เคนทาโร่ โยชิฟูจิ: ผู้อยู่เบื้องหลัง DAWN Avatar Robot Café ร้านที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงาน เพื่อให้คนพิการทำงานจากที่บ้านได้

เคนทาโร่ โยชิฟูจิ: ผู้อยู่เบื้องหลัง DAWN Avatar Robot Café ร้านที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงาน เพื่อให้คนพิการทำงานจากที่บ้านได้
ถ้าพูดถึงร้านที่มีหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร คุณอาจเริ่มกังวลว่าอนาคตเทคโนโลยีจะมาแทนที่มนุษย์หรือไม่ ? แต่สำหรับ ‘DAWN Avatar Robot Café’ คาเฟ่ในย่านนิฮงบาชิ (Nihonbashi) ประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้ ‘หุ่นยนต์’ กลับทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือใครก็ตามที่ไม่สามารถออกจากบ้านมาทำงานได้ เพราะหุ่นยนต์ที่นี่ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ แต่เป็นเหมือน ‘ตัวแทน’ หรือ ‘อวตาร’ ของพนักงานซึ่งสามารถควบคุมและพูดคุยกับลูกค้าได้จากที่บ้านของตนเอง ‘เคนทาโร่ โยชิฟูจิ’ (Kentaro Yoshifuji) คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังหุ่นยนต์ในร้านกาแฟแห่งนี้ เขาคือชายชาวญี่ปุ่นวัย 33 ปีที่เป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Ory Laboratory Inc. บริษัทหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มุ่งสร้างสังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก่อนหน้านี้ OryLab เคยเปิดร้านกาแฟที่ใช้หุ่นยนต์แบบป็อปอัพขึ้นมาหลายร้าน แต่ DAWN Avatar Robot Café นับเป็นร้านแบบถาวรแห่งแรก ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2021 จากการระดมทุนจากคนทั่วไป (crowdfunding) และสปอนเซอร์สนับสนุนขององค์กรต่าง ๆ  โดยภารกิจของโยชิฟูจิ และ OryLab คือ ‘การขจัดความเหงาไปจากเผ่าพันธุ์มนุษย์’ (the Elimination of loneliness from human race) เพราะโยชิฟูจิเข้าใจความรู้สึกเหงาและถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นอย่างดี  เคนทาโร่ โยชิฟูจิ: ผู้อยู่เบื้องหลัง DAWN Avatar Robot Café ร้านที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงาน เพื่อให้คนพิการทำงานจากที่บ้านได้ สามปีแห่งความเปลี่ยวเหงา  ย้อนไปยังวัยประถมฯ โยชิฟูจิไม่สามารถไปโรงเรียนได้เป็นเวลา 3 ปีด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เขาจึงเริ่มสนใจการพัฒนาหุ่นยนต์สื่อสารที่เป็นเหมือนอวตารให้กับมนุษย์ เพื่อช่วยต่อสู้กับความเปลี่ยวเหงาที่ต้องเผชิญ  “ผมต้องการทำให้ผู้คนสามารถพบปะคนที่เขาต้องการพบ แม้จะอยู่บนเตียงผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ผมก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะสร้างอนาคตที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้” โยชิฟูจิเก็บความฝันและความหวังไว้ในใจ เมื่อสามารถเผชิญโลกภายนอกได้อย่างเก่า เขาเลือกเรียนเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และเข้าร่วมโครงการวิจัยหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ในปี 2007  ขณะทำการวิจัย โยชิฟูจิเกิดแนวคิดการสื่อสารกับผู้คนผ่านหุ่นยนต์ โดยอิงมาจากประสบการณ์ตรงของเขา เขาอยากทำงานวิจัยเพื่อให้เด็ก ๆ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะยาวมีเครื่องมือติดต่อกับครอบครัว กลายเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์โอริฮิเมะ (OriHime) ขึ้นเป็นตัวแรก ในปี 2012 พร้อมกับก่อตั้ง Ory Laboratories  ขณะเดียวกันโยชิฟูจิได้พบกับ ‘ยูตะ บันดะ’ (Yuta Banda) ที่รักษาตัวอยู่ในโมริโอกะ (Morioka) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ซึ่งบันดะเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่ออายุได้ 4 ขวบ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังมากว่า 20 ปี เมื่อบันดะทราบเรื่องราวของโยชิฟูจิ ช่วงฤดูหนาวปี 2013 เขาจึงส่งข้อความถึงโยชิฟูจิว่า “ผมเป็นกำลังใจให้คุณ ผมอยากจะร่วมแรงร่วมใจกับคุณ ถ้าเรามีความฝันเดียวกัน” ส่วนโยชิฟูจิ เขาเล่าย้อนไปในวันนั้นว่า “บันดะไม่เคยพูดว่า ‘ผมช่วยไม่ได้’ หรือ ‘ผมทำไม่ได้’ เพราะเขาต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผมคิดว่าเขามีจิตวิญญาณที่น่าทึ่ง ในขณะที่ผมอยากตายหลังจากอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาเพียง 3 ปีครึ่ง “เมื่อผมเห็นบันดะ ผมคิดว่า ‘ถ้าเขาเต็มใจรับความท้าทาย ผมก็ยินดีที่จะทำเช่นกัน’ และผมรู้สึกว่าเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้”    สานต่อความฝัน แด่เพื่อนผู้จากไป หนึ่งปีต่อมาพวกเขาทั้งสองได้พบกัน หลังจากนั้นโยชิฟูจิลองใช้หุ่นยนต์โอริฮิเมะสื่อสารทางไกลกับบันดะ โดยบันดะจะใช้คอมพิวเตอร์ด้วยคางเพื่อควบคุมหุ่นยนต์ให้สามารถพูดคุยกับโยชิฟูจิได้ นั่นทำให้ชีวิตตลอด 20 ปีบนเตียงของบันดะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ต่อมาโยชิฟูจิได้จ้างบันดะมาเป็นเลขาฯ ของเขา ด้วยการทำงานทางไกลผ่านห้องพักในโรงพยาบาลโมริโอกะ และใช้หุ่นยนต์โอริฮิเมะเพื่อจัดการกำหนดการของโยชิฟูจิและอัปเดตเว็บไซต์ของบริษัท กระทั่งวันหนึ่งในปี 2016 โยชิฟูจิพูดติดตลกกับหุ่นยนต์โอริฮิเมะ (ซึ่งควบคุมโดยบันดะ) ว่า  “คุณเป็นเลขาฯ ของผม ทำไมไม่ทำกาแฟให้ผมล่ะ”  ใครจะรู้ว่าจากคำพูดทีเล่นทีจริงในวันนั้น จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียหุ่นยนต์ในร้านกาแฟ DAWN Avatar Robot Café อย่างในปัจจุบัน  แต่ยังไม่ทันถึงวันที่จะได้ฉลองความสำเร็จ ข่าวร้ายก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาช้า ๆ ขณะที่โยชิฟูจิกำลังวางแผนเปิดร้านกาแฟอย่างจริงจัง ในปี 2017 บันดะได้เริ่มล้มป่วยและเสียชีวิตลงเมื่ออายุ 28 ปี โยชิฟูจิไม่อาจทำใจรับการจากไปอันรวดเร็วครั้งนี้ การเตรียมงานทุกอย่างจึงหยุดชะงักไปประมาณ 6 เดือน จนท้ายที่สุด เขาตัดสินใจกลับมาเปิดร้านกาแฟอีกครั้ง เพื่อทำ ‘เจตจำนงสุดท้าย’ ของเพื่อนให้เป็นจริง เคนทาโร่ โยชิฟูจิ: ผู้อยู่เบื้องหลัง DAWN Avatar Robot Café ร้านที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงาน เพื่อให้คนพิการทำงานจากที่บ้านได้ เคนทาโร่ โยชิฟูจิ: ผู้อยู่เบื้องหลัง DAWN Avatar Robot Café ร้านที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงาน เพื่อให้คนพิการทำงานจากที่บ้านได้ DAWN Avatar Robot Café คาเฟ่แห่งความหลากหลาย พฤศจิกายน 2018 ANA ร่วมมือกับ OryLab และ Nippon Foundation เพื่อเปิด Dawn Café เวอร์ชันป็อปอัพชั่วคราว โดยระหว่างการเปิดคาเฟ่ 2 สัปดาห์ หุ่นยนต์อวตารถูกควบคุมจากระยะไกล โดยผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอย่างร้ายแรงจำนวน 10 คน รวมถึงคนที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง  สาเหตุที่หุ่นยนต์เหล่านี้มีชื่อว่า โอริฮิเมะ (OriHime) เพราะมาจากคำว่า Ori และ Hime ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ Yoshifuji และ Yuki ผู้เป็น CFO ของบริษัท ซึ่งรุ่นดั้งเดิมของหุ่นยนต์โอริฮิเมะ ประกอบด้วยเครื่องเดสก์ท็อปที่มีกล้อง ไมโครโฟน และลำโพง ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ส่วนรุ่นใหญ่กว่าที่อยู่ในร้าน Dawn Café นั้นมีชื่อว่า OriHime-D และคาเฟ่แห่งนี้ก็นับเป็นร้านที่ตั้งแบบถาวรแห่งแรก ตั้งแต่ OryLab เริ่มทำคาเฟ่หุ่นยนต์มา DAWN Avatar Robot Café มีที่นั่ง 70 ที่นั่งบนพื้นที่ประมาณ 170 ตารางเมตร และจะให้บริการ 3 รูปแบบ ได้แก่ OriHime Diner ที่เสิร์ฟโดยหุ่นยนต์โอริฮิเมะ แต่ต้องจองล่วงหน้าและจำกัดเวลานั่งไม่เกิน 75 นาที  BAR & Tele-Barista เป็นโซนกาแฟที่มีหุ่นยนต์บาริสต้าประจำการอยู่ และสุดท้ายคือ  CAFE Lounge ที่นั่งสบาย ๆ ที่สามารถสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อมานั่งเล่นและเพลิดเพลินไปกับกาแฟสูตรพิเศษ แซนด์วิชร้อน ๆ และของว่างอื่น ๆ จาก Tailored Cafe  Maya หนึ่งในผู้ควบคุมเจ้าโอริฮิเมะ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spinal Muscular Atrophy) เล่าว่า เธอใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสอง เพื่อทำงานจากบ้านของเธอในอิตามิ (Itami) จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) ขณะให้บริการลูกค้าในร้านที่โตเกียวด้วยรีโมตคอนโทรล ฉันรู้สึกว่ามันสนุกมาก ลูกค้าสูงอายุที่ไม่ถนัดชำระเงินด้วยตนเองมักจะใช้บริการของฉัน ฉันอธิบายสิ่งต่าง ๆ ช้า ๆ ตามจังหวะของพวกเขา”  นอกจากจะรองรับพนักงานผู้มีข้อจำกัดแล้ว ยังมีพื้นที่ที่สามารถรองรับเก้าอี้รถเข็นได้ มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ และมีแหล่งจ่ายไฟสำหรับชาร์จอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถเข้ามานั่งและดื่มด่ำในร้านแห่งนี้ได้อย่างสะดวกสบายเช่นเดียวกัน  นวัตกรรมที่เปิดประตูสู่ความเท่าเทียมนี้ ทำให้ DAWN Avatar Robot Café ได้รับรางวัล Wood Pencil ในหมวด Design Transformation ในงาน D&AD Awards 2020 ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติด้านการออกแบบและการโฆษณา โดยก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักร  นับว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่เทคโนโลยีไม่ได้หมายถึงการแทนที่ฝีมือมนุษย์เสมอไป ในทางกลับกัน เทคโนโลยีเหล่านี้นับเป็นการแก้ปัญหาและลดกำแพงที่ปิดกั้น ‘คนพิการ’ กับ ‘คนไม่พิการ’ ให้พวกเขาสามารถสื่อสาร มีส่วนร่วมในสังคม และสามารถทำงานได้อย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างเมืองที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้นอีกด้วย   ที่มา: https://www.businessinsider.com/avatar-robots-are-beginning-to-stake-out-their-place-in-the-workforce-with-japan-leading-the-way-2021-3 https://www.adk.jp/en/news/103282/ https://dawn2021.orylab.com/en/  https://www.timeout.com/tokyo/news/this-new-tokyo-cafe-has-robot-waiters-controlled-remotely-by-disabled-workers-021621  https://www.timeout.com/tokyo/restaurants/dawn-avatar-robot-cafe-reinvents-tokyos-restaurant-scene-with-robotics  https://mainichi.jp/english/articles/20210528/p2a/00m/0sc/031000c    ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=P09UJHtvRQM