โจเซฟ พรีสลีย์ นักเทศน์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ "ออกซิเจน"

โจเซฟ พรีสลีย์ นักเทศน์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ "ออกซิเจน"

โจเซฟ พรีสลีย์ นักเทศน์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ "ออกซิเจน"

ในศตวรรษที่ 18 นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าใจกันว่า สารที่ติดไฟได้จะต้องมี "โฟลจิสตัน" (phlogiston) ธาตุที่มีลักษณะเหมือนเปลวไฟเป็นองค์ประกอบด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อกันมานับร้อยปี จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์รายหนึ่งค้นพบ "ออกซิเจน" ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ต้องรื้อถอนทฤษฎีว่าด้วยเรื่องการติดไฟกันขึ้นใหม่ นักวิทยาศาสตร์รายนี้มีชื่อว่า โจเซฟ พรีสลีย์ (Joseph Priestley) นักเทศน์และนักวิทยาศาสตร์จากเกาะอังกฤษ พรีสลีย์เกิดเมื่อ 13 มีนาคม ปี 1733 ที่เบิร์สตัล ฟิลด์เฮด (Birstal Fieldhead) ใกล้กับลีดส์ ในครอบครัวช่างตัดเสื้อที่นับถือลัทธิคาลวิน (Calvinism ลัทธิที่ถือปฏิบัติตามการตีความคำสอนของ ฌอง กาลแว็ง [Jean Calvin] นักเทววิทยาชาวฝรั่งเศสซึ่งมีความเชื่อที่ขัดแย้งกับศาสนจักรแห่งอังกฤษ) ผลของกฎหมายสมัยนั้นที่กีดกันคนนอกความเชื่อ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษได้ แต่เขาก็ได้รับการศึกษาชั้นยอดด้านปรัชญา ภาษา วรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ที่ดาเวนทรี (Daventry Academy สถาบันการศึกษาสำหรับผู้ถือลัทธิอื่นนอกศาสนจักรแห่งอังกฤษโดยเฉพาะ) เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเทศน์และนักการศึกษา การเป็นนักคิดนอกกรอบทำให้เขาเริ่มตั้งข้อสงสัยในทฤษฎีต่างๆ ของศาสนาคริสต์รวมถึงการตีความตามแนวลัทธิคาลวิน และภายหลังเขาก็กลายมาเป็นนักอรรถประโยชน์นิยมรุ่นแรกๆ พรีสลีย์เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายด้านทั้งเทววิทยา ประวัติศาสตร์ การศึกษา สุนทรียศาสตร์ การเมือง รวมถึงวิทยาศาสตร์ เขาหันมาให้ความสำคัญกับงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นในปี 1765 หลังได้พบกับ เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนให้เขาเผยแพร่งานเรื่อง The History and Present State of Electricity, with Original Experiments (ประวัติศาสตร์และสถานะปัจจุบันของไฟฟ้า กับการทดลองต้นฉบับ) จากความสนใจด้านไฟฟ้า พรีสลีย์เริ่มหันมาทำการทดลองทางเคมี โดยระหว่างปี 1772-1790 เขามีงานวิจัยในชื่อ Experiments and Observations on Different Kinds of Air (การทดลองและข้อสังเกตว่าด้วยอากาศ [หรือก๊าซ แต่สมัยนั้นยังเรียกว่า "air"] ชนิดต่างๆ) ออกเผยแพร่มา 6 ชุด และเขาก็เป็นผู้ค้นพบก๊าซหลายชนิด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่เรียกว่าก๊าซแต่เรียกว่า "แอร์" (ทั้งนี้ แม้ก๊าซหลายชนิดจะอยู่ตรงหน้าแต่เราไม่รู้ หรือไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ค้นพบก๊าซในที่นี้จึงหมายถึงผู้ที่สามารถบอกได้ว่าก๊าซชนิดนั้นๆ มีอยู่และมีคุณสมบัติอย่างไร) ชื่อเรียกสมัยนั้นจึงต่างจากปัจจุบันค่อนข้างมาก ตัวอย่างของก๊าซที่พรีสลีย์ค้นพบก็มีเช่น ไนตรัสแอร์ (ไนตริกออกไซด์) หรือไนตรัสแอร์ไวไฟ (inflammable nitrous air ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ไนตรัสออกไซด์ หรือก๊าซหัวเราะ) ที่สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุดก็คือการค้นพบ "ออกซิเจน" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1774 ระหว่างที่เขาเผาเมอร์คิวรีออกไซด์จนได้ก๊าซไร้สี ซึ่งตอนนั้นเขาเรียกว่า "dephlogisticated air" หรืออากาศที่ไม่มีโฟลจิสตัน ทั้งนี้ ตามทฤษฎีโฟลจิสตัน (phlogiston theory) สารที่ติดไฟได้จะมีสองส่วน คือส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "โฟลจิสตัน" (phlogiston) ซึ่งจะหายไปเมื่อธาตุนั้นติดไฟ กับส่วนที่ไม่มีโฟลจิสตัน (หรือ dephogisticated) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อแท้ของสารนั้นๆ เช่น "ถ่าน" ก็คือส่วนที่ถูกเอาโฟลจิสตันออกไปแล้วของ "ไม้" ซึ่งถือเป็นเนื้อแท้ของไม้ ส่วนเหตุที่เขาเรียกออกซิเจนว่าเป็น dephlogisticated air ก็เนื่องจากตามทฤษฎีโฟลจิสตัน เมื่อมีการเผาไหม้โฟลจิสตันก็จะถูกปล่อยออกมา ถ้าอากาศถูกเติมด้วยโฟลจิสตันจนอิ่มตัวก็จะเกิดการเผาไหม้ต่อไม่ได้ ในขณะที่ก๊าซออกซิเจนเป็นก๊าซที่สามารถช่วยการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี เขาจึงเชื่อว่ามันเป็นก๊าซที่ไม่มีโฟลจิสตันอยู่เลย จึงสามารถดึงโฟลจิสตันจากสารตัวอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้น เขาได้เดินทางติดตามเอิร์ลแห่งเชลเบิร์นผู้อุปถัมภ์ (ผู้ว่าจ้างให้เขาเป็นบรรณารักษ์และอาจารย์ประจำครอบครัว ซึ่งเอิร์ลรายนี้ภายหลังยังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี) ไปหลายประเทศในยุโรป เมื่อเดินทางถึงปารีสเขาได้พบกับนักเคมีชาวฝรั่งเศส อองตวน ลาวอยซิเอร์ (Antoine Lavoisier) และบอกเล่าถึงการค้นพบก๊าซชนิดใหม่ให้สหายรายนี้ฟัง ลาวอยซิเอร์จึงได้ลองทำตามและศึกษาก๊าซชนิดนี้อย่างเข้มข้น จนเข้าใจถึงบทบาทของก๊าซชนิดนี้ในการเผาไหม้และการทำปฏิกิริยาเคมีอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน และเป็นผู้ที่ให้ชื่อกับมันว่า "ออกซิเจน" (มาจากรากภาษากรีกหมายถึงตัวการทำให้เกิดกรด เนื่องจากสมัยนั้นเข้าใจกันว่ากรดล้วนมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ) ซึ่งถือเป็นการพลิกความเข้าใจครั้งใหญ่ในวงการเคมี และทำให้ทฤษฎีโฟลจิสตันตกกระป๋องไป ด้วยเหตุนี้ แม้พรีสลีย์จะเป็นคนพบออกซิเจน แต่ชื่อที่ใช้เรียกก๊าซชนิดนี้กลับไม่ใช่ชื่อที่เขาตั้ง นอกจากนี้ว่ากันว่า คาร์ล วิลเฮล์ม ชีเลอ (Carl Wilhelm Scheele) นักวิทยาศาสตร์จากสวีเดนเป็นผู้ค้นพบออกซิเจนก่อนหน้าพรีสลีย์เสียอีก เพียงแต่ชีเลอเผยแพร่ผลงานการค้นพบช้าไปหน่อย (1777) เครดิตจึงตกเป็นของพรีสลีย์ ในบั้นปลายชีวิต พรีสลีย์ต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา หลังออกมาแสดงความเห็นหนุนหลังการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส และยังวิจารณ์ศาสนาอย่างดุเดือด ตั้งคำถามถึงสถานะความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ตั้งข้อสงสัยในการตีความเรื่องตรีเอกานุภาพ (พระเจ้าองค์เดียวที่ปรากฏในฐานะ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์) เขาอ้างว่านักการศาสนาต่างบิดเบือนการตีความพระคัมภีร์สืบต่อกันมา จึงพยายามเรียกร้องให้ชาวคริสต์ย้อนกลับไปหา "แก่นแท้" ของพระศาสนา การกระทำของเขาสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะภาครัฐ ที่ชี้ว่าการกระทำของเขาเข้าข่ายเป็นการปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1791 ซึ่งเป็นวันครบรอบสองปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส บ้านและห้องทดลองของพรีสลีย์ในเบอร์มิงแฮมก็ถูกฝูงชนแห่ง "ศาสนจักรและพระราชา" บุกทำลาย เขาและครอบครัวรอดพ้นอันตรายมาได้ แต่ข้าวของอุปกรณ์ทดลองและบันทึกงานค้นคว้าของเขาส่วนใหญ่ถูกทำลายทิ้งไปจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ พรีสลีย์และครอบครัวก็ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอยู่เนืองๆ ทำให้เขาตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาในปี 1794 ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีทั้งในแวดวงการศึกษาและการเมือง ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1804 ด้วยวัย 71 ปี ที่มา https://www.britannica.com/biography/Joseph-Priestley#ref218490 https://www.brlsi.org/node/18153 https://www.acs.org/content/acs/en/education/whatischemistry/landmarks/josephpriestleyoxygen.html