คีธ จาร์เรทท์ ผู้หันหลังให้เปียโนไฟฟ้าตลอดกาล

คีธ จาร์เรทท์ ผู้หันหลังให้เปียโนไฟฟ้าตลอดกาล
ไม่เพียงมีชื่อเสียงในการเล่นเดี่ยวเปียโนเท่านั้น แต่ คีธ จาร์เรทท์ (Keith Jarrett) ยังชื่นชอบการฟอร์มวงดนตรีแบบทริโอ (3 ชิ้น) เป็นชีวิตจิตใจ เขามีมือกลอง แจ็ค ดี จอห์นเน็ทท์ (Jack DeJohnnette) และมือเบส แกรี พีค็อก (Gary Peacock) ร่วมเป็นสมาชิกวง ทั้งสามบรรเลงร่วมกันอย่างเข้าขาราวกับเป็นร่างกายเดียวกัน จนได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นวงทริโอแจ๊ส (เปียโน-กลอง-เบส) ที่มีความเป็นเอกภาพมากที่สุดวงหนึ่งในประวัติศาสตร์ เทียบเคียงได้กับวงทริโอแจ๊สระดับคลาสสิกของ บิลล์ อีแวนส์ (Bill Evans) ในยุคต้นซิกตีส์เลยทีเดียว ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คีธ รักการเล่นอะคูสติกเปียโนเป็นหลัก และเมินหน้าให้กับเครื่องดนตรีอิเล็กทริกรวมทั้งเอฟเฟ็คท์ทั้งหลาย ในยุคทองของฟิวชั่นแจ๊ส (Fusion Jazz) ที่เป็นการผสมผสานเครื่องดนตรีไฟฟ้าและซาวด์เอฟเฟ็คท์ต่าง ๆ นั้น เขาในฐานะสมาชิกวงของ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) เคยต้อง “ทน” เล่นเปียโนไฟฟ้า กับบริบทของเสียงเพลงที่มีความดังอื้ออึงอยู่นานถึง 2 ปี หลังจากนั้น คีธก็สาปส่ง ไม่ขอเล่นเปียโนไฟฟ้าอีกเลย (ยกเว้นคราวไปเติมเสียงเปียโนไฟฟ้าให้ในอัลบั้ม Sky Dive ของ เฟรดดี ฮับบาร์ด เมื่อ ค.ศ.1972) เช่นเดียวกันกับ เกล็นน์ กูลด์ (Glenn Gould) หรือ ออสการ์ พีเทอร์สัน (Oscar Peterson) คาแรคเตอร์ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของ คีธ คือการปล่อยเสียงร้องออกมาดัง ๆ พร้อม ๆ กับการบรรเลง ดังที่เรียกกันว่า Loud Vocalization จนผู้ฟังในการแสดงสด หรือจากผลงานบันทึกเสียง สามารถได้ยินเสียงร้องของเขาแว่วเข้ามาเสมอ ซึ่งเจ้าตัวเคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า นั่นเป็นเพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขา นิ้วมือ สภาพทางกายภาพ และเปียโน ก่อให้เกิดผลลัพธ์นี้ขึ้น คีธ จาร์เรทท์ เกิดเมื่อ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ที่เมืองอัลเลนทาวน์ เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เขาเติบโตในครอบครัวที่มีเชื้อสายยุโรป อย่างไรก็ตาม โดยรูปลักษณ์ภาพนอก คีธมีผมสีดำและสีผิวที่ค่อนข้างเข้ม ประกอบกับการไว้ทรงผมหยิกแบบคนแอฟริกันในยุคเซเวนตีส์ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เขามีเชื้อสายมาจากคนดำ คีธ ฉายแววความสนใจดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อแม่จึงสนับสนุนให้เรียนเปียโนเมื่ออายุ 3 ขวบ ทั้งที่ถือกันว่า วัยขนาดนั้นยังเล็กเกินไปสำหรับการหัดเล่นเปียโน เขาเริ่มมีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ (มีพักครึ่งระหว่างการแสดง) เมื่ออายุ 7 ขวบ พร้อมกับบรรเลงบทประพันธ์ของตนเอง 2 ชิ้น เมื่อเข้าโรงเรียน คีธได้รับการทดสอบไอคิว ซึ่งพบว่าอยู่ในระดับ ‘อัจฉริยะ’ ทำให้ได้รับสิทธิข้ามชั้นไปเรียนเกรด 3 ทันที คีธ เริ่มต้นจากการเรียนดนตรีแนวคลาสสิก โดยไม่ได้มีความสนใจดนตรีแจ๊สมาก่อน จนกระทั่งในช่วงวัยรุ่น เขามีโอกาสเข้าเวิร์คช็อปกับ สแตน เคนตัน (Stan Kenton) ผู้นำวงบิ๊กแบนด์แจ๊สหัวก้าวหน้าหลายครั้ง พร้อมกับการออกทัวร์บางครั้งกับ เฟร็ด แวริง (Fred Waring) โดยได้เล่นในตำแหน่งมาริมบาและไซโลโฟน ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์ด้านแจ๊สมาบ้าง นักเปียโนคนนี้เคยเรียนที่สถาบันดนตรีเบิร์คลี (Berklee School of Music) ในบอสตัน เป็นเวลา 1 ปี ราว ๆ ค.