โจโค วิโดโด ผู้ใช้ดนตรีปลุกเร้าตัวเองเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชันในประเทศอินโดนีเซีย

โจโค วิโดโด ผู้ใช้ดนตรีปลุกเร้าตัวเองเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชันในประเทศอินโดนีเซีย

ผู้ใช้ดนตรีปลุกเร้าตัวเองเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชันในประเทศอินโดนีเซีย

นี่คือชัยชนะในการเลือกตั้งผู้นำประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งของ “โจโค วิโดโด” หรือชื่อเล่นว่า “โจโควี” อดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา นักธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ และสาวกเพลงเมทัล ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ วิโดโด ได้ 85,607,362 คะแนนเสียง เฉือนชนะ ปราโบโว ซูเบียนโต นายพลเกษียณอายุราชการ ผู้มาพร้อมแนวคิดอิสลามขวาจัด ที่ได้ 68,650,239 เสียง คิดเป็น 55.5% ต่อ 45.5% นั่นทำให้ผู้ท้าชิงจากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ ( PDI-P) ได้เข้ามาบริหารประเทศด้วยความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้ง ต่อเนื่องจากความสำเร็จครั้งแรกในปี 2014 ชายรูปร่างผอมโปร่ง มีรอยยิ้มตลอดเวลา ท่าทางเป็นมิตร ในเวลางาน เขาเป็นที่จดจำจากนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และสร้างสังคมมุสลิมสมัยใหม่ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย นอกเวลางาน ผู้คนมักจะเห็นเขาใส่เสื้อยืดวงเมทัล เข้าไปมันส์กับคอนเสิร์ตร็อคต่างๆ เสมอ จนสื่อมวลชนแทบทุกสำนักตั้งฉายาให้เขาว่า “ผู้นำขาร็อค” การคว้าชัยจากการเลือกตั้งทั้งสองครั้ง ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองให้กับอินโดนีเซีย ที่ประธานาธิบดี ไม่ได้มาจากกองทัพ หรือ ตระกูลชนชั้นนำ แต่มาจากลูกของพ่อค้าเฟอร์นิเจอร์ ฐานะยากจน ในเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าสุราการ์ตา จุดกำเนิดผู้นำขาร็อค บ้านหลังแรกที่โจโควีอยู่ คือกระต๊อบเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโซโล ไม่มีแม้แต่โฉนดที่ดินหรือใบอนุญาตจากรัฐ ลำพังเงินจากการขายของริมถนน ไม่เพียงพอที่จะส่งเสียให้โจโควีได้เรียนมัธยม ด้วยเหตุนี้โจโควีจึงต้องทำงานในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์หาเงินส่งตัวเองเรียนตั้งแต่อายุ 12 ชีวิตวัยรุ่นของโจโควีจึงผูกพันกับ “ไม้” เป็นอย่างมาก ไม่แปลกที่เขาเก็บเงินส่งตัวเองเรียนคณะวนศาสตร์ เพื่อศึกษาเรื่องไม้อย่างจริงจังในมหาวิทยาลัย เขาเรียนจบด้วยการทำธีสิสเรื่อง “ปริมาณการใช้ไม้อัดในมูลค่าการใช้จ่ายขั้นสุดท้ายของประชากรในเทศบาลเมืองสุราการ์ตา” นอกจากไม้แล้ว แพสชันอีกอย่างหนึ่งของโจโควีคือ “ดนตรีเมทัล” ที่เขาตกหลุมรักมันตั้งแต่อายุ 14 “ผมเริ่มฟังเพลงเมทัลตอนอยู่ ม.ต้น ตอนนั้นผมน่าจะอายุ 14 ได้ ผมไม่ได้ฟังเพลงตามเพื่อน มันมาจากวันหนึ่ง ผมเลิกเรียนแล้วเจอวงดนตรีท้องถิ่นของโซโล วงนั้นชื่อ Terancam เล่นแนวแทรช เมทัล เล่นได้แสบหูที่สุดในโซโลเลยล่ะ” ใครจะเชื่อว่า ความยากจน ความรู้เรื่องไม้ และเพลงเมทัล ทั้งสามสิ่งนี้จะหล่อหลอมให้โจโควี เป็นโจโควีอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้   เฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนชีวิต งานแรกที่เขาทำคือเป็นพนักงานในหน่วยงานรัฐด้านป่าไม้ที่เมืองอาเจะห์ ถึงแม้งานราชการจะมั่นคง แต่โจโควีพบว่านี่ไม่ใช่วัฒนธรรมองค์กรที่เขาต้องการ หลังจากที่ทำได้ไม่นาน เขาก็เดินกลับสุราการ์ตา และทำงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของคุณปู่เขา หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจครอบครัวมา 3 ปี โจโควีตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองที่ชื่อ CV Rakabu ที่ตั้งชื่อตามลูกชายคนแรก ในตอนแรกธุรกิจเหมือนจะไปได้สวย ก่อนจะเจอปัญหาเรื่องการทุจริตจนต้องปิดตัวในปี 1990 และนั่นคือบทเรียนสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจหนุ่มตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชัน เขาตัดสินใจสู้ต่อไปด้วยการยืมเงินจากแม่มาเปิดกิจการอีกครั้ง และภายใน 12 ปี เฟอร์นิเจอร์จากโรงงานของเขา ก็ถูกส่งออกไปทั่วโลก โจโควีเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ผู้ก้าวข้ามความยากจนในวัยเด็กของตัวเอง ถึงอย่างนั้น เงินทองและสถานะทางสังคม ยังไม่สามารถเติมเต็มความฝันทั้งหมดในชีวิต ดนตรีเมทัล ที่กลั่นออกมาจากความเจ็บปวดและทุกข์ยากของมนุษย์ มาเป็นบทเพลงที่ดิบเถื่อน รุนแรง ที่โจโควีฟังตั้งแต่วัยรุ่น มันเรียกร้องให้เขาอยากต่อสู้เพื่อคนอื่น “ดนตรีร็อคมันกระแทกใจผม มันปลุกจิตวิญญาณให้ผมใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาคอร์รัปชัน และความยุติธรรมในสังคม… เสียงหวดกลอง ตึก ตึก ตึก มันกระชากวิญญาณผมเลย” และในปี 2002 โจโค วิโดโด ตัดสินใจลงสนามการเมือง   จิตวิญญาณแห่งเกาะชวา ตำแหน่งแรกทางการเมืองของโจโควีคือนายกเทศบาลเมืองสุราการ์ตา บ้านเกิดของเขา ในปี 2005 ที่มาพร้อมกับเคมเปญ “โซโล: จิตวิญญาณแห่งเกาะชวา” ที่พลิกโฉมหน้าเมืองเล็ก ๆ ในยอร์กยาการ์ตา ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม MICE ตลาด, สวนสาธารณะ, ศูนย์การประชุม และระบบขนส่งมวลชน ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างงานและรายได้แก่คนท้องถิ่น เขาศึกษาการพัฒนาเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ และนำการพัฒนาเมืองในยุโรปมาเป็นต้นแบบ โจโควีล้างภาพนักการเมืองที่เป็นผู้ทรงอิทธิพล ที่ชาวบ้านนบนอบด้วยความเกรงใจ เขาเปลี่ยนวิธีการลงพื้นที่ จากที่ท้องถิ่นนั้น ๆ ต้องเสียเงินจัดงานต้อนรับ และพูดคุยกับผู้นำชุมชนระดับสูง ๆ ซึ่งก็จะรายงานแต่เรื่องดี ๆ เพื่อเอาหน้า จนสุดท้ายนายกเทศมนตรีก็ไม่รู้ปัญหาในชุมชนที่แท้จริง มาเป็นวัฒนธรรม blusukan ที่หมายถึงการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โจโควีเดินไปคุยกันคนท้องถิ่นโดยตรงเป็นรายคน เพื่อรับฟังเสียงประชาชนอย่างจริงใจ “ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิศหรอก ปัญหามันอยู่ข้างนอกโน่น ในแต่ละวันผมเลยต้องลงไปพบผู้คน ไปตามท้องถนนด้วยตัวเอง ผมจะได้ถามประชาชนว่าพวกเขาต้องการอะไรได้อย่างถูกต้อง” และหลังจาก 9 ปีกับงานพัฒนาท้องถิ่น เส้นทางการเมืองของอดีตนักธุรกิจจากสุราการ์ตา ก็ก้าวไปอีกขั้น เมื่อเขาเป็นผู้ว่าราชเมืองหลวงของประเทศ ที่ “จาการ์ตา” จาการ์ตา ไม่ต่างจากเมืองหลวงของประเทศกำลังพัฒนาที่อื่น ๆ ทั่วโลก ที่ความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาเด็กขาดการศึกษา จนต้องหันหน้าไปประกอบอาชญากรรม ปัญหาชุมชนแออัดที่คนในพื้นที่เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ เรื่องเหล่านี้มาจากการ “คอร์รัปชัน” ในวงราชการ ที่เป็นมะเร็งร้าย ผลาญงบประมาณแผ่นดินไปให้ผู้มีอำนาจไม่กี่คนหาผลประโยชน์เข้าตัว โจโควีและทีมงานเดิมเข้ามาปฏิรูประบบราชการ สร้างระบบการสอบคัดคนใหม่ ที่โปร่งใส และเปิดเผยคะแนนให้สาธารณะรับรู้ เพื่อตัดปัญหาเส้นสาย เช่นเดียวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินของตัวเอง และคณะทำงาน ให้องค์กรอิสระตรวจสอบ รวมถึงทำโครงการ Open Government ที่ทำให้ข้อมูลงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นถูกอัพขึ้นออนไลน์ ให้คนเข้าถึงง่าย เมื่อลดปัญหาทุจริตลงได้ การจัดสรรปันส่วนงบต่าง ๆ ก็ไปถึงประชาชนมากขึ้นไปด้วย นั่นทำให้เกิดโครงการบัตร Smart Card เพื่อการศึกษา, การกลับมาก่อสร้างรถไฟใต้ดินอีกครั้ง หลังจากชะงักไปในสมัยผู้ว่าคนก่อน และออกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า Healthy Jakarta Card ให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ในราคาถูก จากความสำเร็จดังกล่าว โจโควีตัดสินใจว่า มันถึงเวลาแล้วที่เขาจะขยายผลการทำงานไประดับชาติ   ประธานาธิบดีผู้ไม่มีศักดินา นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 อินโดนีเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ มายาวนานถึง 53 ปี จากเผด็จการอำนาจนิยมของซูการ์โน ตัวแทนจากตระกูลขุนนางเกาะชวา ที่กินเวลา 21 ปี กับเผด็จการทหารโดยนายพลซูฮาร์โตอีก 32 ปี นั่นทำให้ปัญหาคอร์รัปชัน ยักยอกเงินของแผ่นดินมาใช้ส่วนตัว การเล่นพรรคเล่นพวก ให้ครอบครัวตัวเองได้ตำแหน่งโดยไม่คำนึงความสามารถ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พุ่งทะยาน ไม่น่าเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้นำประเทศครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแดนอิเหนา เพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2004 การเลือกตั้งครั้งแรก ประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ได้อยู่ในตำแหน่งมายาวนานถึง 10 ปี จากคนที่ชูธงว่าจะเข้ามาปราบปรามคอร์รัปชัน อำนาจทำให้สุสิโล กลายเป็นนักการเมืองทุจริตไปเสียเอง จากการทำโพลล์ทั่วประเทศ ประชาชนอินโดนีเซียมองว่า คอร์รัปชันคือปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยคะแนน 82% ผู้คนต้องการความหวังครั้งใหม่ และความสำเร็จในการบริหารกรุงจาการ์ตาอย่างโปร่งใส ทำให้โจโควีชนะการเลือกตั้งปี 2014 อย่างถล่มทลาย ตำแหน่งใหญ่ขึ้นไม่ได้ทำให้โจโควีเปลี่ยนไป ผู้คนสามารถเดินเข้าไปทักทายพูดคุยได้อย่างไม่ถือตัว เช่นเดียวกับภาพของเขาใส่เสื้อวงเมทัลไปดูคอนเสิร์ต และเซลฟี่กับแฟนเพลงคนอื่น ๆ เป็นเรื่องที่เห็นจนชินตา   ปัญหาคอร์รัปชันเริ่มแก้ที่ตัวเอง ในการสร้างรัฐบาลที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล สิ่งแรกที่โจโควีทำคือทำตัวเป็นแบบอย่าง ในปี 2014 เมื่อลูกชายของเขาเรียนจบมัธยมที่สิงคโปร์ โจโควีเลือกที่จะบินไปฉลองความสำเร็จด้วยตั๋วเครื่องบินชั้น economy จากสายการบินการูด้า ที่เขาต้องไปเข้าคิวเช็คอินแบบเดียวกับคนอินโดนีเชียทั่วไป แทนที่จะใช้เครื่องบินประจำตำแหน่ง เพราะเขาไม่ต้องการใช้งบประมาณแผ่นดินไปกับเรื่องส่วนตัว “ผมมาเยี่ยมครอบครัว นี่เป็นเรื่องส่วนตัวของผม ไม่ได้มาในฐานะตัวแทนรัฐ ทำไมผมต้องใช้สิทธิพิเศษด้วยล่ะ” ประธานาธิบดีบอกกับนักข่าว เช่นเดียวกับตอนที่ ลาร์ส เลิกเกอ รัสมุสเซิน นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ค