วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร

วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร
“ช่วงที่ได้ยินว่าไวรัสโควิด-19 ระบาดในไทย แล้วเราขับรถรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินอยู่เรื่อย ๆ ก็คิดว่ามันใกล้ตัวอยู่แล้วแหละ เลยซื้อหน้ากากอนามัย ซื้อเจลล้างมือแอลกอฮอล์เตรียมไว้ เราต้องป้องกันตัวเอง ผู้โดยสารที่ขึ้นมาแล้วไม่มีหน้ากาก เราก็มีให้เขา คือเราเอาของพวกนี้ติดรถไว้ให้ลูกค้าใช้ไม่เคยขาด เราดูแลและป้องกันตัวเองอย่างดี แล้วก็ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดรถมาตลอดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ แต่ก็ไม่คิดว่าสถานการณ์จะแย่ถึงขั้นคนไม่ออกจากบ้านเลย” วรรณกวี อยู่วัฒนา พูดถึงถนนหนทางที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเธอ จากเดิมที่แต่ละย่านคึกคัก มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหวของผู้คน มาวันนี้ท้องถนนกลับโล่ง เงียบเหงา การจราจรที่เคยติดขัด ตอนนี้กลับบางตา ถ้าในสถานการณ์ปกติเธอคงรู้สึกยินดี เพราะสามารถนำพาผู้โดยสารไปถึงที่หมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจาย นี่หมายถึงรายได้ของเธอที่สั่นคลอน โชเฟอร์แท็กซี่อย่างวรรณกวี จึงต้องปรับตัวรับสถานการณ์ พร้อมเดินหน้าฝ่าวิกฤต โดยมีกำลังใจจากผู้โดยสารเป็นลมใต้ปีกให้เธอประคองตัวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร ย้อนไปหลังจบจากคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาศิลปการละคร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วรรณกวีก็คลุกคลีกับงานสายโปรดักชัน ทั้งการเป็นผู้กำกับเวทีของละครเวที ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ฯลฯ เธอทุ่มเทพลังให้กับการทำงานหนัก นอนหลับพักผ่อนไม่เป็นเวลา จนสุขภาพย่ำแย่ถึงขั้นน็อคลงไปกองกับพื้น นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วรรณกวีเบนเข็มไปทำงานเป็นเลขานุการในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่ใช่เส้นทางที่ใช่ เธอจึงตัดสินใจหันมาเป็นโชเฟอร์แท็กซี่ซึ่งเป็นอาชีพเดียวกับคุณแม่ วรรณกวีเริ่มอาชีพโชเฟอร์แท็กซี่อย่างจริงจังในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 อาศัยเรียนรู้เส้นทางจากกูเกิล รวมทั้งจากผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่รู้จักเส้นทางที่จะไปกันดีอยู่แล้ว เธอเล่าว่าช่วงแรก ๆ ก็เกร็งและตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่คุณแม่ที่ขับรถแท็กซี่มาสิบกว่าปีให้คำแนะนำทุกอย่าง ทั้งเรื่องการดูแลรถ การขับรถ จุดที่มีผู้โดยสารหนาแน่นอยู่ที่ไหน การรับผู้โดยสารต้องทำอย่างไร ถ้าเจอคนแปลก ๆ ต้องรับมืออย่างไร ทำให้เมื่อขับรถแท็กซี่ไปได้สักพัก เธอก็เริ่มคุ้นเคย วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร “ช่วงแรกเจออุปสรรคหลายอย่าง เพราะเหมือนเราเรียนรู้จากศูนย์ แต่ก็เอาทักษะต่าง ๆ ทั้งจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัยและการทำงานมาปรับใช้ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราต้องรู้ว่าเราทำงานบริการ และผู้โดยสารต้องการอะไรจากการเดินทางครั้งนี้ เช่น เดินทางเร็วที่สุดในราคาที่สมเหตุสมผล เพราะฉะนั้น เราต้องทำยังไงก็ได้ให้เขามีความสุขกับการเดินทาง ซึ่งต้องสื่อสารให้ชัดที่เจนก่อนล้อหมุน อย่างจะไปเส้นทางไหน ขึ้นทางด่วนหรือเปล่า เพื่อให้การเดินทางของเขาราบรื่นที่สุด และถ้าเราไม่รู้เส้นทาง เขาสะดวกแนะนำเส้นทางให้เราไหม ถ้าเขาไม่สะดวกและขอเปลี่ยนคัน เราก็ไม่มีปัญหาเลย” วรรณกวีใช้ชีวิตบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่จะวิ่งแถบนนทบุรี รังสิต และพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า แล้วยาวไปถึงบ่าย 3 จากนั้นเข้าบ้านพักผ่อน เพื่อให้คุณแม่ขับต่อช่วงกลางคืน ลูกค้าของเธอมีทั้งผู้โดยสารรายทางและผู้โดยสารเจ้าประจำที่แจ้งคิวไว้ ที่มีราว 70% มีทั้งผู้โดยสารที่ใช้บริการแท็กซี่ไปสนามบิน ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือผู้สูงอายุที่ขอให้เธอช่วยพาไปซื้อของหรือไปรับส่งที่ร้านอาหาร เฉลี่ยแล้วสร้างรายได้ให้เธอหลักพันบาทต่อวัน จนเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ วรรณกวีก็ออกรถแท็กซี่อีกคัน เพื่อที่เธอและคุณแม่จะได้แยกกันขับแบบเต็มเวลา ไม่ต้องเปลี่ยนกะกันเองเหมือนเมื่อก่อน เป็นสองแรงในการหารายได้เข้าครอบครัว จากเดิมที่วรรณกวีเข้าบ้านราวบ่าย 3 พอมีแท็กซี่เพิ่มขึ้นอีกคัน เธอก็สามารถขยายเวลาวิ่งรถของตัวเองไปถึง 3-4 ทุ่ม แล้วค่อยเข้าบ้าน “แต่นั่นแหละ จังหวะมันไม่ดี พอออกรถใหม่มาปุ๊บ ก็เกิดโควิด-19 พอดี เรารู้สึกว่าหนักมาก เป็นปัญหาที่เราคาดไม่ถึง แล้วก็หนักสุดเท่าที่เคยเจอมา” วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร จากที่มีลูกค้าจองคิวใช้บริการไปสนามบินหรือออกต่างจังหวัดเพื่อไหว้พระทำบุญ โควิด-19 ทำเอาลูกค้ากลุ่มนี้หายวับไปกับตา รวมทั้งลูกค้านักเรียนที่จองคิวไปเรียนพิเศษหรือเรียนภาษาแถวสยามสแควร์ มาตอนนี้ก็ยกเลิกทั้งหมด ลูกค้าประจำของวรรณกวีจึงลดฮวบแบบที่เจ้าตัวนึกไม่ถึง “ตอนนั้นไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เพราะถ้าคิดก็คงไม่ออกรถใหม่ นี่คือปัญหาใหญ่ของเรา เราทิ้งรถไม่ได้ เราต้องผ่อนรถเดือนหนึ่ง 20,000 กว่าบาท ถือว่าหนักมาก แล้วช่วงอาทิตย์ที่แล้ว (กลางเดือนมีนาคม 2563) เราหาเงินได้วันละ 300-400 ซึ่งไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน คือคนไม่มีเลย อย่างเมื่อก่อนเสาร์อาทิตย์เราวนอยู่แถวเซ็นทรัล เวสต์เกต ที่เดียว เราได้วันละ 1,000-2,000 บาท แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คนไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งเราก็เข้าใจเขา ขณะเดียวกัน รายได้เราหายไปน่ากลัวมาก ๆ เราเลยต้องหาลูกค้าใหม่เกือบทั้งหมด” โชเฟอร์แท็กซี่สาวเล่าว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นก็ต้องปรับตัวใหม่หมด ทั้งเรื่องเวลาทำงานและสถานที่ในการหาผู้โดยสาร อย่างเมื่อก่อนออกจากบ้านตี 5 ตอนนี้มีผู้โดยสารจองคิวเข้ามาให้ช่วยไปรับตอนตี 4.40 ทุกวัน เพื่อไปทำงานที่ไทยพีบีเอส ก็ต้องไปรับ เช้าแค่ไหนก็ต้องไป เพราะอย่างน้อยนี่คือรายได้ประจำที่แน่นอน นอกจากนี้ เธอยังเพิ่งสมัครแอปพลิเคชัน Grab เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ช่วงนี้ วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร “อย่างไปรับผู้โดยสารตอนตี 4.40 เราก็ตื่นตั้งแต่ตี 3 ดูความเรียบร้อยทุกอย่างของรถแล้วก็ออกจากบ้านตอนตี 4 คือตอนนี้โอกาสไหนเข้ามาเราก็รับหมด แล้วค่อยมาปรับเวลาของตัวเอง อย่างตอนนี้ไม่มีใครเที่ยวสถานบันเทิงแล้ว เราก็ควรกลับบ้านให้เร็วขึ้น ควรจะนอนตั้งแต่ 3 ทุ่ม แต่ตอนนี้ 