ศ.1962 โดยระหว่างนั้นเขารับจ้างเล่นเปียโนตามงานค็อกเทลเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองไปด้วย ก่อนจะไปนิวยอร์กเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในปี 1965 ระหว่างนี้เอง เขาพบรักและแต่งงานกับ มาร์โกท์ เออร์นีย์ (Margot Erney) ชีวิตคู่ช่วงแรกค่อนข้างลำบาก อยู่ในภาวะการเงินที่ตึงตัว เพราะคีธไม่ยอมรับงานแสดงดนตรีเชิงพาณิชย์ (ต้องบันทึกไว้ตรงนี้ก่อนลืมว่า คีธ มีงานเพลงชื่อ Margot ที่แสนไพเราะเป็นตัวแทนความรู้สึกอันโรแมนซ์ของเขา)   [แบล็กกีย์ ผู้เปิดประตูสู่วงการแจ๊ส] สมัยอยู่ที่นิวยอร์กยุคแรก ๆ นักเปียโนที่ยังไร้ชื่อเสียงคนนี้ ใช้เวลาคลุกคลีอยู่ที่ เดอะ วิลเลจ แวนการ์ด คลับแจ๊สชื่อดังในนิวยอร์ก ในช่วงทุกคืนวันจันทร์ที่มีการแจมเซสชั่น (Jazz Session) เขาจะรอจนกว่ามีโอกาสขึ้นไปร่วมเล่นดนตรี คืนหนึ่งเขาได้โอกาสนั้น และโชคดีที่ในคืนนั้น อาร์ต แบล็กกีย์ (Art Blakey)  มือกลอง เจ้าสำนักตักศิลา “เดอะ แจ๊ส เมสเซนเจอร์ส” และผู้นำวงดนตรีแนวฮาร์ดบ็อพ บังเอิญอยู่ในคลับพอดี อาร์ตประทับใจการเล่นของ คีธ มาก จึงว่าจ้างให้เขาเล่นในวงดนตรีที่กำลังตั้งขึ้นใหม่ “เดอะ นิว แจ๊ส เมสเซนเจอร์ส” ในช่วงเดือนธันวาคมของปีนั้น หลังจากนั้น ระหว่างปี 1966-69  คีธได้เล่นกับวงควอร์เททของ ชาร์ลส์ ลอยด์ (Charles Lloyd) ซึ่งกำลังเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุโรป  ในช่วงเวลาที่ เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ยังโด่งดังคับฟ้า และแจ๊สได้สูญเสียความนิยมลงแทบจะสูญสิ้นแล้ว ร่ำลือกันว่า ระหว่างที่คีธเล่นกับวงทริโอในคลับแห่งหนึ่งของนิวยอร์กนั้น (ข้อมูลบางด้านระบุไม่ตรงกัน เช่น ครั้งหนึ่ง คีธให้สัมภาษณ์แก่ เดวิด รูเบียน ว่าเหตุการณ์เกิดที่ปารีส) ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ได้แวะมาชมการแสดงของเขาอย่างน้อยถึง 3 ครั้ง โดยใน 2 ครั้งหลัง ไมล์สยังชักชวนสมาชิกคนอื่น ๆ ในวงให้มาชมคีธแสดงดนตรีอีกด้วย นักทรัมเป็ตผู้ได้ชื่อว่าปฏิวัติวงการแจ๊สมาหลายยุคหลายสมัย เอ่ยปากชักชวนให้คีธมาทำงานด้วย แต่เขาตอบปฏิเสธ เพียงเพราะตัวเองกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นในรูปของวงทริโออยู่นั่นเอง ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่า การปฏิเสธคำชักชวนของไมล์สนั้นย่อมไม่ต่างจากการปฏิเสธคำพิพากษาของศาลสูงเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการชักชวนเป็นครั้งที่ 2 คีธตัดสินใจเข้าร่วมวงของไมล์สเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างปี 1969-71 ในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดคนที่ 2 เล่นทั้งเปียโนไฟฟ้าและออร์แกน โดยในเวลานั้น ไมล์สมี ชิค คอเรีย เป็นมือเปียโนอีกคนหนึ่งของวง การเล่นในวงของไมล์ส ทำให้คีธค้นพบว่าเขาเกลียดเปียโนไฟฟ้าเป็นที่สุด เหตุผลเพราะ “... โดยสุ้มเสียงของมันคือยาพิษ มันเหมือนกับการกินบรอคโคลีพลาสติก...” นักเปียโนคนนี้สารภาพด้วยว่า