เคน คูตารากิ: ‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย

เคน คูตารากิ: ‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย

‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย

นักล่าสมบัติผู้ลุยบู๊เหนือใต้ไปทุกที่…Uncharted คุณน้าผู้ปกป้องเด็กสาวจากซอมบี้… The Last of Us สาวนักแม่นธนูผู้สืบหาปริศนาในโลกหลังอารยธรรมล่มสลาย… Horizon Zero Dawn เทพเจ้ากรีกผู้พาลูกชายไปวอร์กับเทพเจ้านอร์ส…God of War เด็ก ม.ปลายผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอันบิดเบี้ยวของผู้ใหญ่...Persona 5  ซูเปอร์ฮีโร่ ไอ้แมงมุงผู้ใช้พลังเพื่อปกป้องนิวยอร์ก… Marvel’s Spider-man เราจะเป็นใคร บทบาทไหนก็ได้ เมื่อสวมบทตัวละครในเกมของ PlayStation เคน คูตารากิ: ‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย สำหรับเหล่าเกมเมอร์โดยเฉพาะสาย Console (เครื่องเล่นวิดีโอเกม) แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ‘PlayStation’ แบรนด์เครื่องเล่นเกมยอดนิยมจาก SONY ที่เพิ่งจะวางจำหน่ายรุ่นใหม่ล่าสุด ‘PlayStation 5’ ไปเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2020 (ในบางประเทศ) หรือต่อให้ไม่เคยเล่น Console แบรนด์นี้เลย แต่ก็น่าจะคงพอผ่านหูผ่านตากับข่าวคราวของ Game Exclusive ชื่อดังที่ลงให้เฉพาะเครื่อง PlayStation อย่าง Uncharted, The Last of Us, Horizon Zero Dawn, God of War, Persona 5, Marvel’s Spider-man รวมถึงพวก Death Stranding, Yakuza ที่แม้จะไม่ใช่ Game Exclusive เต็มรูปแบบ แต่ก็ลงให้ PlayStation ก่อนเครื่อง Console เจ้าอื่นหรือ Platform อื่นๆ (Timed Exclusive) มาบ้าง สำหรับ SONY แล้ว PlayStation ไม่เพียงแต่เป็นผลิตภัณฑ์ขายดีของบริษัทเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่ง PlayStation คือ ‘ฮีโร่’ ที่ช่วยพลิกฟื้นบริษัทจากที่เกือบล้มละลาย (ขาดทุนต่อเนื่องในช่วงปี 2008 - 2014 จนบางสำนักคาดการณ์กันว่ามีโอกาสถึงร้อยละ 78 ที่ SONY จะล้มละลายภายใน 2 ปี) ให้สามารถกลับมามีกำไรได้ แต่เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของบริษัทเช่นทุกวันนี้ บางที SONY อาจต้องขอบคุณ Nintendo คู่รักคู่แค้นผู้จุดประกายให้บริษัทที่แทบไม่สนใจเรื่องเกมเลย ตัดสินใจเข้าสู่วงการนี้ The Origin: จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ในช่วงทศวรรษ 1980’s ‘Nintendo’ คือผู้ยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมเกม Console ขณะที่ ‘SONY’ เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ความสนใจในเกมเป็นศูนย์ เส้นทางของ 2 ยักษ์ใหญ่มาบรรจบกันเมื่อ เคน คูตารากิ (Ken Kutaragi) วิศวกรของ SONY หรือต่อมาโลกจะรู้จักเขาในฐานะ ‘พระบิดาแห่งเกมเพลย์สเตชัน’ (The Father of the PlayStation) ได้แอบไปรับงานพัฒนา Sound Chip SPC700 ให้กับ Nintendo อย่างลับ ๆ (ซึ่งชิปนี้ได้ช่วยยกระดับระบบเสียงของเครื่อง SNES ให้มีความใกล้เคียงเสียงเครื่องดนตรีจริง ๆ มากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นจุดเด่นหลักของเครื่อง SNES) เคนนั้นเริ่มสนใจวิดีโอเกมหลังจากเห็นลูกสาวเล่นเกมผ่านเครื่อง Famicom ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ Nintendo เขาจึงคว้าไว้ทันที แต่นั่นก็เกือบจะกลายเป็นหายนะ เพราะเมื่อเรื่องแอบรับงานรู้ถึงหูผู้บริหารของ SONY เข้า พวกเขาเกิดอาการไม่พอใจอย่างรุนแรง และต้องการไล่เขาออก  ณ วินาทีนั้น โลกของคนเล่นเกมอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นยุคนี้ก็ได้ หากเคนโดนสอยออกจาก SONY โชคยังดีที่ โนริโอะ โอกะ (Norio Ohga) CEO ของ SONY ในขณะนั้นเห็นต่างและตัดสินใจอนุมัติให้เคนรับงานได้ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง SONY กับ Nintendo อย่างเป็นทางการ ไม่แน่ชัดว่าทำไมโนริโอถึงเลือกอยู่ข้างเคน แม้ว่าเขาจะทำผิดกฎบริษัทอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงนั้นที่ SONY เริ่มขยับขยายตัวเองไปยังธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การเข้าซื้อ CBS Records (ต่อมากลายเป็น SONY Music) และ Columbia Pictures แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าโนริโอะอาจมองเห็นลู่ทางโอกาสธุรกิจใหม่ของบริษัทในอนาคตจากความร่วมมือกับ Nintendo นี้ การพัฒนา Sound Chip ประสบความสำเร็จด้วยดี และต่อมาในปี 1988 เมื่อเทรนด์เทคโนโลยี CD-ROM เดินทางมาถึงวงการเกม ทาง Nintendo ก็ได้ร่วมกับ SONY พัฒนาเครื่องเกม Console ลูกผสมที่สามารถเล่นได้ทั้งตลับเกมและแผ่น CD-ROM โดยเคนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้เช่นกัน  ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการเกมของ SONY อย่างเป็นทางการ  เคน คูตารากิ: ‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย The Conflict: ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือการพัฒนา Console ลูกผสม ของ SONY กับ Nintendo ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ ‘SNES CD-ROM’ นั้น ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนัก ทั้งจากฝั่งผู้บริหารบางส่วนของ SONY เองที่ยังเห็นว่า เกมไม่น่าใช่อนาคตที่บริษัทควรลงทุนนัก หรือจากฝั่ง Nintendo ที่ก็ยังคงเชื่อมั่นในตลับเกมมากกว่าแผ่น CD-ROM และยิ่งย่ำแย่ลง เมื่อ ฮิโรชิ ยามาอุชิ (Hiroshi Yamauchi) ประธาน Nintendo ขณะนั้น พบว่า Nintendo ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสัญญาความสัมพันธ์นี้ ตามสัญญาความร่วมมือระหว่าง SONY กับ Nintendo ระบุให้ SONY ได้สิทธิ์ในการสร้างและรับผลประโยชน์จากการขายเกมแบบ CD-ROM บนเครื่อง PlayStation ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก Nintendo ส่วน Nintendo ก็จะได้รับเพียงส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายตัวเครื่องกับตลับเกมเท่านั้น “เราสนใจในธุรกิจหลายอย่าง ยกเว้นวิดีโอเกม” คือคำยืนยันที่ SONY ให้กับ Nintendo ซึ่งก็น่าจะจริงในขณะนั้นเพราะ SONY ไม่มีประสบการณ์การทำเกมมาก่อนเลย พวกเขาต้องการมุ่งเน้นไปที่การผลิตแผ่นเพลง คาราโอเกะ หรือ Home Entertainment สำหรับเล่นบนเครื่อง SNES CD-ROM เป็นหลัก  นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Nintendo ถึงยอมเซ็นสัญญาด้วยในทีแรก อย่างไรก็ตาม ฮิโรชิไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะถึง SONY จะยืนยันว่าไม่สนใจที่จะทำแผ่นเกม แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาข้อไหนที่ระบุห้ามไม่ให้พวกเขาทำเกม  สำหรับ Nintendo แล้ว “Key หลักของธุรกิจเกมคือ Software ไม่ใช่ Hardware”  และแล้วในวันที่ 2 มิถุนายน 1991 ณ งาน Consumer Electronics Show (CES) ฮาวเวิร์ด ลินคอล์น (Howard Lincoln) ประธาน Nintendo ภาคพื้นทวีปอเมริกาในขณะนั้น ก็ได้ขึ้นประกาศว่า พวกเขาอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องเกมที่สามารถเล่นแผ่น CD-ROM ได้ เพียงแต่ชื่อพันธมิตรที่ฮาวเวิร์ด กล่าวออกมานั้นกลับไม่ใช่ SONY หากแต่เป็น ‘Philips’!!! หนึ่งในคู่แข่งธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของ SONY The Breakup: 48 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนแยกทาง การประกาศของ Nintendo อาจทำเอา SONY ผิดหวังไม่น้อย แต่ก็ใช่จะคาดไม่ถึงเลยเสียทีเดียว “จริง ๆ พวกเขาน่าจะรู้ตัวล่วงหน้าแล้วละ อย่างน้อยก็ 48 ชั่วโมงนะ” ฮาวเวิร์ด ลินคอล์นผู้ที่ประกาศความร่วมมือกับ Philips บนเวที CES กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ ก็น่าจะจริงอย่างเช่นที่ฮาวเวิร์ดว่าไว้ เพราะในวันที่ 31 พฤษภาคม 1991 ก่อนการประกาศของ Nintendo จำนวน 2 วัน หนังสือพิมพ์ A Seattle Times ได้ลงข่าวว่า “Nintendo ได้บรรลุข้อตกลงกับ Philips ในการพัฒนาเกมบนแผ่น CD-ROM แล้ว” เท่ากับว่า ในวงการเกมอาจเป็นที่รับรู้กันว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง SONY กับ Nintendo เดินมาถึงจุดจบแล้ว แต่ในช่วง 48 ชั่วโมงนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ SONY พยายามยื้อความสัมพันธ์เอาไว้ให้ได้ โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 1991 ในงาน CES เช่นเดียวกัน SONY ก็ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องเล่นเกมลูกผสมตลับเกมและ CD-ROM ที่เรียกว่า ‘Play Station’ (สังเกตว่าขณะนั้นยังเว้นวรรคระหว่างคำอยู่) หรือนัยหนึ่งก็คือเครื่อง SNES CD-ROM ที่พัฒนาร่วมกับ Nintendo มา เผื่อว่า Nintendo จะไม่เปลี่ยนใจ ...แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้อยู่ดี เมื่อความสัมพันธ์จบลง SONY ก็ดูจะถอดใจกับธุรกิจเกมไปแล้ว เครื่อง Play Station ที่ได้ประกาศไว้ ไม่เคยถูกวางจำหน่ายจริง อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่สำหรับ เคน คูตารากิ บุคคลที่เคยเกือบถูก SONY ไล่ออกเพราะแอบไปรับงาน Nintendo เขาต้องการให้บริษัทเดินหน้าในธุรกิจนี้ต่อ โชคดีที่เขาไม่ได้คิดไปคนเดียว โนริโอะ โอกะ CEO ของ SONY ที่สนับสนุนเคนมาโดยตลอดก็คิดเช่นเดียวกัน พวกเขาถือว่าการกระทำของ Nintendo คือสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้เด็ดขาด พวกเขาต้องหาทางตอบโต้เรื่องนี้อย่างสาสม  เคน คูตารากิ: ‘พระบิดาแห่งเกม PlayStation’ ผู้พลิก SONY รอดพ้นจากล้มละลาย The Beginning: ก้าวใหม่บนเส้นทางของตัวเอง SONY จึงตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาเครื่องเกมต่อด้วยตนเอง พวกเขาทิ้ง Play Station เครื่องเกมลูกผสมที่เคยประกาศไว้ และหันมาพัฒนาเครื่องเกม CD-ROM รองรับกราฟิก 3D เต็มรูปแบบ ภายใต้ชื่อใหม่ ‘PlayStation’ (จริง ๆ ก็แค่ไม่เว้นวรรคแล้ว)  PlayStation รุ่นแรกเสร็จสมบูรณ์และออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1994 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว PlayStation 2 ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อปี 2000 กลายเป็น Console ขายดีตลอดกาล (ไม่รวมพวก Console แบบพกพา) ด้วยยอดขายกว่า 155 ล้านเครื่องทั่วโลก ขณะที่ PlayStation 4 ก็เพิ่งมียอดขายทะลุ 113.5 ล้านเครื่องไปเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ด้านรุ่นล่าสุด  PlayStation 5 ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยมไม่แพ้รุ่นพี่ ๆ เช่นกัน ย้อนกลับไปในช่วงปี 2008-2014 SONY ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เคยเป็นหัวใจหลักของบริษัท พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่ง แต่ด้วยได้รายได้จาก PlayStation รวมถึงธุรกิจเสริมต่าง ๆ ทั้งเพลง ภาพยนตร์ หรือกระทั่งธุรกิจการเงิน มาช่วยจุนเจือ และสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง ปัจจุบัน PlayStation บรรดาเกมเอ็กคลูซีฟต่าง ๆ เช่น เกมที่เคยกล่าวถึงไปช่วงต้น รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้จากเกมที่ลงให้กับ PlayStation ถือเป็นแหล่งรายได้ใหญ่สุดของ SONY คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมด ฟาก Nintendo ความร่วมมือกับ Philips จบลงไม่สวยนัก พวกเขายังยึดติดกับตลับเกมอยู่อีกหลายปี จนค่อย ๆ พ่ายแพ้ให้กับ SONY รวมถึง Microsoft ที่เข้าสู่ตลาดนี้เช่นกัน ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ Nintendo จะกลับมายืนในกลุ่มผู้นำได้แบบปัจจุบัน อาจพูดยากว่า หาก SONY กับ Nintendo ไม่แตกกันเสียก่อน สถานการณ์ตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนได้คือ ในประวัติศาสตร์ของ PlayStation มี Nintendo เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ทั้งยังเป็นการยืนยันว่าการมีคู่แข่งหรือศัตรูในวงการธุรกิจบางครั้งก็ไม่ไช่เรื่องน่ากลัวอะไร กลับกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ดียิ่งกว่าเดิมก็ได้  และใครจะรู้ บางทีสักวันหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่โดนมองข้ามอาจกลายมาเป็นหัวใจหลักของบริษัทแบบ SONY มี PlayStation ก็ได้ เรื่อง: ศุภกิจ แดงขาว   อ้างอิงข้อมูล https://www.polygon.com/features/2019/12/6/20999590/the-history-of-playstation-was-almost-very-different https://kotaku.com/the-weird-history-of-the-super-nes-cd-rom-nintendos-mo-1828860861 https://www.nytimes.com/1991/06/03/business/nintendo-philips-deal-is-a-slap-at-sony.html?auth=link-dismiss-google1tap https://www.technobuffalo.com/sony-has-78-chance-to-go-bankrupt-in-two-years-says-macroaxis