สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

เปิดใจ กัลยา ทิณพงษ์ แม่ทัพของ "เกศทิพย์" คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล กับเรื่องราว และเบื้องหลังของละครวิทยุที่เคยรุ่งเรืองมาก ๆ ในยุคหนึ่ง

“ละครวิทยุ” อาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้นหูสำหรับคนรุ่นใหม่สักเท่าไร แต่สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ หรือขึ้นไปรุ่นปู่ย่าตายาย ละครวิทยุคือความบันเทิงชั้นดีที่หาเสพได้ง่ายเพียงปลายนิ้วหมุนหาคลื่น

จากยุครุ่งเรืองของละครวิทยุที่มีหลายสิบคณะ สร้างปรากฏการณ์ “หลงเสน่ห์เสียง” ให้เกิดขึ้นใต้ฟ้าเมืองไทยเมื่อราวครึ่งศตวรรษก่อน มาถึงยุคนี้ คณะละครวิทยุต่างล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งขาดผู้บริหารที่จะมารับหน้าที่ดูแลต่อ ความนิยมที่ลดลง ไปจนถึงสายป่านที่ค่อย ๆ สั้น

จนกระทั่งไม่สามารถพยุงศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ไว้ได้ พูดกันถึงขั้นว่า “ละครวิทยุตายแล้ว!” ถึงอย่างนั้น กัลยา ทิณพงษ์ วัย 81 ปี หัวหน้าคณะละครวิทยุเกศทิพย์ ที่หลายคนเรียกขานว่า “คุณแม่” ด้วยความเคารพนับถือ ก็ไม่หวั่น ยังคงสวมหัวใจสิงห์มุ่งมั่นรักษาละครวิทยุที่เปรียบเสมือนลมหายใจของชาวคณะร่วม 30 คนไว้ให้นานที่สุด

แม้ต้องเผชิญคลื่นลมที่โถมมาเป็นระลอกก็ตาม “มีลูกค้าอยู่รายหนึ่ง ไปหาเขาก่อนปีใหม่ เขาถามว่าคุณอาเมื่อไหร่เลิกเนี่ย บอกสงสัยตายซะมั้ง แล้วถึงจะเลิก” คุณแม่กัลยาเล่าพลางหัวเราะ The People ชวนทุกคนสัมผัสมนต์เสน่ห์และเรื่องราวการเดินทางของละครวิทยุจากยุคสู่ยุคผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ไม่แน่ว่าถ้าคุณได้ลองฟังสักครั้ง อาจตกหลุมรักละครวิทยุขึ้นมาก็เป็นได้

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: ช่วยเล่าถึงที่มาของคณะละครวิทยุเกศทิพย์ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร

กัลยา: เริ่มแรกคณะเกศทิพย์แสดงให้กับ USIS หรือสำนักข่าวสารอเมริกัน เราทำเพื่อต่อต้านคอมมูนิสต์ มีอาจารย์สุภัทร สวัสดิรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่านเขียนบทด้วยตอนนั้น ทำทั้งภาษากลาง ภาษาอีสาน แล้วก็แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย โดยไม่มีโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น จนประมาณปี 2503-2504 ตอนที่ดิฉันรับราชการอยู่กรมประชาสัมพันธ์ ได้มีโอกาสไปช่วยคุณสุภัทร เป็นเลขาส่วนตัวท่าน ก็เลยได้วิชาแสดงละครวิทยุติดตัวมาด้วย ทั้งที่ไม่ได้จบด้านนิเทศ ต่อมาคอมมูนิสต์เริ่มหมดไปจากบ้านเรา USIS ก็หมดงบ ช่วงนั้นมีหลายคณะ มีเกศทิพย์, อมรวิทย์ ซึ่งหลายคณะจะเลิกแล้ว เราเลยรวมคนจากแต่ละคณะมาอยู่กับเรา คุณประมวล โอมหันต์ พระเอกของอีกคณะมาเล่นกับเราได้เรื่องเดียว ปรากฏว่าคณะที่เขาสังกัดอยู่เดิมก็ให้ออกเลย คือเมื่อก่อนคณะละครวิทยุเขาหวงตัวกันมาก เล่นคณะนี้แล้วเล่นคณะนั้นไม่ได้ ไม่ให้เล่น เราเลยรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่รับผิดชอบเขาล่ะ คือเขาก็รับราชการตำรวจ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นรายได้พิเศษที่เขามาอยู่กับเรา จึงขออนุญาตพี่สุภัทรบอกว่า หนูขอหาสปอนเซอร์นะ ตอนนั้นเราเป็นคณะเล็ก ไม่เหมือนคุณเสนีย์ บุษปะเกศ, คณะแก้วฟ้า, คุณวิเชียร นีลิกานนท์ ที่เขาดังมาก ๆ ละครวิทยุเป็นสิบ ๆ คณะเลยช่วงนั้น ช่วงนั้นได้จากสปอนเซอร์ก็หลายตังค์ค่ะ แต่ว่าถูกจะตาย เดือนหนึ่ง 10,000 บาท 20,000 บาทเท่านั้นเอง ไม่ถึงหลายล้านหรอก

The People: ละครวิทยุเรื่องแรกที่เล่นคือเรื่องอะไร

กัลยา: เล่นเรื่องแรกคือเรื่อง ‘กิ่งฟ้า’ เล่นคู่กับคุณประมวล โอมหันต์ ผู้จัดการธนาคารไปเจอกันก็คุยกันถามว่าไอ้เด็กคนนี้มันเล่นเรื่อง ‘กิ่งฟ้า’ ดี๊ดี ใครเล่นนะคุณกัลยา เราก็ยิ้ม ๆ ไม่บอก คืออย่างนี้ นางเอกเราไปเอามาจากคณะอื่นก็ไม่ได้ เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเล่น แต่ต้องเล่น เพราะเป็นคณะของเราเอง ไม่เล่นก็ไม่รู้จะไปหาใครที่ไหน ท้ายสุดเลยต้องเล่นเอง

 

The People: สมัยนั้นออกอากาศทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเลยไหม

กัลยา: โชคดีเราได้สปอนเซอร์จาก บริษัท สหเวชชภัณฑ์กรุงเทพฯ จำกัด คุณนายเจ้าของบริษัทให้มา ห้องอัดก็ต้องแย่งกันนะคะ จะไปอัดห้องเล็ก ๆ ก็ไม่มีใครสนใจ ตอนนั้นมีห้องเสียงจาตุรงค์กับคิงซาวด์ เราก็ไปอัดคิงซาวด์ แต่ไม่ได้อัดเยอะมาก รับแค่ไม่เกิน 3 เรื่อง เพราะทำงานประจำกันทุกคน จากนั้นนายห้างทีซีมัยซิน เจ้าของกระทิงแดง ท่านก็เมตตาเรียกให้ไปเอาสปอนเซอร์ เราก็ไม่ได้ออกในกรุงเทพฯ เลย ตอนนั้นในกรุงเทพฯ มีสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งเอเอ็ม เอฟเอ็ม ทั้งหมด 270 กว่าคลื่นเอง ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่มีเป็นพัน ๆ คลื่น ทั้งวิทยุชุมชนอะไรด้วย ทีนี้ สหเวชชภัณฑ์ฯ เขามีสถานีของเขาอยู่ต่างจังหวัด เขาก็เอาไปออกต่างจังหวัด ก็กลายเป็นเราตีป่าล้อมเมือง ต่อมานายห้างทีซีมัยซินเช่าสถานีวิทยุวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันละ 10 ชั่วโมง ท่านบอกว่าเธอต้องทำให้ทันนะ เราก็ เอ้า! ทันก็ทัน อัดกันจันทร์ อังคาร พุธ ตอนเย็นเลิกงานแล้วไปอัด แล้วก็มาวันเสาร์ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 8 โมงวันอาทิตย์ อัดที่คิงซาวด์ คือละครรีรันไม่ได้เลย ต้องอัดสด ๆ ให้ทัน คนทำบทก็เยอะมาก สมัยนั้นเราเสียค่าห้องอัดเสียงให้คิงซาวด์เดือนหนึ่ง 40,000-50,000 บาท นี่คือเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: แสดงว่ายุคนั้นละครวิทยุรุ่งเรืองมาก ๆ?

กัลยา: ใช่ค่ะ รุ่งเรืองมาก ๆ คณะไหนที่ดัง ๆ เขาก็จะมีพื้นที่ มีเวทีของเขา เราก็ไม่มีสิทธิ์ แต่เราโชคดีที่นายห้างทีซีมัยซินซื้อเวลาของสถานีไว้ ก็เอาของเรามาเปิดออกอากาศในเมืองวันเสาร์อาทิตย์ ตามตลาดเขาฟังเราเยอะ สมมติตลาดสดอย่าง อ.ต.ก. เดินตั้งแต่หัวตลาดถึงท้ายตลาดฟังต่อกันไปได้เลย ทุกแผงเปิดเกศทิพย์กันหมด เพราะวันเสาร์อาทิตย์เป็นเรื่องยาว คนฟังก็ฟังติดต่อกัน ไม่ใช่ครึ่งชั่วโมงแล้วเลิก ถ้าอย่างนั้นคนฟังจะน้อย ออกอากาศยาว ๆ คนฟังไม่เบื่อ ทำงานไป ซักผ้าไป ก็ฟังไปด้วย เคยไปเยี่ยมโรงงานเย็บผ้า พนักงานก็ฟังกันทั้งโรงงาน เสียบหูฟังละครวิทยุไปด้วย ทำงานไปด้วย

 

The People: ปรากฏการณ์ “หลงเสน่ห์เสียง”?

กัลยา: ถ้าอัดรายการอย่างนี้ ขนมข้าวต้มมากันเป็นแถว เมื่อก่อนเราเช่าห้องอัดเขาใช่ไหมคะ ตอนหลังนี้มันมากขึ้น เราเลยต้องทำห้องอัดของเกศทิพย์เอง เป็นบริษัท ห้องบันทึกเสียงรุ่งสยาม จำกัด เพราะฉะนั้นแฟนรายการเยอะมาก ปรากฏตัวบนเวทีเหมือนงานอีเวนท์ทั้งหลายแหล่ เหมือนนักแสดงยุคนี้แหละ แต่เราก็ไม่ได้ไป พระเอกนางเอกนะส่วนมากจะไปกันเกือบครึ่ง แล้วก็ขึ้นร้องเพลง มีเพลงประจำคณะของเราด้วย เมื่อก่อนอย่างศรีสะเกษ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญมาทางเรา ก็ไม่ค่อยอยากไปเพราะไม่มีเวลาเลย แล้วอยู่ไกลด้วย เขาก็เชิญมาทางนายห้างทีซีมัยซิน นายห้างบอกว่าเธอต้องไปให้เขานะ แล้วก็มีสายโทรศัพท์จากคนฟัง ส่วนมากจะโทรเข้ามาชมนะคะ เราบอกติมานะ เรายินดีที่จะฟัง ปรับปรุงใหม่ว่าคนไหนอะไรยังไง เขาฟังแล้วเขาก็ชมไป อย่างคนติเนี่ยยังไม่โกรธ ติเพื่อก่อ ติมาเลย งานทุกอย่างเราจะทำให้ถูกใจทุกคนน่ะไม่ได้

 

The People: ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ ต้องมีบทละครวิทยุในมือเยอะมาก?

กัลยา: โชคดีที่ทำงานเป็นลูกน้องคุณสุภัทร ซึ่งท่านอยู่สกุลไทย ท่านให้เราทำอะไรเราก็ยินดีรับใช้ สกุลไทยมีเรื่องดี นักประพันธ์ดี ๆ เด่น ๆ ทั้งนั้น เราก็โชคดีได้เรื่องจากสกุลไทยมาทำเป็นละครวิทยุ ตอนนั้นเราอายุยังน้อย เป็นเด็ก อ่อนน้อมถ่อมตน เจ้าของบทประพันธ์เขาก็เมตตา มีพี่สุภาว์ เทวกุล (สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา), กฤษณา อโศกสิน, เพ็ญแข วงศ์สง่า, ทมยันตี, ชูวงศ์ ฉายะจินดา ตอนหลัง ๆ ก็ได้บทประพันธ์ของคุณสุวัฒน์ วรดิลก เขาบอกหนูกัลยาเอาไปเลย ราคาเท่าไหร่ ค่างวดเท่าไหร่ ไม่ต้องคุยกัน หรืออย่างพี่ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พี่ชอุ่มอยู่กรมประชาสัมพันธ์ เราก็ขอทุกเรื่องจากพี่ชอุ่ม เขาก็ให้มาเล่น คนฟังก็ชอบ ตอนหลังเราไม่ต้องวิ่งหาสปอนเซอร์แล้ว เพราะเขาหันจากคณะอื่นมาหาเราทั้งในเมืองและต่างจังหวัด คนนิยมฟังเรามาก เพราะเกศทิพย์มีทั้งละครชีวิต บู๊ ตลก ละครบ้านผีปอบทั้งหลายก็มี เพราะฉะนั้นเป็นโชคดีของเราที่ได้เรื่องดี ๆ บทประพันธ์ก็สนุก คนทำบทละครวิทยุก็เก่ง ทุกอย่างออกมาถูกใจคนฟัง เรื่อง ‘ชุมแพ’ ของพี่อ้อย-คุณศักดิ์ สุริยา เราก็เอามาเล่น เรามีส่วนทำให้เรื่องนี้ดังขึ้น เรื่องบู๊เกือบทุกเรื่องเราเอามาเล่นได้ แล้วละครของเกศทิพย์แทบทุกเรื่องจะมีเจ้าของหนังมาซื้อไปเล่น เราก็แนะนำไปให้ คนไหนเขียนก็เป็นคนนั้น สมัยก่อนบทประพันธ์เรื่องหนึ่ง 30,000 บาทเท่านั้นเอง 30,000 บาทก็แพงแล้ว เรามีบทละครวิทยุที่นักเขียนแต่งขึ้นโดยไม่ได้อิงจากบทประพันธ์ในหนังสือด้วย อย่างพี่ปณิดา เรื่อง ‘ช่างเขาเถอะ’ ซึ่งพี่ปณิดาเขียนหลายเรื่อง ส่วนปัจจุบันบทละครของเรามีทั้งเอามาจากที่อื่นและนักเขียนส่งเข้ามา อย่างของ กรุง ญ. ฉัตร แทบทุกเรื่อง หรือของคุณวรางคณา

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: บทละครวิทยุควรยาวสักกี่ตอนถึงจะกำลังดี

กัลยา: สมัยก่อน เรื่อง ‘ช่างเขาเถอะ’ ยาวเกือบร้อยตอน แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เรื่องหนึ่งต้อง 10 กว่าตอนจบ หรือต้องไม่เกิน 50 ตอนเพื่อให้กระชับ คนฟังจะได้ไม่เบื่อ แล้วต้องวางพล็อตของแต่ละตอนไว้เป็นดีที่สุด แต่เด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยชอบทำ เราก็ถามว่าทำไมไม่ทำ เพราะบทจะวน ตอนที่แล้วพูดเรื่องนี้ ตอนนี้พูดอีกรอบ จนตอนหลังต้องบอกไปว่าถ้าไม่ส่งพล็อตมาก่อน ฉันจะไม่รับนะ

 

The People: บทไหนหรือว่าอารมณ์แบบไหนที่เล่นยากที่สุด

กัลยา: สำหรับตัวเองแล้ว บทบู๊ยากที่สุด เพราะเวลาจะชกจะต่อยกันต้องให้ลงจังหวะเสียงร้องเสียงรับ การกรี๊ดจะกรี๊ดยังไงให้คนฟังรับความรู้สึกของเราได้ ทุกวันนี้ยังเล่นอยู่บ้างเป็นบางเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นบทเรียบร้อย เล่นบทอื่นไม่ค่อยจะได้เพราะแก้วเสียงเราไม่ได้ เคยเล่นละครวิทยุเยอะจนกระทั่งต้องผ่ากล่องเสียง

 

The People: แสดงว่าเล่นละครวิทยุหนักมาก ๆ?

กัลยา: ก็ 24 ชั่วโมงค่ะที่เล่นเป็นนางเอก เมื่อก่อนอยู่ในห้องแอร์หนาว ๆ ก็ใส่เสื้อกันหนาวช่วย ไม่ไหวก็ต้องฝืนเพราะต้องเล่น ฝืนเล่นจนกระทั่งเกิดเนื้องอกที่กล่องเสียงเพราะใช้เสียงมากเกินไป ตอนนั้นกลัวเหมือนกัน ถ้าพูดไม่ได้นี่แย่แน่ ๆ เลยรีบให้คุณหมอผ่า โชคดีที่เสียงยังอยู่ ยังพูดได้ แต่ร้องเพลงแทบไม่ได้เลย โหนเสียงสูงไม่ได้  

 

The People: เคล็ดลับในการรักษาเสียง?

กัลยา: ดิฉันไม่ดื่มน้ำเย็นเลย ดื่มแต่น้ำอุ่นตลอด เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ เพราะเหล้ามีส่วนทำให้เสียงเสีย

 

The People: บางคนคิดว่าการเล่นละครวิทยุคือการพากย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วสองสิ่งนี้ต่างกัน?

กัลยา: ละครวิทยุเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจไปว่านี่คือการพากย์ละคร ดิฉันต้องบอกว่าไม่ใช่พากย์ นี่คือการแสดงละครวิทยุ ต้องพูดให้ถูก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าเราพากย์หนัง เราต้องพูดให้เข้าหน้าตัวละคร ถ้าหน้าเขาขึงขัง น้ำเสียงเราต้องขึงขังด้วย หรือถ้าบทเลิฟซีนก็ต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้นการพากย์หนังเป็นการทำเสียงไปตามภาพ ส่วนละครวิทยุคือการทำเสียงให้เกิดภาพ อย่าคิดว่าเป็นตัวเราที่ใช้เสียงสำหรับตัวละครนี้ ต้องเอาตัวเราออกไปแล้วคิดว่าเราคือตัวละครนั้น ถ้าเล่นละครวิทยุได้แล้ว คุณจะไปใช้เสียงที่ไหนก็สบาย สมัยก่อนคุณกิตติ อัครเศรณี พี่ชายคุณพิศาล (อัครเศรณี) ท่านทำละครทีวีเยอะ เขาบอกนักแสดงเลยว่าถ้ายังไม่คล่อง ไปให้พี่กัลฝึกก่อนนะ แล้วหนังหรือละครทีวีเกือบทุกเรื่องของคุณกิตติ สมัยที่เขายังอยู่ เขาบอกให้ดิฉันเอามาเล่นละครวิทยุเลย ก็เหมือนโปรโมทละครทีวีให้เขาด้วย

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

 

The People: นักแสดงละครวิทยุควรมีพรสวรรค์หรือพรแสวงมากกว่ากัน

กัลยา: อย่างแรกคือต้องเป็นคนอ่านหนังสือคล่อง ส่วนเสียงจะยังไงก็ได้ เราจะดูได้เลยว่าน้ำเสียงคนนี้ แก้วเสียงคนนี้ จะเล่นเป็นตัวโกง ตัวตลก หรือพระเอก ถ้าใครมีเสียงดีก็ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของเขา บางคนมีคนอื่นบอกว่าเสียงประหลาดจัง แต่เราก็ให้เขาเล่นไป คือคนเราน้ำเสียงไม่เหมือนกันสักคนหนึ่งใช่ไหมคะ แต่ถ้าอ่านหนังสือคล่อง แล้วให้ feeling ได้ มี feeling ในน้ำเสียง เราก็ยินดีจะฝึกให้ ไม่เป็นไร

 

The People: ถ้ามีคนมาบอกว่าละครวิทยุเชย จะมีความเห็นว่าอย่างไร

กัลยา: ก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน เราไปห้ามเขาไม่ได้ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเขาฟังแล้วอาจจะมาชอบก็ได้ เราไม่ว่ากัน ต่างคนต่างความคิด บางคนไม่รู้จักละครวิทยุเลย แต่บางคนก็ยังสนใจ อย่างเด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่เขาก็สนใจนะ คือมีคนหลายวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงแก่อายุ 80 กว่าก็ยังฟัง เราต้องพัฒนาขึ้นให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่จะเอาแบบโบราณมา คนฟังก็ไม่ฟังแล้ว วาง sound ก็วางยาวไป อะไรอย่างนี้ sound effect ต้องทำให้สมจริง ละครวิทยุมันอยู่ที่ sound effect นะลูก การชกต่อย การดื่มน้ำ การพูดโทรศัพท์ เปิดปิดประตู ต้องให้เหมือนจริง แล้วยุคนี้เราก็ต้องพยายามทำเพลงประกอบหัวละครเหมือนกับทีวีด้วย เราจะไปเที่ยวหยิบเอาเสียงของคนนู้นคนนี้มาใส่ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ลิขสิทธิ์มันมี เราต้องทำเอา ลงทุนเยอะมาก

 

The People: ทุกวันนี้ยังฝึกคนรุ่นใหม่ ๆ ให้แสดงละครวิทยุอยู่ไหม

กัลยา: พระเอกของเกศทิพย์ 5-6 คน เสียชีวิตไปบ้างก็มี อย่างคุณประมวลเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่เรายังมีหลายสิบรุ่น บางคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ฟังแล้ว ไม่สนละครวิทยุแล้ว แต่เรากลับมีวัยรุ่น มีนักศึกษาเข้ามาฝึก เขาบอกว่าฟังละครวิทยุแล้วชอบ พอชอบก็อยากเรียนรู้ ถ้ามาอย่างนี้เรายินดีฝึกให้ ไม่ได้คิดเงินอะไร ฝึกสอนจนใช้เสียงเป็น แต่คุณต้องมีวินัยเพราะถ้าหยุด ไม่ฝึก ไม่มีเวทีลงก็จะลืม แล้วก็เล่นไม่ได้ บางคนยังไม่จบ ม.6 พ่อก็มาฝากให้ฝึก เป็นอย่างนี้ไม่รู้กี่สิบรุ่น บางคนฝึกแล้วก็เล่นละครวิทยุกับเรา มีคนหนึ่งฝึกตั้งแต่ ม.ปลาย ตอนนี้เรียนปี 3 ที่รามคำแหง ก็ยังอยู่ หรืออีกคนเป็นตำรวจอยู่ที่สุราษฎร์ฯ นั่งรถจากสุราษฎร์ฯ มาทุกวันที่อัดเสียง ที่นี่มีห้องพากย์หนังอยู่ข้างบน พอฝึกจนใช้เสียงได้แล้วก็ให้เขาลองรับพากย์หนัง คุณก็ได้สตางค์ไป คล้าย ๆ สร้างอาชีพให้เขาด้วย คือละครวิทยุเป็นเหมือนบันไดก้าวแรกที่คุณจะไปต่อยอดทำอะไรได้หลายอย่าง คุณจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ประกาศที่ดีก็ได้ อย่างมุทิตา (มุทิตา อิทธิผล) เขามาตั้งแต่ตอนจบใหม่ ๆ กระทั่งตอนนี้อยู่กรมประชาสัมพันธ์ คุณจะได้ยินเสียงมุทิตาในข่าวตอนเช้า ๆ บางคนฝึกงานที่นี่ เดี๋ยวนี้มีตำแหน่งสูงในกรมประชาสัมพันธ์ก็มี หรือหัวหน้าทีมพากย์หนังบางคณะก็เคยอยู่กับเกศทิพย์

 

The People: ความยากในการแสดงละครวิทยุ?

กัลยา: ฟังละครวิทยุแล้วเหมือนเล่นง่าย ๆ แต่ความจริงยาก จะแสดงยังไงให้คนเห็นภาพ มีจินตนาการไปกับสิ่งที่ฟัง อย่างบทเลิฟซีนที่คนฟังคิดว่าคนแสดงต้องอยู่ด้วยกัน แต่จริงๆ แล้วนั่งกันคนละโต๊ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ของง่าย แล้วเด็กรุ่นใหม่จะพูดเร็วมาก จนต้องบอกว่าช้า ๆ ลูก ช้า ๆ แล้วอ่านออกเสียงให้เต็มที่ อักขระให้ชัดถ้อยชัดคำ ภาษาไทยเป็นภาษาพ่อภาษาแม่เรา อย่าให้เสียชื่อว่าเราพูดภาษาไทยไม่ชัด

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: เวลารวมตัวกันมาแสดงละครวิทยุดูเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ คิดว่าอะไรที่ทำให้คนหลายเจเนอเรชันมาอยู่รวมกันแล้วมีความสุขแบบนี้ได้

กัลยา: เดี๋ยวนี้จะมาอัดเย็นจันทร์ อังคาร พุธ อะไรอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าการจราจรอะไรทุกอย่างมันแย่หมด เกือบทุกคนมีงานประจำทำ ส่วนบางคนก็เกษียณแล้ว เลยนัดกันเสาร์เว้นเสาร์ มารับบทกันก่อนเล่น วันหนึ่งพยายามเล่นให้ได้หลาย ๆ เรื่อง พอมาเจอกันเขาคุยเรื่องอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ (ยิ้ม) เข้ามาก็เป็นเพื่อนกันได้ แล้วสมัยนี้มีคุยทางไลน์, เฟซบุก ดิฉันก็อยู่ในกลุ่มไลน์กับเขาด้วย ดูไลน์กลุ่มบ้าง แต่ไม่ชอบดูเฟซบุก

 

The People: รูปแบบละครวิทยุคล้าย podcast ในปัจจุบัน?

กัลยา: แล้วแต่คนฟังว่าเขาจะฟังกันทางไหน อย่างมือถือเมื่อก่อนนี้มันยังไม่เฟื่อง ถึงขั้นที่จะไปลง YouTube อะไรต่ออะไร ก็มีคนมาจ้างเราเล่นเพื่อไปลงมือถือ แล้วเขาก็บอกว่าถ้าอายที่จะฟังในวิทยุ ฟังในมือถือได้นะ อย่างไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง กดเลขอะไรเราก็บอกไปเลย ละครสนุก ๆ ก็จะได้ฟังได้ ทีนี้บางคนคิดว่าฟังละครวิทยุมันเชย ก็บอกให้เขาลองกดฟังในมือถือ   

       สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: ถือว่าเกศทิพย์เป็นคณะละครวิทยุเดียวที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองถึงยุคดิจิทัล?

กัลยา: จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เราคิดว่าคนฟังเขายังฟังเรา แต่คณะอื่นพอเขาไม่มีสปอนเซอร์ จะขาดทุนเขาก็ไม่สู้แล้ว เราขาดเราก็สู้ไป ก็ยังพอทนได้อยู่ เรามีบริษัทบันทึกเสียงรุ่งสยามที่มีห้องอัด มีรายการอื่นต้องทำ ทำรายการทีวี ทำวิทยุ 2 คลื่น ทำสำหรับกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่ไหว มีเล่นละครวิทยุให้กระทรวงสาธารณสุขด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว แต่ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปเอาบทประพันธ์ของใครมาทำ เราต้องเขียนให้เข้ากับเรื่องที่จะโฆษณา แล้วก็มีของกระทรวงวัฒนธรรม คือเรามีงานของหน่วยงานราชการเยอะมาก เพราะเรามีรากฐานมาจาก USIS มาก่อน เราก็ทำได้ เรามีตั้งชมรมอนุรักษ์ละครวิทยุไทย ดิฉันเป็นประธานชมรม บรรดาพระเอกนางเอกแต่ละคณะเก่า ๆ เขายินดีมาเล่นให้ แล้วเราก็ออกอากาศ อยากจะอนุรักษ์ไว้ บอกตรง ๆ ว่าไม่อยากให้หมดไปเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ถึงแค่ไหน

สัมภาษณ์ กัลยา ทิณพงษ์ แห่ง “เกศทิพย์” คณะละครวิทยุหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาถึงโลกดิจิทัล

The People: ถ้าถึงวันที่ไม่ไหวแล้ว จะมีใครมารับช่วงต่อดูแลคณะเกศทิพย์ไหม

กัลยา: ลูก 2 คนไม่เอาเลยทั้งคู่ บอกไม่ไหว เหนื่อย แต่เรายังต้องทำอยู่เพราะลูกน้องเยอะ รวม ๆ แล้วเกือบ 50 ชีวิต ทั้งอยู่สถานี แล้วก็อยู่เป็นบริษัทด้วย มีกองถ่ายทีวีด้วย ก็จะทำไปจนกว่าจะทำไม่ไหว ตอนนี้ต้องบอกว่าอยู่ที่หาสปอนเซอร์ ถ้าไม่มีสปอนเซอร์ก็อยู่ไม่ได้เหมือนคณะอื่น ๆ สมัยก่อนบริษัทหนึ่งเขาเป็นสปอนเซอร์เรื่องหนึ่ง เวลาหนึ่งเลย แต่หลัง ๆ ต้องหาเป็นสปอต เราต้องมีงบ ไม่มีงบมันก็ไม่ไหว ทุกคนเขาจะมากันฟรี ๆ ไม่ได้ ต้องมีค่าพาหนะให้เขา แต่ว่าไม่เหมือนเล่นละครทีวี ละครทีวีเล่นก็ได้เยอะ ร่ำรวยกันเป็นกอบเป็นกำ

 

The People: กลัวหรือเปล่าว่าวันหนึ่งละครวิทยุจะหายไป

กัลยา: มีความรู้สึกอยู่เหมือนกัน ถ้าตราบใดที่สปอนเซอร์เขาไม่เห็นคุณค่ามันก็หมดไป แต่ถ้าหากว่าหน่วยราชการเขายังส่งเสริมอยู่บ้างก็ยังพออยู่ได้ มีลูกค้าอยู่รายหนึ่ง ไปหาเขาก่อนปีใหม่ เขาถามว่าคุณอาเมื่อไหร่เลิกเนี่ย บอกสงสัยตายซะมั้ง แล้วถึงจะเลิก เพราะลูก 2 คนก็บอกให้เลิก จะทำไงได้ล่ะ เด็ก ๆ เขาก็มาหวังพึ่งเรา เขายินดีที่จะมา