เขาไม่สามารถเล่นในวงดนตรีไฟฟ้า (Electric Band) กับ ไมล์ส เดวิส ได้เลย หากในขณะนั้น เขาไม่มีวงดนตรีอะคูสติกของตัวเองเล่นไปพร้อม ๆ กันด้วย “... เราเอาก้อนสำลีอุดหูทุก ๆ คืน ทั้งแจ็ค (ดี จอห์นเนทท์) และผม เราทนฟังเสียงดังขนาดนั้นไม่ได้” เมื่อออกจากวงของไมล์ส นักเปียโนหนุ่มเริ่มต้นงานของตัวเอง โดยในยุคต้นเซเวนตีส์ เขาเลือกทำงานเป็นไซด์แมน (Sideman – นักดนตรีในวง ไม่ใช่ผู้นำวง) ให้แก่ศิลปินบางคนในบางโอกาสเท่านั้น จากผลงานบันทึกเสียงของคีธ บ่งบอกว่า เขาทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานั้น เขามีอัลบั้มชั้นดีออกกับ แกรี เบอร์ตัน (Gary Burton) อัลบั้มที่น่าสนใจของคีธ ในยุคนี้ คืออัลบั้ม Expectations ที่อัดกับสังกัด ‘โคลัมเบีย’ อย่างไรก็ตาม ร่ำลือกันว่า ในที่สุด สังกัด ‘โคลัมเบีย’ ก็ต้องทิ้ง คีธ จาร์เรทท์ ไปอย่างไม่คาดฝัน เพียงเพราะกระแสหลงใหลได้ปลื้มที่มีต่อนักเปียโนแจ๊สดาวรุ่ง เฮอร์บี แฮนค็อก (Herbie Hancock) ในเวลานั้น  (ซึ่งเป็นอดีตลูกวงของไมล์ส เดวิส) เช่นเดียวกัน โดยวิเคราะห์กันว่า อาจจะเป็นเพราะต้นสังกัดแห่งนี้ ไม่สามารถแบกรับภาระดูแลนักเปียโนระดับพระกาฬทั้งสองคนในเวลาเดียวกันได้ คีธ จัดเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีแนวทางหลากหลายอยู่ในตัวเอง ช่วงปลายทศวรรษ 1960s เขาเริ่มวงทริโอของตัวเองที่บรรเลงดนตรีที่ค่อนไปในทาง อวอง-การ์ด และ ฟรีแจ๊ส สมาชิกในวงประกอบด้วย ชาร์ลี เฮเดน (Charlie Haden) มือเบส และ  พอล โมเชียน (Paul Motian) มือกลอง  ก่อนจะปรับเป็นวงควอร์เทท (Quartet วง 4 ชิ้น) โดยมี ดิวอี เรดแมน (Dewey Redman) นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ที่มาสมทบในปี ค.ศ.1972 (ดิวอี คือพ่อของ โจชัว เรดแมน นักแซ็กโซโฟนร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง)   [พบผู้ก่อตั้ง ‘อีซีเอ็ม’] แล้วในที่สุด จุดเริ่มต้นของงานบันทึกเสียงประวัติศาสตร์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อคีธ ได้พบกับ แมนเฟรด ไอเชอร์ (Manfred Eicher) โพรดิวเซอร์ชาวเยอรมัน ผู้เพิ่งก่อตั้งสังกัด อีซีเอ็ม และมีอัลบั้มออกมาเพียงไม่กี่ชุด (หนึ่งในจำนวนนั้น คืออัลบั้มโซโล่ของ ชิค คอเรีย) แมนเฟรดชวนคีธให้หาโอกาสบันทึกเสียงโซโล่เปียโนสักชุด บ่ายวันหนึ่ง คีธแวะไปในสตูดิโอแห่งนั้น จัดวางไอเดียในหัวสมอง และใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงบันทึกเสียง ซึ่งกลายมาเป็นอัลบั้ม Facing You ที่ได้รับการยกย่องในแง่ของการบรรเลงเดี่ยวเปียโน ความสำเร็จดังกล่าวสถาปนาความสัมพันธ์ของคีธกับอีซีเอ็มอย่างยาวนานมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ในบางช่วงเขาจะมีงานบันทึกเสียงกับสังกัด ‘อิมเพลาส์!’ อยู่บ้างก็ตาม แต่คีธเริ่มบันทึกเสียงอย่างเฉพาะเจาะจงกับ ‘อีซีเอ็ม’ นับตั้งแต่ ค.