ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน

ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน

“กว่าจะได้ใช้ชีวิตสมใจ รู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว”

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความฝันและความต้องการเป็นของตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเดินตามฝันได้ดั่งใจ หลายคนต้องถอดใจเพราะครอบครัวไม่เห็นด้วย บางคนไปไม่ถึงฝันเพราะค่านิยมบางอย่างของสังคมที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตตามใจ ครอบครัว สภาพแวดล้อมรอบตัว และระบบการศึกษา ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะร่วมตัดสินชะตาชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ที่หลายครั้งหลายคราพวกเขาหลงลืม ไม่เคยถามถึงความต้องการของคนคนหนึ่งเลยแม้แต่น้อยว่าเขาต้องการอะไร และอยากจะมีชีวิตแบบไหน Dead Poets Society (1989) ภาพยนตร์คลาสสิกในชื่อภาษาไทยว่า ‘ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน’ เป็นผลงานการกำกับของ ปีเตอร์ เวียร์ (Peter Weir) ที่ชวนให้คิดถึงการเลือกเส้นทางชีวิตที่ถูกแบ่งเป็นสองทาง เราจะยอมฟังคำสั่งให้หันซ้ายหรือหันขวาแล้วทำตามโดยไม่สงสัยไร้ข้อแม้ ยอมอยู่ภายใต้กฎระเบียบประเพณีที่ทำกันมานานหลายยุคสมัย หรือจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการอะไรและเริ่มคิดนอกกรอบ (ในความหมายดี) เพื่อหาคำตอบว่าเส้นทางชีวิตแบบไหนกันแน่ที่จะส่งผลดีกับตัวเองและคนอื่น ๆ ภาพยนตร์เล่าเรื่องการเรียนการสอนใน ‘เวลตันอะคาเดมี’ โรงเรียนมัธยมปลายชายล้วนในมลรัฐ New England ช่วงทศวรรษ 1950s โรงเรียนแห่งนี้คือสถาบันชั้นนำที่มีระเบียบเคร่งครัด ยึดถือเรื่องประเพณี วินัย เกียรติยศ และความเป็นเลิศ เด็กผู้ชายที่เข้ามาเรียนมักเป็นลูกหลานคนมีเงินไปจนถึงเด็กจากครอบครัวปานกลางที่มีผลการเรียนดี เวลตันจะบ่มเพาะเยาวชนเหล่านี้ให้กลายเป็นชนชั้นนำของสังคม เติบโตก้าวสู่สายงานที่ได้รับการนับหน้าถือตา อาทิ แพทย์ นักการเมือง ทหาร นักธุรกิจ วิศวกร โดยยึดรูปแบบการศึกษาแบบเดิม ๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายทศวรรษ ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน ครูส่วนใหญ่มักปลูกฝังความคิดให้เด็กรู้ว่าหน้าที่ของนักเรียนคือการมาเรียน ไม่ใช่ให้คิดนอกกรอบหรือค้นหาตัวเอง คล้ายกับว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาวิชาการในหนังสือ พวกเขาจะสอนหนังสือตรงตามบทเรียนทุกอย่าง ไม่ขาด ไม่เกิน ซึ่งการเรียนการสอนประเภทนี้ทำให้ผู้ปกครองถูกอกถูกใจไปตาม ๆ กัน เพราะพวกเขามีผลลัพธ์ที่วัดได้ หวังว่าเด็ก ๆ จะเก่งด้านวิชาการ สอบติดอาชีพในฝัน มีหน้าที่การงานมั่นคงในอนาคต ทว่าวันหนึ่ง รูปแบบการสอนเก่าแก่ของสถาบันต้องเปลี่ยนไป เมื่อ จอห์น คีตติ้ง (John Keating) อาจารย์คนใหม่ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของเวลตันได้เข้ามาสอนหนังสือเด็ก ๆ และทำให้เยาวชนเริ่มรู้ตื่นเพื่อใคร่ครวญถึงเส้นทางชีวิตของตัวเอง  แรกเริ่มเด็กในชั้นเรียนมองว่าครูคีตติ้งแปลกประหลาด เพราะเด็ก ๆ ไม่เคยเจอการเรียนการสอนแบบนี้มาก่อน ในการเรียนการสอนช่วงแรก เขาให้นักเรียนอ่านงานของกวีอังกฤษที่เอ่ยถึงการใช้เวลาให้คุ้มค่าเพราะชีวิตนั้นแสนสั้น ชวนให้ตั้งคำถามถึงชีวิตตัวเองในตอนนี้และภายภาคหน้า นอกจากนี้ครูคีตติ้งยังเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ มองโลกในแง่ดี แถมยังมีอารมณ์ขัน เวลาเดียวกันเขาเป็นผู้ฟังที่ยอดเยี่ยม รับฟังความคิดเห็นหลากหลายของผู้อื่น หากเป็นคนที่เคยชินและอยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับเข้มงวดมานาน พอได้เห็นการสอนของครูคีตติ้งต่างพากันขมวดคิ้ว แม้คลาสเรียนของเขาอาจจะน่าสนใจ แต่การทำอะไรไม่เหมือนคนอื่นทำให้เขาถูกมองว่าเป็นชายหัวขบถ สุดโต่งไม่ไว้หน้าใคร แทนที่จะเข้ามาใหม่แล้วสอนเหมือนกับครูคนอื่น ๆ แต่นายคีตติ้งกลับไม่สอนให้เด็กท่องจำตำรา แต่กลับใช้บทกวีสร้างบทสนทนาเพื่อให้นักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็น   ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน จากครูนิสัยแปลกประหลาด นานวันเข้าคีตติ้งกลายเป็นที่รักของนักเรียน ในคลาสเรียนหนึ่งคลาสรวบรวมเด็กชายบุคลิกแตกต่างกันเอาไว้ มีทั้งเด็กชายหัวกะทิที่บ้านฝากความหวังไว้เต็มบ่า เด็กขี้อายที่ไม่กล้าอ่านบทกวีให้เพื่อนฟัง เด็กชายผู้ไม่ชอบอยู่ในกรอบใด ๆ ตั้งแต่ก่อนครูคีตติ้งเข้ามาสอน ไปจนถึงคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องความรักที่ยากจะเป็นไปได้ พวกเขาทั้งหมดล้วนรับค่านิยมและการเรียนการสอนแบบใหม่จากครูคีตติ้งด้วยกันทั้งนั้น เด็กชายหัวขบถค้นพบมุมมองใหม่ ๆ และเป็นนักตั้งคำถามตัวยง ช่วงเวลาที่การศึกษาชั้นสูงของอะคาเดมีสงวนไว้ให้สุภาพบุรุษ เขาเริ่มเขียนบทกวีเพื่อเรียกร้องให้สถานศึกษารับนักเรียนหญิงมาร่วมชั้นด้วย ซึ่งการตีพิมพ์บทความดังกล่าวทำให้เขาถูกอาจารย์ใหญ่ลงโทษหนัก ผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญว่าบางครั้งความกล้าบ้าบิ่นกับเจตจำนงแรงกล้าก็ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เพราะคนฉลาดจะรู้ว่าเวลาไหนควรกล้า และเวลาไหนควรจะเฝ้าสังเกตความเป็นไป เหมือนกับที่คีตติ้งเคยพร่ำสอนเอาไว้

