เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก

เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก
ดูเผิน ๆ เหมือนชีวิตของเขาจะเดินไปตามครรลอง เกิดและเติบโตในครอบครัวอบอุ่นที่มีพ่อแม่เป็นสถาปนิก ทว่า เก่งฉกาจ เก่งการค้า กลับเลือกเส้นทางที่หัวใจเรียกร้อง จากเมื่อหลายปีก่อน ตอนยังเป็นนักศึกษาปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (School of Architecture and Design – SOAD) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) เขาตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต โดยทิ้งการเรียนวิชาออกแบบไว้เบื้องหลัง และเริ่มต้นเป็นนักศึกษาใหม่อีกครั้ง ณ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ชีวิตในช่วงเป็นนักศึกษาดนตรีไม่ต่างจากการเดินตามความฝัน เขาฝึกฝนเปียโนอย่างหนัก และออกแสวงหาประสบการณ์เข้มข้น ผ่านเวทีประกวดและคว้ารางวัลมาได้ จนเมื่อเรียนจบปริญญาตรี ชีวิตต้องก้าวต่อไปข้างหน้า เขาดั้นด้นขวนขวายจนได้รับทุนฟุลไบรท์ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโทด้านดนตรีแจ๊ส ที่นิวยอร์กซิตี ปัจจุบัน หนุ่มวัยย่าง 30 คนนี้กำลังเผชิญหน้ากับโลกความจริงที่รออยู่เบื้องหน้า แต่เจ้าตัวยังไม่ยอมทิ้งความฝันลึก ๆ นั่นคือการมองหาโอกาสที่จะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยบนเวทีสากล นับเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อในที่สุด เก่งฉกาจ เก่งการค้า มีอัลบั้ม Lak Lan (ลักลั่น) เซ็นสัญญาออกกับค่ายเพลง Outside In Music ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผลสำเร็จ ไม่เพียงเท่านั้น อัลบั้มของเขายังได้รับเสียงวิจารณ์ในทางบวกจากข้อเขียนของ โฮเวิร์ด แมนเดล (Howard Mandel) นักวิจารณ์รุ่นใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมนักวารสารศาสตร์ดนตรีแจ๊ส (Jazz Journalist Association) โดยบทวิจารณ์อัลบั้มนี้ ตีพิมพ์ใน DownBeat นิตยสารแจ๊สชั้นนำของโลก แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการพำนักอยู่ในนครเมกกะแห่งแจ๊ส อย่าง นิวยอร์กซิตี ในบรรยากาศการแข่งขันของนักดนตรีระดับยอดฝีมือที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ยิ่งเมื่อเรียนจบปริญญาโท อายุวีซ่านักศึกษาเหลือน้อยลงทุกที เก่งฉกาจ พยายามหาลู่ทางเป็น “ที่ยืน” สำหรับชีวิตนักดนตรีแจ๊สไทยในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้เซ็นสัญญาอัดอัลบั้มกับค่ายเพลงที่นั่น เขาเล่าให้ The People ฟังอย่างปราศจากท่าทีขวยเขินว่า ด้วยการทำงานอย่างไม่เลือกประเภทของงานนั่นแหละ ทำให้เขาได้ต่อวีซ่าเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาอีก 3 ปี พร้อม ๆ กับการดิ้นรนหาโอกาสที่จะทำให้โลกได้รับรู้ศักยภาพของนักดนตรีแจ๊สไทย จริง ๆ แล้ว 2 ปี คือเรียน (ปริญญาโท) แล้วก็มีปีที่ 3 จะเป็นปีที่ขอทำงานได้ ขอฝึกงานได้ ก็เข้าไปทำงานที่ The Jazz Gallery คือเข้าไปเป็นสตาฟฟ์ทั่วไป