แม่ เมนูนี้ทำไง: เพจทำอาหารเพื่อสานความสัมพันธ์กับแม่ เพราะเชื่อว่า ‘กับข้าว’ ทำให้เราคุยกันมากขึ้น

แม่ เมนูนี้ทำไง: เพจทำอาหารเพื่อสานความสัมพันธ์กับแม่ เพราะเชื่อว่า ‘กับข้าว’ ทำให้เราคุยกันมากขึ้น
“ฮัลโหล แม่…” ประโยคแสนคุ้นหูของใครหลาย ๆ คนที่มักใช้ทักทายกับแม่เมื่อโทรฯ มา และเป็นคำพูดเปิดคลิปของเพจที่มีกระแสร้อนแรงในขณะนี้อย่างเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ เพจทำอาหารที่จะทำให้คุณอบอุ่นหัวใจไปกับความรักของแม่ลูกผ่านเมนูอาหารอันแสนคุ้นเคย  The People ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณเค-คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ อดีตครีเอทีฟ (creative) บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ที่ทำงานไปสักพักกลับพบว่าตัวเองอยากเป็นผู้กำกับ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและเดินหน้ากับบทบาทใหม่ในฐานะฟรีแลนซ์ (Freelance)  “ตอนแรกตั้งใจทำแฟนเพจเฟซบุ๊กเพื่อจัดเก็บผลงานที่ทำหน้าที่เหมือนพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) มีงานอะไรก็ส่งลงไป” หลังจากที่คุณเคตัดสินใจเปิดเพจ คุณแม่ก็เกิดอุบัติเหตุ ทำให้คุณเคได้กลับมานั่งคิดทบทวนกับตนเองว่า “พอแม่เราจะตาย เรารู้ทันทีว่าสิ่งที่เราทำไปจะไม่มีความหมาย ทุกอย่างจะหายไป” คุณเคจึงเริ่มต้นเล่าเรื่องของคุณแม่โดยเขียนเรื่องราวลงในแฟนเพจ ด้วยความตั้งใจคืออยากจะคุยกับคุณแม่ให้มากขึ้น คุณเคเลยตัดสินใจนำ ‘กับข้าว’ มาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร จึงเป็นที่มาของเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’   รสมือแม่ เริ่มต้นจากคนทำอาหารไม่เป็น ไม่เคยทำอาหาร เมนูที่เด็ดที่สุดคือ ไข่เจียว การถ่ายทำเป็นทีมงานเล็ก ๆ มีเพียงคุณเคกับแฟน 2 คน โดยแฟนเป็นคนช่วยคุมกล้อง ช่วยดูเมนู วิธีการทำ เพราะแฟนของเขาเป็นคนที่ทำกับข้าวอยู่แล้ว ทำให้รู้วิธีการปรุงอาหาร วิธีผัด ส่วนคุณเคเป็นคนดูภาพรวมและดูแลในด้านการตัดต่อ สำหรับการคิดเมนู ส่วนใหญ่คุณเคจะคุยกับคุณแม่ตอนที่โทรฯ หาหรืออาจจะมีการโทรฯ ไปปรึกษากับคุณแม่บ้าง ว่าเมนูนี้คุณแม่ทำเป็นหรือเปล่า? โดยส่วนใหญ่จะเลือกเมนูในวัยเด็กที่คุณแม่เคยทำให้รับประทาน ส่วนเรื่องรสชาติ คุณเคเล่าว่าอาจจะสู้รสมือแม่ไม่ได้ แต่ก็มีความใกล้เคียง เพราะพยายามเลียนแบบให้ใกล้เคียงรสมือแม่ให้มากที่สุด ส่วนเมนูที่รับประทานไม่ได้ก็มีบ้าง    เมนูอาหาร เชื่อมความสัมพันธ์ ปกติแล้วนาน ๆ ทีคุณเคจะมีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่ โดยคุณแม่จะโทรฯ มาหาเขาเมื่อมีธุระหรือจดหมายจ่าหน้าซองถึงเขามาส่งที่บ้านเท่านั้น ดังนั้นเดือนหรือสองเดือนถึงจะได้คุยกันสักครั้ง และด้วยความแตกต่างเรื่องช่วงวัยและเจเนอเรชัน (Generation)  ทำให้ความสนใจของทั้งสองแตกต่างกันไปด้วย “เราทำงานเองไม่ต้องยืมเงินแม่แล้ว ทำให้ไม่ต้องคุยกัน แต่ ‘กับข้าว’ ทำให้เราคุยกันมากขึ้น” คุณเคยังกล่าวอีกว่า เคล็ดลับของเขาคือจะพยายามไม่คุยกับคุณแม่จนเยอะเกินไป เพราะอาจจะทำให้รู้สึกเบื่อไปเสียก่อน ดังนั้นเขาจึงพยายามพูดคุยกันแค่อาทิตย์ละครั้ง นอกจากนี้ การที่คุณแม่เป็นคนนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ทำให้คุณเคสนิทกับคุณยายมากกว่า ซึ่งคุณยายจะทำสวนอยู่ข้างบ้านที่ต่างจังหวัด คุณเคจึงได้มีโอกาสไปวิ่งเล่นกับคุณยายอยู่บ่อยครั้ง เขาพูดเสริมด้วยน้ำเสียงติดตลกไว้ว่า คุณยายเป็นคนขี้บ่น และใช้งานเขาบ่อยที่สุด  “ยายเป็นคนปากร้ายใจดี เป็นคนขี้เล่น จึงทำให้สนิทกับยายและทะเลาะกันบ่อย” หากมีโอกาสได้กลับบ้าน คุณเคก็อยากจะกลับไปทำเมนู ‘หมูผัดปลาอินทรีเค็ม’ ให้คุณแม่และคุณยายได้รับประทาน เพราะที่บ้านชอบรับประทานอาหารประเภทผัด ๆ และเมนูที่ทำง่าย เขากล่าวเสริมว่าถ้าไปทำเมนูนี้ที่ต่างจังหวัดคงสะดวกกว่านี้ เพราะตอนที่ถ่ายคลิปหมูผัดปลาอินทรีเค็มเป็นเมนูที่กังวลมาก เขากลัวว่ากลิ่นจะโชยไปรบกวนห้องข้าง ๆ ได้ เมนูนี้จึงไม่เหมาะกับการทำในคอนโดฯ ที่กรุงเทพฯ   ความสัมพันธ์ที่หลายคนอาจหลงลืม ในยุคที่ช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นปัญหาหลักของสังคม ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกห่างเหินกันมากขึ้น เราจึงอยากให้คุณเคฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อาจหลงลืมคนข้างหลัง เขาได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตให้คุ้มค่า จากการที่เขาได้เห็นคุณแม่ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เขาเล็งเห็นความสำคัญของเวลาที่เสียไปจากการทุ่มเทในการทำงาน “ถ้าแม่ไม่ได้อยู่ดู ถ้าไม่ได้สนิทกับแม่ สิ่งที่เราทุ่มเทไปก็ไร้คุณค่า” คุณเคกล่าวต่อว่าชีวิตของคนเราควรบาลานซ์ (balance) ให้สมดุล ใช้เวลากับปัจจุบันให้คุ้มค่าที่สุด ถ้าเอาชีวิตไปทุ่มเทกับการทำงานทั้งหมด ทุกอย่างอาจจะพังลงไปได้ ชีวิตก็คงไม่คุ้มค่า ยิ่งมีโรคระบาด เราควรจะใช้ชีวิตให้อยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตให้รอดไปได้ให้มากที่สุดเสียก่อน “เวลาเราจะตาย เราก็น่าจะเหลือแค่คนรอบตัว เราก็ควรจะทำดีกับคนใกล้ ๆ ตัวเอาไว้ให้ได้มากที่สุด คนอื่น ๆ รอบ ๆ ก็น่าจะแค่เข้ามาแล้วก็ไป แต่คนในครอบครัวอย่างพ่อแม่และยายเป็นสิ่งที่เราสลัดกันออกไปไม่ได้  ถึงเราจะเคยทะเลาะหรือเคยเกลียดกันมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายเราก็ต้องวนมาเจอกันอยู่ดี” การเจียดเวลาแค่ 5 นาทีต่อวันเพื่อโทรฯ ไปคุยกับคนที่บ้าน แม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่คุ้มค่าและน่าจะช่วยเติมเต็มช่วงเวลาระหว่างวันให้มีค่ามากขึ้น  “แค่ลูกโทรฯ มาคุยแค่ 5 นาทีมันก็คุ้มค่าแล้วสำหรับคนเป็นพ่อแม่”    เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior)   ภาพ https://fb.watch/v/18vX5zpSI/ https://fb.watch/v/3G260aS1u/