Joker 2019: “โจ๊กเกอร์” ราษฎรก็อตแธมเต็มขั้น

Joker 2019: “โจ๊กเกอร์” ราษฎรก็อตแธมเต็มขั้น
(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)   เชื่อไหมครับว่าโลกเราทุกวันนี้กำลังวนกลับไปสู่ความวิบัติฉิบหาย องคาพยพทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม ดิ่งเหวโดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ยักษ์ใหญ่ไล่กินปลาตัวเล็ก ๆ ช่องว่างระหว่างคนรวย-จนห่างกันในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ คนรวยยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่พวกเขารวยขึ้นมาก ๆ ต่างหาก มีเพียงชนชั้นล่างที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน  สังคมสองมาตรฐาน ความยุติธรรมเลือกข้าง คุณผิดตั้งแต่เกิด ชะตากรรมไม่อาจเปลี่ยนแปลง คุณสู้แทบตายเพื่อลืมตาอ้าปากแต่คนบางกลุ่มยังมีสิทธิขาดชี้หน้าด่ากราด ตัดสินคุณว่ายังไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่ขยันพอ ทั้งจนและโง่ คุณเริ่มโกรธแค้นสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทางหนี ไม่มีทางออก ยิ่งสำเหนียกตัวว่าเป็นเบี้ยตัวเล็ก ๆ ไร้ค่าบนกระดานเศรษฐี คุณยิ่งเกรี้ยวกราด ระบบทุนนิยมและความดีนิยมกำลังกดทับคุณให้บี้แบน ถ้าไม่ใช่คนดี คุณก็ไม่ต่างอะไรกับสวะในคลองเน่า ๆ ผมกำลังพูดถึง “ก็อตแธม” นะครับ เมืองสมมตินี้มีทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และ “คุณ” ที่ผมกำลังพูดถึง ก็คือ “โจ๊กเกอร์”  .......  โจ๊กเกอร์ เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นโดย บิลล์ ฟิงเกอร์, บ็อบ เคน และ เจอร์รี โรบินสัน ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิค  Batman #1 เมื่อปี 1940 โจ๊กเกอร์ฉบับแรกสุดนี้คืออาชญากรตัวฉกาจ เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ใช้กรดพิษฆ่าคน เหยื่อทุกศพจะ “ยิ้มร่า” เป็นเครื่องหมายว่านี่คือฝีมือโจ๊กเกอร์  วายร้ายตัวเอ้รายนี้ถูกกำหนดให้ควรจะตายในคอมิคเล่มนั้นไปแล้ว ทว่า วิทนีย์ เอลล์สเวิร์ธ บรรณาธิการของเล่มไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าแบทแมนควรมีคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ และโจ๊กเกอร์คือคนที่เหมาะสมที่สุด ทศวรรษ 1930 นั้นเป็นทศวรรษแห่งความวิบัติของอเมริกาและทั่วโลก สงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไม่นาน เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงเวลาแห่งความยากจนข้นแค้นนี่เอง เกิดอาชญากรรมชื่อดังมากมาย บอนนี แอน ไคลด์, จอห์น ดิลลิงเจอร์, จอร์จ “แมชชีน กัน” เคลลี ฯลฯ ล้วนโด่งดังจากการปล้น ฆ่า เป้าหมายคือพวกคนรวยในสังคม ส่วนหนึ่งของอาชญากรเหล่านี้กลายเป็นฮีโร่ในสายตามวลชน ..การถือกำเนิดของโจ๊กเกอร์ จึงเกิดมาในห้วงเวลาแห่งกลียุคของอเมริกา  ....... เช่นเดียวกับการกำเนิดของโจ๊กเกอร์ใน Joker (2019, ผู้กำกับ: ท็อดด์ ฟิลิปส์) หนังให้ฉากหลังของเรื่องดำเนินในปลายทศวรรษ 70 ทีวีมีบทบาทเข้าถึงในบ้านเรา คนดังใช้ทีวีเป็นสื่อสร้างภาพให้ตัวเอง ตั้งแต่พิธีกรรายการทอล์กโชว์ (เมอเรย์ แฟรงคลิน) จนถึงนักการเมืองท้องถิ่น (โทมัส เวย์น) คุณสามารถเป็นคนดีและดังได้พร้อม ๆ กันถ้าคุณออกทีวี เรารู้จัก “อาเธอร์ แฟลค” ชายผู้ที่กำลังจะกลายเป็นโจ๊กเกอร์ในตอนท้ายของหนัง นี่เป็นสิ่งที่คนดูรู้ดีแน่ชัดก่อนจะก้าวเข้าโรงด้วยซ้ำ ภาพแรกที่เราเห็นเขาคือเป็นตลกถือป้ายหน้าร้านโชห่วยที่กำลังเจ๊ง วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งแย่งป้ายเขาไป เขาวิ่งตาม พวกมันล่อเขาเข้าซอยเปลี่ยวแล้วรุมกระทืบเขา ... อาเธอร์ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และเราก็รู้สึกเจ็บปวดไปกับเขาด้วย อาเธอร์อาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วยในอะพาร์ตเมนต์เส็งเคร็ง มีความฝันอยากจะเป็นดาวตลก เพราะเชื่อว่าการสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่นจะทำให้ตัวเองมีความสุข แต่เขามีอาการป่วยประหลาดที่ไม่มีใครเข้าใจ ทุกครั้งที่เขารู้สึกเครียดหรือกดดัน เขาจะหัวเราะอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้  ปลายทศวรรษ 70 ในอเมริกาเป็นดั่งกลียุคอีกครั้ง ประเทศเพิ่งเผชิญความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม เศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมสูงลิ่ว คนรวยล้นฟ้า คนตกงานเป็นประวัติการณ์ รัฐเลือกตัดระบบสวัสดิการพื้นฐานของคนจนเพื่อเซฟภาระคงคลังของประเทศ อาเธอร์จะไม่ได้รับยาและคำปรึกษาทางแพทย์อีกต่อไป เขาต้องเผชิญอาการป่วยประหลาดนี้อย่างโดดเดี่ยว  “หัวเราะทั้งน้ำตา” อาจเป็นคำนิยามที่เหมาะกับโจ๊กเกอร์ฉบับนี้มากที่สุด เมืองก็อตแธมในหนังก็คือเมืองกินคน คนไม่เท่ากัน อาเธอร์เป็นตัวตลกจริง ๆ ในสายตาคนอื่น เพราะนิสัยแปลกประหลาด หน้าตารูปร่างชวนสะพรึง บุคลิกไม่น่าวางใจ คุณไม่อยากให้คนคนนี้อยู่ใกล้ลูกคุณแน่ และคุณคงไม่เที่ยวบอกใครต่อใครว่าคุณรู้จักเขา ไม่มีใครนับอาเธอร์เป็นเพื่อนด้วยซ้ำตลอดทั้งเรื่อง เขาเลยสร้างจินตนาการขึ้นมา สร้างโลกอีกใบ... Joker 2019: “โจ๊กเกอร์” ราษฎรก็อตแธมเต็มขั้น โลกที่ใคร ๆ มองเห็นเขาเป็นคนปกติคนหนึ่ง มีชีวิตเรียบง่ายตามมาตรฐานที่สังคมยอมรับ มีงานทำ มีคนรัก มีคนเห็นคุณค่า สามสิ่งพื้นฐานนี้ที่เขาถวิลหา แต่ไม่เคยได้รับมัน เขาหนีความจริงไปกับรายการตลก เสียงหัวเราะทำให้เราลืมเรื่องเลวร้ายในชีวิตได้ เสียงหัวเราะทำให้เรื่องแย่ ๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดา ...อาเธอร์หัวเราะเพื่อลืมว่าตัวเองเป็นใคร และแล้วโลกของอาเธอร์ก็พังทลาย  ..... Joker เป็นหนังในระนาบเดียวกับหนังไทยอย่าง “ชีวิตบัดซบ” (1976, เพิ่มพล เชยอรุณ), “ทองพูน โคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น” (1977, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) และ “คนกลางแดด” (1979, คิด สุวรรณศร) ตลกร้ายอีกประการก็คือฉากหลังของหนังก็อยู่ร่วมในยุคสมัยที่หนังไทยข้างต้นกำลังออกฉายอยู่ (เช่นเดียวกับหนังฮอลลีวูดที่ Joker ใช้เป็นต้นแบบหลักอย่าง Taxi Driver (1976, มาร์ติน สกอร์เซซี)   เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ หนังข้างต้นนี้ฉายความคับแค้นคั่งในอกของคนหลัง 6 ตุลาฯ คนที่รับรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคม แต่ไร้ทางออกในโลกความเป็นจริง ตัวละครในหนังทั้งสามเรื่องจึงใช้ความรุนแรงเอาคืน ตาต่อตาฟันต่อฟัน เพื่อพบว่าชีวิตจริงมันไม่เหมือนในหนังบู๊ ทั้งสามถูกจับกุม ดำเนินคดีและกลายเป็นผู้ร้ายในท้ายสุด กฎหมายและความยุติธรรมไม่ได้อยู่ข้างคนถูกต้องเสมอไป  คำถามสำคัญของยุคสมัยนั้นคือ เราเกิดมาเพื่อรับใช้อะไร? รับใช้สังคมที่ไม่เคยเหลียวแลเรา? รับใช้คนที่คอยหาผลประโยชน์จากเรา? รับใช้อุดมการณ์ที่มีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง?  ..... คำถามของอาเธอร์ แทบไม่ต่างกับคำถามของทองพูน ทำไมเขาต้องถูกกระทำแบบนี้ ทำไมไม่มีใครยื่นมือช่วยเหลือ ทำไมกฎหมายถึงเลือกข้างคนผิด และทั้งคู่ก็ได้คำตอบเดียวกัน เพราะพวกเขาเป็น “คนนอก” ทองพูนเป็นคนอีสาน เป็นคนจน การเป็นคนดีไม่มีค่าอะไรกับเขา พอ ๆ กับที่อาเธอร์พบว่าต่อให้ตัวเองเกิดในเมืองนี้ โตที่เมืองนี้ แต่เขาก็ยังเป็นคนนอกของเมืองนี้ การยอมรับอย่างภาคภูมิว่าเขาเป็นคนเมืองก็อตแธมโดยกำเนิดกลายเป็นเรื่องตลก เพราะคนก็อตแธมส่วนใหญ่ไม่รับเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอันภาคภูมินี้ สังคมศิวิไลซ์ที่มีเพียงคนรวยและคนดีได้ออกทีวี อาเธอร์เป็นลูกรับมาเลี้ยง เป็นสิ่งแปลกปลอมนอกระบบสืบทอดทางสายเลือด อาเธอร์โหยหาการยอมรับ การได้เป็นคนที่เขาเป็นจริง ๆ ไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ ไม่ต้องคอยเอาใจพวกระยำที่ไม่เคยเหลียวแล  สังคมต้องการความเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยความรุนแรงถึงจะเกิดผลแท้จริง นี่เป็นสิ่งที่อาเธอร์เชื่อ สิ่งที่ฝังอยู่ในสังคมอเมริกันมาตลอดนับแต่ยุคตะวันตก ความรุนแรงเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในฉับพลัน กฎปืนศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมาย ความตายเสียงดังกว่าความจริง  Joker 2019: “โจ๊กเกอร์” ราษฎรก็อตแธมเต็มขั้น แม้หนังจะวางตัวเองอยู่ในปลายทศวรรษ 70 แต่ก็สอดรับกับสภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างแนบสนิท ยุคสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกมองเป็นวิกฤตทางสังคมอเมริกัน ความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำแตกแยกทั่วประเทศ ทีวีและสื่อสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการความจริงอีกแล้ว พวกเขาต้องการอะไรก็ตามที่มันเรียกร้องความสนใจคนหมู่มาก ความตายและความรุนแรงเป็นเรื่องอันดับต้น ๆ ที่เรียกร้องความสนใจคนได้เสมอ ข่าวหน้าหนึ่งมักมีแต่ความตาย ชีวิตฉิบหายของคนดัง  น่าสนใจว่าฉากท้ายๆ ของหนัง ความตายของโทมัส เวย์น กับการยิงฆ่าคนออกจอทีวีของอาเธอร์ในนาม “โจ๊กเกอร์” ข่าวไหนจะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ ข่าวไหนจะออกทีวีทุกเช้าในเช้าวันถัดไป โดยไม่คาดคิด ฉากจบของหนัง กำลังพาเราคนดูไปสู่อรุณรุ่งใหม่ ที่ก็อตแธมไม่มีวันเหมือนเดิมอีกตลอดกาล... ......  ถ้าดูหนังเรื่องนี้จบแล้วคุณรู้สึกโกรธ โกรธสังคม เกลียดความอยุติธรรม หรือแม้แต่เกลียดหนังที่มันทำให้คุณรู้สึกชิงชังอะไรต่ออะไรได้มากมายเหลือเกิน อย่าได้รู้สึกผิดหรือโทษตัวเองเลย  หนังจงใจทำให้ “โคตรวายร้าย” (supervillain) มีความเป็นมนุษย์มาก ๆ ทำให้คุณสงสารเห็นใจและเลยเถิดถึงขั้นเอาใจช่วย กระอักกระอ่วนเมื่อเขาข้ามเส้นศีลธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า บีบคั้นหัวใจคุณจนวินาทีสุดท้าย เพราะคนทำนั้นรู้ดีว่า... ส่วนเสี้ยวของอาเธอร์ หรือ “โจ๊กเกอร์” อยู่ในตัวพวกเราทุกคน   เรื่อง: ชาญชนะ หอมทรัพย์