ไปล้างห้องน้ำ... ” เก่งฉกาจ ปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ หลายบรรทัดที่อยู่เบื้องล่างนี้ คือคำบอกเล่าของนักเปียโนหนุ่มคนนี้ ในวันที่เขาแวะกลับมาไทย เล่นคอนเสิร์ตเล็ก ๆ เพื่อโปรโมทอัลบั้มชุดแรกในชีวิต หัวข้อสนทนาของเราในวันนั้นวนเวียนอยู่กับเนื้อหาของความฝันที่นักดนตรีแจ๊สไทยรุ่นใหม่คนนี้ พยายามจะก้าวไปให้ไกลที่สุด เท่าที่จะทำได้ (บทสัมภาษณ์นี้มีขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19) [caption id="attachment_26343" align="aligncenter" width="1616"] เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก ภาพ: Nitcha Tothong[/caption] The People: คุณต้องเดินทางกลับไปที่สหรัฐอเมริกา เพราะยังมีภาระผูกพันอยู่? เก่งฉกาจ: คือกลับไปโปรโมทอัลบั้ม จะมี show case ของค่ายที่เขาเอาศิลปินในค่ายเข้าไปอัดเพลงด้วยกัน แล้วทำเป็น show case album ออกมา รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดี อยากกลับไปทำ ไปถึงปุ๊บมีเวลาเตรียมตัว 3-4 วัน เขียนเพลงใหม่ แล้วก็เข้าห้องอัดกันเลย   The People: เราเลือก The Jazz Gallery เพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของแจ๊สที่นั่น? เก่งฉกาจ: เราอยากเข้าไปอยู่ในวงโคจรของนักดนตรีตรงนั้น ทำตรงนั้นอยู่ปีหนึ่ง ทำให้รู้จักคนมากขึ้น มันไม่ใช่งานที่ทรมานเลย งานเบามาก ที่บอกว่าทำงานล้างห้องน้ำ มันไม่ได้หนักหนาสาหัส แค่เข้าไปเช็ดถู หลังจากทำห้องน้ำเสร็จก็ขายบัตร ขายบัตรเสร็จปุ๊บ งานเลิก อาจจะเคลียร์เวทีนิดหนึ่ง ที่เหลือคือเวลาว่าง มันเป็นงานที่เหมาะมาก เพราะเราได้ตังค์ด้วย ได้ดูคอนเสิร์ตฟรีด้วย ได้รู้จักศิลปินด้วย ทุกคนรู้จักเรามากขึ้น ‘โอเค คนนี้ทำงานที่ The Jazz Gallery นะ’ ศิลปินจำเราได้ เพราะเราอยู่ตรงนั้นตลอด   The People: แล้วไปทำงานที่ The Jazz Gallery ได้อย่างไร เก่งฉกาจ: งานที่ The Jazz Gallery เป็นงานที่คนไม่ค่อยอยากทำ เพราะเริ่มจากทำฟรีก่อน เป็นการฝึกงานฟรี แต่เข้าไปเพราะชอบที่นั่นมาก แล้วเราอยากอยู่ต่อ เราต้องมี work permit เราต้องมีนายจ้าง ก็คุยกันว่าเป็นนายจ้างให้เราได้ไหม เพราะงานดนตรีที่เล่นทั่วไปจะไม่มีนายจ้างชัดเจน แต่ในทางวีซ่าในทางเอกสาร เขาต้องการนายจ้างชัดเจน พอเข้าไปคุยก็รู้จักกันอยู่แล้ว เขาก็ให้เข้ามาทำงานเลย ส่วนหนึ่งที่เขาจ้างผม เพราะผมทำงานพิเศษมากกว่าคนอื่น ทุกคนเข้าไปทำเหมือนทำฟรี มีแต่เด็ก ๆ ผมโตกว่า ผมแก่กว่าผู้จัดการเสียอีก ผู้จัดการเพิ่ง (อายุ) 25-26 แล้วตอนที่ผมเข้าไปทำงานใหม่ ๆ ผู้จัดการ 22-23 เอง  ตอนแรกเข้าไปก็สงสัยทำไมทุกคนมันเกรียนจังวะ อ้อ ! เข้าใจแล้ว ทำงานที่นี่เขาจ่ายตังค์น้อย ถามว่าอยู่ได้ไหม อยู่ได้ ที่นี่เป็น non-profit เขามีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายบัตร แต่หลัก ๆ แล้ว เขามีงบประมาณที่เขียนขอ grant มาอีกที ผมก็อยากเข้าไปศึกษาในระบบความเป็น non-profit ตรงนั้นว่าเขาทำกันอย่างไร พอเห็นภาพ แต่ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า หากเป็นที่เมืองไทยจะเป็นไปได้ไหม   The People: ตรงนั้นไม่ใช่ธุรกิจเต็มๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานที่อื่น อย่าง Blue Note Jazz Club? เก่งฉกาจ: ในแง่ของธุรกิจอาจจะไม่ขนาดนั้น แต่ที่นี่ทำให้ผมเข้าใจระบบโดยรวมมากขึ้น เข้าใจว่าศิลปินต้องทำอย่างไร เหมือนเข้าใจว่าศิลปินจะต้องเลี้ยงชีพอย่างไร เราได้เห็นว่า มันมี grant นะ แล้วช่วงที่ผ่านมา ผมเริ่มมีโอกาสไปเวิร์กช็อป ไปเจอ (นักเปียโนที่มีชื่อเสียง) Vijay Iyer เริ่มเข้าไปในวงโคจร ส่วนหนึ่งที่ผมต้องกลับไป(นิวยอร์ก) เพราะจะมี residency 2 อันที่ได้มา อันหนึ่งของ Atlantic Center for the Arts อันนี้ไปทำงานกับ Vijay Iyer 3 อาทิตย์ แล้วอีกอันเป็นของ JCAL คือ Jamaica Center for Arts and Learning อันนี้ทำงานกับมือกลองฟรีแจ๊ส คือผมได้ residency 2 อันนี้   The People: แล้วมาทำอัลบั้มชุดนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงเลือกค่ายเพลงนี้ ทั้งที่ยุคนี้ เราสามารถปล่อยเพลงได้เอง เก่งฉกาจ: เดิมทีตั้งใจว่าจะปล่อยเอง ไม่ได้ตั้งใจว่าจะอยู่(อเมริกา)ต่อด้วย เพราะมีหลายภารกิจหลายข้อผูกมัดที่เราจะต้องกลับ ตอนทำอัลบั้ม คิดว่าทำเสร็จปุ๊บ อันนี้เป็นของที่ระลึกสำหรับนิวยอร์กของเรา เดี๋ยวเราจะกลับมาปล่อยที่ไทย มาทำแผนการตลาดที่ไทย ปรากฏว่าเรามีโอกาสได้อยู่ต่อ เผอิญว่ามีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในค่ายนี้ทักมา เป็นคนไทยรุ่นน้องที่ไปเรียนที่ UNT (The University of North Texas) แล้วเขาย้ายมานิวยอร์กพอดี ได้คุยกัน แบบผมทำงานอยู่ที่ค่ายนี้ กับ Nick Finzer Outside In Music เขากำลังมองหาศิลปินคนใหม่อยู่ สนใจจะส่งไป nominate ตัวเองไหม ผมก็ เฮ้ย ! เอาสิ ลองดู คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะว่าถ้า self-release แน่นอน เราทำเอง เราได้เปอร์เซ็นต์เต็ม ๆ แต่เรื่องการได้รับความสนใจจากสื่อ คอนเน็กชันกับสื่อ ของเขามีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกว่าเยอะ ผมได้ (ตีพิมพ์ในนิตยสาร) DownBeat หลัก ๆ ส่วนหนึ่ง เพราะว่า(คนที่)จ่าหน้าซองไป ไม่ใช่เก่งฉกาจ จ่าหน้าซองไป เป็น Outside In Music ด้วย มันก็แข็งแรงขึ้น   The People: แต่เวลาทำอัลบั้ม ทำเองทุกอย่าง? เก่งฉกาจ: ทำเองทุกอย่าง เป็นโปรเจกต์ที่อยากทำตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้ว คือเราโตมากับดนตรีฝรั่ง เราโตมากับดนตรีแจ๊ส พ่อแม่ฟังแจ๊ส แต่เราแทบไม่รู้จักดนตรีไทยเลย มีความรู้สึกว่าอยากศึกษาดนตรีไทย แต่ยังไม่มีโอกาส จนกระทั่งเราได้ทำละครเวทีชื่อ “เพลงรัก 2475” เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวของ อ.