อิโต้ จุนจิ: ปรมาจารย์ผู้สร้าง ‘ความสยองที่น่าหลงใหล’ และที่มาของเรื่องสยองอันลือลั่น

อิโต้ จุนจิ: ปรมาจารย์ผู้สร้าง ‘ความสยองที่น่าหลงใหล’ และที่มาของเรื่องสยองอันลือลั่น

อิโต้ จุนจิ (Ito Junji) ปรมาจารย์ผู้สร้าง ‘ความสยองที่น่าหลงใหล’ นักเขียนเรื่องสยองในตำนานของญี่ปุ่นที่วันนี้กลายมาเป็นซีรีส์ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ซึ่งเป็นที่กล่าวขานไม่แพ้มังงะ

“ผมน่ะไม่สนใจเรื่องการหาทางรอดให้ตัวเอกเลยแม้แต่นิดเดียว ที่ผมสนใจจริง ๆ น่าจะเป็นเรื่องของปรากฏการณ์แปลกประหลาดในเรื่องเสียมากกว่า”

ท่ามกลางลายเส้นที่เฉียบคม และเต็มไปด้วยการเก็บรายละเอียดที่ยอดเยี่ยม ทุกผลงานยังคงรักษามาตรฐานความสยองชวนตะลึง และโครงเรื่องที่ยากจะคาดเดาตอนจบสมกับเป็นผลงานของอาจารย์ ‘อิโต้ จุนจิ’ เจ้าของผลงานอันโด่งดังอย่าง ‘โทมิเอะ’ และ ‘ก้นหอยมรณะ’ ที่สร้างชื่อให้เขากลายเป็นปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญระดับโลก

ความ ‘ประหลาดพิสดาร’ ของเนื้อเรื่องนี้เองถือเป็นเอกลักษณ์ของผลงานที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกไปกับการ ‘เอาชีวิตรอด’ พร้อม ๆ กับตัวเอกที่มักจะเข้าไปพัวพันกับความผิดปกติเหนือจินตนาการอย่างไร้เหตุผล

โดยอิโต้ ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ‘Nemuki Plus’ ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 2013 ว่า แท้จริงแล้วตัวเขาไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำให้ตัวเอกมีชีวิตรอดมากนัก แต่สนใจปรากฏการณ์ประหลาดที่คาดเดาไม่ได้มากกว่า เพราะหากเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ตัวเอกก็คงไม่รอดชีวิตอยู่แล้ว

ความสำเร็จตลอดระยะเวลา 30 ปีของเขาสะท้อนผ่านการแปลและวางขายผลงานใน 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเปิดนิทรรศการแสดงผลงานครั้งแรกที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งบัตรเข้าชมได้ถูกขายไปถึงแปดหมื่นใบในระยะเวลาเพียง 3 เดือน นอกจากนี้ บัตรแฟนมีตติ้งที่จัดก่อนงานนิทรรศการจำนวน 450 ใบ ยังขายหมดภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น

ส่วนในปี 2564 นี้ก็นับเป็นเวลา 34 ปี ที่ผลงานชิ้นโบแดงอย่าง ‘โทมิเอะ’ เรื่องราวของสาวสวยสายสยองคนโปรดของอิโต้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ขณะที่เขายังทำงานเป็นช่างทันตกรรมอยู่
 
จากช่างทันตกรรมสู่นักเขียนการ์ตูน

ในปี 1987 การ์ตูนเรื่องโทมิเอะ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสาร Halloween โดยมีสาวปริศนาพราวเสน่ห์อย่างโทมิเอะ เป็นตัวละครหลัก จะเรียกว่าเป็นความสยองที่น่าสนใจก็ว่าได้ เพราะลักษณะเด่นของเธอคือการตายแล้วเกิดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ตัวละครอื่นต้องพบเจอกับความสยดสยองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อิโต้ จุนจิ ได้วาดการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นหลังจากที่เขาเข้าทำงานเป็นช่างทันตกรรม แต่รับบทบาทนักเขียนการ์ตูนควบคู่ไปด้วย ซึ่งเมื่อหัวหน้าที่โรงงานวัสดุทันตกรรมทราบ เขาจึงช่วยจัดปริมาณงานให้ โดยคำนึงถึงเรื่องการเขียนการ์ตูนของอิโต้ ประกอบกับอิโต้มีคุณแม่และพี่สาวเป็นผู้ช่วย ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตโดยทำสองงานควบคู่กันไปได้ถึง 3 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัว

อิโต้ยังคงเขียนเรื่องอื่น ๆ ในซีรีส์โทมิเอะต่อ และความหลงใหลของเขาต่อตัวละครตัวนี้ก็เพิ่มขึ้น ถึงขนาดนิยามว่า เธอคือหญิงสาวที่งดงามที่สุดในโลก และพยายามไม่วาดตัวละครหญิงอื่นให้สวยกว่าโทมิเอะ ซึ่งอิโต้ให้ความเห็นว่า ทั้งซีรีส์โทมิเอะมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบางสิ่งที่งดงามและมีเสน่ห์เย้ายวนผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะตัวโทมิเอะเอง เพราะการใส่รายละเอียดที่เปรียบดั่งสารเสพติดเข้าไปในเรื่อง จะช่วยให้เดินเรื่องได้ง่าย ปั่นหัวตัวละครได้สนุก นอกจากนี้ การที่มนุษย์เลือกทำ ‘สิ่งที่ปกติแล้วจะไม่ทำ’ ก็มักเกิดจากแรงดึงดูดดังกล่าว

นั่นทำให้ผลงานของอิโต้มักออกมา ‘งดงาม’ แต่ ‘สยองขวัญ’ อย่างสุดโต่ง กระนั้นก็ยังแฝงความนัยให้ผู้อ่านได้ตีความ รวมถึงสะท้อนประวัติศาสตร์ ปัญหาสังคม และความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้อย่างน่าติดตาม


 
ความสยองที่น่าหลงใหล

ใครจะเชื่อว่าภายใต้การ์ตูนสยองขวัญที่อิโต้ตั้งใจดลบันดาลให้ออกมาไม่เหมือนใคร ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวที่รอผู้อ่านมาตีความอย่างหลากหลาย เช่น เรื่อง ‘ก้นหอยมรณะ’ อีกหนึ่งผลงานขึ้นหิ้ง ว่าด้วยเรื่องของคนในเมืองที่ถูกสาปให้หลงใหลในลวดลายก้นหอยจนเกิดเป็นเหตุการณ์สุดประหลาดชวนสยอง ไม่ว่าจะเป็นชายคนหนึ่งเสียชีวิตโดยขดตัวเองเป็นก้นหอยในอ่าง หรือหญิงสาวที่มีบาดแผลเป็นลายก้นหอยที่สามารถดูด ‘คน’ เข้าไปในบาดแผลได้

แต่ใครจะเชื่อว่า ‘ซาโต้ มาซารุ’ นักการทูตญี่ปุ่น เจ้าของผลงานสารคดีการเมืองเรื่อง ‘Yuukoku no Rasputin’ ซึ่งภายหลังได้รับการดัดแปลงเป็นการ์ตูนภายใต้ฝีมือการวาดของอิโต้ จุนจิ ก็มีความสนใจในเรื่องก้นหอยมรณะเช่นกัน แต่เขาไม่ได้มองมันเป็นเพียงลวดลายธรรมดา กลับกันยังเชื่อมโยงไปถึงแนวคิด ‘ว่าด้วยทุน’ ของมาร์กซ์ กล่าวคือ แรงงานมนุษย์ถูกนับเป็นสินค้าที่เรียกว่า ‘พลังแรงงาน’ และวงก้นหอยคือ ‘ทุนนิยม’ ที่ไม่ว่าใครก็จะถูกดูดเข้าไปและไม่อาจหนีออกมาได้ ระบบทุนนิยมจึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวพันถึงทุกอย่างในสังคม

นอกจากเนื้อหาที่ไม่เหมือนใครแล้ว ความประหลาดที่ผู้อ่านหลงใหลยังอยู่ที่โครงเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่งอิโต้สารภาพว่า เขาวาดแต่สิ่งที่ตัวเองคิดและอยากจะวาดเพียงเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าผู้อ่านอยากจะอ่านอะไร และเหตุการณ์ประหลาดพิสดารทุกอย่างยังถูกเขียนขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล ชนิดที่ตัวเอกของเรื่องยังไม่รู้เลยว่าจะเอาชีวิตรอดอย่างไร แต่นั่นกลับเป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ผู้อ่านรอคอย

ขณะที่ ‘นางาซากิ ทาคาชิ’ นักเขียนและบรรณาธิการการ์ตูนผู้เคยร่วมงานกับอิโต้ ยึดมั่นกับองค์ประกอบ ‘การเปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง จุดพลิก และบทสรุป’ เป็นอย่างมาก แต่ความคิดนี้ก็ถูกอิโต้ทำลายจนย่อยยับ

กระนั้น นางาซากิก็ให้การยอมรับจนขนานนามให้อิโต้เป็น ‘อัจฉริยะ’ เพราะเขาทำลายมัน และทดแทนด้วยความสนุกแบบที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ทั้งยังทำให้ผู้อ่านสยองได้ถึงแก่นของประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่นตอนที่ศพของโทมิเอะถูกสับจนแหลก และนำไปหมักเป็นเหล้าให้คนดื่ม! (ขนาดไม่เห็นภาพยังรู้สึกสยองได้ถึงต่อมรับรสและต่อมรับกลิ่นทีเดียว)

แต่ใครจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของความสยองอันน่าหลงใหลที่กล่าวไปทั้งหมดเกิดจาก ‘ความธรรมดา’ ที่อิโต้ จุนจิพบเจอในวัยเด็ก โดยบ้านเกิดของเขานั่นเองที่ทำให้เขาเริ่มวาดการ์ตูนสยองขวัญเรื่องแรกอย่าง ‘หมู่บ้านปิศาจ’ และพัฒนาความสามารถมาจนถึงปัจจุบัน


 
จากเมืองเกิดสู่ต้นกำเนิดฉากสยองก้องโลก

นับเป็นอีกหนึ่งความสามารถของอิโต้ที่สามารถเปลี่ยนเมืองเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ อย่างเมืองนาคัตสึงาวะ เขตซากาชิตะ บ้านเกิดของเขาให้กลายเป็นสถานที่สยองในคลังเรื่องเล่าได้อย่างน่าขนลุก

โดยส่วนมากอิโต้มักได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมไปถึงสถานที่ที่เขาเคยมีความทรงจำร่วม แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าในเขตซากาชิตะเพียงเขตเดียวกลับสร้างสถานที่เกิดเหตุไปได้ถึง 7 แห่ง ยกตัวอย่าง ‘ตรอก’ จากเรื่อง ‘เมืองแผนที่’ เมืองที่มีลักษณะเป็นห้องปิดตายชวนอึดอัดก็ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตในวัยเด็กของอิโต้ ซึ่งเขาและเพื่อนมักจะมาวิ่งไล่จับกันในตรอกที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนเป็นประจำ 

หรือจะเป็น ‘สระว่ายน้ำ’ จากเรื่อง ‘หยุดหน้าร้อนแสนสนุก’ ก็เป็นสระว่ายน้ำสาธารณะธรรมดาที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของอิโต้ โดยตัวละครหลักที่สร้างเรื่องชวนขนหัวลุกอย่าง ‘โซอิจิ’ เด็กชายที่มีความสามารถในการ ‘ทำของ’ ยังมีต้นแบบมาจากตัวอิโต้เอง

ส่วนเรื่อง ‘หุ่นไล่กา’ เรื่องราวของหุ่นที่สามารถเปลี่ยนหน้าให้กลายเป็นคนที่ล่วงลับไปแล้วก็มีต้นกำเนิดจาก ‘สุสานโจกาเนะ’ โดยเรื่องนี้ยังมีเนื้อหาที่เผยให้เห็นความชั่วร้ายของมนุษย์ รวมถึงความหวาดกลัวความตาย และความบ้าคลั่งของคนที่ถูกความกลัวครอบงำ

