จอห์น ซัตเทอร์ ผู้เฒ่าจากเพลงคันทรี Sutter’s Mill ที่นำไปสู่การ “ตื่นทอง”

จอห์น ซัตเทอร์ ผู้เฒ่าจากเพลงคันทรี Sutter’s Mill ที่นำไปสู่การ “ตื่นทอง”

ผู้เฒ่าจากเพลงคันทรี Sutter’s Mill ที่นำไปสู่การ “ตื่นทอง”

“In the Spring of Forty-seven

So the story, it is told

Old John Sutter went to the mill site

Found a piece of shining gold.”

“เมื่อฤดูใบไม้ผลิในปี 47

มีเรื่องเล่ากันว่า

ผู้เฒ่า จอห์น ซัตเทอร์ ได้เดินทางไปที่โรงเลื่อยของเขา

แล้วก็ได้พบกับชิ้นส่วนทองคำที่เปล่งประกาย

 

หลายคนคงคุ้นเคยกับเนื้อหาเพลง Sutter’s Mill ของนักร้องคันทรี แดน ฟอเกลเบิร์ก ที่นำเอาตำนานการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ตื่นทองในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในแคลิฟอร์เนีย มาร้อยเรียงเป็นทำนองเพลง แต่ข้อเท็จจริงอาจจะต่างจากเนื้อหาในเพลงอยู่เล็กน้อย

 

หนีความล้มเหลวมาแสวงโชคในโลกใหม่

ผู้เฒ่าจอห์น ซัตเทอร์ ในเพลงนี้ เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เขาเป็นชาวสวิสเชื้อสายเยอรมันที่ทิ้งลูกทิ้งเมียหนีหนี้ในบ้านเกิดมาแสวงโชคในโลกใหม่ เขาเดินทางมาถึงแคลิฟอร์เนียในปี 1839 (พ.ศ. 2382) ซึ่งสมัยนั้นแคลิฟอร์เนียยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก

ซัตเทอร์สามารถโน้มน้าว ฮวน เบาติสตา อัลวาราโด (Juan Bautista Alvarado) ข้าหลวงเม็กซิโก ให้มอบเนื้อที่ขนาดเกือบ 50,000 เอเคอร์ บริเวณแม่น้ำซาคราเมนโตให้เขาสร้างค่ายอาณานิคม ซึ่งเป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ ซัตเทอร์สฟอร์ต (Sutter’s Fort) เดิมทีเขาเรียกมันว่า “Nueva Helvetia” หรือสวิตเซอร์แลนด์ใหม่ โดยบอกว่าที่นี่จะเป็นปราการที่ช่วยยับยั้งการแทรกซึมของพวกอเมริกันที่จะเข้ามาในอาณานิคมของเม็กซิโก รวมไปถึงโจรผู้ร้ายและชนพื้นเมืองอเมริกัน

 

ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

แต่แทนที่ซัตเทอร์จะทำตามสัญญา เขากลับมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้อพยพจากอเมริกาย้ายมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนอาณานิคมใหม่ และแม้จะมีหนี้สินล้นพ้น ซัตเทอร์ยังให้การต้อนรับผู้อพยพเป็นอย่างดี เนื่องจากเขาต้องการดึงดูดคนท่ี่จะเข้ามาเป็นแรงงาน และลูกค้าที่จะมาซื้อที่ดิน สินค้าและบริการในอาณาจักรของเขา

การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจให้กับทางเม็กซิโก และมันก็เป็นอย่างที่ทางเม็กซิโกคาดการณ์ ไม่ทันไร บรรดาผู้อพยพอเมริกันหน้าใหม่พากันก่อกบฏ ซึ่งตอนแรกซัตเทอร์ก็ยังแสดงความภักดีต่อเม็กซิโก ก่อนที่จะแปรพักตร์หันไปให้ความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เปิดช่องให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามายึดครองแคลิฟอร์เนีย

 

“Found a piece of shining gold”

ในระหว่างนั้นอาณานิคมของซัตเทอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องใช้ไม้เป็นจำนวนมาก เขาจึงตัดสินใจสร้างโรงเลื่อยแห่งใหม่ขึ้นมารองรับ เขาจ้าง เจมส์ มาร์แชล ช่างไม้และช่างยนต์จากนิวเจอร์ซีเข้ามาดูแลการก่อสร้าง และในช่วงปลายเดือนมกราคม 1848 ระหว่างที่เข้าไปดูความคืบหน้าในการก่อสร้าง มาร์แชลก็ได้พบกับเศษทองคำเข้าโดยบังเอิญ

ในขณะที่เนื้อเพลงของฟอเกลเบิร์กบอกว่าซัตเทอร์เป็นคนพบทอง และนำทองไปให้ชาวบ้านดูจนทำให้เกิดการตื่นทอง ในบันทึกของซัตเทอร์กลับบอกไปในทางตรงกันข้าม

ซัตเทอร์เล่าว่า เมื่อมาร์แชลเจอทองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นทองจริงหรือเปล่าก็เลยเอามาให้เขาดู เมื่อได้ลองพิสูจน์แล้วเขาก็เชื่อแน่ว่ามันเป็นทองจริง เขาและมาร์แชลพยายามปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ และได้กำชับคนงานว่าอย่าเอาเรื่องนี้ไปบอกใคร เพราะตอนนี้เขากำลังขยายกิจการเพิ่มเติม หากชาวบ้านพากันรู้ว่าที่แถวนี้มีสายแร่ทองก็กลัวว่าจะแตกตื่นละทิ้งงานไปขุดทองกันหมด

 

“The words like wildfire spread”

อย่างไรก็ดี เขาไม่อาจห้ามปรามคนงานได้ ข่าวการพบทองค่อยๆ เป็นที่รับรู้ไปทั่วทั้งโลกใหม่ไปจนถึงชาวบ้านในโลกเก่า (โดยเฉพาะชาวจีน) เริ่มจากการรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น ไปสื่อระดับชาติ ถึงเดือนธันวาคม 1848 (สมัยนั้นการเดินทางของข้อมูลยังช้ากว่ายุคโซเชียลสมัยนี้เยอะ)  รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้รายงานต่อสภาคองเกรสยืนยันการพบทองที่แคลิฟอร์เนีย ก่อให้เกิดกระแสตื่นทองอย่างบ้าคลั่ง

นักขุดทองจากฝั่งตะวันออกต้องเดินทางด้วยเรือ อ้อมแหลมเคปฮอร์นบริเวณใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ บ้างก็เลือกเดินทางข้ามทิวเขาจากชายฝั่งแอตแลนติก เพื่อไปหาเรือต่อในฝั่งแปซิฟิกบริเวณคอคอดปานามา (ซึ่งยังไม่มีการขุดคลองเชื่อม) หรือไม่ก็เดินทางทางบกเป็นระยะทางกว่า 3 พันกิโลเมตร และการเดินทางอันยากลำบากก็เป็นเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะอหิวาต์ยิ่งกว่าการถูกฆ่าโดยชนพื้นเมือง

จำนวนของนักขุดทองได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าจากเพียง 4,000 คนในช่วงเดือนสิงหาคม 1848 อีกหนึ่งปีต่อมานักแสวงโชคที่ถูกเรียกว่า “Forty-niners” (ตามปีที่พวกเขาอพยพเข้ามา) ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 คน ถึงปี 1853 จำนวนนักแสวงโชคก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 250,000 คน

ช่วงเวลาดังกล่าวมีการคาดการณ์กันว่าทองคำที่ถูกนำออกไปมีมูลค่ารวมกันกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ แต่คนที่ร่ำรวยจากการขุดทองก็ไม่ได้มีมากมาย หลายคนเดินทางมาโดยไม่ได้เตรียมตัวรับกับสภาพความเป็นอยู่อันเลวร้าย ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ  บ้างจึงละทิ้งความฝันที่จะขุดหาทองคำ แล้วลงหลักปักฐานทำกิจการอื่นๆ แทน

 

จากแดนเถื่อนสู่รัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

แคลิฟอร์เนียตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐฯ หลังสงครามกับเม็กซิโก แต่แคลิฟอร์เนียก็ยังเป็นแดนเถื่อนไร้กฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการจัดตั้งฐานอำนาจรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นมา ผู้ที่มีทรัพย์สินแต่ไม่มีกำลังจึงถูกข่มเหง นักขุดทองที่เจอทองมักจะถูกรุมล้อมช่วงชิงโดยนักขุดทองรายอื่นๆ

แต่เมื่อทองที่เข้าถึงได้ง่ายค่อยๆ ร่อยหรอลง นักขุดทองชาวบ้านทั่วไปก็ถูกแทนที่ด้วยผู้ประกอบกิจการที่มีการจัดองค์กรและการเงินอย่างเป็นระบบ ชุมชนที่มีการรวมกลุ่มอย่างไร้กฎหมายก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยชุมชนที่มีอำนาจรัฐกำกับดูแล มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งแคลิฟอร์เนีย และสภาคองเกรสก็มีการรับรองให้แคลิฟอร์เนียมีสถานะเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ในปี 1850

หลังจากพ้นจุดพีกของการตื่นทอง ชุมชนหลายแห่งที่พึ่งพารายได้จากนักขุดทองอย่างเดียวถูกทิ้งให้กลายเป็นเมืองร้าง เมื่อมีการพบแร่เงินในเนวาดาเมื่อปี 1859 นักขุดทองก็โยกย้ายไปหากินในถิ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีชุมชนที่ชาวบ้านตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรจากแรงจูงใจในโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ อย่างการค้าและการเกษตร

ส่วน จอห์น ซัตเทอร์ เจ้าของโรงเลื่อยที่นำไปสู่การตื่นทองต้องพบกับความล้มเหลวอย่างที่สุด เมื่อที่ดินของเขาถูกรุกรานด้วยกองทัพนักแสวงโชค ความเอื้อเฟื้อต่อผู้ตั้งรกรากใหม่ชาวอเมริกันของเขาถูกหลงลืม ทรัพย์สินของเขาถูกปล้นหรือไม่ก็ถูกทำลาย รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่รับรองสิทธิในที่ดินที่เขาได้รับจัดสรรจากเม็กซิโก

 

กระทั่งปี 1852 หรือเพียงสี่ปีหลังจากการค้นพบทอง ซัตเทอร์ก็ถึงคราวล้มละลาย