ปรีดี พนมยงค์ กำกับโดย พี่ตั้ว-ประดิษฐ์ ปราสาททอง ตอนนั้น พี่ตั้วกำลังหาคนทำดนตรีคนใหม่ แล้วพอดีเพื่อนสายละครที่เคยทำงานด้วยกัน แนะนำไป เลยมีโอกาสได้เข้าไปทำงานตรงนั้น ได้รู้เกี่ยวกับดนตรีไทยมากขึ้น เริ่มเก็บเกี่ยวความรู้ แล้วย้ายไปที่นู่นพอดี กระบวนการในการแต่งเพลง เริ่มไปทำที่นู่น ถือว่าโปรเจกต์ “เพลงรัก 2475” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักดนตรีไทยมากขึ้น ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากพี่ตั้ว หรือไอเดียบางอย่างที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย ! ดนตรีไทยมีแบบนี้ แล้วดนตรีฝรั่งเป็นแบบนี้ เหมือนเราเรียนดนตรีไทยผ่านความรู้ดนตรีฝรั่ง เพราะเราไม่มีชุดความคิดของดนตรีไทยเลย เพราะฉะนั้น ตอนที่เข้าไปศึกษากับพี่ตั้ว คือชุดความคิดทุกอย่างผ่านดนตรีฝรั่งหมดเลย เราก็เลยเหมือนเรียนดนตรีไทยผ่านสื่ออีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่เหมือนคนดนตรีไทยจ๋า ๆ หรือคนดนตรีฝรั่งจ๋า ๆ [caption id="attachment_26344" align="aligncenter" width="640"] เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก ภาพ: Nitcha Tothong[/caption] The People: กว่าจะมาเป็นอัลบั้ม ลักลั่น เก่งฉกาจ: ลักลั่น เป็นความรู้สึกที่เหมือนผสม ๆ กัน เริ่มจากเป็นความรู้ดนตรีไทย ทำนองเอามาจากดนตรีไทย แล้วเราไปต่อยอดความคิดอีกที เรื่องของวิธีแต่งเพลง ความคิดตอนที่แต่งลักลั่น เรารู้สึกว่าเรามีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก ทั้งในแง่เราเป็นคนไทยที่ไปอยู่ที่นู่น แล้วเหมือนเรามีความฝัน แต่เราก็ไม่ได้เป็นคนมั่นใจในตัวเอง หรือพอเราออกไปอยู่ข้างนอก เรามองย้อนกลับมาที่ไทย ประเทศไทย มันมีหลายอย่างที่ไม่ make sense มันขัดกันอยู่ แต่มันก็ไปด้วยกันได้ เริ่มมีไอเดียแบบนี้เยอะมากขึ้น แล้ววิธีการแต่งเพลง อาจจะไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่า เรามีไอเดียนี้ แล้วเราคิดเราแต่งเพลงแบบนี้ เหมือนเราแปลความคิดนี้ลงเพลงเลย ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ว่าเพราะเราคิดเรื่องนี้ตลอดเวลา ตัวเพลงก็เลยเป็นบทสะท้อนของความคิดเรามากกว่า  อัลบั้มนี้เป็นเงาสะท้อนความคิดของตัวเองผ่านบทเพลง ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัวของตัวเองมาก ๆ มีความเชื่อมโยงกับตัวตนของผมแบบส่วยนตัวมาก ๆ เพราะฉะนั้น แต่ละเพลง คือความลักลั่น ความขัดแย้ง ความย้อนแย้งในตัวเอง ในความคิดในหลาย ๆ ระดับ ตั้งแต่เราไปเรียน เราเข้ากับคนที่นู่นไม่ได้ เราต้องปรับตัว แล้วพอเราเปลี่ยนตัวเอง แล้วเรารู้สึกว่าเฮ้ย ! เราไม่ใช่ตัวเองแล้ว เพราะเราเปลี่ยนตัวเองเพื่อไปเข้ากับเขา แต่ว่าตัวเราใหม่ ทำให้เราได้มีโอกาสมากขึ้นในสังคมใหม่นี้ แต่ตัวเก่าเรา เหมือนค่อย ๆ เลือนหายไปแล้ว เอ๊ะ ! แล้วนี่มันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี   The People: เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง? เก่งฉกาจ: ใช่ ๆ เหมือนเป็นการคุยกับตัวเองมากกว่า อัลบั้มนี้เห็นแก่ตัวมาก ๆ ไม่มีเรื่องอื่น ทุกอย่างพูดเกี่ยวกับตัวเองหมดเลยครับ (หัวเราะ)   The People: อยากให้พูดถึงกระบวนการชวนเพื่อนนักดนตรีมาร่วมงาน? เก่งฉกาจ: เพื่อนทุกคนในนี้ มีโอกาสได้เล่นได้ทำมาตลอด มักจะพูดกันว่า ‘เฮ้ย ! มีอัลบั้มเมื่อไหร่ บอกนะ’ เหมือนเขาเชื่อในดนตรีของเรา เขาเชื่อในตัวเราด้วย เพราะอยู่ที่อเมริกา จะมีช่วงหนึ่งที่ผมค่อนข้าง depress หนักมาก ๆ อยู่ เรารู้สึกเหมือนเราไม่พอ เรามาอยู่ตรงนี้ไม่ไหว แล้วด้วยความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง แต่ได้เพื่อนเหล่านี้คอยเป็นกำลังใจให้ เป็นความประทับใจของตัวดนตรีที่เราคิดขึ้นมา แล้วเรามองเห็นคนเหล่านี้เล่น แล้วมันได้ทำออกมาจริง ๆ บันทึกเสียงเสร็จก็เรื่องหนึ่ง ทีนี้ตอนปล่อยอัลบั้มออกไป เรามีโอกาสได้เล่นมากขึ้น ได้กลับมาที่นี่ (ประเทศไทย) แล้วเอาเพื่อนที่นู่นมาเล่นด้วย แล้วเราก็เริ่มได้เห็นเพลงของตัวเองมีชีวิตขึ้นมา เหมือนมันโตขึ้นไปตาม ทุกวันนี้เวลาเล่นสดคือเล่นไม่เหมือนในแผ่นนะ (หัวเราะ) ทุกอย่างไม่เหมือนไปแล้วในหลาย ๆ ไอเดีย ผมเองก็โตขึ้นด้วย แล้วในตัวเพลงมันก็โตขึ้นพร้อมกับตัวของผมและเพื่อน ๆ ที่อัดในอัลบั้ม วิธีคิดของทุกคนก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เลยรู้สึกว่าประทับใจตรงที่ว่า มันไม่ใช่จบแค่ในกระบวนการนั้นนะ มันไปได้อีก แล้วหมายความว่า จริง ๆ แล้วอัลบั้มหน้าเราอาจจะต้องมีเพลงก่อนหรือเปล่า แล้วเราต้องทำกระบวนการนี้ก่อนหรือเปล่า แล้วค่อยไปอัด มันจะได้เป็นเพลงที่โตขึ้นหรือเพลงที่สมบูรณ์ อีกมุมหนึ่ง เพราะเราเป็นศิลปินหน้าใหม่มาก ๆ ใหม่แบบมีคนเพิ่งสัมภาษณ์ผมที่นู่น เขายังพูดเลยว่า เชื่อไหมไม่เคยสัมภาษณ์ศิลปินหน้าใหม่ขนาดนี้ ใหม่แบบไม่มีแม้แต่ใครพูดถึงเลย แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีคนส่งมา แล้วก็เลยสงสัยว่า มึงเป็นใครวะ (หัวเราะ)   The People: เฉพาะรายได้ที่ The Jazz Gallery พออยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีรายได้อื่นๆ เก่งฉกาจ: รอดก็แล้วกันครับ (หัวเราะ) ใช้ชีวิตรอดได้ แต่ว่าอาจจะไม่มีตังค์เก็บมากมาย ตอนนี้ก็ดีขึ้น เพราะว่าเรามีงานเล่นมากขึ้น แล้วก็มีงานแต่งเพลง มีงานอย่างอื่นเข้ามาเรื่อย ๆ   The People: จะมีโอกาสได้รับงาน sideman เพิ่มขึ้นไหม หลังออกอัลบั้มนี้ เก่งฉกาจ: ก็มีคนเริ่มติดต่อเข้ามาบ้าง แต่ก็ยังเป็นงานเล็ก ๆ ที่ไปเล่นแบบวางขายบัตร แล้วเขาขายบัตรได้เท่าไหร่ เอามาแบ่งเรา ซึ่งก็ได้เต็มที่ผมว่า 30 เหรียญ (หัวเราะ) [caption id="attachment_26345" align="aligncenter" width="560"] เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก ภาพ: Ek Ashira[/caption] The People: ถ้าต้องเป็น artist in residence แล้วต้องขาดงานที่ The Jazz Gallery ไป จะไม่มีปัญหาใช่ไหม เก่งฉกาจ: อันนี้คือข้อดีของงานที่ทำอยู่ ตอนนี้นอกจากทำ The Jazz Gallery แล้ว ผมทำที่ Roulette อีกที่หนึ่งครับ Roulette เป็นคอนเสิร์ตใหญ่เลย อยู่บรู๊คลิน  เขาเน้นไปทาง experiment ซึ่งข้อดีของงาน 2 แบบนี้ งานที่ทำอยู่ มันค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ๆ คือ The Jazz Gallery ผมหายมาเดือนหนึ่ง เขาก็ไม่ได้อะไรนะ เขาอาจจะมีจิก ๆ บ่น ๆ บ้าง เพราะปีที่แล้ว ผมหายมา 2 เดือน (หัวเราะ) ผมกลับไปแล้ว คนที่เป็น artistic director ที่เป็นคนจ้างผมให้ไปทำงาน ‘เก่ง ไอให้วีซ่ายูนะ หายไปเลยเหรอ’ (หัวเราะ) กลับมา ๆ กลับมาทำงานแล้ว  คือเขาอาจจะให้ตังค์น้อยหน่อย แต่ก็มีความยืดหยุ่นให้เรา   The People: วางแผนชีวิตหลังจากนี้อย่างไร เก่งฉกาจ: ตอนนี้อนาคตยังไม่ค่อยเห็นภาพที่ชัด ๆ ว่าจะกลับหรือจะอยู่ต่อ แต่คิดว่า ถึงจุดหนึ่งคงต้องกลับแน่ ๆ เพราะเรายังมีภาระเรื่องทุน เรื่องอะไรที่เรายังไม่ได้เติมเต็มให้เสร็จสิ้น ทุนฟุลไบรท์เหมือนในแง่เรียนจบแล้ว แล้ว รายงานทุกอย่างเราเสร็จเรียบร้อย แต่ว่ามันก็ยังติดข้อผูกมัดเรื่องต้องอยู่เมืองไทย 2 ปี อะไรอย่างนี้ เพื่อที่จะมา fulfill requirements ที่เขาขอเราตั้งแต่แรก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันจะขอวีซ่าตัวอื่นไม่ได้ แต่วีซ่าที่ผมขอ มันดันเป็นวีซ่าที่ขอได้พอดี ซึ่งตอนแรกที่ยังไม่แน่ใจว่าต้องกลับหรือไม่กลับ เพราะว่าเราก็ยังอยากทำอัลบั้มที่นู่นอยู่ เอาให้เสร็จ เราก็เลยลองขอวีซ่าตัวนี้ไป ถ้าเราได้ เราก็อยู่ต่อ ถ้าเราไม่ได้เราก็กลับเหมือนตอนแรก อัลบั้มนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่ได้วางแผนนาน ส่วนในอนาคตใน 1-2 ปีนี้  เราอยู่แน่นอน เราได้วีซ่ามาแล้ว วางแผนก็คือ จะทำอย่างไร กลับไปแล้วเราจะ หนึ่ง-ตอนนี้คงพยายามเริ่มหางานที่ได้ตังค์มากขึ้น อาจจะเริ่มสอน เริ่มอะไรมากขึ้น แล้วสอง-คือ พยายามจะเขียนขอ residency หรือขอ grant ให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสให้คนอื่นเห็นมากขึ้น ได้มีโอกาสทำงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงมากขึ้น แล้วก็มีตังค์มาทำอัลบั้ม โดยที่ไม่ต้องออกเองด้วย (หัวเราะ)   The People: เงื่อนไขเหล่านี้ ในเมืองไทยไม่มีเลย? เก่งฉกาจ: ผมเคยพยายามหาเหมือนกัน ยังไม่เคยได้ยินเหมือนกัน เห็นแบบ… โอเค ทุนวิจัยอะไรอย่างนี้ ... ทุน ก.พ. มีล่าสุดคือรุ่นอาจารย์ไข่ (ศรุติ วิจิตรเวชการ) แล้วก็ยังไม่มีอีกหลังจากนั้นเลย ไม่รู้กี่ปีแล้ว จะ 20 ปีแล้วมั้ง (หัวเราะ) ที่เป็นทุนให้เกี่ยวกับดนตรี รุ่นล่าสุดคืออาจารย์ไข่ หลังจากนั้นก็ยังไม่มีอีกเลย (หัวเราะ) เพราะตอนที่จะไป ผมก็ไม่มีตังค์ ต้องหาทุน ก็พยายามหาแล้วเปิดดู 3 ปีติด ไม่เปิดทุนดนตรีเลย (หัวเราะ)   The People: ทำให้คนไทยเสียโอกาส? เก่งฉกาจ: ใช่ครับ โอ๊ย ! มีหลายเรื่อง ถ้าพูดถึงเรื่องคนไทยเสียโอกาส ในแง่ของตัวพาสปอร์ตของเราด้วยนะ อย่างเกาหลีหรืออะไร สมมติว่าเขามีโอกาสมีคนชวนไปทัวร์ที่ยุโรป เขาเข้าได้เลย ไม่ต้องคิดอะไร ของเราคือแทบจะขอทุกประเทศอยู่แล้ว ตอนแรกเกือบจะไม่ได้ไปไต้หวัน ถ้าเขาไม่ได้ต่อฟรีวีซ่าให้ เพราะว่าเราต้องขอวีซ่าทุกประเทศ มันก็มีความลำบาก แต่ว่าผมว่ามันพอมีความเป็นไปได้ ถ้าเราวางแผนล่วงหน้ามากหน่อย (หัวเราะ) แต่ใช่ครับ ลำบากกว่าชาติอื่นแน่ ๆ [caption id="attachment_26346" align="aligncenter" width="560"] เก่งฉกาจ เก่งการค้า กว่าจะเป็นนักดนตรีแจ๊สไทยในนิวยอร์ก ภาพ: Nitcha Tothong[/caption] The People: ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คิดว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง เก่งฉกาจ: ได้เรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้ว เหมือนอยู่ที่ไทยมา เราเล่นดนตรี เราคิดว่าเราเป็นศิลปิน แต่เหมือนด้วยบรรยากาศสังคม หรือว่าบรรยากาศงานที่ไทย มันไม่มีงานที่เป็นครีเอทีฟเลย มันทำให้เราโตมาเป็น working musician ซึ่งไม่ได้หมายความว่า การที่เราเป็น working musician เราจะเป็นศิลปินนะ มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะมาก ที่เราจะควรจะต้องทำ และควรจะต้องศึกษา ไม่ใช่แค่แต่งเพลงแล้วไปเล่น คือรู้สึกว่าความละเอียดในการทำงาน ความคิดของสังคมที่นู่นช่วยหล่อหลอม และตัวศิลปินเองก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ผลักดันชุดความคิดบางอย่างออกไปคืนสู่สังคม หรือว่าสนับสนุนไอเดียบางอย่าง รู้สึกว่าตรงนั้น น่าจะเป็นเรื่องหลักเลยที่เรารู้สึกว่ามันเป็นข้อแตกต่าง แล้วก็ได้เรียนรู้เยอะที่สุด อันนี้ในแง่ของทำงานเป็นศิลปิน ทำงานดนตรี แต่ในอีกแง่หนึ่งคือรู้สึกว่าโตเร็วขึ้น (หัวเราะ) ชีวิตโตเยอะขึ้นมากครับ ไม่ค่อยกลัวอะไรแล้วครับหลังจากนี้ กลับมาเมืองไทยไม่กลัวอะไรเท่าไหร่แล้ว (หัวเราะ) ทำงานมาทุกประเภทแล้วครับ นอนน้อยเลิกงานตี 4 ตี 5 แล้ว 8 โมงเช้าเริ่มสอนอะไรอย่างนี้ แล้ว 8 โมงเช้าเริ่มสอน คือต้องนั่งรถไฟไปชั่วโมงครึ่ง หมายความว่าตี 4 ตี 5 เราเลิกงานเรานอนบ้านเพื่อน เพราะเรากลับไม่ทัน เรานอนบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ชั่วโมงหนึ่งตื่นมา แล้วนั่งรถไฟไปสอน คือไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ทำงานเพื่อให้อยู่รอดได้ หนักมากอยู่ที่นู่น แต่ผมก็ยังเชื่อว่า คงยังไม่หนักเท่าหลาย ๆ คน ยังรู้สึกโชคดี เพราะเรามีดนตรี เราทำงานหนักก็จริง แต่มันก็ยังทำงานในสิ่งที่เรารัก   The People: ถ้าย้อนกลับได้ คิดว่าตัดสินใจผิดไหมที่ทิ้งการเรียนสถาปัตย์มาอยู่ในจุดนี้ เก่งฉกาจ: ไม่ผิดครับ แล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดด้วยไปเรียนสถาปัตย์ตอนแรก เหมือนความคิดในแง่คอนเซปต์อะไรหลาย ๆ อย่างเป็นความคิดแบบครีเอทีฟ เราได้มาจากสถาปัตย์ เยอะกว่าตอนเรามาเล่นดนตรีด้วยซ้ำ เพราะเหมือนหลาย ๆ ครั้ง ผมรู้สึกการเรียนดนตรี อันนี้นับรวมถึงที่โน่นด้วยนะครับ คือทุกที่เลย พอมันเข้าไปเรียนเป็นดนตรีจริง ๆ แล้ว ทุกอย่างมันแทบจะกลายเป็น technical ไปหมดเลย มันไม่มี creative practice ในโรงเรียนดนตรี รวมถึงที่โน่นด้วยนะครับ มันถึงเป็นเหตุผลที่ผมรู้สึกว่า ผมก็ไม่เคยเข้าไปที่ new school นะ แต่รู้สึกว่า new school เป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างเน้น creative practice เยอะกว่าที่อื่น โดยที่ผมสัมผัสได้ จากนักเรียนที่เขาจบมา เราก็ไม่เคยเข้าไปเรียน ก็พูดไม่ได้เต็มปาก