จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20

จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20
หลายคนคงจะคุ้นเคยกับ ครัวนรก (Hell’s Kitchen) ที่มาพร้อมคำสบถ “Fu*k Off!” ตามแบบฉบับของ ‘กอร์ดอน แรมซีย์’ หรืออาจเป็น ครัวเถื่อน (Regular Ordinary Swedish Meal Time) ฉบับพากย์นรก ที่คนดูมักจะได้เห็นยูทูบเบอร์สวีเดนขว้างปาเครื่องปรุง และวัตถุดิบทำอาหารราวกับไปโกรธใครมา ก่อนที่เขาจะเสิร์ฟอาหารพร้อมประโยคว่า “Dinner is served, bit*hes!” แต่ก่อนที่พ่อครัวหัวร้อนทั้งสองคนจะโด่งดังในศตวรรษที่ 21 หญิงสาวผู้มาพร้อมความอารมณ์ขันและความอารมณ์ดีอย่าง ‘จูเลีย ชายด์’ (Julia Child) ได้เปิดเวทีครัวสุดแปลกขึ้นเป็นครั้งแรกในรายการ ‘The French Chef’ (1963) โดยมีเธอเป็นพิธีกรและแม่ครัวที่ทำให้อาหารฝรั่งเศสอัน ‘ลึกลับ’ กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกพร้อมคำติดปากว่า “Bon appetit!” นอกจากนี้ คนดูในยุคนั้นยังต้องตกตะลึงในความเฮฮาอันเป็นธรรมชาติตั้งแต่ที่เธอหยิบค้อนอันเป้ง มีดปังตอ และเลื่อยขึ้นมาบนโต๊ะเพื่อจะหั่นปลา หรือตอนที่เธอใส่เสื้อกันฝนและกางร่มเพื่อทำผักกาดให้แห้ง รวมไปถึงการโยนกระทะ หม้อ ชาม และอาหารที่ไม่ถูกใจทิ้งไปหลังเคาน์เตอร์ จูเลีย ชายด์ คนนี้นี่แหละ คือผู้ให้กำเนิดครัวนรกที่ปราศจากความหัวร้อน แต่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและความมหัศจรรย์ตั้งแต่ตอนนั้น จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 จากนักเขียนตำราสู่แม่ครัวสายฮาบนหน้าจอทีวี “ฉันคือจูเลีย ชายด์ ฉันก็แค่คนที่ชอบทำให้ครัวมันวุ่นวายก็เท่านั้น โอ๊ะ! หม้อหลุดมือ” น้ำเสียงอันสดใสของแม่ครัวฝรั่งเศสชาวอเมริกันคือสิ่งที่คนดูรายการ The French Chef คุ้นหูกันดี จูเลียเป็นหญิงสาวร่างสูง ไว้ผมสั้นหยักศก สวมเสื้อคอปก และผ้ากันเปื้อนครึ่งตัว ซึ่งเดิมทีเธอเริ่มมีชื่อเสียงมาจากการเขียนตำราอาหารฝรั่งเศส ‘Mastering the Art of French Cooking’ ร่วมกับเพื่อนอีกสองคน ก่อนจะได้วางแผงในเดือนกันยายน ปี 1961 และกลายเป็นหนังสือขายดี 5 ปีซ้อนในเวลาต่อมา โดยการปรากฏตัวบนหน้าจอโทรทัศน์ครั้งแรกของเธอในปี 1962 ก็เป็นไปเพื่อโปรโมตตำราอาหารเล่มแรก ซึ่งจูเลียได้ทำเมนูง่าย ๆ อย่างออมเล็ต หรือไข่เจียวสไตล์ฝรั่งเศสในช่วงที่อัดรายการ แต่ปรากฏว่าความตรงไปตรงมาและอารมณ์ขันของจูเลียกลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของเธอหลังถูกถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 กระแสตอบรับของสาธารณชนที่ชื่นชอบเธอพุ่งสูงขึ้น จูเลียจึงได้กลับมาเป็นดาราหน้ากล้องอีกครั้งเพื่ออัดรายการอาหารของตัวเอง โดยเธอได้รับค่าตอบแทนจำนวน 50 ดอลลาร์ต่อการโชว์หนึ่งครั้ง กระทั่งปี 1963 The French Chef ก็ออกอากาศอย่างเป็นทางการผ่านช่อง WGBH ของเมืองบอสตัน ตามมาด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการกินของชาวอเมริกัน จากที่พวกเขามักจะกินอาหารกระป๋อง ครอบครัวชาวอเมริกันก็เริ่มเข้าครัวทำอาหารกินเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จูเลียแสดงให้คนดูเห็นว่า การทำอาหารเป็นเรื่องที่สนุก และไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด นั่นทำให้รายการของเธอได้รับความนิยมและถูกเผยแพร่ไปมากถึง 96 สถานีทั่วสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นจูเลียยังคงเขียนตำราอาหารออกมาเรื่อย ๆ เพื่อให้ความรู้และเปิดมุมมองใหม่ในด้านการทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ความลึกลับของอาหารฝรั่งเศสหายไป แทนที่ด้วยความนิยมอาหารฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นแทน โดยผลงานของเธอในช่วงหลังได้แก่ Julia’s Kitchen with Master Chefs (1995), Baking with Julia (1996), Julia’s Delicious Little Dinners (1998) และ Julia’s Casual Dinners (1999) นอกจากนี้ หนังสือเล่มสุดท้ายในฐานะอัตชีวประวัติของจูเลีย ชายด์ เรื่อง ‘My Life in France’ ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006 ยังทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักชีวิตส่วนตัวของเธอ และประสบการณ์การเรียนทำอาหารที่ ‘เลอ กอร์ดอง เบลอ’ ปารีสมากขึ้นด้วย จากอดีตสปายสู่นักเรียนเชฟแดนน้ำหอม เนื่องจากรายการอาหารที่จูเลียทำ หลายคนจึงคิดว่าเธอเป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นชาวอเมริกันจากเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีนามสกุลเดิมว่า ‘แม็ควิลเลียมส์’ จูเลียเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1912 เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวที่เพียบพร้อมไปด้วยสถานะทางสังคมและทรัพย์สมบัติ พ่อของเธอ ‘จอห์น แม็ควิลเลียมส์’ เป็นบัณฑิตมากความรู้จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายแรก ๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ ‘จูเลีย แคโรไลน์ เวสตัน’ ผู้เป็นแม่ คือทายาทบริษัทกระดาษ และลูกสาวของรองผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ จูเลียได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียน ‘แคทเธอรีน แบรนสัน’ โรงเรียนสตรีชั้นนำของซานฟรานซิสโก นอกจากนี้เธอยังมีความสามารถโดดเด่นด้านการกีฬาทั้ง ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส รวมไปถึงการล่าสัตว์ และบาสเกตบอล เนื่องจากจูเลียมีความสูงมากถึง 182 เซนติเมตร ด้วยความห้าวเป้ง หัวรั้น และเป็นตัวของตัวเอง จูเลียที่เพิ่งเริ่มงานในแผนกโฆษณาของบริษัทตกแต่งบ้านก็ถูกไล่ออก กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 จูเลียก็เริ่มต้นความฝันใหม่ในการเป็นอาสาสมัครรับใช้ชาติ แต่ภายหลังถูกปฏิเสธจากกองทัพ เธอกลับได้รับหน้าที่สำคัญในการเป็นสปายให้กับสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (OSS) ที่วอชิงตัน โดยรับหน้าที่ส่งต่อเอกสารลับสุดยอดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ กับหน่วยข่าวกรอง นั่นทำให้จูเลียได้โอกาสเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลกทั้งในคุนหมิง จีน โคลัมโบ และศรีลังกา ในปี 1945 จูเลียได้พบรักกับเพื่อนร่วมงานจาก OSS อย่าง ‘พอล ชายด์’ ที่ศรีลังกา เมื่อจบสงครามในเดือนกันยายน 1946 ทั้งคู่ก็เดินทางกลับมายังอเมริกาเพื่อจัดพิธีแต่งงาน กระทั่งปี 1948 พอลได้รับมอบหมายให้เริ่มงานที่สถานทูตอเมริกันในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภรรยาอย่างจูเลียจึงติดตามสามีของเธอไปด้วย แม้ในช่วงแรกจูเลียจะไม่มีเพื่อน แต่หลังจากนั้นเธอก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารชื่อดังระดับโลกอย่าง เลอ กอร์ดอง เบลอ พร้อมเข้าคลาสส่วนตัวกับ ‘Max Bugnard’ เชฟอาหารฝรั่งเศส จนได้เป็นเพื่อนกับ ‘Simone Beck’ และ ‘Louisette Bertholle’ ที่ช่วยเธอเขียนตำราอาหารเล่มแรกอย่าง Mastering the Art of French Cooking ขึ้นมา และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นความรักที่จูเลียมีให้กับอาหารฝรั่งเศส รวมไปถึง ‘เนย’ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 ชีวิตหลังกลายเป็นแม่ครัวซูเปอร์สตาร์ “อืมม์... ฉันว่านี่ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของไข่เจียว เพราะงั้นฉันจะเอามันออกจากกระทะ และบ๊ายบาย” เธอโยนไข่เจียวลงพื้นเสียงดังแผละ นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่จูเลียโยนอาหารที่ทำไม่สำเร็จลงพื้น เพราะเธอโยนสิ่งที่ไม่ต้องการทิ้งอยู่เรื่อย ๆ ทั้งที่นวดขนมปัง หม้อ น้ำ และกระทะ แม้กระทั่งการนวดแป้งของเธอก็ดูจะไม่อ่อนโยนเอาเสียเลย จนคนดูบางกลุ่มมองว่ารายการของเธอมัน ‘ครัวนรก’ ชัด ๆ แถมพวกเขายังมองเธอเป็นเชฟที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สะอาด และไม่ยอมล้างมือ ถึงขั้นมีจดหมายถูกส่งมาในรายการระบุว่า ‘จูเลียเป็นแม่ครัวที่น่ารังเกียจ เพราะเธอชอบหักกระดูก และเล่นกับเนื้อดิบ’  แต่สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ จูเลียได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ว่า เธอเองก็ไม่ค่อยชอบคนที่รักสะอาดจนเกินไปเช่นกัน ทั้งคนเหล่านั้นยังมักแสดงความกังวลว่า อาหารฝรั่งเศสมีปริมาณไขมันที่มากเกินไป ‘แต่มันจะไปยากอะไร ก็แค่รับประทานให้พอดี’ จูเลียแนะนำ จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 จากความโด่งดังในฐานะแม่ครัวและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ จูเลียได้รับรางวัล ‘George Foster Peabody Award’ ในปี 1965 ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับความเป็นเลิศด้านวิทยุและโทรทัศน์ และได้รับรางวัล ‘Emmy Award’ รางวัลแห่งวงการโทรทัศน์ของอเมริกาในปี 1966 นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศแห่งการทำอาหาร ‘Culinary Institute Hall of Fame’ ในปี 1993 เมื่อถึงปี 2002 จูเลียได้มอบครัวของเธอ รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำอาหารให้แก่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สมิธโซเนียน (Smithsonian’s National Museum of American History) เพื่อจัดแสดงเป็นมรดกของชาติต่อไป และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี จูเลีย ชายด์ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคไตวายในเดือนสิงหาคม ก่อนวันเกิดอายุ 92 ปี เพียง 2 วัน จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นในปี 2009 ชีวิตของจูเลียก็ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์สารคดี คอมเมดี-โรแมนติกเรื่อง ‘Julie & Julia’ กำกับโดย ‘โนรา แอฟรอน’ (Nora Ephron) โดยเนื้อหาถูกดัดแปลงมาจากหนังสือ ‘Julie & Julia: 365 Days, 524 Recipes, 1 Tiny Apartment Kitchen’ เขียนโดย ‘จูลี โพเวลล์’ (Julie Powell) ส่วนตัวภาพยนตร์ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง ‘เมอรีล สตรีป’ (Meryl Streep) มารับบทเป็น จูเลีย ชายด์ และ ‘เอมี่ อดัมส์’ (Amy Adams) รับบทเป็น จูลี โพเวลล์ เรื่องราวทั้งหมดเป็นการนำเสนอ ‘สองเรื่องจริง’ ของหญิงสาวที่เกิดคนละยุค แต่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน โดยพนักงานออฟฟิศนามว่า จูลี ตั้งใจจะทำอาหารทั้งหมด 524 เมนูตามตำราอาหารฝรั่งเศส Mastering the Art of French Cooking ของจูเลียให้ครบภายใน 365 วัน จูเลีย ชายด์: จากอดีตสปาย สู่ ‘แม่ครัวฝรั่งเศสสายฮา’ ผู้ให้กำเนิดครัวมหัศจรรย์แห่งศตวรรษที่ 20 ด้วยเนื้อหาที่นำเสนอสองช่วงเวลาของหญิงสาวสองคน ผู้ชมจึงมีโอกาสได้ย้อนรอยดูชีวิตของจูเลีย ชายด์ รวมไปถึงได้เห็นบันทึกการทำอาหารของคนรุ่นใหม่อย่างจูลีด้วยแต่ในชีวิตจริง จูลีและจูเลียไม่เคยมีโอกาสได้พบกัน ทั้งจูเลียยังบอกอีกว่า เธอไม่ได้รู้สึกปลื้มนักกับการที่มีคนนำชื่อของเธอไปใช้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ในช่วงบั้นปลายชีวิต ถึงแม้จูเลีย ชายด์จะเลิกจัดรายการอาหารไปแล้ว แต่ความเป็นแม่ครัวที่อยู่ในจิตวิญญาณก็ไม่เคยจางหาย โดยอาหารที่แม่ครัวผู้บุกเบิกรายการอาหารและนำพาเสียงหัวเราะมาสู่คนดูรับประทานเป็นมื้อสุดท้ายก็คือซุปหัวหอมฝรั่งเศสโฮมเมดและเนย นั่นก็เพราะเธอตกหลุมรักทั้งสองอย่างตั้งแต่ที่ปารีส และยังคงรักมาตลอดจวบจนลมหายใจสุดท้ายของเชฟผู้อยู่ในความทรงจำคนนี้ “เอาละ! Bon appetit” (รับประทานให้อร่อยค่ะ) เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง: https://www.youtube.com/watch?v=xwxuWOK4Nqc https://www.tasteofhome.com/collection/julia-child-facts/ https://www.pbs.org/food/julia-child/ https://www.biography.com/personality/julia-child https://www.britannica.com/biography/Julia-Child https://www.youtube.com/watch?v=U5Ok9reQQvY https://www.youtube.com/watch?v=M9AITdJBTnQ ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=M9AITdJBTnQ&t=325s  https://www.youtube.com/watch?v=xwxuWOK4Nqc  https://www.youtube.com/watch?v=ozRK7VXQl-k  Photo by George Rose/Getty Images