มอบของขวัญให้กับโจโควี เป็นแผ่นไวนิลรุ่น limited edition ของ “Metallica” วงเมทัลขวัญใจของ ปธน. อินโดนีเซีย โจโควีไม่ยอมรับของขวัญฟรี ๆ แต่ควักเงินส่วนตัวประมาณ 800 ดอลลาร์ (24,000 บาท) เพื่อซื้อแผ่นไวนิลนั้นเป็นของตัวเอง เพราะถือว่าของขวัญที่นายกฯ เดนมาร์คมอบให้คือทรัพย์สินของรัฐ ถ้าจะเอาไปใช้ส่วนตัวจะผิดหลักธรรมาภิบาล เขาจึงตัดสินใจเสียเงินซื้อมัน จะได้เอาไปเปิดฟังที่บ้านอย่างสบายใจ โจโควีร่วมมือกับองค์กรกวาดล้างคอร์รัปชัน (KPK) จับกุมและดำเนินคดีกับข้าราชการและนักการเมืองทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับกุม เซ็ทยา โนวันโต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รับสินบนเป็นนาฬิกา Richard Mille ราคา 4.4 ล้านบาทและเงินอีก 238 ล้านบาท จากเพื่อนนักธุรกิจ เพื่อหวังให้เซ็ทยาช่วยอำนวยความสะดวกและอนุมัติโครงการบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์เป็นการตอบแทน, การสั่งจำคุก อิดรัส มาฮาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคมในข้อหาคอร์รัปชัน และล่าสุดกำลังสอบสวนประธานของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนโดยมีค่าตอบแทน เป็นต้น และนั่นทำให้อันดับของดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชันของประเทศ สูงขึ้นถึง 20 อันดับ จาก 118 ถึง 88 ตลอดช่วงที่โจโควีตำรงตำแหน่ง แน่นอนว่าชัยชนะในครั้งนี้ จะทำให้ประธานาธิบดีขาร็อคได้สานต่อความสำเร็จของตัวเอง ที่เขาเชื่อว่าการเป็นผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย จะสานฝันนี้ให้เป็นจริง “นี่คือความรับผิดชอบของเราในการพิสูจน์ตัวเอง ให้ชาติอื่นๆ และลูกหลานของเราให้เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสนุก การเมืองคือเรื่องของการสร้างสรรค์ความรู้ และการเมืองคือเสรีภาพ” และเราก็หวังว่าโจโค วิโดโด จะพิสูจน์สิ่งนี้ได้ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สอง ที่มา https://www.theguardian.com/world/2019/may/21/indonesia-election-official-count-hands-victory-to-joko-widodo-as-rival-cries-foul https://www.nytimes.com/2019/04/15/world/asia/indonesia-election-islam.html?module=inline https://asia.nikkei.com/Politics/Indonesia-bribery-cases-weigh-on-Jokowi-s-reform-plans https://www.youtube.com/watch?v=anyAPAgbFeo https://www.bbc.com/thai/international-44204864 https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3005276/indonesia-election-unimpressed-both-jokowi-and-prabowo-32 https://www.brainyquote.com/authors/joko_widodo https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/indonesia-president-draws-praise-and-criticism-for-flying-economy-to-singapore http://time.com/5172101/indonesia-president-joko-widodo-metallica-master-of-puppets/ https://www.academia.edu/9783025/Joko_Widodo_biography_in_english https://www.reuters.com/article/us-indonesia-election-joko-widodo-profil/after-reality-check-indonesias-new-face-in-politics-seeks-second-term-idUSKCN1RQ01R https://thaipublica.org/2014/04/joko-widodo-1/ https://asia.nikkei.com/Politics/Indonesia-bribery-cases-weigh-on-Jokowi-s-reform-plans   เรื่อง: ธัญญานันต์