เคนจิ ฮาทานากะ กบฏผู้หวังล้มพระบรมราชโองการประกาศยุติสงคราม

เคนจิ ฮาทานากะ กบฏผู้หวังล้มพระบรมราชโองการประกาศยุติสงคราม
วันที่ 26 กรกฎาคม 1945 สามประเทศสัมพันมิตรอันประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ และจีนได้ร่วมกันออกปฏิญญาพ็อทซ์ดัม (Potsdam Declaration) เรียกร้องให้กองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโดยปราศจากเงื่อนไข หาไม่แล้วจะต้องเผชิญกับ "หายนะอันร้ายแรงอย่างเฉียบพลัน" จากนั้นราวสัปดาห์เศษ โลกก็ได้ประจักษ์ถึงพลังทำลายล้างของ "ระเบิดนิวเคลียร์" อาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา โซเวียตที่เคยทำสนธิสัญญาวางตัวเป็นกลางกับญี่ปุ่นก็ฉีกสัญญาทิ้ง และเข้าสู่สงครามภาคพื้นแปซิฟิก ทำให้กองทัพญี่ปุ่นตกอยู่ใต้วงล้อมการกดดันทุกทิศทาง ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดของบรรดาขุนศึกและขุนนาง ที่บ้างก็เห็นว่าควรยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขตามประกาศของฝ่ายสัมพันธมิตร บ้างก็เห็นว่าควรจะต่อรองเพื่อเงื่อนไขที่ดีกว่า และบ้างก็เห็นว่าการยอมแพ้ไม่ใช่ทางออก ต่อให้ต้องสละทั้งชาติ พวกเขาก็ไม่มีวันวางอาวุธ ภายใต้ภาวะเช่นนี้ทำให้ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ออกโรงทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน "ถ้าไม่มีใครจะเสนออะไรอีกแล้ว เราจะขอออกความเห็นของเราบ้าง เราต้องการให้ทุกท่านเห็นด้วยกับข้อสรุปของเรา เราได้ตั้งใจฟังทุกเหตุผลที่โต้แย้งการที่ญี่ปุ่นจะยอมรับข้อเรียกร้องของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ความเห็นเราก็ไม่เปลี่ยน เราได้ศึกษาเงื่อนไขทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติแล้ว และได้ข้อสรุปว่าเราไม่อาจทำสงครามได้อีกต่อไป" จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ กล่าวต่อที่ประชุมของผู้นำระดับสูงถึงเจตนาที่จะประกาศยอมแพ้สงคราม "เรารู้ดีว่ามันยากเพียงใดที่ข้าราชการผู้ภักดี และเหล่าทหารหาญแห่งกองทัพบก และราชนาวีจะยอมวางอาวุธให้กับศัตรู ต้องมองเห็นประเทศถูกยึดครอง และอาจต้องข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม" จักรพรรดิให้เหตุผลที่พระองค์ไม่อาจสนับสนุนการทำสงครามต่อไปว่า พระองค์ไม่อาจปล่อยให้ประชาชนต้องทนทุกข์เกินไปกว่านี้ พระองค์ต้องการรักษาชีวิตของพวกเขาเอาไว้ แม้ต้องเอาชีวิตของพระองค์เองเข้าแลก และหากทำสงครามต่อไปพสกนิกรของพระองค์อาจต้องสูญเสียอีกนับแสน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่อาจยอมรับได้ "เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชน เราพร้อมพูดออกอากาศ เราจะเดินทางไปทุกที่ โน้มน้าวเหล่าทหารบกทหารเรือให้ยอมวางอาวุธ เรามีความประสงค์ให้คณะรัฐมนตรีร่างพระราชโองการเพื่อยุติสงครามโดยพลัน" ทายาทเทพีสุริยะของญี่ปุ่นประกาศเจตนาชัดเจน