริกัน คนส่วนใหญ่ย่อมรู้จักเขาดี เพราะชื่อนี้มีดีกรีเป็นถึง วีรบุรุษนักสู้ ชายผู้รักชาติ สุภาพบุรุษผู้รักความยุติธรรม แม็คเคน คืออดีตนักการเมือง ที่เรียกได้ว่าทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของพรรครีพับลิกัน และแม้เขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยวัย 81 ปี แต่คุณค่าของเรื่องราวและวีรกรรมของเขา ก็ยังควรค่าแก่การนำมาเล่าต่อ ในฐานะผู้มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่ดีคนหนึ่งของสหรัฐฯ จอห์น ซิดนีย์ แม็คเคน เป็นนักสู้มาตลอดชีวิต เขาเกิดในปี 1936 ในครอบครัวทหารเรือที่พ่อและปู่ต่างก็เกษียณอายุด้วยการเป็นนายพลสี่ดาวทั้งคู่ แม็คเคนเองก็เจริญรอยตามบรรพบุรุษของเขา ด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนทหารเรือและร่วมรบกับกองทัพสหรัฐฯ ในยุคสงครามเวียดนาม หน้าที่ของเขาคือการขับเครื่องบินทิ้งระเบิด Skyhawk ซึ่งจะประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นหลัก แต่แล้วในปฏิบัติการ Rolling Thunder เมื่อปี 1967 แม็คเคนได้รับคำสั่งให้นำเครื่อง Skyhawk ออกบินทิ้งระเบิดปูพรม เครื่องบินของเขาดันถูกฝ่ายข้าศึกยิงตกขณะกำลังปฏิบัติภารกิจเหนือน่านฟ้ากรุงฮานอย แม้แม็คเคนจะรอดมาได้ แต่เขาก็ต้องถูกคุมขังในฐานะเชลยศึกในคุกที่เวียดนาม จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม ระหว่างนี้แม็คเคนถูกทรมานสารพัด โดยหนึ่งใน "เรื่องเล่า" ที่น่าสนใจระหว่างถูกจับของเขา คือการที่แม็คเคนพยายามปกปิดว่าเขาเป็นลูกและหลานนายพลสี่ดาว เพราะหลังจากผู้คุมทราบเรื่อง เขาก็ได้รับข้อเสนอให้ได้รับการปล่อยตัว เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงบวก แต่เพราะเขาปฏิเสธ โดยบอกว่า ต้องปล่อยตัวคนที่ถูกจับก่อน แม็คเคนจึงถูกขังไว้ต่อก่อนจะได้รับอิสรภาพในปี 1973 หลังกลับจากเวียดนาม แม็คเคนก็ยังทำงานรับใช้กองทัพต่ออีก 8 ปี ก่อนจะตัดสินใจเบนเข็มมาสู่เส้นทางการเมืองในปี 1982 เขาชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ภายใต้สังกัดพรรครีพับลิกัน ก่อนจะเล่นการเมืองมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในรัฐที่เขาอาศัยอยู่ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคไปชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี แต่ก็แพ้จอร์จ ดับเบิลยู บุชไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะไม่สามารถชิงชัยไปจนถึงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ แต่แม็คเคนก็ใช่ว่าจะไม่มีผลงานอะไรเลย เขามีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายหลายฉบับ ที่เด่น ๆ ก็เป็นการปฏิรูประบบเงินทุนสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง เขาสู้อยู่นานถึง 7 ปี กว่าจะสามารถผลักดันรัฐบัญญัติ McCain-Feingold Bipartisan Campaign Reform Act ซึ่งเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้เงินทุนหาเสียงของพรรคการเมือง จนประกาศใช้เป็นผลสำเร็จในปี 2002 จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม หลังจากพลาดตำแหน่งตัวแทนพรรคในปี 2000 แม็คเคนก็มีโอกาสเข้าใกล้เก้าอี้ผู้นำอีกครั้งในปี 2008 โดยคราวนี้เขาได้เป็นตัวแทนพรรคมาลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับบารัก โอบามา ครั้งหนึ่งขณะกำลังหาเสียง มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งลุกขึ้นพูดว่า เธอไม่สามารถเชื่อโอบามาได้ เพราะเธอเข้าใจว่าเขาเป็นชาวอาหรับ เธอหวาดกลัวว่าเขาจะเข้าข้างผู้ก่อการร้าย เวลานั้นแม็คเคนเป็นคนตอบกลับเธอไปว่า "คุณผู้หญิง เขาเป็นคนรักครอบครัว และเป็นพลเมืองอเมริกัน ประเด็นนี้ผมขอไม่เห็นด้วย" นี่อาจเป็นเหตุผลที่แม้จะเป็นคู่แข่งทางการเมือง แต่โอบามาก็แสดงออกว่ายกย่อง และเคารพในตัวแม็คเคนเสมอ และมากกว่าเหตุผลด้านความอาวุโส โอบามามองว่าแม็คเคนมีความเป็นมืออาชีพ และเห็นแก่ประเทศชาติ ถึงแม้แม็คเคนจะแพ้การเลือกตั้งคราวนั้น เขาก็ยังกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาอย่างแข็งขันเหมือนเดิม จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม แม้จะมาจากพรรคเดียวกัน แต่แม็คเคนก็ถือเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่ยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างตรงไปตรงมา จุดยืนของแม็คเคนมักไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคต้นสังกัด แต่จะพิจารณาจากเนื้อหาของนโยบายเป็นสำคัญว่าขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ “ผมเกลียดพวกสื่อนะ แต่ในความเป็นจริงคือเราต้องการคุณ เราต้องการสื่อเสรี เราจำเป็นต้องมีมัน” คือความเห็นหนึ่งที่แม็คเคนเคยให้สัมภาษณ์ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามกล่าวหาว่าสื่อชอบนำเสนอข่าวปลอมขณะกำลังหาเสียง รวมถึงทวีตว่าสื่อน่ะเป็น “ศัตรูของชาวอเมริกัน” ครั้งหนึ่งทรัมป์เคยออกมาบอกว่า “หากสื่อยังนำเสนอเรื่องโกหกอีก ผมจะไม่ปล่อยไปแน่” นั่นยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่เขาพยายามข่มขู่สำนักข่าวที่นำเสนอเนื้อหาที่ส่งผลลบต่อตัวเอง เวลานั้นฝ่ายตรงข้ามอย่าง นายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ผู้เคยเข้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตกับฮิลลารี คลินตัน ถึงขนาดออกมาแสดงความเห็นเชิงประชดประชันว่า “ก็ตามที่ทรัมป์บอก ถ้าคุณต้องการความจริง อย่าสนใจทุกสิ่ง ยกเว้นอะไรที่เขาพูด นั่นล่ะ สิ่งที่เรียกว่าเผด็จการ” จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงฝั่งตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทรัมป์ เพราะแม็คเคนเองก็ออกมาแสดงความกังวลต่อสิ่งที่ทรัมป์กำลังแสดงออก “ถ้าคุณมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สิ่งแรกที่เผด็จการทำคือการปิดสื่อ” แม็คเคนกล่าวในการสัมภาษณ์ “แน่นอน ผมไม่ได้จะกล่าวหาว่าทรัมป์เป็นฝ่ายเผด็จการ ผมแค่อยากบอกว่า เราควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์”
ผมจริงจังนะ ถ้าเราอยากจะรักษาระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เรารู้ ๆ กัน เราต้องมีทั้งสื่อที่สนับสนุนและต่อต้านเรา หากไม่มีสื่อเหล่านี้ เราจะค่อย ๆ สูญเสียเสรีภาพไป และนั่นคือจุดที่ระบอบเผด็จการเริ่มต้น
หากโดนัลด์ ทรัมป์มีทิศทางการบริหารที่ไม่น่าพอใจ ก็ได้แม็คเคนนี่ล่ะ เป็นหัวหอกออกมาด่าก่อนใครเพื่อน เขาทั้งนำทีมต่อสู้ในกระบวนการนิติบัญญัติ และแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายผู้อพยพ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายประกันสุขภาพของทรัมป์ ไม่ว่าทรัมป์จะทำอะไร หากแม็คเคนไม่เห็นด้วย แม้จะมาจากพรรคเดียวกัน แต่ทั้งสองก็ตอบโต้ (ด่า) กันผ่านสื่ออยู่เสมอ (แม็คเคนเคยด่าทรัมป์ว่า ‘งี่เง่า’ ขณะที่ทรัมป์ด่าเขากลับว่า ‘โง่’) สาเหตุหนึ่งที่แม็คเคนมีชาวอเมริกาหลายล้านคนชื่นชม เพราะแม็คเคนเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคไม่กี่คน ที่ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ในการเพิกถอนระบบประกันสุขภาพภายใต้กฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือ “โอบามาแคร์” ซึ่งขัดต่อมติพรรค โดยคราวนั้นแม็คเคนให้ความเห็นว่า วุฒิสภามีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาวอเมริกัน ในการนำเสนอระบบประกันสุขภาพที่ยั่งยืน การผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายอย่างเร่งรัด และขาดการไตร่ตรอง ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง การลงมติคัดค้านในตอนนั้น ถึงแม็คเคนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เขาก็ได้ใจชาวอเมริกันไปเต็ม ๆ จอห์น แม็คเคน : เชลยศึกสงครามสู่นักการเมืองหัวใจสู้ ชายผู้ประกาศตัวอยู่ข้างความยุติธรรม แม้สุดท้าย จอห์น แม็คเคน จะไม่เคยไปถึงจุดสูงสุดของสายงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทหาร หรืองานนักการเมือง แต่การจากไปของเขาในวันที่ 24 สิงหาคม 2017 ก็เรียกได้ว่าเป็นการสูญเสียสมาชิกคณะบริหารที่น่ายกย่องคนหนึ่ง พิธีศพของเขาถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ โดยมีการแห่ขบวนศพและเปิดให้ประชาชนได้มาเคารพศพเป็นครั้งสุดท้าย ในพิธีศพอดีตคู่แข่งทางการเมืองอย่าง บารัก โอบามา และจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ได้รับเชิญให้มากล่าวสุนทรพจน์แสดงความอาลัยต่อการจากไปของเขาด้วย น่าเสียดายที่โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้รับเชิญให้มางาน แต่เขาก็ออกมาทวีตแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแม็คเคนอยู่เช่นกัน  
ที่มา