ยุสตุส ฟอน ลีบิจ นักเคมีผู้ให้กำเนิดนมผงเลี้ยงเด็กทารก

ยุสตุส ฟอน ลีบิจ นักเคมีผู้ให้กำเนิดนมผงเลี้ยงเด็กทารก
สมัยนี้ความรับรู้ของสังคมโดยทั่วไปเชื่อกันว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงดูทารกคงไม่พ้น "นมแม่" อาหารที่ธรรมชาติออกแบบมาให้ตรงต่อความต้องการของทารกมากที่สุดอยู่แล้ว  แต่การให้นมแม่กับทารกก็อาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับแม่ทุกคน เพราะแม่บางคนก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้นมของตัวเองกับลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงปากท้อง โรคประจำตัว หรือโรคติดต่อ ทางออกสำหรับแม่ ๆ กลุ่มนี้ย่อมหนีไม่พ้น "นมผง" สำหรับทารก ซึ่งมีขายมานานนับร้อยปีแล้ว จากข้อมูลของ ฮาร์วีย์ เลเวนส์ไตน์ (Harvey Levenstien) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ในหนังสือเรื่อง Revolution at the Table: The Transformation of the American Diet ชี้ว่า การใช้อาหารทดแทนนมแม่น่าจะมีมานานนับพันปีแล้ว มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นขวดให้อาหารเด็กที่ทำจากไม้ (อารมณ์ขวดนมเด็ก) ในลุ่มน้ำไนล์ และยังมีการอ้างถึงอาหารดัดแปลงสำหรับทารกปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเก่า (ก็ต้องเก่าแก่เกินกว่า 2 พันปี) วิธีการที่เป็นที่นิยมสำหรับชนชั้นสูงแต่เดิมที่ต้องการเลี่ยงการให้นมลูกด้วยตนเองก็คือ การหาหญิงมีลูกอ่อนมาให้นมแทนตัวเอง (แม่นม) แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ร่ำรวยพอก็ต้องอาศัยน้ำนมสัตว์ น้ำผึ้ง เนย ขนมปังบด เนื้อสัตว์สับละเอียด หรืออาหารทดแทนชนิดอื่น ๆ มาให้ทารก  นมวัวเป็นหนึ่งในอาหารทดแทนนมแม่ที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 ที่มีความคิดที่ว่า อาหารที่เหมาะสำหรับเด็กทารกในวัยที่ฟันยังไม่ขึ้นควรจะเป็นน้ำนมเท่านั้น แต่ในยุคก่อนการมาถึงของกระบวนการฆ่าเชื้อแบบหลุยส์ ปาสเตอร์ (พาสเจอร์ไรซ์) นมวัวย่อมมีความเสี่ยงสูงสำหรับทารกที่ยังมีภูมิต้านทานต่ำ และเมื่อกระบวนการทางเคมีมีความก้าวหน้ามากขึ้น นักเคมีก็พิสูจน์ให้เห็นว่า นมวัวต่างจากนมมนุษย์ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบขับถ่ายของเด็กมีปัญหา จึงมีความพยายามที่จะดัดแปลงนมวัวให้เหมือนนมคนมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนานมผงดัดแปลงสำหรับทารก นักเคมีเจ้าแรกที่พัฒนานมผงดัดแปลงเพื่อการค้าก็คือ บารอน ยุสตุส ฟอน ลีบิจ (Baron Justus von Liebig) นักเคมีชาวเยอรมันซึ่งออกผลิตภัณฑ์ในชื่อ "อาหารละลายน้ำสำหรับทารกโดยลีบิจ" (Liebig's Soluble Food for Babies) วางขายในตลาดยุโรปเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1867 โดยอ้างว่ามันคือ ผงที่มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนนมแม่เป๊ะ ๆ ราวกับเป็นฝาแฝด ก่อนที่ผู้ผลิตเจ้าอื่น ๆ จะส่งผลงานของตัวเองเข้าประกวดตามมา ซึ่งบางเจ้าก็เป็นนมผงล้วน ๆ แค่ใส่น้ำก็ใช้ได้เลย ส่วนบางเจ้าต้องผสมกับน้ำนมเจือจางเหมือนผลิตภัณฑ์ต้นแบบของลีบิจ ไม่นานจากนั้น หมอบางรายก็ออกมาอ้างว่า การใช้นมผงสำเร็จรูปเลี้ยงเด็กนั้นดีเสียยิ่งกว่าใช้นมจากแม่นม ลีบิจ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1803 ที่เมือง ดาร์มส์ตัดต์ (Darmstadt) เป็นลูกเจ้าของโรงงานผลิตสีและสารเคมี ตอนเด็ก ๆ เขาชอบยืมหนังสือเคมีจากห้องสมุดใกล้บ้านมาอ่านแล้วทำการทดลองตามในห้องทดลองของโรงงานที่บ้าน อายุได้ 16 ปีก็ไปเรียนผสมยา แต่เรียนได้แค่ 6 เดือนก็ไปบอกกับพ่อว่าอยากเอาดีด้วยการเป็นนักเคมีมากกว่าเป็นเภสัชกร ก่อนจบดอกเตอร์ด้านเคมีจาก University of Erlangen ในบาวาเรีย เมื่อปี 1822 (Britannica) เขาเริ่มทำงานกับมหาวิทยาลัยแห่งกีสเซนและอยู่ยาวเกือบ 3 ทศวรรษ สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้วางรากฐานให้กับการเรียนการสอนด้านเคมี โดยเฉพาะสาขาเคมีอินทรีย์ ที่เขาผลิตผลงานวิจัยออกมามากมาย และมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ ทำให้มีนักเรียนต่างชาติเดินทางมาเรียนกับเขาถึงเยอรมนีจำนวนมาก สถาบันอย่าง ราชวิทยาลัยเคมีแห่งกรุงลอนดอน หรือสถาบันวิทยาศาสตร์ลอเรนซ์แห่งมหาวิทยาฮาร์วาร์ด ก็อาศัยหลักสูตรการเรียนการสอนของเขาเป็นต้นแบบ หลังจากอยู่กับงานวิชาการมานาน ถึงปี 1840 ลีบิจก็หันมาสนใจเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเคมีอินทรีย์ในการเกษตร และอาหาร เขาพยายามพัฒนาสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด ก่อนที่ เจ.เอช. กิลเบิร์ต ลูกศิษย์ชาวอังกฤษของเขาเอง กับจอห์น เบนเน็ต ลอส์ จะได้ค้นพบซูเปอร์ฟอสเฟตซึ่งนำไปสู่การผลิตปุ๋ยเคมีขึ้นในกาลต่อมาไม่นาน ลีบิจยังสนใจเรื่องเคมีอาหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการปรุงสุกอาหารโดยรักษาสารอาหารให้ครบถ้วนที่สุด เขาพัฒนาเนื้อสัตว์สกัดที่ทำโดยนำน้ำซุปจากเนื้อสัตว์ไขมันต่ำไปผ่านกระบวนการระเหยที่ความดันต่ำ เขาเชื่อว่า สารสกัดที่ได้จะคงรักษาคุณค่าของสารอาหารไว้ได้มากที่สุด มันจึงเหมาะกับการใช้เป็นอาหารให้กับผู้ป่วยที่ต้องอาศัยสารอาหารที่สมบูรณ์เพื่อการฟื้นฟูร่างกาย จากนั้นลีบิจก็ได้พัฒนาน้ำนมเทียมสำหรับเด็กทารกดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้วข้างต้น ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เสียชีวิตลงในปี 1873 แต่ชื่อของเขาก็ยังคงขายได้อีกพักใหญ่  นมผงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ ช่วงยุค 1890s คือผลิตภัณฑ์ของ Mellin’s Food ซึ่งพัฒนาขึ้นในอังกฤษแต่ผลิตในบอสตัน ก็ยังอ้างชื่อของลีบิจ โดยโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาคือ “ของแท้โดยลีบิจ” ชื่อของนักเคมีชื่อดังระดับโลกที่อ้างว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีคุณสมบัติ “เหมือน” น้ำนมแม่ราวกับฝาแฝด (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง)