กัลยากาญจน์ บู่สี ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้นกว่าเมื่อวาน

กัลยากาญจน์ บู่สี ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
“ตอนแรกเราก็แค่ไปชุมนุมเฉย ๆ แต่ที่เริ่มมาเป็นอาสาสมัครเพราะวันที่มีการสลายการชุมนุมตอนตี 4 แล้วเราได้เห็นว่ามีคนบาดเจ็บแต่ไม่มีหน่วยพยาบาล เลยคิดว่าเราเองต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง” จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้ มด-กัลยากาญจน์ บู่สี ประชาชนคนหนึ่งผู้ซึ่งเห็นความเคลื่อนไหวตั้งแต่แกนนำประกาศจะยุติการชุมนุม ไปจนถึงการที่เจ้าหน้าที่ล้อมกระชับพื้นที่เข้ามาสลายการชุมนุมหลังจากนั้น เป็นเหตุให้เกิดความชุลมุน และมีผู้บาดเจ็บขึ้น ได้ตัดสินใจในวันต่อมาว่า เธอต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง โดยเธอเลือกเดินเข้าไปในร้านขายยา เพื่อหาอุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้น เผื่อว่าจะได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนมคนอื่น ๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง “เราถามเพื่อนว่าจะมีใครมาร่วมกับเราไหม แล้วก็เลยตัดสินใจไปซื้อกระเป๋าพยาบาลกับพวกยาสามัญต่าง ๆ ที่ร้านก็ถามว่าจะเอาไปที่ชุมนุมเหรอ พอตอบว่าใช่ เขาก็เลยไม่คิดเงินให้เราเอาอุปกรณ์กับยามาช่วยคนที่ชุมนุม” หลังจากนั้นเครื่องแบบคุ้นตาของมดคือ กระเป๋าสะพายสีแดงที่ข้างในเต็มไปด้วยยาและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลพื้นฐานมากมาย ซึ่งต่อมาเธอได้เจอกับอาสาสมัครที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แล้วได้รวมตัวกันเป็นทีมใหญ่จนกลายเป็นทีมงานหน่วยแพทย์อาสา (Medical Volunteer) ตอนนี้อาสาสมัครแบบมดมีอยู่ประมาณ 20-30 คน แบ่งเป็นทีมต่าง ๆ ซึ่งจะประจำตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งเราจะสังเกตพวกเขาได้จากป้ายห้อยคอ และปลอกแขนสีขาวที่มีสัญลักษณ์ Rescue สีแดง หรือสังเกตจากเสียงที่คอยถามไถ่ผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการยาดม หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ ไหม เหมือนกับเสียงใส ๆ ที่เราได้ยินจากมดเป็นครั้งแรก กัลยากาญจน์ บู่สี ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้นกว่าเมื่อวาน การที่มดติดตามการชุมนมของกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า ‘ราษฎร’ มาโดยตลอดและได้มาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฉุกเฉินการเแพทย์ ทำให้เธอได้อยู่ร่วมเป็นพยานในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นกับการเรียกร้องครั้งนี้หลายครั้ง โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเธอได้เล่าเหตุการณ์ในคืนวันนั้นให้ฟังว่า “วันที่เขาใช้รถฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่สยาม เราอยู่ตรงแนวปะทะเลยได้เห็นภาพตอนที่เขาเริ่มฉีดน้ำแล้วมีน้องนักเรียนอยู่ตรงนั้น แต่พวกเด็ก ๆ ก็ไม่หนีเลยโดนน้ำที่ฉีดเข้ามาเต็ม ๆ ทำให้เราคิดว่าถ้าเด็กยังไม่กลับแล้วเราจะกลับไปก่อนได้ยังไง ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงทำกับเด็กที่ไม่มีอาวุธได้ลงคอ ก็เลยรู้สึกเสียใจ และเจ็บใจที่เราช่วยอะไรแทบไม่ได้เลย จากวันนั้นก็ตัดสินใจว่าต่อไปจะทำหน้าที่ของเราตรงนี้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นอย่างเต็มที่ แล้วไม่หนีไปไหนจะช่วยทุกคนอย่างถึงที่สุด” ย้อนกลับไปเหตุผลที่ทำให้มด ซึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดจากสุโขทัยคนหนึ่งที่พยายามด้วยตัวเองจนมีโอกาสได้ไปทำงานด้านการนำเข้าส่งออกที่ต่างประเทศ ได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้ มาจากการทำงานของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานหลังการรัฐประหารในปี 2557 แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับกำลังนำพาประเทศเดินถอยหลังไปเรื่อย ๆ นั่นทำให้เธอเริ่มออกมาแสดงพลังกับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกว่าเผด็จการนี้ลาออก “ถ้าการเมืองดีเราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปทำงานไกลถึงต่างประเทศ แต่ด้วยความที่ตอนนี้คุณพ่อไม่อยู่แล้วเราเลยต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องดูแลคุณแม่และน้องชาย ลำพังการทำงานที่เมืองไทยรายได้ไม่เพียงพอ เป็นเหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจมาร่วมในการชุมนุม เพราะอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นเพื่อน้องชายที่อายุห่างกัน 14 ปี จะได้มีอนาคตที่ดีขึ้น ไม่ต้องมาลำบากเหมือนอย่างเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราควรจะได้การสนับสนุนหรือเข้าถึงโอกาสมากกว่านี้ การที่เราไม่ใช่เด็กกรุงเทพกลายเป็นว่า ต้องใช้ความสามารถตัวเองมาก ๆ เพื่อที่จะไปยืนอยู่ตรงนี้ได้ ทำให้เห็นปัญหาโครงสร้างที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำชัดเจน” ในฐานะพี่สาวของน้องชายวัยมัธยม เธออยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้น้องของเธอมีอนาคตที่ดีกว่านี้ อย่างน้อยก็เรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ไม่ให้เป็นเหมือนเธอที่ขาดโอกาสในด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับผู้คนในเมืองหลวง และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เธออยากใช้ความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ที่เคยรับการอบรมมาเป็นหน่วยแพทย์อาสา เพราะเธอเชื่อว่าทุกคนที่เป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ เหมือนกัน อาจไม่สามารถทำที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่หากเสียงเล็ก ๆ เหล่านั้นเริ่มตั้งใจทำบางอย่างที่ทำได้ก่อน เวลานั้นทุกคนก็จะรวมพลังกลายเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วโหมให้กระแสคลื่นของการเปลี่ยนแปลงพัดแรงขึ้นเรื่อย ๆ กัลยากาญจน์ บู่สี ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมดีขึ้นกว่าเมื่อวาน สิ่งที่เธอได้เห็นในต่างประเทศแล้วอยากให้ประเทศไทยพัฒนาในจุดที่เท่าเทียมกัน มีทั้งเรื่องการคมนาคม คุณภาพชีวิต การจัดการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่หลายประเทศให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมมากมาย และไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนไกลบ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการจัดการกับเงินภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชนทุกคน ที่เธอเชื่อมั่นมาตลอดว่า ภาษีแต่ละบาทที่เสียไปควรได้อะไรกลับที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีกว่าที่เป็นอยู่ “ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งเด็ก ๆ ช่วยกันเรียกร้องจนได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา แต่เราไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เราจะรู้สึกละอายใจไหมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่ออกมาทำให้สังคมดีขึ้น ดังนั้นเราเลยตัดสินใจออกมาด้วยความเต็มใจตั้งแต่วันแรก แล้วการได้มาเจอคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่อยากได้ประชาธิปไตย อยากให้ประเทศนี้ดีขึ้น ทำให้เราเตรียมใจกับสิ่งที่อาจจะเจอ เราไม่ได้กลัวว่าจะโดนตำรวจจับ จะเสียชีวิตหรือใครจะทำอะไรเรา เราไม่ได้กลัวเพราะเราอยากได้ชีวิตที่ดีกว่า เราเลยต้องออกมา” มดตอบด้วยเสียงมุ่งมั่นก่อนเธอจะขอตัวเพื่อทำหน้าที่หน่วยแพทย์อาสาต่อไป   เรื่อง: Manita