จอห์น แนช: ชีวิต ทฤษฎีเกม และภาพหลอนในหัวของอัจฉริยะผู้พบรักแท้ใน A Beautiful Mind

จอห์น แนช: ชีวิต ทฤษฎีเกม และภาพหลอนในหัวของอัจฉริยะผู้พบรักแท้ใน A Beautiful Mind
“ผมได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต มันอยู่แค่ในสมการลึกลับของคำว่าความรัก ซึ่งสามารถพบได้ด้วยเหตุผลตรรกะนานา ผมมายืนตรงนี้ในค่ำคืนนี้ได้ก็เพราะคุณเท่านั้น คุณคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ผมมีชีวิต คุณคือเหตุผลทุกอย่างของผม” - จอห์น แนช “ชายผู้นี้คืออัจฉริยะ”  ประโยคเดียวสั้น ๆ ที่บรรยายตัวตนของ จอห์น แนช ถูกเขียนลงในจดหมายรับรองเพื่อสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา สถาบันการศึกษาเดียวกับอัจฉริยะของโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และจอห์น วอน นอยแมนน์ แนชได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เขาได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบทฤษฎีเกมที่เปลี่ยนโลกความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการตัดสินใจของฝ่ายต่าง ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ และสามารถนำไปปรับใช้กับสาขาอื่น ๆ อย่างสังคมศาสตร์ การเมือง และชีววิทยาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม อัจฉริยภาพที่ได้มาต้องแลกกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งทำให้เขามีอาการประสาทหลอนจนเกือบหมดอนาคตบนเส้นทางวิชาการ แต่โชคดีที่ยังมีรักแท้จากหญิงใจงามที่ทำให้ได้กลับมามีชีวิตใหม่และอยู่คู่กันจนวันสุดท้าย เรื่องราวความรักที่อยู่เหนือตรรกะและเหตุผลใด ๆ ของอัจฉริยะผู้นี้ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือ และสร้างเป็นภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง A Beautiful Mind (ผู้ชายหลายมิติ) ได้รับรางวัลมากมายจากเวทีออสการ์ และน่าจะเป็นหนังเรื่องหนึ่งในดวงใจของใครหลายคน   อัจฉริยะบนแผ่นฟิล์ม A Beautiful Mind ได้ รัสเซล โครว์ รับบทเป็น จอห์น แนช และเจนนิเฟอร์ คอนเนลลี เล่นเป็น อลิเชีย ลาร์เด นักศึกษาสาวจาก MIT ที่ตกหลุมรักอาจารย์สอนแคลคูลัส จนกระทั่งแต่งงานกันและกลายเป็นตำนานความรักของเรื่องนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวสร้างจากหนังสือในชื่อเดียวกันของ ซิลเวีย แนซาร์ (Sylvia Nasar) เริ่มออกฉายในปี 2001 และได้รับรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี เรื่องราวในหนังเน้นบอกเล่าเหตุการณ์ช่วงที่แนชเริ่มเข้าเรียนต่อที่พรินซ์ตัน และค้นพบทฤษฎีเกม (game theory) แนวใหม่ ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของทุกฝ่าย (win - win) ไม่ใช่ความเชื่อแบบเก่าที่ต้องมีผู้แพ้ - ผู้ชนะแบบผลลัพธ์เท่ากับศูนย์เสมอไป (zero -  sum games) ทฤษฎีนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้ร่วมงานกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น และได้เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (MIT) ก่อนพบรักกับอลิเชีย และแต่งงานมีทายาทด้วยกัน นอกจากนี้ หนังยังเล่าถึงอาการผิดปกติทางประสาทที่ทำให้แนชเห็นภาพหลอนตั้งแต่เข้าเรียนที่พรินซ์ตัน จนอาการเริ่มทรุดหนักต้องเข้าโรงพยาบาล และลาออกจากอาจารย์ประจำ แต่สุดท้ายก็เอาชนะโรคร้ายได้ด้วยความรักจากอลิเชีย ก่อนจบลงด้วยการกลับเข้าทำงานในมหาวิทยาลัย และได้รางวัลโนเบล แม้บางฉากในหนังจะถูกแต่งเติมเสริมเนื้อหาให้ต่างจากชีวิตจริงเพื่อเพิ่มความสนุกตื่นเต้นและดราม่า แต่อัจฉริยะเจ้าของเรื่องราวตัวจริงยอมรับว่า รัสเซล โครว์ รับบทเป็นตัวเขาได้ดี และภาพยนตร์เรื่องนี้มีการดัดแปลงชีวิตเขาได้อย่างมีศิลปะ   อัจฉริยะในโลกจริง จอห์น แนชในชีวิตจริงมีชื่อเต็มว่า จอห์น ฟอร์บส แนช จูเนียร์ (John Forbes Nash Jr.) เกิดวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ที่เมืองบลูฟิลด์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ บิดามีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้า ส่วนมารดาเป็นครูสอนภาษาละติน แนชในวัยเด็กแม้จะไม่ใช่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ แต่เขาฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่สมัยไฮสคูล โดยเริ่มสนใจคณิตศาสตร์จากการอ่านหนังสือ Men of Mathematics ของเอริก เทมเพิล เบลล์ และสามารถแก้โจทย์เลขอันแสนยากจากทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มา (Fermat’s Last Theorem) ได้ด้วยตนเอง หลังจบไฮสคูล แนชเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่คาร์เนกีเทค (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน) ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ตามรอยบิดา แต่ต่อมาต้องย้ายมาเรียนคณิตศาสตร์ตามความถนัด เพราะไม่ชอบกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดของสาขาวิศวกรรม แนชเรียนจบปริญญาตรีและโทสาขาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ก่อนเข้าเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในปี 1948 โดยยุคนั้นเด็กอเมริกันหลายคนล้วนใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนที่พรินซ์ตัน เพื่อจะได้พบกับนักฟิสิกส์ชื่อดังอย่างไอน์สไตน์ หรือ จอห์น วอน นอยแมนน์ อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ของโลก ศาสตราจารย์ริชาร์ด ดัฟฟิน อาจารย์ที่คาร์เนกีเทค คือผู้เขียนจดหมายรับรองให้กับแนชด้วยประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวว่า “ชายผู้นี้คืออัจฉริยะ” และทำให้แนชได้เรียนต่อที่พรินซ์ตัน เพื่อพิสูจน์ตนเอง   ดุลยภาพแนช แนชใช้เวลาเพียง 2 ปีที่พรินซ์ตัน ในการคิดทฤษฎีเกมแบบไม่ร่วมมือกัน (non - cooperative game theory) หรือที่รู้จักกันในชื่อ จุดดุลยภาพแนช (Nash equilibrium) ซึ่งมีคอนเซปต์ง่าย ๆ แต่เป็นเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญในการใช้วิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันต่าง ๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในเชิงวิชาการกับสาขาอื่นได้อีกมากมาย จุดดุลยภาพแนชเป็นการต่อยอดการแก้ปัญหาทฤษฎีเกมแบบ zero - sum ในหนังสือคลาสสิก Theory of Games and Economic Behavior ของ วอน นอยแมนน์ และออสการ์ มอร์เกนสเติร์น สองนักเศรษฐศาสตร์รุ่นพี่ที่พรินซ์ตัน โดยแนชเชื่อว่า การมีปฏิสัมพันธ์กันในโลกความเป็นจริงส่วนใหญ่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น เนื่องจากผลประโยชน์ของผู้เล่นแต่ละฝ่ายอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง และทุกฝ่ายมีโอกาสได้ประโยชน์พร้อมกัน ทฤษฎีใหม่ของแนช ตีพิมพ์ลงในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตนเองตอนอายุ 21 ปี แม้จะมีความยาวเพียง 27 หน้า แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง และเป็นที่มาของการช่วยหยุดยั้งสงครามความขัดแย้ง นำไปสู่ความร่วมมือกันในหลายวงการ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น แนชจบปริญญาเอกจากพรินซ์ตัน ในปี 1950 ขณะมีอายุเพียง 22 ปี และทฤษฎีที่เขาค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการอีก 2 คนในปี 1994 แม้ในภาพยนตร์จะเล่าถึงอาการประสาทหลอนของแนช ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนที่พรินซ์ตัน แต่ความจริงแล้ว โรคหวาดระแวงที่ทำให้เขาประสาทหลอนเพิ่งเริ่มแสดงอาการในปี 1959 หลังจากเรียนจบ และอยู่ในช่วงที่อลิเชียกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก   ป่วยประสาทหลอน หลังจบจากพรินซ์ตัน แนชเข้าทำงานกับ แรนด์ คอร์ปอเรชัน (RAND Corporation) บริษัทที่เป็นคลังสมองคอยให้คำปรึกษาด้านนโยบายกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็รับงานเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่ MIT  ระหว่างที่ชื่อเสียงและหน้าที่การงานของเขากำลังเติบโต แนชกลับมีปัญหาชีวิตส่วนตัวซึ่งในหนังไม่ได้เอ่ยถึง หนึ่งในนั้นคือการมีความสัมพันธ์กับเอเลียนอร์ สเตียร์ พยาบาลสาวในเมืองบอสตัน และมีลูกชายด้วยกัน 1 คน เมื่อปี 1953 นอกจากนั้น แนชยังเคยมีความสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเคยถูกจับข้อหาอนาจารในห้องน้ำชายที่แรนด์ เมื่อปี 1954 และถูกไล่ออกจากงาน ก่อนจะมาพบรักกับ อลิเชีย ลาร์เด หญิงสาวที่อยู่เคียงข้างกันจนวันตาย อลิเชีย เป็นนักศึกษาเอกฟิสิกส์ที่ MIT เธอมาจากตระกูลผู้ลากมากดีในประเทศเอลซัลวาดอร์ และเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียง 16 คน ที่ได้เข้าเรียน MIT ในปี 1955  “เขาหน้าตาดีมาก ๆ และก็ฉลาดมากด้วย” อลิเชียเล่าถึงช่วงที่ตกหลุมรักอาจารย์หนุ่มรูปร่างสูงในห้องเรียนวิชาแคลคูลัสชั้นสูง “จะเรียกว่าเป็นอาการคลั่งวีรบุรุษก็ว่าได้” ทั้งคู่เข้าพิธีวิวาห์ในปี 1957 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา แนชเริ่มมีอาการประสาทหลอนจากโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) ทำให้เขาต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และไม่สามารถทำหน้าที่อาจารย์สอนหนังสือได้   อยู่เคียงข้างกันจนวันตาย แนชเข้ารับการรักษาด้วยอินซูลิน และต้องนอนโรงพยาบาลนาน 50 วัน หลังจากนั้นเขายังคงเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอีก 2 - 3 ปี จนทำให้มีปัญหาชีวิตคู่ และตัดสินใจหย่าร้างกับอลิเชีย ในปี 1963 อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งคู่จะเลิกรากันทางกฎหมาย แต่อลิเชียก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขาไปไหน เธอยังคงคอยดูแลเป็นกำลังใจให้แนชไม่เคยห่าง และต้องทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์เพื่อหาเงินมาดูแลอดีตสามีและเลี้ยงดูลูกชายไปพร้อมกัน จนสุดท้ายตัดสินใจกลับมาแต่งงานกันใหม่ในปี 2001 หลังจากแนชหายดี และได้กลับเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่พรินซ์ตัน “ผมได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต มันอยู่แค่ในสมการลึกลับของคำว่าความรัก ซึ่งสามารถพบได้ด้วยเหตุผลตรรกะนานา ผมมายืนตรงนี้ในค่ำคืนนี้ได้ก็เพราะคุณเท่านั้น คุณคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ผมมีชีวิต คุณคือเหตุผลทุกอย่างของผม” แนชกล่าวขอบคุณภรรยาคู่ใจที่เป็น A Beautiful Mind ตัวจริง ระหว่างที่เขาขึ้นรับรางวัลโนเบล ทั้งคู่เสียชีวิตพร้อมกันจากอุบัติเหตุทางถนนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2015 ขณะฝ่ายชายมีอายุ 86 ปี ส่วนฝ่ายหญิงอายุ 82 ปี โดยแท็กซี่ที่ทั้งสองคนนั่งมาเกิดเสียหลักพุ่งชนขอบทางและรถยนต์อีกคัน ทำให้เขาทั้งสองกระเด็นออกนอกรถจนเสียชีวิต จอห์น แนช และอลิเชีย จากโลกนี้ไปเคียงข้างกัน และนั่นคือฉากสุดท้ายในชีวิตของอัจฉริยะนักคณิตศาสตร์จอมทรหด ผู้ก้าวผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกือบทำลายอนาคตด้วยพลังแห่งความรักที่อยู่เหนือทฤษฎีใด ๆ ไม่ว่า จอห์น แนช จะได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะผู้มีความฉลาดเก่งกาจแค่ไหน ดูเหมือนสุดท้ายสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป นั่นคือความรักความเอาใจใส่จากหัวใจอันงดงาม หรือ A Buautiful Mind ของคนข้างกายจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/2015/05/25/science/john-nash-a-beautiful-mind-subject-and-nobel-winner-dies-at-86.html https://www.wsj.com/articles/john-nash-mathematician-in-a-beautiful-mind-dies-in-crash-1432489334 https://www.theguardian.com/science/2015/may/25/john-nash https://edition.cnn.com/2015/05/24/us/feat-john-nash-wife-killed/index.html   ภาพ: VCG / Gettyimages