ศ.1977 เป็นต้นมา ในด้านทิศทางการสร้างสรรค์ดนตรี คีธเริ่มต้นแนวทางการเล่นเดี่ยวเปียโนที่เรียกกันว่า ‘solo improvisation’ ตามงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ นับจากปี 1973 เป็นต้นมา ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีความแตกต่างจากการบรรเลงเพลงในแบบฉบับของดนตรีแจ๊สดั้งเดิม หากเป็นการบรรเลงในแบบอิมโพรไวเซชันล้วน ๆ (pure improvisation) โดยที่ไม่มีการกำหนดสิ่งใดล่วงหน้า  โดยเพลงหนึ่ง ๆ มักมีความยาว 30-45 นาที  อัลบั้มที่ยืนยันถึงแนวทางที่คีธได้สร้างตำนานการโซโลของตัวเองขึ้น เห็นจะหนีไม่พ้น Lausanne and Bremen ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ประกอบด้วยแผ่นเสียง 3 แผ่น ที่ไม่มีเพลงใด ๆ นอกจากการอิมโพรไวเซชั่นล้วน ๆ อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวที่น่าสนใจเบื้องหลังคอนเสิร์ต Bremen กล่าวคือ คีธมีอาการเจ็บปวดกระดูกสันหลังที่กำเริบอย่างรุนแรงในช่วงนั้น ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อตอนอายุ 20 ปี คีธเคยออกแรงเข็นรถที่สตาร์ทไม่ติด ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังมาจนทุกวันนี้ ร่ำลือกันว่าในคืนที่จะต้องแสดงคอนเสิร์ต คีธไม่ได้นอนหลับมานานกว่า 24 ชั่วโมง เนื่องจากอาการเจ็บปวดดังกล่าว เขาเล่นได้เพียง 10 นาทีในช่วงซาวนด์เช็ค และมีแนวโน้มว่าจะต้องยกเลิกคอนเสิร์ต แต่แล้วคีธก็ทำได้สำเร็จ และนั่นถือเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การแสดงสดของนักเปียโนคนนี้ก็ว่าได้ ที่สร้างสรรค์เสียงดนตรีรื่นรมย์จากความเจ็บปวดของตัวเอง แม้จะประสบอาการเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะมาโดยตลอด แต่ คีธ ยังคงมีงานแสดงคอนเสิร์ตราว ๆ 50 ครั้งต่อปี (อาจจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักดนตรีแจ๊สโดยทั่วไป) เช่นเดียวกับ Koln concert  ซึ่งสร้างสถิติด้านยอดขายถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ จนทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเปียโนแจ๊สคนเดียวในยุคเซเวนตีส์ที่มีฐานคนฟังหนาแน่นพอสมควร โดยไม่ต้องทำงานในลักษณะประนีประนอมกับกระแสความต้องการของตลาด ในปี ค.ศ.1974 หลังจากอิ่มตัวกับวงควอร์เททที่ประกอบด้วยนักดนตรีจากฝั่งอเมริกา คีธฟอร์มวงควอร์เททขึ้นใหม่ ประกอบด้วยนักดนตรีจากทางฝั่งยุโรปล้วน ๆ  นั่นคือ ฌาน การ์บาเร็ค (Jan Garbarek) นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน, ปอลล์ แดเนียลส์สัน (Palle Danielsson) มือเบส และ จอน คริสเตนเซน (Jon Christensen) มือกลอง สุ้มเสียงดนตรีของพวกเขา ลดความ อวอง-การ์ด (avant-garde) ลง และก้าวสู่ทิศทางกระแสหลักอย่างลงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ นักดนตรีควอร์เททวงนี้มีผลงานออกมาราว ๆ  6 ชุด มีชุดเด่น ๆ อาทิ My Song และ Personal Mountains   [คืนสู่รากเหง้าดนตรีคลาสสิก] ในด้านหนึ่ง แม้คีธจะหันมาเล่นดนตรีแจ๊ส แต่เขาไม่เคยปฏิเสธดนตรีคลาสสิกซึ่งเป็นรากฐานเดิม นั่นเป็นผลให้เขามีอัลบั้มดนตรีคลาสสิกออกมาอีกหลายชุด รวมทั้งงานประพันธ์ของตัวเองที่สลัดกลิ่นอายแจ๊สออกไป โดยใช้จารีตการประพันธ์แบบดนตรีคลาสสิก ช่วงกลางทศวรรษ 1970s  ชีวิตนักดนตรีของคีธอยู่ในช่วงขาขึ้น เขาบันทึกเสียงถึง 22 อัลบั้มในเวลาเพียง 2-3 ปี ทำเพลงประกอบหนัง 1 เรื่อง และเล่นคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น คีธยังเจียดเวลาไปเป็นไซด์แมนให้แก่นักทรัมเป็ต อย่าง เคนนี วีเลอร์ (Kenny Wheeler) อีก 1 ชุด รวมถึงประพันธ์ดนตรี The Celestial Hawk for orchestra, percussion and piano สกอร์ที่มีความยาว 200 หน้า ภายใต้การสนับสนุนของ เดอะ บอสตัน ซิมโฟนี