จัสติน ทรูโด หล่อดีแต่พูดสาขาแคนาดา

จัสติน ทรูโด หล่อดีแต่พูดสาขาแคนาดา

จัสติน ทรูโด หล่อดีแต่พูดสาขาแคนาดา

เลือกตั้งทั่วไปของแคนาดาเมื่อปี 2015 จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นักการเมืองรุ่นใหม่หน้าหล่อจากพรรคเสรีนิยม ถูกมองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ แม้จะถูกโจมตีว่าไม่พร้อมพอที่จะรับตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ประชาชนก็หลงเชื่อในเสน่ห์และนโยบายที่เขานำเสนอ จนทำให้เขาสามารถพาพรรคที่เคยได้เก้าอี้แค่ 36 ที่นั่งในการเลือกตั้งคราวก่อน กลายมาเป็นพรรคเสียงข้างมากเด็ดขาดด้วยเก้าอี้ 184 ที่นั่ง ในสภาขนาด 338 ที่นั่ง จุดขาย (ในเชิงนโยบาย) ของทรูโด คนผิวขาวเพศชายจากสังคมชั้นสูง (เขาเป็นลูกชายอดีตนายกฯ ปิแอร์ ทรูโด) ในการเลือกตั้งคราวนั้นก็คือ การให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง LGBT ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมืองแคนาดา ส่งเสริมสวัสดิการสังคม ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเสนอให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย   การประกาศจุดยืนเช่นนั้นทำให้ทรูโดถูกนำไปเทียบว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำขวัญใจฝ่ายขวาของสหรัฐฯ  แต่สี่ปีผ่านไป ชาวแคนาดาเริ่มเห็นแล้วว่า ทรูโดท่าจะดีแต่พูดเท่านั้น ถึงเวลาทำจริงกลับตรงกันข้าม    เริ่มจากภาพลวงที่ว่า เขาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ แทนบารัก โอบามา เขาก็พาสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส สนับสนุนการทำเหมืองถ่านหิน เข้าข้างพวกที่ไม่เชื่อในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรูโดก็ออกมาบอกว่า เขาผิดหวังกับการกระทำของผู้นำสหรัฐฯ และบอกว่า "แคนาดาจะมั่นคงกับคำมั่นสัญญาที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 'สะอาด' (ต่อสิ่งแวดล้อม) ชาวแคนาดารู้ว่าเราจะต้องร่วมมือลงแรงอย่างตั้งมั่นเพื่อเผชิญหน้ากับความจริงที่โหดร้ายในปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้" (CBC) และแม้ว่าเขาจะออกมาบอกว่าเป้าหมายในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีสยัง "เบา" เกินไป ในขณะเดียวกัน ทรูโดก็ผลักดันโครงการส่วนต่อขยายท่อส่งน้ำมันทรานส์ เมาน์เทน (Trans Mountain) อย่างเต็มที่ แม้ว่ามันจะเป็นโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสกัดสารปิโตรเลียมจากทรายน้ำมัน จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการสกัดน้ำมันจากน้ำมันดิบปกติ 17 เปอร์เซ็นต์ และการลากท่อส่งน้ำมันระยะไกลยังผ่านพื้นที่ที่อ่อนไหวทางธรรมชาติ และกระทบต่อการดำรงชีวิตของชนพื้นเมืองแคนาดาด้วยก็ตาม "เราจำเป็นต้องสร้างความมั่งคั่งในวันนี้ เพื่อที่เราจะสามารถลงทุนเพื่ออนาคตได้ เราต้องการทรัพยากรเพื่อใช้ในการลงทุนให้กับชาวแคนาดา เพื่อให้พวกเขาได้มีความพร้อมจากโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่บ้านของเราเองและรอบโลก" ทรูโดกล่าวถึงสาเหตุที่เขาผลักดันโครงการที่มีเสียงคัดค้านหนาหู โดยเฉพาะจากชนพื้นเมือง แม้ก่อนหน้านี้เอกชนที่ทำโครงการอยู่เดิมจะล่าถอยเนื่องจากเบื่อปัญหาเสียงคัดค้านและปัญหาด้านกฎหมายไปแล้ว แต่รัฐบาลของเขาขอซื้อโครงการเพื่อเดินหน้าต่อ (NPR) ทรูโดยังมีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต่อต้านการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ อย่างเช่นกรณีการจับกุมนักกิจกรรมในซาอุดิอาระเบีย รวมถึงการลอบสังหาร จามาล คาช็อกจี (Jamal Khashoggi) คอลัมนิสต์ของ Washington Post ที่สถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี เขาก็ออกมาวิจารณ์ทางซาอุฯ อย่างรุนแรง จนกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยกเลิกการขายรถหุ้มเกราะให้กับทางซาอุฯ   "การตายของนักข่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้อย่างที่สุด นั่นคือสาเหตุที่แคนาดาออกมาเรียกร้องคำตอบและทางออกของปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น" ทรูโดกล่าวหลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคาช็อกจีคงไม่รอด (Newsweek) ก่อนเสริมว่า "อย่างที่สองเรารับสืบทอดสัญญามูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (แคนาดา) ซึ่งลงนามโดย สตีเฟน ฮาร์เปอร์ (นายกฯ คนก่อนหน้า) ในการส่งออกยานยนต์หุ้มเกราะเบาให้กับซาอุดิอาระเบีย เราจะลองดูเรื่องการอนุญาตส่งออก เพื่อดูว่าจะมีทางทำให้ไม่ต้องส่งออกยานพาหนะนี้ไปให้ซาอุดิอาระเบียหรือไม่"   แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว ทางแคนาดายังคงทยอยส่งยานเกราะให้ซาอุดิอาระเบียตามสัญญา แม้จะมีผู้แสดงความกังวลว่า ซาอุฯ จะจ่ายเงินตอบแทนตามสัญญาหรือไม่? ในเมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศยังไม่อยู่ในระดับปกติ (CTV News ส่วนคดีอื้อฉาวที่สุดของรัฐบาลทรูโด ก็คือกรณี SNC-Lavalin บริษัทวิศวกรรมยักษ์ใหญ่ของแคนาดาที่มีฐานอยู่ในควิเบก ซึ่งมักจะมีเรื่องราวพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการรับงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอยู่เนือง ๆ ขนาดที่ธนาคารโลกมีคำสั่งเมื่อปี 2013 แบนไม่ให้บริษัทเข้าร่วมประมูลงานนานเป็นสิบปีมาก่อน เรื่องมาฉาวในช่วงต้นปี 2019 เมื่อทางผู้บริหารของบริษัทออกมายอมรับสารภาพในเดือนกุมภาพันธ์ว่า จ่ายเงินใต้โต๊ะหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับการได้รับงานโครงการศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ในมอนทรีออล และยังมีเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งออกมายอมรับสารภาพว่า รับเงินใต้โต๊ะจาก SNC-Lavlin แลกกับการให้โครงการบูรณะสะพานแห่งหนึ่งในมอนทรีออลด้วย และกรณีที่ทรูโดเข้าไปเกี่ยวพันโดยตรงก็คือ การดำเนินคดีอาญาในปี 2015 กับ SNC กรณีไปจ่ายสินบนให้ทางรัฐบาลลิเบีย สมัยที่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ยังครองอำนาจ เป็นเงิน 47.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา แลกกับโครงการก่อสร้างที่นั่น บวกกับกรณีฉ้อโกงรัฐบาลลิเบียเป็นเงินอีก 129.8 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งหากไปถึงศาลและมีการตัดสินว่าทางบริษัทผิดจริงก็จะทำให้บริษัทถูกแบนจากการรับงานของรัฐบาลเป็นเวลา 10 ปี  ตอนนั้น ผู้ที่ดูแลคดีก็คือ โจดี วิลสัน-เรย์โบลด์ (Jody Wilson-Raybould) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหญิงเชื้อสายชนพื้นเมืองแคนาดา เธอถูกย้ายจากกระทรวงยุติธรรมฯ ไปดูกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกในเดือนมกราคม 2019 แต่อยู่ได้ไม่ทันถึงเดือนก็ลาออก แล้วก็ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ด้วยการเผยว่า ระหว่างที่เธอยังดูกระทรวงยุติธรรมฯ อยู่นั้น ทรูโดข่มขู่เป็นเดือน ๆ ให้เธอยอมความกับ SNC เพื่อเลี่ยงไม่ให้ SNC ต้องโทษทางอาญาซึ่งจะกระทบต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจแคนาดา แต่เธอไม่ยอม (The New York Times) หลังการออกมาพูดของ วิลสัน-เรย์โบลด์ ทรูโดก็ไล่เธอออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีนิยม และไม่ส่งชื่อเธอลงเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งดูจะเป็นการจัดการปัญหาที่ไม่สมกับที่เขาบอกว่าตัวเองเป็น “เฟมินิสต์” และส่งเสริมสิทธิของชนพื้นเมืองเท่าไรนัก จึงกระทบต่อภาพลักษณ์ของทรูโดอย่างรุนแรง และในเดือนสิงหาคมคณะกรรมการจริยธรรมแห่งรัฐสภาก็ออกรายงานสรุปว่า ทรูโดแทรกแซงการทำงานของอัยการสูงสุดจริง และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักจริยธรรม ทรูโดกล่าวกับสื่อว่า เขาขอรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมด พร้อมแก้ตัวว่า เขาไม่เชื่อว่า การติดต่อสอบถามกับอัยการสูงสุดจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมไปเสียทั้งหมด เขาเองก็มีหน้าที่ต้องตัดสินใจและประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวแคนาดา พร้อมระบุว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการดำเนินคดีเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติในหลายประเทศ และมันก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมฯ คนใหม่ที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินคดีกับบริษัทแห่งนี้ต่อไปหรือไม่ (VOA คล้อยหลังไม่นาน เข้าเดือนกันยายน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2019 เพียงหนึ่งเดือน ทรูโดก็งานเข้าอีก คราวนี้ภาพลักษณ์ผู้ส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติของเขาต้องมัวหมองบ้าง เมื่อมีภาพเก่าปี 2001 สมัยที่เขายังเป็นอาจารย์ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งหลุดออกมา เป็นภาพในงานปาร์ตีธีม “อาหรับราตรี” ซึ่งเขาแต่งกายเป็นอะลาดินพร้อมแต่งหน้าเป็นสีน้ำตาล ซึ่งในโลกตะวันตก การที่คนขาวทาผิวเป็นคนผิวสีหรือผิวดำจะถูกมองว่าเป็นการเหยียดผิวอย่างหนึ่ง ทรูโดจึงออกมาขอโทษบอกว่า เขาเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปโดยอ้างว่า  "ตอนนั้นผมไม่คิดว่าการทำแบบนี้เป็นการเหยียดผิว แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าทำเช่นนั้นมันเป็นการเหยียดผิว และผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง" (The New York Times) ก่อนเสริมว่า ตอนมัธยมปลายเขายังเคยทาหน้าดำเพื่อร้องเพลง Day-O เพลงพื้นเมืองจาเมกาด้วย ภายหลังก็ยังมีคลิปวิดีโอของเขาที่แต่งหน้าดำและสวมวิกผมแอฟโฟรออกมาซ้ำเติมอีกรอบ ทรูโดที่เคยมีได้คะแนนนิยมระดับสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 จึงมีคะแนนนิยมลดลงเป็นลำดับ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เรื่องฉาวกรณีแทรกแซงการทำงานอัยการสูงสุดถึงจุดพีกก็เคยตกไปอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์มาแล้ว ก่อนจะค่อย ๆ ตีตื้นขึ้นมาสูสีกับพรรคอนุรักษนิยมที่ตัวเลข 33 ต่อ 34 เปอร์เซ็นต์ (CNC จากผลงานสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิจารณ์หลายคนลงความเห็นว่า ทรูโดขายภาพลักษณ์มากกว่าขายผลงาน มีแต่คำขอโทษและข้อแก้ตัวมากกว่าการแก้ไข จนทำให้คะแนนนิยมในบ้านตกต่ำอย่างรุนแรง และน่าจะเสียที่นั่งให้พรรคอนุรักษนิยมไม่น้อย แต่ในระดับนานาชาติ ทรูโดยังมีเสียงชื่นชมพอสมควร อาจเป็นเพราะประชาชนในหลายประเทศเคยชินกับเรื่องฉาวของนักการเมืองที่หนักข้อยิ่งกว่านี้มาก (ค้ายาแล้วไง?) จนเห็นว่าข้อกล่าวหาของทรูโดเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ได้