จุรีพร ตรีนนทสกุล: ปลัดอำเภอสาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

จุรีพร ตรีนนทสกุล: ปลัดอำเภอสาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นอำเภอที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าเขาที่ยังงดงาม และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมอิสลาม คริสต์ และไทยอีสาน หญิงสาวชาวนราธิวาสคนหนึ่ง ใฝ่ฝันอยากจะเป็นปลัดอำเภอ เพื่อที่จะมาพัฒนาบ้านเกิด เธอคือ ปลัดหนิง - จุรีพร ตรีนนทสกุล ปัจจุบันเธอทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับชาวบ้านที่บ้านเกิดของเธอ ในบทบาทของปลัดอำเภอประจำอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส จุรีพร ตรีนนทสกุล: ปลัดอำเภอสาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด “หนิงเริ่มสอบได้ตั้งแต่บัญชีปลัดอำเภอปี พ.ศ. 2558 เลือกสอบบัญชีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะว่าส่วนตัวมีภูมิลำเนาที่จังหวัดนราธิวาส ถ้าสมมติว่าสอบบัญชีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะบรรจุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครอบครัว คุณแม่ อยากให้บรรจุที่ชายแดนใต้บ้านเกิดก็เลยเลือกบัญชีนี้” ปลัดหนิงเล่าให้ฟังว่า การทำงานในพื้นที่เป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งเธอสนุกและมีความสุขกับการทำงานปกครองในพื้นที่อย่างมาก “เคยรับงานศูนย์ดำรงธรรมแล้วก็ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตอนหลังท่านนายอำเภอท่านก็ปรับให้มาทำงานในส่วนการปฏิบัติงานภายในอำเภอ หนิงก็จะมารับงานสำนักงานอำเภอ กับงานปกครอง งานปกครองก็จะเป็นงานที่เกี่ยวกับงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน งานบริหารงานบุคคล การอนุญาตต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นการอนุญาตชนไก่ เวลามีบ่อนไก่ อันนี้จะเข้างานปกครอง งานโรงแรม งานตรวจสถานบริการ อันนี้จะเข้าปกครองหมดเลย ส่วนงานสำนักงานอำเภอ ชื่อบอกอยู่แล้วค่ะงานสำนักงานอำเภอ งานจิปาถะ งานธุรการ งานจัดงานราชพิธี งานจัดงานรัฐพิธี งานอำนวยการทุกอย่างบนอำเภอ จะเข้าสำนักงานหมด จุรีพร ตรีนนทสกุล: ปลัดอำเภอสาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด “เคยทำหน้าที่งานเยียวยาอยู่บ้างค่ะ งานเยียวยาเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะว่าเมื่อเกิดเหตุ เราจะมีงานทันที เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพย์ เจ้าหน้าที่เยียวยาจะต้องเข้าไปดำเนินงานและจะต้องเข้าไปดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายถึงครอบครัวเขาให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการคุ้มครองจากรัฐ” บนพื้นที่แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อำเภอสุคิรินแห่งนี้ ปลัดหนิงบอกว่าเคล็ดลับที่มัดใจผู้คนในพื้นที่ นั่นคือ ความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม “พื้นที่สุคิรินจะเป็นพื้นที่ที่มีมุสลิม 60 เปอร์เซ็นต์ มีไทยพุทธ 40 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ และมีคริสต์ด้วย ก็จะรวม ๆ กันอยู่ในพื้นที่ของสุคิริน ซึ่งสุคิรินจะเป็นพื้นที่ที่มีไทยพุทธมากกว่าอำเภออื่น ๆ แล้วก็มีครบทั้งสามศาสนา มีพุทธ มีอิสลาม มีคริสต์ ก็เลยเป็นอะไรที่เราต้องเรียนรู้ทุกอย่าง “ด้วยความที่งานปลัดอำเภอเป็นงานที่จะต้องทำงานกับคนเป็นหลัก ทีนี้พื้นที่นี้มีคนหลายเชื้อชาติ หลายที่มา หลายประเภทแตกต่างออกไป วัฒนธรรมของชายแดนใต้ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน และด้วยความที่อำเภอสุคิริน มีตำบลภูเขาทอง ชาวบ้านจะเป็นคนอีสานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เขาลงมาอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นแล้ว ความแตกต่างของคนทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความท้าทาย เราต้องปรับตัวและต้องพัฒนาตัวเอง แค่ภาษาก็ต่างกันแล้วค่ะ วัฒนธรรมอีสานเราก็ต้องเรียนรู้เยอะพอสมควร เพราะจะมีหลายประเพณีที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่การที่เราจะทำงานตรงนี้ได้ เราต้องเข้าใจเขา” เธอเล่าให้ฟังว่า ทุกอย่างคือการปรับตัว จากการที่เธอลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เธอมองเห็นว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในอำเภอสุคิรินคือความงดงาม แวดล้อมด้วยป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์จนน่าไปเยี่ยมเยียนสักครั้งในฐานะนักท่องเที่ยว จุรีพร ตรีนนทสกุล: ปลัดอำเภอสาวสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด “อำเภอสุคิริน เป็นอำเภอที่ค่อนข้างสงบ เราก็เลยเน้นเรื่องการพัฒนา ที่นี่มีการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เราเปิดเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยว อย่างตำบลภูเขาทอง และหลาย ๆ ตำบลก็เปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามา เรามีโฮมสเตย์ แล้วเราก็มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลาย ๆ อย่าง ที่ดำเนินการกันอยู่ในตอนนี้” เรื่องราวเหล่านี้คือความภาคภูมิใจของเธอ ที่คอยดูแลประชาชนในพื้นที่ให้มีความสุข มีรอยยิ้ม การได้รับกำลังใจจากครอบครัวและชาวบ้าน แม้งานจะหนัก แต่นี่ก็เป็นพลังให้เธอมุ่งมั่นทำงานเพื่อคนในพื้นที่ต่อไป “อาชีพปลัดอำเภอเป็นอาชีพที่ตัวเราเองใฝ่ฝันอยากจะทำ แม้ว่างานจะหนัก เพราะงานปลัดอำเภอเป็นงานที่ประสานสิบทิศ ไม่ว่าจะน้ำไม่ไหล ไฟดับ โทรศัพท์ใช้ไม่ได้ อันนี้คืองานปลัดอำเภอทั้งนั้น คุณแม่ของหนิงให้กำลังใจเสมอว่า ต้องสู้ ๆ อย่างเดียวเลย แม่จะพูดตลอดนะคะว่า ความพยายามมีรสขม แต่ผลของมันหอมหวานยิ่งนัก เมื่อไรที่หนิงรู้สึกเหนื่อยหนิงก็จะนึกถึงคำแม่ว่า เออ...เราเลือกมาเอง สอบเอง สมัครเอง เพราะฉะนั้นแล้วเหนื่อยนิดเหนื่อยหน่อย อาบน้ำเดี๋ยวก็หาย แต่ตอนทำงานเราไม่เคยท้อ เพราะว่าพอทำแล้วเห็นผลของงาน เราเห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน เห็นการพัฒนาที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเรา มันทำให้เรามีพลัง”   *** The People ได้สอบถามไปยังผู้ถูกสัมภาษณ์แล้ว พบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเนื้อหานวนิยาย "เพชรพระอุมา" ทาง The People ในฐานะผู้นำเสนอบทความชิ้นนี้ ต้องขออภัยอย่างยิ่งในความคลาดเคลื่อนของข้อมูล เราขอน้อมรับความเห็นและคำแนะนำจากผู้อ่านทุกท่าน เพื่อนำมาพัฒนาบทความชิ้นต่อ ๆ ไปของเรา ทางกองบรรณาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นนี้ ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ ทางกองบรรณาธิการจึงขอตัดเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "เพชรพระอุมา" ออกทั้งหมด  ข้อความที่ว่าคือ "นอกจากปลัดหนิงจะมีแรงบันดาลใจทำงานรับราชการตามคุณแม่ที่เป็นเจ้าพนักงานศาลจังหวัดนราธิวาส เธอยอมรับว่าหนังสือ เพชรพระอุมา มีอิทธิพลต่อเธอว่าสักวันหนึ่งเธอจะมารับราชการที่นี่บ้าง “สำหรับหนังสือที่เคยอ่านแล้วรู้สึกชอบก็จะเป็นนวนิยายเพชรพระอุมา เขาสร้างมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นที่สุคิริน แต่สิ่งที่ชอบคือ คนเขียนได้รับแรงบันดาลใจจากข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่อำเภอหนึ่ง ในนราธิวาส(ข้าราชการคนดังกล่าวคือคุณพ่อของพนมเทียน-ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้) ก็เลยเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็ก"" ขออภัยและขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้ The People