คิม คี-ดุก ซาตานหรือนักบุญ ในคราบของคนทำหนัง

คิม คี-ดุก ซาตานหรือนักบุญ ในคราบของคนทำหนัง
ในโรงภาพยนตร์เมื่อม่านเปิดแสงไฟดับวูบลง เรามักจะพาตัวเองเข้าไปเพื่อหลุดพ้นจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย เพื่อรับการปลอบประโลมใจจากหนังที่เรารัก ผ่านความโรแมนซ์ของคู่รักในวัยหนุ่มสาว หัวเราะขบขันกับความตลก หรือสนุกสุดเหวี่ยงกับการไล่ล่าเหาะเหินเดินอากาศ แต่มีผู้กำกับไม่กี่คน เลือกที่จะพาคุณหลุดพ้นจากโลกอันโหดร้าย เพื่อนำไปสู่โลกที่โหดร้ายยิ่งกว่า และหนึ่งในนั้น ผู้ที่นำพาความหวาดเสียวดุจนั่งรถไฟเหาะตีลังกาแบบไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อนำพาไปสู่โลกแห่งความรันทด หดหู่ และไม่อาจจะหาคำตอบได้อย่างกระจ่างชัด เขาผู้นั้นคือ คิม คี-ดุก ผู้ที่นำพาเราไปสู่โลกแห่งความเสื่อมโทรม ที่ซากปรักหักพังถาโถมซัดลงไปในจิตใจ   ซาตานในคราบนักทำหนัง คิม เริ่มต้นทำความรู้จักกับนักดูหนัง ในการประเดิมการกำกับเรื่องแรก Crocodile ในปี 1996 แม้เพียงเริ่มแรก ก็ฉายแววซาตานให้โลกรับรู้ กับหนังทุนต่ำว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มที่ช่วยเหลือหญิงสาวจากการฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงแม่น้ำฮาน สายเลือดสำคัญของเกาหลีใต้ แต่เมื่อเขาช่วยชีวิตเธอได้สำเร็จ เขากลับเลือกที่จะข่มขืนและทำร้ายเธอไม่หยุดหย่อน พร้อมกักขังหน่วงเหนี่ยวในท่อน้ำทิ้งสะพานข้ามแม่น้ำฮาน แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายกลับก่อเกิดความสัมพันธ์อันยากที่จะอธิบายได้ว่าชอบหรือชังให้กับหญิงสาว เพียงแค่เรื่องแรกของคิม ก็สร้างความตื่นตะลึงในช่วงโมงยามของอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้ที่กำลังพัฒนา แม้เสียงก่นด่าถึงความรุนแรง แต่อีกส่วนก็ชื่นชมหนังที่กล้ากล่าวถึงคนชายขอบมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมของคนเกาหลี การวางตัวพระเอกเป็นไอ้ขี้แพ้ที่จมจ่ออยู่กับการลักเล็กขโมยน้อย และดีแต่จะใช้กำลังกับคนที่อ่อนแอกว่า สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและโลกของชายเป็นใหญ่ในอำนาจ ส่วนนางเอกแม้จะทนทุกข์ทรมานกับการถูกคุกคามทั้งเพศและทางจิตใจก็สะท้อนภาพเพศชั้นผู้น้อยที่ต้องถูกจองจำอย่างละเลี่ยงไม่ได้ของสังคมเกาหลีได้อย่างทรงพลัง แม้หนังจะอัตคัตในด้านเงินทุน แต่ก็ฉายภาพความดิบเถื่อนของสังคมได้อย่างชัดเจน และแจ้งเกิดนักทำหนังรุ่นใหม่ที่กล้าตีแสกหน้าสังคมอย่าง คิม คี-ดุก ให้โลกได้รู้จักในทันที แต่หากหนังเรื่องแรกแตะเส้นความรุนแรงไปแล้ว หนังเรื่องต่อมาก็หาได้นำพาให้เขากลับไปยังเซฟโซนไม่ เมื่อสบโอกาส คิม ก็มอบประสบการณ์อันโหดร้ายให้กับคนดูอีกครั้งในหนังเรื่องที่ 5 ของเขา The Isle (2000) ที่มอบทั้งความสะอิดสะเอียน ความโหดร้ายทารุณ จนเป็นที่กล่าวขวัญในเวทีโลก เรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงสาวที่เปิดรีสอร์ตตกปลาในเกาะอันเวิ้งว้าง กับสัมพันธ์รักของอดีตนายตำรวจที่กลายเป็นฆาตกร ก่อนความผูกพันจะนำพาให้ทั้งสองต่างติดเบ็ดแห่งความสัมพันธ์จนเข้าขั้นวิปลาส การโหมประโคมด้วยฉากเซ็กซ์อันชวนทุรนทุราย รวมไปถึงฉากหวาดเสียวของเบ็ดอันแหลมคม กลายเป็นหนึ่งในตัวละครหลักที่โลดแล่นเกี่ยวพันซุกไซ้ตามเรือนร่างตั้งแต่ลำคอจนถึงถ้ำพิศวาส แทนที่จะเป็นความรัญจวนใจในรูปแบบของหนังอิโรติกวาบหวามตามที่โปสเตอร์หนังได้จั่วเอาไว้ สิ่งที่ผู้ชมกลับได้รับ คือความกระอักกระอ่วนใจโดยเฉพาะฉากถลกหนังกบ และการชำแหละปลากันอย่างโจ่งแจ้ง จนคณะกรรมการผู้ตรวจสอบภาพยนตร์ในอังกฤษต้องชะลอการฉาย แต่คิมกลับเลือกโต้ตอบด้วยความเย็นชาว่า
“นักแสดงเหล่านี้ ได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง เมื่อเราถ่ายฉากนี้เสร็จ เราก็จัดการปรุงมันเป็นอาหารทานกันต่อ”
แม้ในตอนหลังเขาจะรู้สึกผิดและเขาสารภาพว่ามันเป็นตราบาปที่หลอกหลอนเขาไปตลอดกาลก็ตาม แต่ความรุนแรงสุดขั้วก็ก่อกำเนิดแฟนเดนตายที่ติดตามผลงานของผู้กำกับคนขยันนี้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า The Isle จะชวนสะอิดสะเอียนแค่ไหน แต่ในทางศิลปะ หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการชื่นชมในความหาญกล้าจนได้ฉายในเทศกาลหนังเวนิส คิมได้ทะลุเพดานของความรุนแรงบนจอหนัง จนนักสร้างหนังหลายคนพากันสาดซัดความสยองผ่านหนังในตระกูล K-Horror K-Thriller ที่ต่างยกให้คิมเป็นเสมือนแรงบันดาลใจ แต่ความรุนแรงของคิมก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลยรวมไปถึงการสร้างพล็อตสุดแหวกขนบที่ไม่อาจคาดเดาได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Bad Guy (2001) ที่เล่าเรื่องของแมงดาผู้ล้างแค้นให้กับหญิงสาวด้วยการทำลายชีวิตของเธอจนเธอต้องขายตัว Samaritan Girl (2004) เพื่อนซี้โสเภณีวัยรุ่นที่ตายไปอย่างรันทด เพื่อนอีกคนจึงทำการไถ่บาปให้กับเพื่อนที่ตายไป ด้วยการไปหลับนอนกับคนที่เคยซื้อบริการเพื่อนของเธอเพื่อชำระบาป 3-Iron (2004) การเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของความสัมพันธ์ด้วยการคบชู้กับชายหนุ่มปริศนาที่ไม่เคยปริปากพูดทั้งเรื่อง แม้หนัง The Bow (2005) ที่เสนอพล็อตที่ชวนโรแมนติกอย่างชายชราที่เลี้ยงดูเด็กสาวจนเติบใหญ่บนแพ ก็หักหาญน้ำใจด้วยการวางให้ชายชรารอคอยเด็กสาวอายุ 18 เพื่อจะจับเธอเป็นเมีย หรือกระทั่ง Pietà (2012) ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองเวนิส ก็เขยื้อนกายที่ที่ความัมพันธุ์อันซ่อนเร้นของหนุ่มกับผู้ที่อ้างตัวเป็นแม่ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างในหลายเรื่องที่ คิมคี-ดุก ได้ประเคนไว้ให้กับโลกใบนี้   ความรุนแรงที่คุกคามทั้งในหนังและชีวิตจริง ความรุนแรง / เซ็กซ์ / การคุกคาม / เรื่องราวที่ผิดศีลธรรม และความตาย คือหัวใจสำคัญที่คิมมอบให้ในหนังของเขา จนเกิดข้อถกเถียงมากมายถึงความเกินเลยในตัวตนของเขาที่กระหน่ำซัดใส่คนดูที่แม้จะรับรู้ด้วยตาแต่มันก็เจ็บลึกถึงข้างใน เมื่อมีคนสอบถามถึงแรงบันดาลใจ เขากลับเลือกที่จะตอบเพียงอ้อมแอ้มไปว่า
“ผู้สร้างหนังส่วนใหญ่มักจะสร้างหนังเพื่อก่อเกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ แต่ผมสร้างหนังเพื่อตั้งคำถามให้กับชีวิต”
“มีคนชายขอบของสังคมมากมายที่วัน ๆ พบเจอสิ่งที่วิปริตบิดเบี้ยว บางคนสิ่งที่เจอนั้นมากกว่าที่เจอในหนังของผมหลายร้อยเท่า” คือคำตอบที่ชวนให้ฉุกคิดว่าเพราะสังคมต้องโหดร้ายขนาดไหนถึงได้ใจทมิฬทำหนังที่โหดทั้งภาพและเนื้อหาได้ขนาดนั้น คำตอบบางอย่างกระจ่างเมื่อคุณได้รับชมหนัง Address Unknown (2001) ที่เล่าเรื่องเสมือนอัตชีวประวัติของเขาในช่วงวัยเด็กที่เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาอยู่ในชนบทที่เป็นฐานที่ตั้งของทหารสหรัฐอเมริกา ที่เขาได้พบเจอทั้งทหารที่บาดเจ็บจากสงครามและใช้ยา LSD ในการรักษา ไปจนถึงความบอบช้ำของคนในสถานที่ปิดตายที่ไม่ปรากฏในแผนที่ของเกาหลีใต้ การถูกเพิกเฉยละเลยมาตลอดชีวิตผลักดันให้เขาสร้างงานศิลปะที่เต็มไปด้วยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง และเมื่อคิมถูกสัมภาษณ์ว่าควรจะรับผิดชอบสังคมหรือไม่ในกรณีที่สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในจอหนัง เขาก็โวยวายใส่นักข่าวกลับไปว่า
“ถ้ามีคนตายเพราะความคิดหรือตัวละครที่ผมสร้างขึ้นมา คนพวกนั้นก็สมควรตาย”
ไม่ใช่เพียงในจอเท่านั้นที่คิมประเคนความรุนแรงอย่างไม่ยั้ง กับนอกจอในยุคแห่ง #MeToo คิมก็ถูกนักแสดงผู้หญิงอย่างน้อยสามคน ฟ้องร้องในฐานะที่คิมเคยข่มเหงทั้งร่างกายและจิตใจบังคับให้เธอแสดงฉากเลิฟซีนโดยที่เธอไม่เต็มใจ ทำให้เขาโดนปรับถึง 5 ล้านวอน ก่อนที่เขาจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเขาทำผิดจริง และคิมก็ได้ทำการฟ้องร้องกลับในข้อหาที่ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงกับกลุ่มสิทธิสตรีที่จงเกลียดจงชังเขาตั้งแต่แรกเริ่มทำหนัง ถึงกระนั้นภาพความเป็นผู้กำกับซาดิสต์วิตถารก็ยังคงถูกตีตราเขาจวบจนวาระสุดท้าย   ทางสว่างผ่านหนังที่เล่าถึงการมีชีวิต แต่ที่เซอร์ไพรซ์ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและความรุนแรงที่คละคลุ้งเมอมา คิม ก็ใช้ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์สุดขีดในชีวิตการทำงานของเขาทำหนังที่กล่าวถึงสัจธรรมชีวิตผ่านฤดูกาลที่เปลี่ยนผันในหนัง Spring, Summer, Fall, Winter... and Spring (2003) ที่เป็นเสมือนจักรวาลคู่ขนานของหนังที่นำเสนอความรุนแรงมาโดยตลอดของเขา หนังเล่าเรื่องของชีวิตผ่านนักบวชที่ช่วงชีวิตเปลี่ยนผันไม่ต่างกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง จนผู้สันทัดกรณีกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่า “ศาสนาเป็นสิ่งที่คิม คี-ดุกตั้งคำถามมานานแสนนาน แต่เขามักจะตั้งคำถามในแบบพังค์ และในครั้งนี้เขาตั้งคำถามด้วยความอ่อนโยน” และหงส์ในฝูงกา ท่ามกลางความดำมืดจากผลงานที่ผ่านมา แสงสว่างเพียงวูบเดียวของเขานั้นกลับทำให้งานชิ้นนี้กลายเป็นงานมาสเตอร์พีซที่ไม่ต่างกับองคุลีมาลกลับใจในช่วงสุดท้ายเมื่อได้รับแสงแห่งธรรม ท่าทีของคิม ไม่ว่าจะแข็งกร้าวหรืออ่อนโยน แต่สิ่งที่เขานำเสนอนั้นล้วนแต่เป็นการตั้งคำถามทั้งกับผู้คน สังคมอันฟอนเฟะ การเกิดและดับของโลกใบนี้ ไปจนถึงความเจ็บป่วยไม่ว่าทางกายหรือใจที่ต้องเผชิญ น่าเสียดายที่เมื่อเราได้รับรู้ถึงการจากไปในวัย 59 ปี จากโควิด-19 ที่นำพาเขาไปสู่ภพหน้าก่อนถึงการเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีในอีกไม่กี่วัน ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราได้สูญเสียผู้กำกับที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับด้านมืดของสังคมมนุษย์มาอย่างโชกโชน แต่ผลงานของเขาจะยังคงทำหน้าที่โบยเฆี่ยนสังคมต่อไปจนกว่าโลกใบนี้จะหมดสิ้นซึ่งความชั่วร้ายและอาชญากรรม   เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง