เจอร์เรียน สวอร์ตส Stojo แก้วกาแฟรักษ์โลกแบบพับได้ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

เจอร์เรียน สวอร์ตส Stojo แก้วกาแฟรักษ์โลกแบบพับได้ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง
“ตอนนั้นผมคิดว่าการทำแก้วกาแฟพับได้เป็นความคิดโง่มาก แต่หลังจาก 2-3 อาทิตย์ผ่านไป ขณะที่ผมอาบน้ำอยู่ ผมก็คิดขึ้นมาว่ามันทำได้จริงนี่หว่า” เจอร์เรียน สวอร์ตส (Jurrien Swarts) หนุ่มนิวยอร์เกอร์ผู้รักการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่อยากทำลายโลกด้วยการใช้แก้วกาแฟแบบครั้งเดียวทิ้ง บอก จากความคิดที่เจอร์เรียนมองว่าไม่น่าจะไปรอดในตอนแรก ท้ายสุด เขาและเพื่อนอีกสองคนก็พัฒนาแบบจนกลายเป็น Stojo (สโตโจ) แก้วกาแฟพับได้ที่ทำจากซิลิโคน ซึ่งปัจจุบันขายได้แล้วนับล้านใบทั่วโลก มีจุดเด่นอยู่ที่เมื่อเป็นขนาดปกติก็จับถนัดมือและกันน้ำหก เมื่อพับแล้วก็มีขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก ตอบโจทย์คอกาแฟรักษ์โลกที่ไม่ต้องการใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้ง [caption id="attachment_19898" align="aligncenter" width="640"] เจอร์เรียน สวอร์ตส Stojo แก้วกาแฟรักษ์โลกแบบพับได้ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ภาพ www.stojo.co[/caption] เจอร์เรียนเติบโตในรัฐเวอร์มอนต์ ทางตะวันออกของสหรัฐฯ แต่มาลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ในมหานครนิวยอร์ก กระทั่งวันหนึ่งในปี 2011 หลังจากอ่านหนังสือ “Four Hour Work Week” ของ Tim Ferriss จบ เจอร์เรียนซึ่งขณะนั้นทำงานที่ Credit Suisse สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก และ อเล็กซ์ เพื่อนซี้ ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากทำอะไรสักอย่าง อเล็กซ์เสนอให้ทำแก้วกาแฟพับได้ แต่เจอร์เรียนไม่เห็นด้วย เพราะในตลาดก็มีแก้วพับได้วางขายอยู่แล้ว แต่เมื่อผ่านไปราวครึ่งเดือน เจอร์เรียนก็เปลี่ยนความคิด เพราะแม้จะมีแก้วพับได้ออกขายมานานนม แต่นั่นก็เป็นแก้วแคมปิ้งที่มีห่วงสามอันยืดขึ้นมาเป็นแก้ว ยังไม่ใช่แก้วกาแฟพับได้ที่กันน้ำหกแบบที่เขาต้องการ “ผมเติบโตในเมืองที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงรักและผูกพันกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันผมก็ชอบดื่มกาแฟวันละ 5-6 แก้ว ซึ่งทำให้เกิดขยะอย่างน้อยวันละ 5-6 ชิ้น ผมเลยรู้สึกผิด เพราะแก้วพวกนั้นไม่น่าจะนำมารีไซเคิลได้ อีกอย่างผมต้องเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินทุกวัน ซึ่งคนล้านแปดเบียดเสียดอยู่ในนั้น ถ้าผมพกแก้วกาแฟไปด้วยก็คงลำบาก จะใส่กระเป๋าก็ไม่ได้ เดี๋ยวกาแฟหก เพราะฉะนั้นนี่เลยกลายเป็นไอเดียตั้งต้นของการออกแบบแก้วกาแฟที่พกพาได้สะดวกเวลาเดินทาง