จุนอิจิ คาวานิชิ: ผู้ออกแบบเหรียญโอลิมปิกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มาพร้อมคำเตือน ‘ห้ามกัด'

จุนอิจิ คาวานิชิ: ผู้ออกแบบเหรียญโอลิมปิกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มาพร้อมคำเตือน ‘ห้ามกัด'
“เราแค่อยากยืนยันอย่างเป็นทางการว่า เหรียญรางวัล ‘โตเกียว 2020’ นั้นกินไม่ได้”  คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศญี่ปุ่น ประกาศผ่านทวิตเตอร์ หลังนักกีฬาที่คว้าชัยและได้เหรียญรางวัลพากันโพสท่ากัดเหรียญโชว์นักข่าวและช่างภาพด้วยความดีใจ ราวกับว่าเหรียญที่ได้มาเป็นขนมหวานที่พวกเขาเฝ้ารอมานานอย่างหิวโหย “เหรียญของเราเป็นวัสดุรีไซเคิลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชาวญี่ปุ่นบริจาคมา ดังนั้น จงอย่ากัดมัน ...แต่เราก็รู้ว่าคุณจะยังทำอยู่ดี” คณะกรรมการโอลิมปิกชี้แจงแบบติดตลก เป็นที่ทราบกันดีว่า การคว้าเหรียญโอลิมปิกมาคล้องคอ คือ หนึ่งในความฝันสูงสุดของนักกีฬาเกือบทุกคน ด้วยเหตุนี้เหรียญโอลิมปิกจึงต้องออกแบบมาอย่างสวยงามและพิถีพิถัน เพื่อให้สมกับเป็นรางวัลอันล้ำค่าที่นักกีฬาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อไขว่คว้ามาครอบครอง   ประวัตินักออกแบบ เหรียญโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ มาจากการแข่งขันออกแบบโดยมีเหล่าดีไซเนอร์มืออาชีพและนักเรียนออกแบบระดับหัวกะทิของญี่ปุ่นส่งความคิดสร้างสรรค์มาประชันกันกว่า 400 แบบ “ผมไม่เคยคิดฝันเลยว่า แบบที่ผมส่งเข้าประกวดเพียงเพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำเกี่ยวกับมหกรรมกีฬาครั้งหนึ่งในชีวิตนี้จะได้รับการคัดเลือกจริง ๆ” จุนอิจิ คาวานิชิ (Junichi Kawanishi) ผู้ชนะการประกวดออกแบบเหรียญโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ เพียงหนึ่งเดียวเปิดเผยความรู้สึกอย่างถ่อมตัวหลังทราบผลการตัดสิน คาวานิชิไม่ใช่นักออกแบบมือสมัครเล่นทั่วไป เขาเป็นตัวแทนของ Signsplan บริษัทรับออกแบบสัญลักษณ์เชิงพาณิชย์จากเมืองโอซาก้า และเคยออกแบบเหรียญรางวัลให้การแข่งขันวิ่ง ริก้า อินเตอร์เนชั่นแนล มาราธอน 2020 ที่ประเทศลัตเวีย นอกจากนี้ยังเป็นถึงผู้อำนวยการสมาคมออกแบบสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น (Japan Sign Design Association) และผู้อำนวยการโอซาก้า ดีไซน์ โซไซตี้ เส้นทางชีวิตของคาวานิชิเรียกว่าเติบโตมาจากเด็กสายศิลป์เต็มตัว เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะเมืองโอซาก้า (Osaka University of Arts) และทำงานเป็นศิลปินนักวาดภาพและจัดนิทรรศการแสดงผลงานจิตรกรรม ควบคู่กับการเป็นผู้ช่วยประจำสำนักงานออกแบบพื้นที่ว่าง (space design) ของคณะออกแบบในมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนจบมา หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่เมืองโกเบ หรือแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชินในปี 1995 คาวานิชิตัดสินใจยุติเส้นทางศิลปินนักวาดและหันไปจับงานออกแบบอย่างจริงจัง จนกระทั่งกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน หลังชนะการประกวดออกแบบเหรียญโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ “ผมยังไม่เกิดตอนญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งก่อนในปี 1964 ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความสุขที่ได้สัมผัสประสบการณ์เป็นเจ้าบ้านโอลิมปิกครั้งนี้” คาวานิชิเผยถึงความรู้สึกที่ได้เป็นผู้ชนะการออกแบบเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาที่บ้านเกิด เขาเล่าถึงวินาทีที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งผลการตัดสินว่า เขากำลังนั่งดื่มพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ทันทีที่รู้ผล แม้ภายนอกยังดูสงบนิ่ง แต่ในหัวใจของเขาเต้นเร็วมากด้วยความดีใจ เหรียญโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ ที่เขาออกแบบใช้คอนเซปต์ของหินที่เพิ่งผ่านการเจียระไน ซึ่งเปล่งประกายแสงสว่างและเจิดจรัส (light and brilliance) คล้ายกับชีวิตของนักกีฬาที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นหมั่นฝึกซ้อมเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคในแต่ละวัน ก่อนจะก้าวไปถึงเส้นชัยและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด   ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จากประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลเพียงช่อมะกอกคล้องศีรษะ ส่วนเหรียญรางวัลสำหรับผู้ชนะเพิ่งเริ่มมอบให้กันในการรื้อฟื้นจัดการแข่งขันยุคใหม่ โดยพิธีมอบเหรียญครั้งแรกจัดขึ้นในโอลิมปิก ‘เซนต์หลุยส์ 1904’ ที่สหรัฐฯ ตามกติกาของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เหรียญรางวัลโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ ต้องใช้รูปเทพีไนกี้ (Nike) เทพธิดาแห่งชัยชนะของชาวกรีก ยืนหน้าสนามกีฬาพานาธิไนกอส ซึ่งใช้จัดโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก พร้อมสัญลักษณ์โอลิมปิก 5 ห่วง และชื่อประจำการแข่งขัน ‘Games of the XXXII Olympiad Tokyo 2020’ (โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 โตเกียว 2020) บนด้านหน้าของเหรียญ ส่วนอีกด้านมาจากความคิดสร้างสรรค์ของคาวานิชิล้วน ๆ เขาใช้ดีไซน์วงกลมล้อมรอบตราสัญลักษณ์โอลิมปิกโตเกียว 2020 เพื่อเป็นตัวแทนของโลกและความหลากหลาย และตั้งใจออกแบบให้เหรียญด้านนี้มีเหลี่ยมมุมที่สามารถสะท้อนแสงได้หลายทิศทาง “ผมหวังว่าแสงที่สะท้อนออกไปจากเหรียญจะกระจายไปทุกทิศทุกทางเมื่อมันอยู่บนคอของนักกีฬา นั่นคือความตั้งใจของผม” นอกจากการออกแบบอันเรียบง่ายแต่งดงามตามสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่นแล้ว ความพิเศษอีกอย่างของเหรียญโตเกียว 2020 คือ การเป็นเหรียญโอลิมปิกครั้งแรกที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยหลังทราบว่าโตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 (แต่เลื่อนมาจัดปี 2021) ญี่ปุ่นออกแคมเปญขอบริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าที่ไม่มีใครต้องการจากประชาชนทันที จากการเปิดรับบริจาคตั้งแต่เดือนเมษายน 2017 - มีนาคม 2019 สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป เครื่องเล่นเกมพกพา และกล้องถ่ายรูปเก่าได้รวมกัน 78,985 ตัน คิดเป็นโทรศัพท์เก่าที่รับบริจาคมาราว 6.21 ล้านเครื่อง และสามารถสกัดออกมาเป็นทองคำหนัก 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กก. และทองแดง 2,200 กก. เนื่องจากเหรียญทองโอลิมปิกไม่ได้ทำจากทองคำบริสุทธิ์มานานกว่าร้อยปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ใช้ทองคำจริง คือ ‘สตอกโฮล์ม 1912’ ที่สวีเดน ทองคำที่สกัดได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้จึงใช้ผลิตเหรียญทองโตเกียว 2020 ได้เพียงพอ และยังเหลือไว้ใช้ในการแข่งขันกีฬารายการอื่นด้วย เหรียญทองโตเกียว 2020 ทำจากเงินชุบทอง ส่วนเหรียญเงินใช้เงินบริสุทธิ์ และเหรียญทองแดงมาจากโลหะผสมของทองแดงกับสังกะสี ทุกเหรียญมีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน 8.5 ซม. แต่นำ้หนักแตกต่างกันเล็กน้อย โดยเหรียญทองหนักประมาณ 556 กรัม เหรียญเงิน 550 กรัม และทองแดง 450 กรัม ทุกเหรียญมีสลักชื่อรายการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้านข้าง  โอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ใช้เหรียญรางวัลรวมกันทั้งหมดประมาณ 5,000 เหรียญ เนื่องจากต้องมอบให้นักกีฬาพาราลิมปิกด้วย เหรียญจึงออกแบบมาให้ง่ายต่อผู้พิการทางสายตาในการแยกสี โดยสามารถรับรู้ความแตกต่างได้จากการสัมผัสรอยนูนที่อยู่บนสายคล้องคอ เรียกว่าออกแบบมาใส่ใจทุกรายละเอียดอย่างแท้จริง   คุณค่าที่ประเมินไม่ได้ แม้เหรียญทองโอลิมปิกจะไม่ได้ทำจากทองคำบริสุทธิ์ และมีการประเมินมูลค่าเหรียญทอง ‘โตเกียว 2020’ จากวัสดุที่ใช้ไว้ที่เหรียญละประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 32,000 บาท) แต่คุณค่าที่แท้จริงของมันไม่สามารถประเมินได้ เพราะมันคือคุณค่าทางจิตใจ ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโด้ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกโตเกียว 2020 ของไทย บอกว่า เหรียญทองที่ได้มาเธอจะนำไปตั้งหน้ารูปของแม่และยาย ซึ่งเป็นกำลังใจให้เธอเสมอมา แม้ทั้งคู่จะเสียชีวิตไปก่อนจะได้เห็นเธอประสบความสำเร็จ ทอม ดาลีย์ นักกระโดดน้ำซูเปอร์สตาร์ทีมชาติอังกฤษ รักและหวงแหนเหรียญทองโอลิมปิกแรกในชีวิตที่ได้จากกระโดดน้ำชายคู่ 10 ม. ในโตเกียว 2020 ถึงขั้นสละเวลาถักโครเชต์เป็นกระเป๋าสำหรับใส่เหรียญรางวัลด้วยตัวเอง เพื่อปกป้องเหรียญทองสุดที่รักไม่ให้มีรอยขีดข่วน ส่วนไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำชาวอเมริกันเจ้าของสถิตินักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกมากที่สุดตลอดกาลรวม 28 เหรียญ เคยเปิดใจถึงวิธีดูแลเหรียญทองในช่วงลงแข่งโอลิมปิกใหม่ ๆ ว่า 8 เหรียญทอง ‘ปักกิ่ง 2008’ ที่ทำได้ เขานำไปซ่อนไว้ในกระเป๋าเก็บเครื่องบำรุงผิว และห่อทับด้วยเสื้อยืดสีเทาอีกชั้นตลอดการเดินทาง เพราะเกรงจะมีมือดีมาฉกไป นอกจากคุณค่าทางจิตใจที่ทำให้นักกีฬาหวงแหนเหรียญรางวัลที่ได้มา หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม คุณค่าของมันยังสูงกว่ามูลค่าของตัวเหรียญที่แท้จริงได้หลายเท่า วลาดิเมียร์ คลิตช์โก้ นักชกซูเปอร์สตาร์ชาวยูเครน เคยประมูลเหรียญทองโอลิมปิก ‘แอตแลนต้า 1996’ ของเขาได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (32 ล้านบาท) และนำเงินทั้งหมดไปสมทบกองทุนคลิตช์โก้ บราเธอร์ส เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ในบ้านเกิด แอนโธนี่ เออร์วิน นักว่ายน้ำชาวอเมริกัน ก็เคยเอาเหรียญทองโอลิมปิก ‘ซิดนีย์ 2000’ ของตัวเองไปประมูลในอีเบย์ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 จากตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เหรียญโอลิมปิกนอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจในฐานะรางวัลแห่งความสำเร็จ มันยังก่อประโยชน์ให้เพื่อนร่วมโลกผู้ตกทุกข์ได้ยากอีกมากมาย เหมือนปณิธานเบื้องหลังการออกแบบเหรียญรางวัลโตเกียว 2020 ซึ่งคาวานิชิกล่าวไว้ว่า “ด้วยวงแหวนที่เปล่งประกาย ผมหวังว่าเหรียญรางวัลนี้จะถูกมองเป็นการสดุดีความมุมานะของนักกีฬา สะท้อนความเกรียงไกรของพวกเขา และยังแสดงสัญลักษณ์ของมิตรภาพอีกด้วย” มิตรภาพที่ว่านอกจากจะหมายถึงความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนนักกีฬาด้วยกันแล้ว ยังอาจหมายถึงมิตรภาพต่อเพื่อนร่วมโลกทุกคน ซึ่งจะทำให้เหรียญโอลิมปิก โตเกียว 2020 จากความคิดสร้างสรรค์ของจุนอิจิ คาวานิชิ แม้จะกัดกินเข้าไปไม่ได้ แต่ก็สามารถสร้างประโยชน์ที่ประเมินค่าไม่ได้ต่อสังคม   ข้อมูลอ้างอิง: https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/olympics-medals-design/ https://edition.cnn.com/2021/07/29/sport/olympics-biting-medals-storage-spt-intl/index.html https://www.insidethegames.biz/articles/1082598/tokyo-2020-medal-designer-new-found-fame https://www.dezeen.com/2019/07/25/2020-olympic-medals-recycled-smartphones-design/ https://cayman.loopnews.com/content/olympic-medals-be-made-recycled-cell-phones-and-laptops   ภาพ: https://twitter.com/gorin/status/1418835842756276224 https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/olympics-medals-design/ https://youtu.be/uOo_gFjECIQ