และวาทยกร เซจิ โอซาวา (Seiji Ozawa) น่าเสียดายว่างานชุดนี้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของทางวง บอสตันฯ  ตรงที่ต้องการผลงานสำหรับการบรรเลงของวงออร์เคสตรา พ่วงไปกับการโซโลอิมโพรไวเซชั่นในแบบแจ๊ส มากกว่างานประพันธ์ดนตรีสำหรับวงออร์เคสตราตามแบบจารีตคลาสสิก ดังนั้น จึงไม่มีการสานต่องานในภาคจินตนาการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา คีธได้บันทึกเสียงชุดนี้ด้วยตัวเองกับวง ซิราคิวส์ ซิมโฟนี ว่ากันว่า ระหว่างการบันทึกเสียงเพลงประกอบหนังให้แก่ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง คีธจัดการทำเสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากผู้กำกับกลับไปแล้ว เขาและแมนเฟรด ไอเชอร์ พบว่ายังเหลือเวลาสตูดิโออีก 4 ชั่วโมง ทั้งคู่จึงตัดสินใจทำอัลบั้มชุดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Staircase ในปี ค.ศ.1976 คีธประกาศซ้อมดนตรี หลังจากไม่ได้ซ้อมมานานหลายปี แต่การกลับไปซ้อมดนตรีครั้งนี้มิได้หมายถึงการฝึกอิมโพรไวเซชั่นแบบแจ๊สอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากเป็นการกลับไปเรียนรู้บทประพันธ์ของนักแต่งเพลงคลาสสิกทั้งหลาย คีธไม่ได้เริ่มต้นโปรแกรมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกด้วยเพลงยอดฮิต หากเขาสนใจบรรเลงชิ้นงานที่ผู้ฟังไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยเล่นมาก่อน จากนั้น คีธเริ่มบรรเลงผลงานของนักแต่งเพลงคลาสสิก อย่าง ซามูเอล บาร์เบอร์ กับผลงานเปียโน คอนแชร์โต หรือผลงานบางชิ้นของ สตราวินสกี นอกจากนี้เขายังบรรเลงบทประพันธ์ของ โมสาร์ท อีกด้วย เช่นเดียวกับ Das Wohltempierte Klavier, 24 Preludes, Goldberg Variations และ  Fugues ของ บาค ซึ่งบางชุดบรรเลงด้วยเปียโน บางชุดบรรเลงด้วยฮาร์พซิคอร์ด น่าเสียดายว่า โลกดนตรีคลาสสิกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของนักดนตรีระดับเซียนเหยียบเมฆ ไม่ได้ต้อนรับผลงานของคีธ จาร์เรทท์ อย่างอบอุ่นเท่าที่ควรนัก ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสร้างความผิดหวังลึก ๆ ให้แก่นักเปียโนไม่น้อย แล้วในที่สุด เขาก็ได้คลี่คลายความรู้สึกดังกล่าวไว้ในอัลบั้ม  Spirits ซึ่งเป็นอัลบั้มที่คีธหันมาสู่ความเรียบง่าย ด้วยการทดลองเล่นดนตรีโฟล์คกับเครื่องดนตรีง่าย ๆ ซึ่งให้สุ้มเสียงแตกต่างไปจากผลงานทุกชุดที่ผ่านมา [caption id="attachment_4701" align="aligncenter" width="640"] คีธ จาร์เรทท์ ผู้หันหลังให้เปียโนไฟฟ้าตลอดกาล Credit ภาพ: Patrick Hinely[/caption] [ฟอร์มวงทริโอระดับตำนาน] หลังจากบันทึกเสียงอัลบั้มดนตรีคลาสสิกมาพอสมควร คีธ จาร์เรทท์ ถึงจุดเปลี่ยนของการทำงานอีกครั้ง กับการฟอร์มวงทริโอวงใหม่ของเขา ในปี ค.ศ.1983 เพื่อบรรเลงบทเพลงสแตนดาร์ด คีธตัดสินใจชักชวนเพื่อนเก่าอย่าง แกรี พีค็อก-เบส และ แจ็ค ดีจอห์นเนทท์-กลอง มาร่วมงาน (คีธพบกับแจ็คตั้งแต่สมัยเล่นในวงดนตรีของ ชาร์ลส์ ลอยด์ ช่วงปลายทศวรรษ 1960s) หลังจากบุคคลทั้งสามนัดกันมารับประทานอาหารในค่ำวันหนึ่ง  คีธ เตรียมรายชื่อเพลงสแตนดาร์ดมายาวเหยียด แล้วเสนอไปว่า พวกคุณอยากเล่นเพลงอะไรบ้าง ?” “ลองเพลง... นี้สิ..” พวกเขาตอบ ผลพวงดังกล่าวคลี่คลายมาเป็นอัลบั้ม Standards, Volume 