อาแวสะดอ ตาเละ: ตำนานโจรตายคาโรงพัก ในประวัติศาสตร์มืดหม่นยุค ‘นาย’ ปราบ ‘เสือ’

อาแวสะดอ ตาเละ: ตำนานโจรตายคาโรงพัก ในประวัติศาสตร์มืดหม่นยุค ‘นาย’ ปราบ ‘เสือ’
***ภาพโจรอัลฮาวียะลู จากภาพยนตร์ขุนพันธ์ ซึ่งเป็นตัวละครสมมติแทนจอมโจรอาแวสะดอ ตาเละ ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของอาแวสะดอ ตะเละ ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เพราะภาพยนตร์ ‘ขุนพันธ์’ ฉากประยุทธ์วิวาทะระหว่างจอมโจรมุสลิมชื่อก้องกับขุนพันธ์ “มึงกับกูต่างกันแค่เสื้อผ้า” ยังตราตรึงในความทรงจำของแฟนหนัง   แล้วเรื่องจริงเขาตายเพราะถูกซ้อมทรมานคาโรงพัก หรือกินยาพิษหนีอาญากันแน่? ในภาพยนตร์ขุนพันธ์ (2559) กฤษดา สุโกศล แคลปป์ รับบทมหาโจรจอมขมังเวทย์ ‘อัลฮาวียะลู’ ซึ่งเป็นตัวละครสมมติที่ทีมผู้สร้างหนังใช้แทนชื่อ ‘อาแวสะดอ ตาเละ’ ในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับความคิดความเชื่อของมุสลิมเกี่ยวกับเครื่องรางไสยศาสตร์มนต์ดำที่ขัดแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลาม เนื้อหาในหนัง ร้อยตำรวจโท ขุนพันธรักษ์ราชเดช (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ได้รับภารกิจให้ไปสืบข่าวอัลฮาวียะลู จอมโจรแบ่งแยกดินแดน ผู้ครอบครอง ‘ไตรภาคี’ ของหายาก 3 สิ่งที่เชื่อว่ามีพลังวิเศษ โดยปลอมตัวเป็นคนหาปลาเข้าไปสืบข่าวในหมู่บ้านชาวประมง ฉากหนึ่งซึ่งเป็นตำนานหลังจากร้อยตำรวจโท ขุนพันธรักษ์ราชเดช เปิดเผยตัวและเผชิญหน้ากับอัลฮาวียะลู คือวิวาทะลือลั่นระหว่างสองฝ่าย “สิ่งที่นายทำอยู่ มันผิดกฎหมาย” มึงกับกูต่างกันแค่เสื้อผ้า ที่นี่อยู่ได้...โดยไม่ต้องมีเอ็ง ใครไม่ได้ดูภาพยนตร์มาก่อน ให้ทายว่าฝ่ายไหนพูดคำใดไม่น่าเป็นเรื่องยาก เพราะการตีความล้วนเกิดจากประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งวิวาทะนี้แม้เป็นเพียงคำที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่นับว่าผู้เขียนบทได้ทำข้อมูลแวดล้อมของยุคสมัยค่อนข้างละเอียด สะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและประชาชนยุคนั้นได้เป็นอย่างดี  สังคมไทยในปี พ.ศ. 2474 - 2500 ถือเป็นยุคการเบ่งบานของชุมเสือทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ต่างพบว่าอดีตเสือชื่อดังต่าง ๆ มักมีประวัติที่กล่าวอ้างถึงผลกระทบจากอำนาจรัฐข่มเหงรังแกมาก่อน ประกอบกับสังคมไทยยุคนั้นเผชิญกับวิกฤตข้าวยากหมากแพง ทำให้คนจำนวนมากหันไปเป็นโจรปล้น หรือบางชุมเสือกลายเป็นวีรบุรุษของคนจนก็มี เช่นกรณีของ ‘เสือฝ้าย’ ที่ชาวบ้านกลายเป็นกำแพงป้องกันโจร เชื่อใจโจรที่ปล้นทรัพย์สินคนรวยมาแจกคนจนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกมองว่ามุ่งปกป้องทรัพย์สินให้คนรวยมากกว่า ย้อนกลับมาที่ ‘อาแวสะดอ ตาเละ’ อันเป็นตัวตนจริงของ ‘อัลฮาวียะลู’ “ตอนย้ายไปอยู่สงขลา ไปปราบโจรการเมืองอะแวสะดอ ตาเละ พ่อมันเป็นโต๊ะใหญ่ เป็นมุสลิมอยู่บ้านตะโละบากู นราธิวาส พวกมุสลิมเขามีคล้ายคนไทยเป็นไสยศาสตร์ เขาเนื้อหนังดี “โจรคนนี้ร้าย มันจะเอาเมืองคืน ปล้นฆ่าแต่คนไทย จีนไม่ทำ ฝรั่ง แขกก็ไม่ทำ วิธีฆ่าก็ทารุณ จับมาได้จิกผมงัดปากเอากริชหยอดคอแล้วชักไส้ออกมา ปราบหลายครั้งปราบมันไม่ลงจนมันดูถูกเอา มันชักธงรบบนเขาแกและ เขาลูกนี้ขึ้น-ลงได้สามจังหวัด มันว่ามันยึดแล้ว สุดท้ายจับได้ ได้เครื่องรางของมันหลายชิ้น” ขุนพันธ์กล่าวถึงจอมโจรชาวมุสลิม มีคำบอกเล่าจากลูกศิษย์ของขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งผู้คนมักเรียกสั้น ๆ ว่า ขุนพันธ์เปิดเผยประวัติอีกทางว่า ขุนพันธ์เล่าว่า อาแวสะดอเคยบอกว่าตนเองเป็นชาวไทยพุทธที่ฝากตัวเป็นลูกบุญธรรมของมุสลิมผู้กว้างขวางแถบอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ประเด็นนี้เชื่อว่าหากไม่ใช่ความสับสนของผู้บันทึกก็น่าจะเพื่อรองรับเรื่องเล่าไสยศาสตร์มนต์ดำของขลังที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม เพราะบันทึกหลักของทางราชการบอกว่า อาแวสะดอเป็นบุตรชายของโต๊ะฮายี บ้านโละบากู ริมเทือกเขาบูโด ที่ใจคอโหดเหี้ยมอำมหิต ปล้นฆ่าชิงทรัพย์โดยมัดเจ้าเรือนกับเสาแล้วใช้ ‘กริช’ แทงคอหอยแล้วบิดลากไส้ออกมา กิตติศัพท์ความโหดเหี้ยมเลื่องชื่อพอ ๆ กับของดีประจำตัว เช่น ตับคนเป็นเหล็ก 2 ชั้น เคราคนเป็นทองแดง 1 แผ่น ช้องหมูป่า 1 อัน ผ้าประเจียดสักยันต์ 1 ผืน นอกจากนี้ยังมีกริชประจำตัว ที่เชื่อว่าเคยเป็นกริชของเจ้าเมืองปัตตานี ตามบันทึกขุนพันธ์ลงไปปราบอาแวสะดอปี 2479 ขณะนั้นเรื่องความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย หากนับแต่ผ่านพ้นยุค ‘เจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองคิดขบถ’ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นที่ต่อต้านการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางนำไปสู่การล่มสลายของรายาปัตตานีในปี 2445 ก็ไม่ปรากฏประวัติศาสตร์การต่อสู้อีกเลย หลังจากนั้น 4 ปี รัฐบาลสยามก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมือง คือ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ จนกระทั่งการเข้ามามีอิทธิพลของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู และกำเนิดสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ 2452 ยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ  แต่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า สนธิสัญญานี้เป็นผลดีต่อไทยในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง “เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ และพลเมืองกว่า 5 แสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ ๆ”   อันที่จริงสนธิสัญญานี้ทำให้สุลต่านมลายูบางองค์ โดยเฉพาะที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมากจนปรารภกับนาย Arthur C. Adams ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า “ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้” ซึ่งคนขายที่ระบุหมายถึงสยาม ซึ่งหากใช้บริบทนี้ในประวัติศาสตร์ก็จะเห็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมแบ่งแยกดินแดนของอาแวสะดอ แต่หากพฤติการณ์ต่อสู้ที่ข้อมูลหลายทางท่วมท้นด้วยไสยศาสตร์ของขลังตามบันทึกของราชการและขุนพันธ์ย่อมขัดแย้งอย่างมากกับอุดมการณ์ชาตินิยมมลายู เพราะประวัติศาสตร์ห้วงเวลานี้ก็คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ ‘หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา’ เดินทางกลับจากนครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2470 ซึ่ง ‘เด่น โต๊ะมีนา’ บุตรชายของหะยีสุหลงเคยกล่าวไว้ว่า หะยีสุหลงเดินทางกลับจากการเรียนวิชาศาสนาอิสลามที่นครเมกกะ เมื่อกลับมายังปาตานี ก็ได้เห็นผู้คนในบ้านเกิดยังมีความเชื่อเรื่องผีสางที่ห่างไกลจากศาสนาอิสลามที่ได้ร่ำเรียนมา หะยีสุหลงตระเวนดาวะห์ (อบรม) ชาวบ้านทั่วดินแดนปาตานี ตั้งแต่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ด้วยต้องการให้ชาวมลายูมุสลิมได้เข้าใจหลักศาสนาที่ถูกต้อง เด่นบอกว่าความฝันของบิดาในเวลานั้น คือ “ต้องให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้บ้างเรื่องศาสนา เลิกเชื่อภูตผี” นั่นแสดงว่า ในช่วงเวลาปี 2470 จนถึงปี 2479 อันเป็นห้วงเวลาที่จอมโจรอาแวสะดออาละวาดปรากฏข้อเท็จจริงว่าความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มนต์ดำแพร่หลาย น่าจะมีเค้าลางจอมโจรขมังเวทย์อาแวสะดอดังที่ขุนพันธ์เล่าอยู่บ้าง แต่ขุนพันธ์ปราบจอมโจรผู้นี้ได้อย่างไร เพราะมีประวัติของทางราชการบันทึกว่าอาแวสะดอมีอาคมปลดโซ่ตรวนได้ ดังที่ปรากฏในเรื่องเล่าว่า เขากับ ‘สามะแอ’ ลูกน้องคนสนิทเคยโดนจับขังคุกที่โรงพักสัตหีบ ชลบุรี เพียงไม่กี่วันก็ร่ายอาคมปลดโซ่ตรวนสำเร็จและกลับมาฆ่าสายตำรวจทิ้ง ก่อนรวบรวมสมัครพรรคพวกทำชุมโจรอาแวสะดอขึ้นที่เชิงเขาบูโดออกปล้นสะดม  โจรผู้นี้เลือกปล้นแต่คนสยามนับถือพุทธเท่านั้น เมื่อปล้นแล้วจะต้องฆ่าเจ้าของบ้านตายด้วยวิธีการฆ่าอันเหี้ยมโหดพิสดารทุกราย สร้างความหวาดผวาให้คนทั้งชายแดนภาคใต้ และปรากฏข้อมูลว่า หลังจากปล้นเสร็จก็จะนำเงินทองที่ได้ไปกำนัลแด่ผู้บงการข้างหลังที่สนับสนุนอาวุธปืนและกระสุน จนทำให้หน่วยราชการท้องถิ่นต้องตั้งกองบัญชาการขึ้นมารับมือ แต่ตำรวจซึ่งปะทะกับพวกโจรอาแวสะดอ 4 หน นอกจากจับเสือร้ายไม่ได้ยังสูญเสียกำลังพลจำนวนมาก เมื่อปราบไม่สำเร็จหาทางอื่น สุดท้ายเรียกตัวร้อยตำรวจโทขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้บังคับหมวดกองเมืองพัทลุงที่กำลังสร้างชื่อเสียงจากการปราบเสือสังข์และเสือพุ่ม และสำเร็จโทษเสือร้ายอีก 16 รายในพื้นที่เมืองตรังและพัทลุงตั้งแต่ปี 2474 พร้อมกับชื่อเสียงด้านวิชาอาคมจากสำนักไสยเวทย์เขาอ้อกำลังเลื่องลือ ขุนพันธ์เข้าไปร่วมในกองบัญชาการปราบชุมโจรอาแวสะดอที่นำโดย หม่อมทวีวงศ์ ถวัลศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น และมีหลวงจำรูญ ณ สงขลา ปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วย กองปราบพิเศษดังกล่าวนี้ ยังได้เกณฑ์เอาตำรวจสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เข้าร่วมด้วยหลายร้อยนาย จัดตั้งกองอำนวยการขึ้นที่ศาลากลาง  ฝั่งอาแวสะดอเมื่อทราบว่าขุนพันธ์มาปราบตนเองก็ประกาศท้ารบทันทีและชักธงเหลืองขึ้นเหนือยอดเขาบูโด มีบันทึกว่ามีการปะทะกับตำรวจหน่วยอื่น 7-8 หน แต่กระสุนไม่ได้ระคายผิวจอมโจรชื่อดังสักครั้ง จนขุนพันธ์บอกว่า การยิงกับคนมีคาถาอาคมต้องยิงระยะประชิดถึงตัว หรือต้องใช้กำลังชกต่อยแล้วจับมัดเท่านั้น แต่แล้วก็ใช้เวลาถึงเกือบ 3 ปีกว่าขุนพันธ์จะได้ประจันหน้า และปะทะอาแวสะดอแบบโดยตรง พลบค่ำวันหนึ่งในปี 2482 มีชาวบ้านวิ่งมาแจ้งว่าเห็นจอมโจรและสมุนลงจากภูเขามาขนเสบียง ขุนพันธ์สั่งลูกน้องว่า หากเจอตัวอย่าเพิ่งยิง ให้ขุนพันธ์ยิงก่อนแล้วค่อยยิงตาม และต้องหยุดทันที เพราะขุนพันธ์จะเข้าประชิดตัวตามยุทธวิธี หลังจากไปดักซุ่มตามจุดที่ชาวบ้านแจ้งเบาะแสในช่วงฟ้ายังไม่สาง เมื่อได้ยินเสียงคนเดิน ขุนพันธ์ได้ตะโกนบอกแสดงตนว่าเป็นตำรวจ แต่ฝ่ายโจรด่ากลับมา ขุนพันธ์ยิงปืนไป 2 นัด ลูกน้องยิงซ้อนไปเป็นนัดที่ 3 จากนั้นขุนพันธ์จึงรีบวิ่งเข้าไปหาเป้าหมาย เขาไม่รู้ว่าใครมายืนประจันหน้า จึงกระชากปืนยิงตรงแสกหน้า แต่เป้ากระสุนกลับยืนเฉย ขุนพันธ์จึงยิงอีกจนหมดกระสุน จนมันล้มลง ส่วนสมัครพรรคพวกหนีกระเจิงขึ้นเขาไป ขุนพันธ์บอกให้ลูกน้อง 2 คนเฝ้าศพไว้ ก่อนวิ่งตามโจรที่เหลือไป เมื่อวิ่งตามไปได้สักครู่ ก็ได้ยินเสียงปืนในจุดเกิดเหตุที่เดิม ขุนพันธ์จึงตัดสินใจวิ่งกลับมา เพราะกลัวว่าพรรคพวกโจรจะอ้อมกลับไปแย่งศพ  เมื่อไปถึงพบว่าตำรวจกำลังยิงสู้กับโจรที่น่าจะตายไปแล้ว ยิงจนกระสุนปืนหมดทุกคน ขุนพันธ์เองก็สะดุดล้มจนปืนกระเด็นหาย เลยพุ่งเข้าไปใช้หมัดต่อยกับโจรในความมืด พวกตำรวจที่เหลือก็เข้าไปช่วยคลุกวงใน เกือบ 30 นาทีโจรผู้นั้นจึงยอมจำนน ขุนพันธ์จับมือไพล่หลังสับกุญแจมือก็ได้ยินเสียงพูดว่า “อย่าฆ่าผม” ขุนพันธ์ถามว่ามึงเป็นใคร มันตอบว่า “ผมอาแวสะดอ นายอย่าฆ่าผม” และพบว่าในปากของจอมโจรอมกระสุนไว้ 9 นัด ปากของมันไม่มีรอยแตก ฟันไม่หัก ส่วนที่ถูกหน้าผากนั่นก็เหมือนถูกเล็บข่วน ส่วนที่ยิงตามตัวไม่ถูกเลย เสื้อผ้าที่อาแวสะดอสวมใส่ก็ไม่เห็นรอยขาดแม้แต่น้อย ข่าวการจับโจรอาแวสะดอได้แพร่หลายไปทั่วชายแดนภาคใต้อย่างรวดเร็ว ในบันทึกของขุนพันธ์ อันเป็นบันทึกที่ฝ่ายราชการยึดถือระบุว่า ทางการตำรวจจับตัวอาแวสะดอได้เรียบร้อยแล้ว จึงนำตัวไปที่สถานีตำรวจนราธิวาสขังไว้ที่นั่น 3 วัน ชาวบ้านแห่มาดูหน้าจอมโจรเทือกเขาบูโดที่โรงพักมืดฟ้ามัวดิน จึงย้ายที่คุมขังไปอยู่ในเรือนจำได้ไม่เกิน 10 วัน จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษ จบชีวิตตนเองก่อนที่จะถูกประหารชีวิต การจบชีวิตของอาแวสะดอทำให้ ร้อยตำรวจโท ขุนพันธรักษ์ราชเดชได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างสูงจากผู้คนในดินแดนมลายู มีการตั้งฉายาให้ขุนพันธ์ว่า ‘รายอกะจิ’ หรืออัศวินเล็กพริกขี้หนู แต่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีเรื่องเล่าอีกชุดว่า จอมโจรอาแวสะดอสืบเชื้อสายมาจากแม่ทัพปัตตานีตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พาไพร่พลมาตั้งรกรากอยู่แถบเทือกเขาบูโด ถึงยุคอาแวสะดอ ชาวบ้านจำนวนมากถูกข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอิทธิพลรังแก ลูกเมียใครสวย ๆ ก็ฉุดไปข่มขืน โกงเงินทอง โกงที่ทำกิน ฆ่าชาวมลายูทิ้งข้างทางอย่างไม่กลัวเกรงอาญา อาแวสะดอจึงไปช่วยเหลือเอาของกลับส่งคืนให้เจ้าของและให้ความเป็นธรรมจนได้รับการชื่นชมจากชาวบ้าน กลายเป็นวีรบุรุษแห่งเขาบูโด ผู้ปกป้องชาวบ้านมลายูยากจนในแถบเทือกเขานี้ให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ขูดรีดข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐสันดานโจร จึงมีการใส่ร้ายว่าอาแวสะดอเป็นโจรชั่วที่คิดแบ่งแยกดินแดนรายงานขึ้นไปกรุงเทพฯ ส่วนการตายของอาแวสะดอในเรื่องเล่าผ่านความทรงจำของลูกหลานที่สืบสาแหรกตระกูลตาเละ ไม่ได้กินยาพิษฆ่าตัวตายหนีโทษประหารอย่างที่ราชการบันทึกไว้ แต่ “ถูกไม้ทุบจนน่วมทั้งตัวแล้วจับกรอกน้ำกรดชนิดเข้มข้นจนเสียชีวิตคาห้องขังบนโรงพัก” ก่อนจะให้ญาติมารับศพไปฝังที่สุสาน กุโบร์โต๊ะบีแด (ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ซึ่งเคยเป็นสุสานร้างที่ส่วนราชการพยายามเข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์) ซึ่งการถูกฆ่าตายด้วยวิธีนี้ถือว่าเข้าเงื่อนไขทั้งในแง่ของการจัดการกับผู้มีคาถาอาคม และการ ‘ซ้อมทรมาน’ ที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการโจรผู้ร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐในยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน บทสรุปของจอมโจรอาแวสะดอ อาจยังคลุมเครือในเรื่องไสยเวทย์อาคม เพราะเรื่องนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่พิสูจน์ได้ยากแม้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณและประสบการณ์ของผู้อ่านประกอบด้วย อาจเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงหรือถูกแต่งเติมเพื่อให้เรื่องราวมีความสนุกตื่นเต้นก็ไม่อาจมีใครยืนยันได้ แต่ที่แน่ ๆ เชื่อได้ว่าอาแวสะดอ ตาเละ มีเพียงหนึ่งคน และเป็นมุสลิมมลายู แต่เป็นประวัติศาสตร์คนละชุดระหว่างลูกหลานกับหน่วยงานราชการ  ในมุมของลูกหลานกลับเป็นเรื่องเล่าที่จับต้องได้ในฐานะมนุษย์ การก่อกำเนิดของอาแวสะดออยู่ภายใต้ภูมิหลังประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงบริบทการเมืองการปกครอง และเป็นโจรในเชิงวัฒนธรรมที่เกิดจากภาวะบีบบังคับ การกำหนดนโยบายส่วนกลางที่พยายามลดอำนาจของท้องถิ่นส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน เจ้าหน้าที่รัฐผู้ซึ่งถูกคนปักษ์ใต้เรียกติดปากว่า ‘นาย’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘เจ้านาย’ รับอำนาจลงไปปราบปรามผู้ต่อต้าน กดขี่ข่มเหงสร้างความเดือดร้อนต่อผู้คนเป็นวงกว้าง บริบทความขัดแย้งในท้องถิ่นของภาคใต้ไปจนปลายด้ามขวานคล้ายกับภาคอีสานที่เคยกำเนิด ‘กบฏผีบุญ’  ซึ่งเหตุการณ์ปราบจอมโจรอาแวสะดอเกิดขึ้นก่อนหน้า ‘หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา’ ยื่นข้อเสนอ 7 ประการต่อรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 ถัดมาอีกขวบปีก็เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏดุซงญอ’ (2491) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หะยีสุหลงก็ถูกจับกุมฐานกบฏแบ่งแยกดินแดนจากข้อเสนอ 7 ประการ ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวางกว่า 4 ปี เมื่อพ้นโทษมา หะยีสุหลง ลูกชายคนโต และผู้ติดตามอีก 2 คนก็ถูกผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา เรียกตัวไปพบ แต่เป็นการจากครอบครัวไปตลอดกาล เพราะถูกอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งมีการเปิดเผยในภายหลังว่าถูกนำไปฆ่าทิ้งผ่าท้องยัดแท่งปูนเอาศพไปทิ้งที่ทะเลสาบสงขลา ในเดือนสิงหาคม 2497 กลายเป็นการขยายบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายูมุสลิมและรัฐไทยแต่นั้น   เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย   อ้างอิง: ข่าวดังข้ามเวลา : ขุนพันธ์...มือปราบสะท้านแผ่นดิน https://youtu.be/AcooCpUDZS4 ประวัติของอะแวสะดอ ตาเละ จอมโจรขมังเวทย์เปิดเผยบันทึกของทางราชการ http://goosanook.blogspot.com/2016/07/blog-post_16.html ‘ขุนพันธ์’ พูดถึง ‘อะแวสะดอ ตาเละ’ ขุนโจร (การเมือง) ชาวมุสลิมจอมขมังเวทย์ https://www.silpa-mag.com/history/article_1133 รายงาน BBC Thai หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา : 66 ปี บังคับสูญหายผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี https://www.bbc.com/thai/thailand-5376154