ในขณะที่บรรดาผู้นำระดับสูงที่ได้รับฟังเจตนารมณ์ขององค์จักรพรรดิโดยตรงพากันเห็นใจ ถอดใจ และพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามองค์พระประมุข แต่ พันตรี เคนจิ ฮาทานากะ (Kenji Hatanaka) เห็นว่าพระราชวินิจฉัยขององค์จักรพรรดิเป็นความไขว้เขวที่เกิดจากการรับฟังความเห็นของผู้สอพลอ และจะต้องยับยั้งเจตนารมณ์ของพระองค์ทุกวิถีทาง แม้ว่าจะต้องใช้กำลังขัดขวางก็ตาม จอห์น โทแลนด์ (John Toland) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเรื่องThe Rising Sun: Decline and Fall of the Japanese Empire 1936-1945 (ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์) บรรยายถึงฮาทานากะว่า นายทหารหนุ่มรายนี้ดูจากภายนอกมองไม่ออกเลยว่าจะเป็นคนที่คิดก่อการใหญ่ถึงเพียงนี้ ด้วยเขาเป็นคนเงียบ ๆ คงแก่เรียน และนอบน้อมถ่อมตน แต่ด้วยความที่เขาเป็นผู้ที่มั่นคงในอุดมการณ์และยอมอุทิศชีวิตเพื่อชาติ ทำให้เขาพร้อมทำทุกทางเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของประเทศ ฮาทานากะพยายามหาผู้ร่วมอุดมการณ์ บุคคลที่เขาฝากความหวังไว้อย่างมากก็คือ นายพลโคเรชิกะ อานามิ (Korechika Anami) รัฐมนตรีสงคราม อานามิเองเมื่อถูกชักจูงก็มีความลังเล ณ จุดหนึ่งเขาคิดว่าจะลาออกจากคณะรัฐมนตรี กดดันให้มีการยุบสภาเพื่อชะลอการประกาศพระบรมราชโองการออกไป แต่เขาก็คิดขึ้นได้ว่า หากเขาทำเช่นนั้น เขาก็คงไม่อาจได้พบหน้าองค์จักรพรรดิอีกต่อไป จึงตัดใจปฏิเสธที่จะร่วมแผนล้มพระบรมราชโองการ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ฮาทานากะยอมล้มแผนการ แผนการของเขาคือการวางกำลังล้อมพระราชวัง เพื่อตัดขาดพระจักรพรรดิจากโลกภายนอก ก่อนโน้มน้าวให้พระองค์เปลี่ยนใจ เขาสามารถทำให้บรรดานายทหารระดับกลางของกองพลทหารรักษาพระองค์เห็นคล้อยกับแผนการของเขาได้สำเร็จ ติดแต่ พลตรีทาเคชิ โมริ (Takeshi Mori) ผู้บังคับบัญชาที่ใคร ๆ ก็กังวลว่า จะเห็นด้วยกับแผนการนี้หรือไม่? ฮาทานากะ และ พันโทมาซาทากะ อิดะ (Masataka Ida) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ (ที่แม้จะยศสูงกว่าแต่ขวัญอ่อนกว่าและไม่แน่วแน่เท่าฮาทานากะ) จึงเดินทางไปพบกับนายพลโมริที่กองบังคับการกองพลทหารรักษาพระองค์ไม่ไกลจากวังหลวง ขณะนั้นเป็นเวลาห้าทุ่มแล้ว (14 สิงหาคม 1945) ทำให้ฮาทานากะร้อนรนกับเงื่อนเวลาที่บีบคั้นเข้ามา "ความภักดีที่เที่ยงแท้ หาใช่การปฏิบัติตามพระราชโองการอย่างมืดบอดไม่" อิดะผู้ทำหน้าที่เจรจาให้เหตุผลในการก่อกบฏกับโมริ "หากท่านเชื่อแน่ว่าสัมพันธมิตรจะรักษาไว้ซึ่งหัวใจสำคัญของชาติ ท่านก็จงปฏิบัติตามพระราชโองการ แต่ถ้าท่านไม่แน่ใจเช่นนั้นแล้วท่านจะไม่ให้คำปรึกษากับพระองค์หน่อยหรือ?" โมริรับฟังแต่ไม่ตอบรับโดยทันที เขาขอเดินทางไปยังศาลเจ้าเมจิเพื่อทำใจให้ปลอดโปร่งก่อนเลือกตัดสินใจในทางที่เหมาะสม อิดะเห็นพ้องด้วย แต่เมื่ออิดะเดินออกจากห้องประชุมและบอกว่าโมริขอคุยธุระต่ออีกนิดแล้วจะเดินทางไปสักการะศาลเจ้าก่อนตัดสินใจ ก็ทำให้ฮาทานากะหมดความอดทน เขาและผู้ติดตามบุกเข้าไปในห้องทำงานของโมริ ถามแกมบังคับให้โมริเข้าร่วมก่อการ แต่นายพลผู้ทรงศีลยังยืนยันคำเดิม ร้อยเอกชิเกทาโร อุเอฮาระ (Shigetaro Uehara) จึงคว้าดาบฟันไปที่โมริ แต่ พันเอกมิจิโนริ ชิราอิชิ (Michinori Shiraishi) น้องเขยของโมริเข้ามาขวาง ทำให้ถูกฟันจนเกือบคอขาด ฝ่ายทานากะที่ตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดมาทั้งวันเมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ถูกใจซ้ำอีก จึงคว้าปืนขึ้นยิงใส่โมริ ทำให้ผู้บังคับบัญชากองทหารรักษาพระองค์ถึงแก่ความตาย และเขาก็ขโมยตราประทับของโมริไปใช้ออกคำสั่งกองพลทหารรักษาพระองค์ ฮาทานากะสั่งปลดอาวุธเจ้าหน้าที่รักษาการประจำพระราชวังและปิดทางเข้าออก ปิดกั้นการสื่อสารจากภายนอกด้วยการตัดสายโทรศัพท์ กองกำลังฝ่ายกบฏพยายามค้นหาแผ่นบันทึกเสียงพระบรมราชโองการประกาศยอมแพ้สงครามอย่างสุดความสามารถ แต่ใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงก็ไม่สำเร็จ อิดะยังมีข่าวร้ายมาบอกฮาทานากะอีกว่า พวกเขาขาดกำลังหนุนจากภายนอกโดยสิ้นเชิง เมื่อ กองทัพบูรพา ที่พวกเขาตั้งความหวังไว้ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมืออย่างแน่นอนแล้ว และถ้าหากกองพลทหารรักษาพระองค์รู้ความจริงว่าพวกเขาถูกหลอกใช้ และผู้บังคับบัญชาตัวจริงถูกฆ่าตายไปแล้ว ทหารกลุ่มนี้ก็คงไม่ยอมปฏิบัติตามแผนอีกต่อไป อิดะจึงขอให้ฮาทานากะยุติแผนและยอมรับความพ่ายแพ้ ถึงขั้นนี้ฮาทานากะยังไม่ยอมแพ้ เปลี่ยนแผนหวังขอความเห็นใจจากประชาชนด้วยการออกอากาศประกาศเจตนารมณ์ของเขาผ่านสถานีวิทยุ NHK ที่กองกำลังของเขาได้ยึดเอาไว้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่สถานีพยายามหาข้ออ้างถ่วงเวลาให้ฮาทานากะไม่สามารถออกอากาศได้ จนกระทั่งกองทัพบูรพาต่อสายตรงมาถึงสถานี ทำให้เขายอมล่าถอยออกจากสถานี ซึ่งเวลานั้นก็เป็นช่วงเช้าของวันที่ 15 สิงหาคมแล้ว ฮาทานากะและคณะหมดทางที่จะไปต่อ แต่เขาก็ไม่เดินทางกลับกรมกอง กลับมุ่งหน้าไปยังลานกว้างหน้าพระราชวังแจกใบปลิวขอให้ชาวบ้านช่วยกันต่อต้านการยอมแพ้สงคราม ก่อนที่เขาจะตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง (เช่นเดียวกับผู้ร่วมก่อการอีกหลายคน) จากนั้นพระราชโองการประกาศยอมแพ้สงครามจึงได้ออกอากาศไปทั่วประเทศในเวลาเที่ยงของวันที่ 15 สิงหาคม 1945 และญี่ปุ่นก็ได้ลงนามในเอกสารยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายสัมพันธมิตรบนเรือรบยูเอสเอสมิสซูรี เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายนปีเดียวกัน อันถือเป็นวันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