จากความสามารถที่เปลี่ยนความธรรมดาให้กลายเป็นความสยอง ประกอบกับลายเส้นที่สะดุดตา และการเรียงร้อยเรื่องได้อย่างน่าพิศวง อิโต้จึงมีชื่อเสียงโด่งดังจากการ์ตูนสยองขวัญจนเป็นภาพติดตาของคนทั่วโลก เช่นเดียวกับนางาซากิ ทาคาชิ นักเขียนการ์ตูนที่คิดว่าอิโต้ จุนจิ คงจะมีดีแค่เขียนการ์ตูนสยองเท่านั้น แต่สุดท้ายอิโต้ก็แสดงความสามารถที่แท้จริงให้เห็นว่า เขาคือ ‘นักเขียนการ์ตูน’ ที่ไม่ได้มีดีแค่คิดพล็อตเรื่องเหนือจินตนาการ แต่สามารถพลิกแพลงไปสู่แนวอื่นอย่าง ‘การเมือง’ ‘ชีวิต’ หรือ ‘สัตว์เลี้ยง’ ก็ได้


 
นอกกรอบความสยองสู่การ์ตูนหลากแนว

นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอิโต้กับการเปลี่ยนแนวมาวาดการ์ตูนการเมืองอย่างเรื่อง Yuukoku no Rasputin ซึ่งเดิมทีเป็นงานเขียนแนวสารคดีของซาโต้ มาซารุ

แน่นอนว่าความท้าทายอยู่ที่การใส่ความสยองให้พอดี รวมถึงช่วยลดความสยองบางอย่างในเรื่องให้น้อยลง เช่น ฉากที่ทหารคนหนึ่งเล่าถึงการทรมานทหารฝ่ายศัตรูด้วยการตัดหูและจมูก เฉือนอวัยวะเพศ หรือตัดแขนขา ซึ่งเป็นฉากที่โหดร้ายจนเหมือนเรื่องแต่ง ทำให้อิโต้ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อทำให้เกิดความสมจริง แต่ยังคงอรรถรสไว้

นั่นทำให้นางาซากิ ทาคาชิ หนึ่งในผู้ดำเนินการโปรเจกต์ Yuukoku no Rasputin ร่วมกับอิโต้ ถึงกับเอ่ยชมว่า สิ่งที่อิโต้ทำนั้นเหนือความคาดหมาย โดยอิโต้เลือกใช้เส้นที่เรียบง่ายเหมาะสำหรับการ์ตูนแนวจิตวิทยา รวมถึงวาดฉากอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาได้อย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องการเมือง สื่อมวลชน และความผิดปกติในกระบวนการสืบสวนสอบสวน

นอกจากการ์ตูนแนวการเมืองจะประสบความสำเร็จแล้ว อิโต้ยังสามารถเปลี่ยนวรรณกรรมขึ้นหิ้งของ ‘ดะไซ โอซามุ’ อย่าง ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ออกมาเป็นการ์ตูนสะท้อนชีวิตได้อย่างน่าหดหู่แต่ชวนติดตาม และไม่นานมานี้เขายังเปลี่ยนแนวไปวาดการ์ตูน ‘สัตว์เลี้ยงแสนรัก’ ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ยง’ และ ‘มู’ แมวน้อยสองตัวของอิโต้ ถือเป็นการ์ตูนขายขำที่ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญ เพราะ ‘ขนาดแมวยังวาดให้หลอนได้’

สุดท้ายความเป็น ‘อิโต้ จุนจิ’ จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การ์ตูนสยองขวัญเท่านั้น แต่เขาพัฒนาความสามารถของตัวเอง และขยายขอบเขตการเขียนไปยังแนวเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

หากไม่นับผลงานของตัวเอง อิโต้ยังมีความเป็นมืออาชีพที่สามารถดัดแปลงเอกลักษณ์ทั้งลายเส้นและความคิดเข้าไปอยู่ในผลงานของคนอื่นได้โดยไม่สูญเสียตัวตน และไม่ทำให้แนวเรื่องเดิมของผู้ประพันธ์กลายเป็นเรื่องสยองขวัญจนเกินไป ดังนั้น ไม่ว่าจะสยองนิด สยองหน่อย หรือสยองมาก ทุกความสยองยังคงเป็น ‘ความสยองที่น่าหลงใหล’ เหมือนเดิม
 
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี (The People Junior)

อ้างอิง:

เจาะลึกอิโต้ จุนจิ สำนักพิมพ์ รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง