เปียโน-เกวลิน เวชกามา: ศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะกับ Followers

เปียโน-เกวลิน เวชกามา: ศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะกับ Followers
“เราต่างมีมุมมองด้านศิลปะที่แตกต่างกัน” เปียโน-เกวลิน เวชกามา เปิดบทสนทนาด้วยคำถามชวนคุย ถึงมาตรวัดความเป็นศิลปะที่ยากจะตัดสินกันว่าแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี แบบไหนคือสวย แบบไหนคือไม่สวย การเกิดในครอบครัวศิลปินโดยมีคุณพ่อเป็นนักดนตรี หลายคนอาจจะรู้จักเธอผ่าน YouTube Channel ที่ทำร่วมกับน้องสาวในชื่อ Piano&Pleng ที่มีผู้ติดตามผลงานกว่า 7 แสนคน ที่จะมาฟังการโคฟเวอร์เพลงและไลฟ์สไตล์ของเธอและน้องสาว ด้วยความที่เกิดในครอบครัวเลือดศิลปิน ดังนั้นคุณพ่อจึงไม่เคยปิดกั้นในเรื่องการแสดงออกด้านศิลปะของเธอเลย มันค่อย ๆ ซึมซับดั่งลมหายใจแบบที่เธอก็ไม่รู้ตัวว่าตกหลุมรักศิลปะครั้งแรกเมื่อไร แรงผลักดันสำคัญก็คือคุณพ่อ เช่นการเริ่มต้นทำคลิปโคฟเวอร์เพลงก็มาจากการที่คุณพ่อเห็นพรสวรรค์ของลูกจึงเอากล้องวิดีโอมาถ่าย เพื่อบันทึกความทรงจำ จนมันกลายเป็นช่องที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เมื่อชีวิตมีทางเลือกระหว่างดนตรีและศิลปะที่เธอทำได้ดีทั้งสองด้าน จนวันหนึ่งเธอตัดสินใจเดินไปบอกว่าเธออยากจะเข้าเรียนในคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตักศิลาด้านศิลปะอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งคุณพ่อก็พร้อมจะทำความเข้าใจกับแผนอนาคตของเธอด้วยเหตุและผล และเธอก็ไม่ได้ทำให้คุณพ่อผิดหวังเมื่อสามารถเข้าศึกษาในคณะมัณฑนศิลป์ได้ตามที่เธอตั้งใจ โลกของศิลปะถูกเปิดกว้างออก สิ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเปลี่ยนโลกของเธอจากการที่เริ่มจากแค่วาดรูปตามหนังสือการ์ตูนที่คุณพ่อเอามาให้ ไปสู่พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ศิลปะ “เหมือนบรรยากาศของที่นี่ทำให้เรารู้สึกว่า เราจะต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่างที่คนเขาบอกว่าเราอยากจะเป็นคนแบบไหน ให้เราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนแบบนั้น” เปียโน เล่าให้ฟังว่ามุมด้านศิลปะของเธอนั้นหลุดไปจากกรอบที่ว่าความสวยงามนั้นมีเพียงแค่แบบเดียวทำให้เธอเปิดใจมากขึ้น เปียโน-เกวลิน เวชกามา: ศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะกับ Followers เพราะโลกของศิลปะนั้นมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับปูมหลัง รสนิยม และประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้คนมองภาพวาดภาพเดียวกันว่าภาพนี้สวยสำหรับคนหนึ่ง และไม่สวยสำหรับอีกคนหนึ่งได้ เปียโนมองว่าสิ่งสำคัญก็คือการพยายามถ่ายทอดอารมณ์ของศิลปินที่อยากจะให้งานออกมาดีที่สุด นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในพลังของการสร้างศิลปะ บทบาทศิลปะในโลกออนไลน์และออฟไลน์แตกต่างกันอย่างไร? ในเมื่อผลงานของเธอได้เป็นที่ยอมรับทั้งสองโลก เปียโนเล่าว่า “สิ่งสำคัญก็คือฟีดแบ็กเพราะสมมติเวลาเราจัดงานในแกเลอรีบางครั้งศิลปินไม่ได้อยู่เฝ้าผลงานชิ้นนั้นตลอดเวลาทำให้ไม่ได้รับคอมเมนต์ แต่ในโลกออนไลน์คุณลงผลงานไปไม่ถึง 5 นาทีจะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ทันที” เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์มีผลอย่างไรในการทำงาน “มันก็เป็นการสร้างความคาดหวังให้เราอยากทำงานให้ดีขึ้น เพราะมีคนติดตามเราอยู่” มีดอกไม้ก็ต้องมีก้อนหิน เมื่อศิลปะในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้ เธอก็ยอมรับในคำวิจารณ์ และยอมรับว่าโลกออนไลน์ทุกอย่างมันเร็วและอันตราย บางครั้งดรามาเกิดจากความเข้าใจผิดและพลเมืองเน็ตดูเหมือนจะสนุกกับดรามา ต่อให้ทางผู้ผลิตผลงานได้ออกมาชี้แจงก็อาจจะมีคนรับฟังน้อยกว่าเวลาที่เกิดดรามาขึ้น เปียโนเตือนตัวเองเสมอ ๆ ว่าต้องระมัดระวังและคิดให้รอบข้างทุกครั้งก่อนที่จะลงผลงานในโลกออนไลน์ ศิลปินรุ่นใหญ่บางคนอาจจะมองว่างานที่เป็นดิจิทัลอาร์ต หรือแม้แต่วิดีโอคลิปใน YouTube นั้นไม่มีความเป็นศิลปะบริสุทธิ์ แต่สำหรับเปียโนมันเป็นเรื่องของยุคสมัยที่แตกต่างออกไป ศิลปะของเธอนั้นเป็นการถ่ายทอดอารมณ์และสร้างความอิ่มเอมใจให้กับผู้ที่ได้ชื่นชมผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานออนไลน์ หรืองานที่เป็นชิ้นงานศิลปะที่จัดแสดง ไม่เพียงเท่านั้นเปียโนยังสร้างศิลปะเพื่อมวลชนและชุมชนอีกด้วย “street art” คืองานที่เธอทำเพื่อชุมชนโดยเริ่มจากชุมชนแออัดในพื้นที่ละแวกสาทร โดยส่งโครงการเข้าไปเพื่อที่จะออกแบบการสร้างสำนึกอนุรักษ์แหล่งน้ำคูคลองที่มีความเน่าเสีย พื้นที่ของเธอในครั้งนั้นคือกำแพงสูงกว่า 4 เมตรที่ใหญ่กว่าขนาดตัวของเธอเกือบ 3 เท่า เธอเนรมิตให้กลายเป็นภาพศิลปะที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนทั้งสุสานจีน พื้นที่แม่น้ำ และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน เปียโน-เกวลิน เวชกามา: ศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะกับ Followers “สิ่งที่เราพยายามจะทำก็คือถ่ายทอดความเป็นอยู่ของชุมชน รวมไปถึงประเด็นที่เราอยากผลักดันจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าหากมีใครสักคนไปถ่ายรูปมันออกมาแล้วเผยแพร่ต่อไม่ว่าจะชมหรือวิจารณ์ เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ได้สร้างงานศิลปะให้ชุมชนรอบ ๆ ข้างได้เกิดความคึกคัก” ซึ่งโครงการต่อไปที่เธอกำลังจะทำก็คือการเติมสีสันให้กับชุมชนแออัดย่านคลองเตย ย้อนไปที่คำถามคลาสสิกก็คือแล้วเราสร้างงานศิลปะไปเพื่ออะไร? สำหรับเปียโนมองว่าศิลปะมันมีทั้งสองแบบก็คือการถ่ายทอดความรู้สึกส่วนตัวให้สามารถสร้างความสุขให้กับผู้ชมได้ และก็ยังมีการสร้างศิลปะเพื่อโจทย์ในการตอบความสุขของคนอื่นได้ หรือแม้กระทั่งงานศิลปะที่ตอบโจทย์พาณิชย์ เธอก็มองว่ามันเป็นศิลปะเช่นกัน เพราะมันมาจากการถ่ายทอดความตั้งใจของผู้ผลิตผลงาน เมื่อถามว่าให้นิยามว่าตัวเองเป็น ศิลปิน หรือ Influencer มากกว่ากัน? เปียโน มองว่าเธอนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปิน เพราะมีความสนใจที่หลากหลาย ยังสนุกกับการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยเธอมองว่า Influencer น่าจะหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง เป็นต้น และเชื่อว่าศิลปินเองก็มีพลังการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้รับสารได้ไม่ต่างกัน สำหรับในอนาคตนั้นเธอหวังที่จะซึมซับประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างเต็มที่ เพราะทักษะหลาย ๆ อย่างเธอได้นำไปปรับใช้ทั้งในการสร้างสรรค์ผลงาน และการใช้ชีวิต สำหรับใครอยากติดตามความเคลื่อนไหวของเปียโนสามารถติดตามได้ทั้ง อินสตาแกรม: @pilano_official และ YouTube: Piano&Pleng ให้กำลังใจเธอในการสร้างผลงานต่อไป เราอาจจะมีศิลปินแถวหน้าประดับวงการอีกคน  เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