จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล: นักร้อง - นักเขียน - พอดแคสเตอร์ ผู้รักการทดลองของชีวิต

จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล: นักร้อง - นักเขียน - พอดแคสเตอร์ ผู้รักการทดลองของชีวิต
ในศตวรรษที่ 21 โลกกำลังมองหาคนทักษะแบบ Multitasking มนุษย์ผู้ทำหลายสิ่งพร้อมกันได้ ว่ากันว่านี่เป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่โลกต้องการ จากก่อนหน้านี้ที่การทำอะไรได้หลายอย่าง ถูกมองว่าเหมือน “เป็ด” สัตว์โลกผู้มีปีกแต่บินไม่ได้แบบนก และว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่เหมือนปลา แต่ทุกวันนี้ เป็น “เป็ด” ก็เจ๋งได้ไม่แพ้นกหรือปลา ...ดีไม่ดี อาจจะเจ๋งกว่าด้วยซ้ำไป "โม" จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล นักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง มหาวิทยาลัยศิลปากร สาวน้อยผมสีบลอนด์ยอมรับว่าเธอก็เป็นเช่นนั้น ด้วยความสามารถทั้งการร้องเพลง กับบทบาทศิลปินหญิงเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟยุค ‘90 กับวง “Evil Dude” และศิลปินเดี่ยวเพลงแนว อาร์แอนด์บี ในนาม “Junva” รวมทั้งเขียนนิยายลงในแอปพลิเคชัน ไปจนถึงทำพอดแคสต์ ทุกสิ่งเกิดขึ้นจากการปะติดปะต่อขึ้นของเวทีชีวิต ที่สร้างทั้งเสียงเพลงอันไพเราะ เสียงหัวเราะ และเสียงร้องไห้ คนเราต่างมีหลายเวทีให้เราขึ้นไป enjoy the show… จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล: นักร้อง - นักเขียน - พอดแคสเตอร์ ผู้รักการทดลองของชีวิต เวทีที่ 1 : เสียงดนตรี เมโลดี และตัวโน้ต แม้จะไม่ได้เกิดในครอบครัวศิลปิน แต่เด็กหญิงโมก็ลืมตาขึ้นมาในบ้านของคนรักเสียงเพลง คุณพ่อ-ชายผู้เป็นเจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ซึ่งมีโลกอีกมุมคือการชอบร้องเพลง และพี่สาว ที่กลายมาเป็นครูสอนร้องเพลง ทำให้โมซึมซับสิ่งนี้มาตั้งแต่วัยประถมศึกษา ก่อนจะออดิชันได้เป็นนักร้องประจำวงโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่เธอและเพื่อน ๆ โลดแล่นล่ารางวัลตามเวทีต่าง ๆ เธอพยายามเดินตามความฝันเรื่อยมา จนในที่สุด วงดนตรีของพวกเธอก็คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งรายการ “Search To Be The Star” ปี 2015 แม้ว่าความเห็นของครอบครัว อยากให้ลูกสาวเรียนด้านธุรกิจการบินมากกว่า แต่ความเอาจริงเอาจังและใจที่รักดนตรี ทำให้ครอบครัวของเธอนั้นเปิดใจให้กับโอกาส เธอจึงเลือกเรียนในคณะคณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง ของมหาวิทยาลัยศิลปากร "ถ้าให้ไปเรียนด้านอื่นมันก็เหมือนเราต้องสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ที่ไม่ใช่ตัวเรา ผลงานที่เราทำมาตลอด เส้นทางที่เดินมาคือด้านดนตรี ตอนที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอร์ตฯ ของเราคืองานด้านดนตรีเป็นส่วนใหญ่ และพอยิ่งได้ไปประกวด เจอศิลปิน คนที่เรียน หรือทำงานสายนี้ โลกด้านดนตรีของเรามันยิ่งเปิดกว้างขึ้นอีก" จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล: นักร้อง - นักเขียน - พอดแคสเตอร์ ผู้รักการทดลองของชีวิต เวทีที่ 2 : โลกของน้ำหมึก นอกจากการถือไมค์ส่งความสุขผ่านเสียงเพลงแล้ว โลกเล็ก ๆ อีกใบของโม คือการจดจ่อเขียนนิยายอยู่บ้านลงในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน อย่าง Storylog, Joylada และ ReadAWrite โดยตั้งใจว่า งานเขียนของเธอ จะต้องถ่ายทอดบทบาทของตัวละครให้มีความเป็นมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการเขียนที่ต้องระมัดระวังด้านการชี้นำสังคม