แต่เหมือนกันคือเข้าไปเรียนแล้วทุกอย่างมัน technical หมดเลย แล้วเราก็หลงลืมอะไรบางอย่างไป   The People: โรงเรียนดนตรีมักต้องการทักษะบางอย่างที่จำเพาะเจาะจง? เก่งฉกาจ:  ใช่ แต่ก็ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่มีสกิลตรงนั้น creative practice ก็จะไม่มีค่าเลยเหมือนกัน (หัวเราะ)    The People: คิดไหมว่าชีวิตนี้จะไม่ทำอย่างอื่นแล้วนอกจากเล่นดนตรี เก่งฉกาจ : หวังว่าครับ (หัวเราะ)    The People: นักดนตรีจำนวนไม่น้อยลงเอยด้วยงานสอน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร เก่งฉกาจ: ใช่ครับ เรื่องการสอนก็รู้สึกว่าสอนได้นะ แต่เหมือนถ้าถามตอนนี้ ไม่แน่อีก 10 ปีเราเข้าใจมากขึ้น แล้วเราอาจจะเขียนหลักสูตร หรือเรามอง เฮ้ย เราก็ต้องทำอย่างนั้น เมื่อก่อนตอนที่ผมสอนรุ่นที่แล้ว ตอนนั้นยังคิดเรื่องการเรียนการสอนเยอะกว่านี้ ตอนนี้ผมแทบไม่ได้คิดเลย ตอนนี้ ใครมาเรียนกับผมแล้วผมเหมือนติสต์แตกใส่เลย เขาอาจจะรู้สึกว่าผมสอนไม่ได้เรื่องก็ได้ (หัวเราะ) เพราะว่าบางทีผมให้คอนเซปต์ไปแล้ว ผมอธิบายเป็นความคิดใหญ่ ๆ แต่ว่าผมอยากให้เขาทำเอง เขาจะได้สำรวจอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีเวลาที่ผมสอนที่นี่ นักเรียนบางคนเขาก็สำรวจเองไม่ได้ เพราะเขาชินกับการที่มีคนป้อนให้ทำทุกอย่างตามทางนี้ แต่ผมก็รู้สึกมีความเป็นไปได้ที่ถ้าผมคิดมากพอ ก็อาจจะไปได้มากขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลยครับ   The People: การเป็นคนเอเชียทำให้เราต้องพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น และใช้ความพยายามมากกว่าไหม เก่งฉกาจ: ใช่ครับ เหมือนถ้ามองว่าตอนนี้ทุกคนเท่าเทียมกันแล้ว มันก็ไม่ใช่ดีกว่าสมัยก่อน แต่มันยังมีความคิดระดับ unconscious เลย ที่มันฝังลึกอยู่ในสังคมอเมริกันมาก ๆ โดยที่คนเขาอาจจะไม่ได้คิดและไม่ได้แสดงออกมาชัดเจน แต่ unconscious มันมีอะไรบางอย่างที่มันกันทำให้เราไม่สามารถหลุดจากมันไปได้ ... เขาเรียกว่าโดนมองข้าม สำหรับความรู้สึกที่เป็นนะ   The People: กระแสที่ศูนย์กลางอำนาจเริ่มย้ายไปอยู่ทางเอเชียมากขึ้น และการเกิดขึ้นของนักดนตรีสายเลือดเอเชีย อย่าง Vijay Iyer, Helen Sung, Joey Alexander จะทำให้คนเอเชียผงาดขึ้นไหม เก่งฉกาจ: ก็คิดว่านะ คือแน่นอน คนเริ่มไม่ค่อยมองเรื่องนี้เป็นหลัก แต่ผมรู้สึกว่าในระบบมากกว่า มันอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ที่คนจะเห็นเราแล้ว ไม่มีลำเอียง แบบไม่มีเลย ผมรู้สึกว่า มันมีบ้าง อย่าง artistic director ที่ The Jazz Gallery ก็เป็นคนญี่ปุ่นนะ แต่เป็นคนญี่ปุ่นที่มาอยู่อเมริกานานแล้ว คือผมว่าในอนาคต มันคงมีความหลากหลายมากขึ้นจริง ๆ โดยที่ไม่ได้เพราะว่ายูเป็นเอเชียนอเมริกันเลยได้ขึ้นมา ผมนี่ยิ่งหนักเลย ไม่ใช่อเมริกันด้วย เป็นเอเชียของแท้เลย (หัวเราะ) ซึ่งน้อยมากที่ขึ้นมาที่นู่น น้อยมากจริง ๆ ที่เห็นเยอะจริง ๆ คือมีญี่ปุ่นกับเกาหลี  แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก