คำนูณ สิทธิสมาน คนเดือนตุลา ส.ว. สรรหา หลายยุค

คำนูณ สิทธิสมาน คนเดือนตุลา ส.ว. สรรหา หลายยุค

คำนูณ สิทธิสมาน คนเดือนตุลา ส.ว. สรรหา หลายยุค

รายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่มาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกเสียงฮือฮาจากสังคมได้อย่างหนาหู เพราะจำนวนนี้มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพที่เข้ามาเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน นั่นคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งหากไล่เรียงรายชื่อ ส.ว. แบบผ่าน ๆ อาจละลานตากับบรรดา 'นายพล' ที่มีกว่าร้อยคน รวมถึงคนที่มีบทบาทในแวดวงการเมืองของประเทศมานาน หนึ่งในนั้นคือ คำนูณ สิทธิสมาน ที่เป็น ส.ว. สรรหา ขาประจำมาแล้วหลายสมัย ย้อนประวัติของคำนูณ ความสนใจทางการเมืองและการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอยู่ในตัวเขามาตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวะนั้น ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เลยได้มีโอกาสร่วมกับรุ่นพี่ทำหนังสือเฉพาะกิจ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งเป็นหนังสือที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงรัฐบาลเผด็จการ เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมทางการเมือง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ '14 ตุลา' ในเวลาต่อมา จากนั้น คำนูณได้เป็นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในปี  2518 แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนิติศาสตรบัณฑิต แต่คำนูณเลือกเดินสายน้ำหมึก ประกอบอาชีพเป็นสื่อสารมวลชนมากกว่า มีผลงานด้านงานเขียนเกี่ยวกับสังคมและการเมืองมากมาย โดยเฉพาะเมื่อครั้งอยู่ในค่ายสื่อใหญ่อย่าง 'ผู้จัดการ' ผลงานจากปลายปากกาหลายเรื่องของคำนูณ ได้รับคำชื่นชมจากคนในแวดวงเดียวกัน ครั้งหนึ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือผู้จัดการ เคยบอกว่าถ้าในวงการสื่อสารมวลชนนั้นน่าจะหาตัวจับคำนูณได้ยาก ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง หลายครั้งที่คำนูณยอมรับและแสดงออกมาตลอดว่ามีความเคารพนับถือสนธิ และมักใช้เฟซบุกส่วนตัวเขียนถึง 'แกนนำเสื้อเหลือง' รายนี้อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงแกนนำคนอื่น ๆ ด้วยอย่างตรงไปตรงมา จากความสัมพันธ์ตรงนี้เอง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเคยมีความคิดว่าคำนูณเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของสนธิในเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2549 “ในแวดวงสื่อสารมวลชนด้วยกัน ผมว่าหาตัวจับคำนูณ สิทธิสมาน ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของกระบวนทัศน์ และองค์รวมของความรู้ในเรื่องแต่ละเรื่อง” “ฝ่ายตรงข้ามกับผม มักจะกล่าวหาว่าคำนูณ สิทธิสมาน คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด และเป็นคนกำหนดทิศทางให้ผมเดิน...แต่จริง ๆ แล้วการต่อสู้กับทักษิณ คือ การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว และมั่นคงจากผม บทบาทของ คำนูณ จะเป็นบทบาทที่คอยติติง กล่าวเสริม และบางครั้งเสนอแนะ...” คือประโยคที่สนธิกล่าวถึงคำนูณไว้ ทั้งเหตุการณ์ในเดือนตุลาสมัยเป็นนักศึกษา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ การชุมนุม 365 วัน สู้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยทำหน้าที่สื่อมวลชน หรือแม้แต่บทความเรื่อง “Constitutionalism” ของ ศ. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เขาเป็นคนนำมาเผยแพร่ในสื่อของผู้จัดการเมื่อปี 2537 อาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนที่หลอมรวมให้คำนูณมีจุดยืนทางการเมืองว่า “การปฏิรูปการเมือง คือ การต่อต้านเผด็จการรัฐสภา” การต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหารปี 2549 นับเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของคำนูณก็ว่าได้ เพราะจากคนที่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนอกสภา เขาได้รับ “แต่งตั้ง” ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัดส่วนของสื่อมวลชน ตามด้วยการได้เป็น ส.