อย่างความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าการถูกบังคับข่มเหง ถูกทำร้ายรังแก ที่เรียกว่าการบุลลี จะนำมาซึ่งความรัก เธอมองว่าสังคมไทยอยู่กับเรื่องราวมายาคติแบบนี้มานานเกินพอแล้ว งานเขียนหล่อหลอมโลกของเธอให้มีความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน ฝึกให้เธอเฝ้ามองและมีส่วนร่วมกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมมากยิ่งขึ้น จุฑาทิพย์ จันทน์วัฒนาผล: นักร้อง - นักเขียน - พอดแคสเตอร์ ผู้รักการทดลองของชีวิต เวทีที่ 3 : พอดแคสเตอร์หน้าใหม่ การเป็นคนชอบขีด ๆ เขียน ๆ ทำให้โมได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง คอมเมนต์แสบ ๆ ฮา ๆ ของเธอ ไปสะดุดตารุ่นพี่ศิลปากร พวกเขาฟอร์มทีมลุกขึ้นมาทำพอดแคสต์ในชื่อ "Head Speech" เผยแพร่ทาง spotify ที่อยากชวนผู้คนมาตั้งคำถาม และคิดวิเคราะห์ก่อนพูด ใช้ "head” นำ “speech” ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด "hate speech" (พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่แสดงออกในเชิงคุกคามในเชิงอคติต่อบุคคลหรือกลุ่มคนอื่น เช่นการเหยียดในรูปแบบต่าง ๆ) เรื่องที่เธอหยิบมาพูด เป็นประเด็นทางสังคมหนัก ๆ อย่าง ความเท่าเทียมทางเพศ เฟมินิสต์ ปิตาธิปไตย ป๊อบ คัลเจอร์ หรือ วัฒนธรรมร่วมสมัย และอื่น ๆ ที่ถูกนำหลอมรวมเป็นเนื้อหาของพอดเเคสต์ ทั้ง 3 เวทีชีวิตของโม เธอบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมตัวตนของเธอขึ้นมา นอกจากการค้นหาแพสชันและทดลองทำไปเรื่อย ๆ แล้ว การศึกษาก็มีส่วนสำคัญ นับตั้งแต่การขอโอกาสกับแม่ลองสอบตรงเข้าที่ คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง มหาวิทยาลัยศิลปากร และสอบผ่านในรอบสอบตรงด้วยผลงานในพอร์ตโฟลิโอ เธอจึงเดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่นั้น ที่แห่งนี้ได้ฝึกฝนให้เธอเรียนรู้โลกในมุมมองที่หลากหลายขึ้น หลักสูตรที่ครอบคลุมองค์ความรู้ทั้ง 2 โลก คือ โลกด้านศิลปะ ดนตรี และอีกโลกคือการบริหารธุรกิจ การบริหารจัดการ ประชาสัมพันธ์และการตลาด ที่ดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกหลักสูตรที่เชื้อเชิญ "ตัวจริง" มืออาชีพของแต่ละวงการเข้ามาให้ความรู้ นั่นยิ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ทำให้ “ศิลปากร” ไม่ใช่เพียงแค่มหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นสังคมสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่อยากทำอะไรใหม่ ๆ เป็นของตัวเอง ตอนเช้าเราอาจเห็นโมทำเวิร์คช็อปในคลาสเรียนตอนเช้า นั่งวางแผนกับเพื่อน ๆ จัดอีเวนต์ช่วงบ่าย และทำงานเพลงยามค่ำคืน เรียกได้ว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเธอนั้นหลากสีสัน สามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริงในวันที่เธออออกไปทำงาน "พอเข้ามาเรียนที่ศิลปากร เราไม่ได้เรียนอย่างเดียว เพราะที่นี่คือสังคมสร้างสรรค์ เป็นเวทีปล่อยของ (หัวเราะ) ทุกคนมีของที่อยากให้โลกเห็น มีโปรเจกต์ของตัวเอง แล้วชวนกันไปลองทำอะไรใหม่ ๆ รู้สึกว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ได้นะ เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา " แม้โมจะทำได้หลายอย่างและทำได้ดี แต่ก็ยังถ่อมตัวว่าตัวเองยังเป็น “เป็ด” แต่เราเชื่อว่าเธอเป็นเป็ดผู้มีมีความใคร่รู้ สนุกกับการค้นคว้า สนุกกับการทดลอง เรียนรู้โลกที่รออยู่ข้างหน้า และนำมาประกอบสร้างเป็นชีวิตในแบบที่เลือกเอง