1 ไม่เพียงเท่านั้น จริง ๆ แล้ว พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้ม 3 ชุดแรกจากเซสชั่นเดียวกัน และจากผลตอบรับที่มีต่ออัลบั้มเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงสดในแบบทริโอ ที่บรรจุเพลงสแตนดาร์ดล้วน คีธ เคยให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 1996 ว่า พวกเขากำหนดเพลงที่แสดงในคอนเสิร์ต แบบเดียวกันกับการบันทึกเสียงอัลบั้ม นั่นคือแทบจะไม่มีการตระเตรียมเพลงที่จะเล่นเลย พวกเขาตัดสินใจจะเล่นเพลงกันจริง ๆ ก็ต่อเมื่อขึ้นไปบนเวทีแล้วเท่านั้น โดยสุ่มเลือกจากสมุดรายชื่อเพลงของนักแต่งเพลงอเมริกัน ดังนั้น เมื่อเลือกเพลงสักเพลงในคอนเสิร์ตหนึ่ง ๆ  จึงให้ความรู้สึกเหมือนเป็นครั้งแรกที่ได้บรรเลงร่วมกัน ปี ค.ศ.1995 สังกัด อีซีเอ็ม ออกอัลบั้มใหม่ของ คีธ จาร์เรทท์ เป็นซีดีบ็อกเซ็ต 6 แผ่น Keith Jarrett At the Blue Note ซึ่งเป็นบันทึกการแสดงสดสมบูรณ์แบบตลอด 3 คืนที่ไนท์คลับชื่อดังแห่งนี้ ซึ่งได้รับการเสียงชื่นชอบจากนักวิจารณ์และแฟนเพลงไม่น้อย เรื่องราวความสามารถของคีธมักมาพร้อมกับข่าวลือด้านสุขภาพของเขา โดยในช่วงกลางปี ค.ศ.1996 คีธป่วยหนักอีกครั้ง แพทย์ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ส่งผลให้คีธเล่นดนตรีไม่ได้เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง เขาใช้เวลารักษาตัวและพักฟื้นร่างกายอยู่นาน ก่อนจะค่อย ๆ กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง โดยเริ่มจากการทดลองบันทึกเสียงการเล่นเดี่ยวเปียโนที่บ้าน ซึ่งผลลัพธ์นั้นคลี่คลายออกมาเป็นอัลบั้ม The Melody At Night, With You (ออกขายในปี ค.ศ.1999) คีธเผยถึงความรู้สึกอันอัดอั้นตันใจนั้นว่า “สิ่งที่ผมทำอยู่นั้น ก็คือการเปลี่ยนรูปของพลังงานให้กลายเป็นดนตรี” นักเปียโนเปรียบเปรยว่าเมื่อมีพลังงานมากย่อมทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากเป็นธรรมดา แต่เมื่อพลังงานลดลง (เช่น การเป็นคนป่วย) ก็เปรียบเสมือนการใช้ปรัชญาเซ็น (Zen Philosophy) เข้าแก้ไขด้วยการลดรูปลง เหลือเพียงการเล่นเปียโนด้วยทำนอง แม้จะเป็นเพียงทำนอง แต่นั่นคือการบรรเลงที่มาจากจิตใจ ท่ามกลางข่าวลือว่าเขาอาจกลับมาเล่นไม่ได้อีกเลย คีธใช้เวลาในโมงยามอันโดดเดี่ยวค้นหาตัวเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยมาก่อน เขาเริ่มเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ เริ่มกลับมาฟังงานของตัวเอง ซึ่งมีทั้งที่ชอบและไม่ชอบฟัง เช่น คีธ ค้นพบว่า ไม่ชอบการอินโทรยาว ๆ เป็นต้น ใน  The Melody at Night, With You มีอิมโพรไวเซชั่นน้อยมาก  ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจอัลบั้มชุดนี้ ทึกทักเอาว่า เป็นแค่ ‘ค็อกเทลเปียโน’ แต่สำหรับคีธ เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นในการเล่นให้นุ่มนวลกว่าเดิม สิ่งที่เขาต้องการนำเสนอในอัลบั้ม The Melody at Night, With You ไม่ใช่การเล่นในแบบที่ใคร ๆ เคยรับรู้จากการเล่นของเขา ซึ่งนั่นอาจจะทำให้บางคนคิดว่า นี่คือสุ้มเสียงที่เกิดจากอาการป่วย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ คีธบอกว่านี่คืออัลบั้มเฉลิมฉลองอาการหายจากโรคมากกว่า จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1998 คีธ จาร์เรทท์ และวงทริโอของเขา จึงกลับมาแสดงดนตรีอีกครั้งที่ แคมเดน ในนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา [caption id="attachment_4702" align="aligncenter" width="640"] คีธ จาร์เรทท์ ผู้หันหลังให้เปียโนไฟฟ้าตลอดกาล Credit ภาพ: Daniela Yohannes[/caption] [Whisper Not ‘คีธ’ กลับมาแล้ว !] ไม่เพียงเป็นอัลบั้มดั้งเดิมชุดที่ 12 ของวง คีธ จาร์เรทท์ ทริโอ เท่านั้น หาก Whisper Not มีนัยสำคัญมากกว่านั้น นั่นคือเป็นการแสดงสดที่ปารีส ซึ่งพวกเขาทั้งสามตัดสินใจนำเสนอเป็นอัลบั้มแรก หลังจากที่คีธหายป่วยและเริ่มกลับสู่การทำงานดนตรีอีกครั้ง ในฐานะแฟนเพลงเก่า ผมฟัง Whisper Not อย่างเต็มอิ่ม เหมือนการกลับคืนของเพื่อนเก่าที่จากกันไปนาน ด้วยความจุของซีดี 2 แผ่น รวม 14 เพลง ความยาวเกือบ 2 ชั่วโมงของสุ้มเสียงทางดนตรีที่บ่งบอกถึงความเป็นเลิศในการควบคุมเครื่องดนตรี และความเป็นเอกภาพในการประสานจิตวิญญาณของนักดนตรีทั้ง 3 หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว Whisper Not เป็นเพลงเก่าของ เบนนี โกลสัน (Benny Golson) ที่คีธนำเข้าด้วยเสียงเดี่ยวเปียโนเป็นทำนองหลัก หากใส่แนวประสานของคอร์ดไปตามอำเภอใจในสไตล์ที่เขาถนัด ก่อนวกเลี้ยวกลับมาที่ทำนองหลักอีกครั้ง แล้วทั้งเบสและกลองก็เข้ามาเสริมได้อย่างเหมาะเจาะในระดับจังหวะปานกลาง ในช่วงกลางของเพลง แกรี พีค็อก โซโลดับเบิลเบสได้อย่างดูดดื่มเป็นพิเศษ อัลบั้มเปิดตัวด้วยเพลง Bouncin' With Bud เพลงเก่าของนักเปียโน บัด พาวล์ (Bud Powell) ซึ่งจังหวะค่อนข้างเร็วของเพลงให้ความรู้สึกถึงอาการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา น้ำหนักของ คีธ ในเพลงนี้ควบคุมได้อย่างสมดุล พิจารณาได้อย่างเฟรสซิ่งสั้นยาวในแต่ละช่วง Groovin' High เพลงของ ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) เปิดทางให้แก่การเทคนิคอันแพรวพราวของคีธเป็นการอุ่นเครื่อง เสียงเปียโนอาจจะไม่สามารถแทนเสียงทรัมเป็ตได้ก็จริง แต่บุคลิกภาพของอารมณ์เพลงแบบบีบ็อพยังแฝงอยู่ในทุกอณูของเพลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ความร้อนแรงของเพลงทำให้พวกเขาผ่อนคลายอุณหภูมิลงในเพลงบัลลาดสุดอมตะ อย่าง Chelsea Bridge ผลงานของ บิลลี สเตรย์ฮอร์น (Billy Strayhorn) ที่รู้จักกันดี และเช่นเคย คีธ ยังนำเสนอคุณภาพเฉพาะตัวของเครื่องดนตรีอย่างเปียโน (อย่างที่ บิลล์ อีแวนส์ เคยทำมาแล้ว) นั่นคือการใช้ประโยชน์จากความเงียบได้อย่างสัมฤทธิ์ผล พวกเขามีเพลง Round Midnight  ของธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) เป็นบัลลาดช้า ๆ ที่ฟังเอาสาระ แค่เพียงไม่กี่โน้ตก็เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมในคอนเสิร์ตได้เกรียวกราว ในเพลงนี้ แจ็ค แสดงฝีมือด้วยการสร้างพื้นผิว (textures) ให้แก่เพลงด้วยการเลือกบรรเลงเสียงกลองผ่านเสียงฉาบขนาดต่าง ๆ กัน ในอัตราส่วนของจังหวะต่าง ๆ ได้อย่างมลังเมลือง ก่อนสลับไปสู่ฟิลลิ่งบลูส์ในระดับ มิด เทมโป กับเพลง Sandu ของนักทรัมเป็ต คลิฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown) ในอัลบั้มแผ่นคู่ Whisper Not แม้จะมี แจ๊ส ทูน (Jazz Tunes) อยู่พอสมควร แต่ก็ยังมี สแตนดาร์ด ทูน (Standard Tunes) ตามแนวทางของวงทริโออยู่หลายเพลง อาทิ What Is This Thing