และต้องขยายขนาดเป็นแก้วกาแฟอย่างน้อย 10 ออนซ์ หรือ 12 ออนซ์ ได้” เจอร์เรียน ซีอีโอของ Stojo เล่า เจอร์เรียนลองร่างแบบแก้วกาแฟพับได้แล้วเอาไปให้อเล็กซ์ดู ซึ่งพออเล็กซ์เห็นก็ชอบทันที จากนั้นพวกเขาก็พบกับ เบน ที่เอาจริงเอาจังกับการทำขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ครั้งหนึ่งพวกเขานั่งคุยกันในร้านกาแฟถึงแก้วกระดาษและแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (แน่นอนว่าพวกเขาก็ถือแก้วแบบนี้อยู่ในมือเช่นกัน) และเมื่อบทสนทนามาถึงจุดที่ว่า ชาวอเมริกันใช้แก้วดังกล่าวรวมแล้ว 5.8 หมื่นล้านใบในแต่ละปี ทั้งสามคนก็ตระหนักได้ว่า นี่คือปัญหาใหญ่สุด ๆ ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไอเดียการทำแก้วกาแฟพับได้จึงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น นำสู่การก่อตั้งบริษัทในเวลาถัดมา เขาย้อนความหลังว่า ช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจถือว่าเป็นงานหินอยู่เหมือนกัน เพราะมีทั้งส่วนการออกแบบให้ใช้งานได้จริงและการออกแบบให้ดูสวยงามน่าใช้ และตอนนั้นทุกคนก็ทำงานประจำกันด้วย แต่เมื่อเดินหน้าแล้วก็ต้องไปให้สุด พวกเขาจึงใช้เวลาสั้น ๆ ช่วงโดยสารรถไฟใต้ดิน ช่วงรอเข้าประชุม หรือแม้แต่ช่วงรอลิฟต์ เพื่อคิดว่าควรจะออกแบบแก้วกาแฟพับได้อย่างไรดี จากนั้นก็มาเจอกันเพื่อขัดเกลาไอเดียเป็นระยะ ๆ หลังจากใช้เวลาอยู่ราว 2-3 ปี ในปี 2014 พวกเขาก็เปิดตัวแคมเปญระดมทุนทำแก้วกาแฟพับได้ในชื่อ Smash Cup (ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น Stojo) ในเว็บไซต์ Kickstarter ปรากฏว่าฟีดแบคดีถล่มทลาย จากที่ตั้งเป้าไว้แค่ 10,000 เหรียญสหรัฐ ก็กลายเป็นสามารถระดมทุนได้ถึง 128,000 เหรียญสหรัฐ จนปี 2015 เจอร์เรียนก็ลาออกจาก Credit Suisse เพื่อทุ่มเทกับโปรเจกต์ Stojo แบบเต็มเวลา ทั้งการหาโรงงานผลิต หาคลังสินค้า ทำเว็บไซต์ คิดช่องทางการขาย และระดมทุนเพิ่ม “ช่วงนั้นหนักหนาเอาการจนทำเอาผมเครียดไปเลย” เขาบอก [caption id="attachment_19903" align="aligncenter" width="640"] เจอร์เรียน สวอร์ตส Stojo แก้วกาแฟรักษ์โลกแบบพับได้ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ภาพ: www.stojo.co[/caption] ปีเดียวกันนั้น ร้านที่วางจำหน่ายแก้ว Stojo เป็นร้านแรก ๆ คือที่ MoMA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก) ทำเอาเจอร์เรียน อเล็กซ์ และเบน ภูมิใจว่าสินค้าที่พวกเขาทำขึ้นมีฟังก์ชันการใช้สอยและมีดีไซน์เก๋พอที่ร้านใน MoMa คัดเลือกเข้าไปขาย แม้ปีแรกที่สินค้าเปิดตัวสู่ตลาดจะยังไม่ดังเปรี้ยงปร้าง แต่ก็ค่อย ๆ ได้รับการพูดถึงมากขึ้น จนกระทั่งขายได้ร่วม 1 ล้านใบในปี 2018 ส่วนปี 2019 เจอร์เรียนวางแผนว่าน่าจะขายได้มากกว่า 5 ล้านใบ นั่นหมายความว่า อย่างน้อยแก้วกาแฟรักษ์โลกของพวกเขาก็ช่วยไม่ให้มีขยะที่เกิดจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งได้นับล้าน ๆ ใบเลยทีเดียว Stojo ตอบโจทย์คอกาแฟ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยสีสันที่มีให้เลือกหลากหลาย ไล่ตั้งแต่สีดำเข้มครึมไปจนถึงสีพาสเทลหวาน ๆ มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 8 ออนซ์ 12 ออนซ์ 16 ออนซ์ และ 24 ออนซ์ รวมทั้งเพิ่มสินค้าใหม่อย่างขวดน้ำขนาด 20 ออนซ์ เข้ามาด้วย โดยยังคงคอนเซปต์ “พับได้” เช่นเดิม ครั้งหนึ่ง เจอร์เรียนเคยฝันอยากได้รับความสนใจจาก Starbucks เพราะถึง Stojo จะเป็นเจ้าเล็ก ๆ แต่ก็ใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นได้ “ลองจินตนาการว่าหากแก้วของเราเข้าไปอยู่ใน Starbucks 23,000 สาขาทั่วโลก และถ้าแต่ละสาขาขายแก้วของเราได้ 4 ใบต่อ 1 สัปดาห์ นั่นเท่ากับแก้ว Stojo 4.6 ล้านใบเลยนะ มันน่าจะเพียงพอที่จะช่วยไม่ให้แก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวน 1,700 ล้านใบกลายเป็นขยะได้” คือสิ่งที่เจอร์เรียนบอกไว้ในปี 2017 ท้ายสุด ความฝันของเขาเกี่ยวกับ Starbucks ก็กลายเป็นจริงอยู่บ้าง เมื่อต่อมา Starbucks  ในฮ่องกง ร่วมมือกับ Stojo ในแคมเปญ BYOC (Bring Your Own Cup) กระตุ้นให้ลูกค้านำแก้วกาแฟมาเองเพื่อลดการก่อขยะ นอกจากการเป็นนักดื่มกาแฟชนิดเข้าเส้นเลือดที่ผลักดันให้เจอร์เรียน อเล็กซ์ และเบน ริเริ่มทำแก้วกาแฟพับได้ มหานครที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เจอร์เรียนบอกว่า เราสามารถเห็นถังขยะทุกหัวมุมถนนในนิวยอร์ก ซึ่ง 75% ของขยะเหล่านั้นคือแก้วกาแฟ ในเวลาปกติการจัดการขยะก็มีประสิทธิภาพดี แต่เมื่อไหร่ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก หรือถ้าเกิดสภาพอากาศไม่เป็นใจขึ้นมา เช่น พายุ แล้วล่ะก็ เมื่อนั้นถังขยะจะล้มระเนระนาดและหนูก็จะวิ่งวุ่นเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดขยะขึ้นตั้งแต่ต้นก็น่าจะเป็นการดี “ผมไม่รู้ว่า Stojo จะเกิดขึ้นได้หรือเปล่าถ้าเราไม่ได้ใช้ชีวิตในนิวยอร์ก”   ที่มา https://www.nylaunchpod.com/transcript-episode-55-jurrien-swarts-co-founder-of-stojo/ https://www.greenqueen.com.hk/starbucks-debuts-stand-alone-teavana-concept-stores-in-hong-kong-amidst-health-green-push/ https://www.wework.com/ideas/this-cup-takes-the-guilt-out-of-coffee-to-go https://www.vancouvercoffeesnob.com/qa/qa-session-6-jurrien-stojo/ https://stojo.co/pages/sustainability-shouldnt-mean-sacrifice https://stojo.co/blogs/news/betacup-starbucks-sponsored-competition-to-solve-the-disposable-cup-problem