“เรารับรู้บางสิ่งและไม่ควรมองสิ่งนั้นแค่ด้านเดียว

มันอาจจะดูโง่หรือผิด แต่มันก็เป็นสิ่งที่ควรลอง”

นอกจากกรณีเด็กหัวขบถ เรื่องราวชีวิตของ นีล แพร์รี่ (Neil Perry) เด็กชายหัวกะทิในชั้นเรียนของครูคีตติ้งก็แสนสะเทือนใจและฝากบทเรียนไว้มากมาย หลังจากเขาได้เรียนรู้วิธีคิดใหม่ ๆ จากครูคีตติ้ง เด็กหนุ่มจึงกล้าตัดสินใจทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ แอบไปสมัครเล่นละครเวทีเรื่อง ‘ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน’ (A Midsummer Night’s Dream) ซึ่งเป็นผลงานของ วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีชื่อก้องโลก โดยไม่ให้พ่อรู้ เนื่องจากผู้เป็นพ่ออยากให้ลูกชายตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน หลังจากปิดบังอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายผู้เป็นพ่อรู้ว่าลูกชายแอบเอาเวลาว่างไปเล่นละครเวที จึงต่อว่าด่าทออย่างหนักเพราะคิดว่าตนหวังดี เลือกสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้ลูกแล้ว และให้นีลลาออกจากเวลตันไปเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเบรเดน เพื่อสานฝันการเรียนแพทย์ที่ฮาร์วาร์ดให้สำเร็จ โดยไม่ทันคิดถึงผลลัพธ์อีกด้านที่ตามมา นีลที่ถูกพังความฝันลงต่อหน้าด้วยคำด่าทอของบุพการี ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยปืนลูกโม่ของบิดา ความคาดหวัง การจำกัดกรอบ และความหวังดีที่มากเกินพอดี ก่อให้เกิดเหตุสะเทือนใจ การจากไปของนีลสร้างความเศร้าโศกแสนสาหัสให้ครอบครัวรวมถึงเพื่อนร่วมชั้น อย่างไรก็ตาม เหล่าอาจารย์ในเวลตันกลับกล่าวโทษจอห์น คีตติ้ง โยนความผิดว่าเป็นเพราะวิธีการสอนประหลาดทำให้เด็กรับความเชื่อแบบผิด ๆ จากเด็กดีเปลี่ยนเป็นเด็กดื้อ ทั้งที่ความจริงเด็กดีไม่ได้เปลี่ยนเป็นเด็กดื้อ พวกเขายังเป็นคนเดิมแต่แค่เข้าใจตัวตนมากขึ้น และรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรต่างหาก เมื่อ Dead Poets Society ออกฉายครั้งแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถกวาดคำวิจารณ์ด้านบวกไปล้นหลาม ใคร ๆ ต่างชื่นชมการดำเนินเรื่องและหลายฉากที่กินใจ นอกจากนี้ โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ผู้สวมบทเป็นครูคีตติ้ง ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่เรารักได้อย่างน่าประทับใจ จนทำให้บทอาจารย์ที่แตกต่างจากคนอื่นเป็นหนึ่งในงานแสดงที่ดีที่สุดของวิลเลียมส์ Dead Poets Society ทิ้งปมชวนคิดไว้หลายแง่ ทั้งมุมมองของผู้ใหญ่อย่างผู้ปกครอง ครูใหญ่ และครูคนอื่น ๆ ที่มองว่าอาชีพมั่นคงคือคำตอบของชีวิต เด็กบางคนอาจเห็นด้วยและพุ่งไปทำตามฝันพร้อมกับพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่มองว่าอาชีพมั่นคงคือความต้องการอันดับแรกของชีวิต พวกเขามีฝันที่แตกต่าง ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด และการพูดคุยเปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งมีสิทธิได้ใช้ชีวิตตามต้องการ ก็อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนคิดเสมอไป ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน การทำตามความฝัน การแอบพ่อไปเล่นละคร หรือเขียนบทความแสดงทัศนะเรื่องความเท่าเทียม สิ่งต่าง ๆ ที่นักเรียนในเวลตันทำไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แม้หลายครั้งพวกเขาอาจดื้อรั้นเกินไปบ้าง แต่เด็ก ๆ ก็ได้ลองทำบางสิ่งตามความต้องการของตัวเอง ปลดปล่อยตัวตนให้หลุดพ้นจากพันธนาการที่เคยปิดกั้นเราไว้ แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะต้องกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริงก็ตาม ภาพยนตร์นำเสนอมุมมองที่ค่อนข้างแบ่งฝั่งชัดเจนระหว่างคนหัวเก่ากับหัวใหม่ อยู่ในกรอบกับออกนอกกรอบ สีขาวหรือสีดำ แต่สิ่งที่ผู้ชมต้องตระหนักถึงคือการมองให้ครบทุกด้าน บางครั้งการเรียนการสอนของครูคีตติ้งก็ไม่ได้ดีพร้อมและใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับการเรียนการสอนแบบท่องตำราของครูคนอื่นที่ทำให้เด็ก ๆ สอบผ่าน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรให้พวกเขาเรียนรู้เพิ่มเติมอีกเลย ดังนั้นการมองหาจุดกึ่งกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เหล่าคนดูจะต้องค้นหาให้เจอด้วยตัวเอง เมื่อ Dead Poets Society เดินทางมาถึงตอนจบ หนังเรื่องนี้ได้ทิ้งคำถามชวนขบคิดเอาไว้ แท้จริงแล้วใครหลายคนเผลอจำกัดกรอบชีวิตคนอื่นมากไปโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า รวมถึงฝั่งของคนที่ถูกตีกรอบอาจได้เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองครั้งแรกว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ ?   ที่มา https://www.theguardian.com/film/2019/jul/16/dead-poets-society-30-years-on-robin-williams-stirring-call-to-seize-the-day-endures https://www.imdb.com/title/tt0097165/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์