Called Love เพลงเก่าของ โคล พอร์เทอร์ (Cole Porter) ที่เริ่มต้นด้วยวิธีการแบบเก่า กล่าวคือเทคนิคมือซ้ายของ คีธ เคลื่อนไหวอย่างเป็นแพทเทิร์นอยู่เกือบตลอดเวลา โดยที่ปล่อยให้เทคมือมือขวาดำเนินทำนองไปเรื่อย ๆ พวกเขาบรรเลงเช่นนี้อยู่ระยะหนึ่ง  ก่อนจะปล่อยไปสู่การบรรเลงแบบ ‘ฟรี ฟอร์ม’ ในที่สุด นอกจากนี้ยังมี When I Fall In Love เพลงเก่าของ เอ็ดเวิร์ด เฮย์แมน (Edward Heyman) และ วิคเตอร์ ยัง (Victor Young) ที่ครั้งหนึ่ง บิลล์ อีแวนส์ เคยตีความเพลงนี้ได้อย่างมีเอกลักษณ์จนสร้างชื่อเสียงให้แก่เขามาแล้ว  ยังมีเพลง All My Tomorrows ผลงานการประพันธ์ของ แซมมี คาห์น (Sammy Kahn) และ จิมมี ฟาน ฮิวเซน (Jimmy Van Huesen) ซึ่ง เชอร์ลีย์ ฮอร์น (Shirley Horn) ก็เคยสร้างเวอร์ชั่นอันน่าประทับมาแล้ว อย่างไรก็ตาม คีธ ได้นำเสนอ 2 เพลงนี้ได้น่าชื่นชมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เหนืออื่นใด Whisper Not ไม่เป็นเพียงเสรีภาพของบุคคลทั้งสามในการเลือกบรรเลงได้ตามความต้องการเท่านั้น หากยังเป็นการประกาศเสรีภาพของ คีธ จาร์เรทท์ จากโรคร้ายอย่างเป็นทางการอีกด้วย               [Trio>Duo>Solo] เมื่อเข้าสู่ช่วงสหัสวรรษใหม่ วงทริโอของคีธ จาร์เรทท์ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก Inside Out ; Yesterdays ; Always Let Me Go ;  My Foolish Heart ; The Out-of-Towners และ Up for It โดยทั้งหมดเป็นบันทึกการแสดงสดของวงในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก  คีธ มีผละจากวงทริโอ มาเปลี่ยนบรรยากาศเป็นงานบรรเลงเดี่ยวเปียโนบ้าง แต่งานบันทึกเสียงที่น่าสนใจในช่วงนี้คืออัลบั้มที่บรรเลงแบบดูโอ ระหว่างเขากับเพื่อนสนิท ชาร์ลี เฮเดน นักดับเบิลเบส ในชุด Jasmine และ Last Dance เมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งต้นสังกัดนำออกเผยแพร่ภายหลัง (ปี ค.ศ.2010 และ 2014 ตามลำดับ) โดยอัลบั้มหลัง นำออกเผยแพร่ภายหลังการเสียชีวิตของนักเบสคนสำคัญ คีธ จาร์เรทท์ อัดเพลงสแตนดาร์ดกับวงทริโอเสมอ ล่าสุดคือ ชุด Somewhere เมื่อปี ค.ศ. 2009 แต่ผลงานส่วนใหญ่ในช่วง 10 ปีหลัง จะเป็นการบรรเลงเดี่ยวเปียโนในแบบ free-form improvisation เสียมากกว่า เมื่อมีคนถามคีธถึงการเล่นเพลงสแตนดาร์ดเป็นหลัก เจ้าตัวตอบว่า “นี่คือคำถามสำคัญ คุณไม่จำเป็นต้องขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดว่า พวกเรากำลังเล่นเพลงของพวกเรา มันกลายเป็นเรื่องเจ้าเข้าเจ้าของขึ้นมาเลย นักดนตรีที่มีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องเล่นอะไรใหม่สักอย่าง เพื่อจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่า เพราะประเด็นสำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ แต่เกี่ยวกับการเล่นมากกว่า” คีธ เล่าให้ฟังด้วยว่าช่วงแรก ๆ ที่เริ่มต้นบันทึกเสียงเพลงสแตนดาร์ดนั้น แกรี พีค็อก มือเบสหัวก้าวหน้า ถึงขนาดออกอาการ ‘ช็อค’ ไปชั่วขณะ แต่แล้วเขาก็เข้าใจกระบวนทัศน์ของการทำงานแบบใหม่ได้ในที่สุด เพราะการไม่สนใจเรื่องวัตถุดิบ (เพลงอะไรก็ตาม) แต่สนใจจะเล่นเพลงที่ชอบและรู้จักกันดีอยู่แล้วนั้น ในอีกด้าน ก็คือการสร้างเสรีภาพรูปแบบหนึ่งขึ้นมานั่นเอง   Photo Credits : David Redfern ; Patrick Hinely & Daniela Yohannes