3 ทุ่มคือเวลาที่เพิ่งเข้าบ้าน เพราะเราเสียดายคนที่เพิ่งเลิกงานหรือเพิ่งออกจากห้าง บางทีเราจะกลับบ้าน แต่เห็นผู้โดยสารเรียกเราก็อยากรับ “อาชีพอย่างเรามันเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่อาชีพอื่นกำลังเก็บตัว ไม่อยากออกจากบ้าน แต่เราจำเป็นต้องหาให้ได้ว่าตอนนี้คนกำลังเดินทางไปที่ไหน ใครที่จำเป็นต้องใช้รถแท็กซี่ เขาอาจไปอยู่กันที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซื้อสินค้าเยอะ ๆ เราก็ไปรอตรงนั้น แต่ก็ยังมีลูกค้าเราที่ปกติเขาออกจากบ้านน้อยอยู่แล้วเพราะสุขภาพไม่ค่อยดี เดือนหนึ่งออก 2 ครั้งเพื่อไปซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน เราก็เพิ่งพาเขาไปมา เขาก็บอกว่าไม่กังวลหรอกเรื่องการกักตุน เขาก็ซื้อเท่าที่ต้องใช้ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้น่ารักมาก ๆ ที่ยังคงนึกถึงและเดินทางกับเรา” ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งลง วรรณกวียอมรับว่าเครียด ช่วงแรกเธอเก็บความเครียดไว้คนเดียวโดยไม่ปรึกษาใคร กระทั่งวันหนึ่งเธอตัดสินใจระบายความอัดอั้นที่หาเงินไม่ได้ให้ผู้เป็นแม่ได้ทราบ หลังจากคุยกันก็เหมือนปลดล็อก เพราะทั้งคู่เผชิญปัญหาเดียวกัน โจทย์ใหญ่คือรถแท็กซี่คันใหม่ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน และด้วยคำแนะนำของคุณแม่ วรรณกวีจึงลองโทรศัพท์ไปปรึกษากับบริษัทไฟแนนซ์ว่าพอจะมีมาตรการช่วยเหลือช่วงนี้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งบริษัทก็ประนอมหนี้ให้ ทำให้เธอโล่งใจขึ้นมาก วรรณกวี อยู่วัฒนา โชเฟอร์แท็กซี่ที่ฝ่าวิกฤตด้วยกำลังใจจากผู้โดยสาร นอกจากกำลังใจที่สองแม่ลูกมีให้กันในโมงยามนี้แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือกำลังใจจากผู้โดยสาร ที่ทำให้วรรณกวียังฮึดสู้และยิ้มได้ในสถานการณ์เช่นนี้ “ตอนแรกท้อมาก แล้วไม่สามารถให้กำลังใจตัวเองได้เลยในช่วงแรก แต่โชคดีที่ได้กำลังใจจากผู้โดยสารอยู่ตลอด เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อมาก อย่างขับไปรับลูกค้า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์มา ไม่เคยมีใครที่ไม่ให้ทิปเราเลย ทุกคนพร้อมใจกันแบบ...เอาไปเลยนะ ไม่ต้องทอน บางคน 5 บาท 10 บาท บางคน 20 บาท ทุกคนเข้าใจเรา แล้วก่อนลงจากรถ ทุกคนก็จะบอกเราว่า โชคดีนะ สู้ ๆ นะ เราก็...ตื้นตันแล้ว “ลูกค้าบางคนเป็นเจ้าของโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ ถึงจะขายดี แต่เขาก็บอกว่าลำบากเหมือนกันเพราะโดนโรงงานผลิตวัตถุดิบโกง เอาสินค้าไม่ได้มาตรฐานมาให้ บางล็อตเลยเอาไปขายต่อไม่ได้ จะเคลมก็ไม่ได้ เพราะคิวเคลมยาวเป็นหางว่าว เราเลยปรับทุกข์กัน พอส่งเขาที่บ้าน เขาก็ให้แอลกอฮอล์มาใช้ คือในสถานการณ์ที่แย่มากๆ ก็ยังมีน้ำใจและมิตรภาพ หรืออย่างผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นพริตตี้ บอกว่าตอนนี้โดนเลิกจ้างหมดเลย เพราะไม่มีอีเวนต์ ก็เลยจะกลับสระแก้ว คือเรียกเราให้ไปส่งที่ขนส่ง เขาจะกลับไปปลูกผักที่บ้าน อยู่ที่นั่นยังปลูกผักขายได้ อย่างไรก็ไม่อดตาย “อยากบอกว่าช่วงแรกอาจจะช็อค อาจจะเครียดกันทุกคน แต่เราต้องอยู่กับมันไปสักพักหนึ่ง อยากให้ทุกคนใจเย็น ๆ ค่อย ๆ มองว่าจะหาลู่ทางทำอะไรกันต่อไป มันมีหนทางเสมอ อาจลำบากกว่าเดิมหน่อย แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ”   ภาพ: สุทธิพงษ์ แวงวรรณ (The People Junior)