ว. สรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 การเข้ามาอยู่ในสภาของคำนูณผ่านระบบการสรรหาหรือคัดเลือกจากคณะบุคคล โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับแกนนำเสื้อเหลือง ทั้งยังอยู่ในกลุ่ม '40 ส.ว.' ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลในวุฒิสภา ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่คำนูณจะถูกจับตาว่าจ้องจะเตะตัดขารัฐบาลอย่างเดียวหรือเปล่า อย่างงานที่คนพูดถึงคือ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เมื่อปี 2556 (ต้องการแก้ไขให้ ส.ว. กลับไปมีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะ ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระที่ไปถอดถอน ส.ส. ที่มาจากประขาชนได้ ส.ว.จึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง) ครั้งนั้น คำนูณตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ยื่นเข้ามาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับร่างรัฐธรรมนูญที่บรรจุวาระแล้วส่งให้กับสมาชิกรัฐสภาเพื่ออภิปรายในห้องประชุมนั้นไม่เหมือนกันถึง 3 จุด จนเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยก็มองว่า ประเด็นนี้เป็นเพียงเรื่องทางธุรการ เพราะแม้ร่างจะไม่ตรงกันแต่ร่างสุดท้ายก็ถูกพิจารณาจากรัฐสภา ไม่ใช่ผ่านการพิจารณาไปแล้วค่อยมายัดไส้แก้ไขในภายหลัง    เมื่อวิกฤตการเมืองไทยเดินมาถึงจุดที่ต้องทำการรัฐประหารเพื่อล้มกระดานอีกครั้งในปี 2557 คำนูณกลับเข้าสภาอีกครั้ง ในนาม ‘สภาปฏิรูปแห่งชาติ’ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรมนูญ ที่มี ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ เป็นประธานด้วย ตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คำนูณผลักดันแนวคิดการเมืองภาคประชาสังคมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และยังทำหน้าที่เป็นหนึ่งในโฆษกของคณะกรรมาธิการฯ เป็นด่านแรกที่ต้องคอยตอบชี้แจงข้อสงสัยให้กับสื่อมวลชน ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง แม้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านศึกนอกมาได้ จนจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเสร็จ แต่ปรากฏว่าต้องมาพ่ายให้กับศึกในเสียเอง ภายหลังที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว นับจากนั้นมาบทบาทในฝ่ายนิติบัญญัติของคำนูณก็หายไป แต่แล้วเขาก็ 'รีเทิร์น' ในตำแหน่งกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่มีบวรศักดิ์นั่งหัวโต๊ะ รวมไปถึงกรรมการยกร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ที่มี  ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ เป็นประธาน ซึ่งมีผลงานรูปธรรมทั้งการแก้ไขกฎหมายขายฝาก และการสอบสวนคดีอาญา เก้าอี้ของคำนูณในบทบาท ส.ว. สรรหา ยังไม่หายไปไหน เพราะในที่สุด ปี 2562 คำนูณก็กลับเข้าสภาอีกครั้งจากการ 'แต่งตั้ง' ของ คสช. ห้วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นปัญหาต่อการเมืองในอนาคต อย่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คำนูณเคยเสนอไอเดียว่าควรมีมหาฉันทามติร่วมกันจากทั้งสภา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้อย่างสง่างาม และพาประเทศไปสู่การปฏิรูป “เมื่อถึงเวลานั้นมันก็คงไม่มีคำว่านายกฯ คนใน นายกฯ คนนอก แต่มันจะเป็นเรื่องของรวมพลังของชาติเข้ามาร่วมกันนำประเทศไทยให้ไปสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในช่วงระยะเวลา 5 ปี ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” คำนูณเสนอไว้ดังนี้ จากจุดยืนที่ผ่านมา ทำให้เลี่ยงไม่ได้ว่า คำนูณ คือหนึ่งใน ส.ว. ที่ถูกสปอตไลท์ส่องลงมาพอสมควรว่าต่อจากนี้จะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร  ดูกันยาว ๆ ว่าภารกิจที่เหลือในวุฒิสภาอีก 5 ปีข้างหน้า คำนูณจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น เช่นที่เขาเคยทำมาเมื่อครั้งก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รัฐบาลที่เป็น 'คนกันเอง'   ที่มา คำนิยมในหนังสือ “ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” โมเดล "มหาฉันทามติ" สส.+สว. ร่วมตั้งนายกฯเพื่อชาติ https://www.posttoday.com/politic/report/450322   เรื่อง: ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย ภาพ: สาริศา แสงสุขศรี / Thai News Pix